กล่าวได้ว่าเมืองไทยวันนี้ก้าวเข้าไปสู่ภาวะวิกฤติอย่างแท้จริง ลองย้อนดู Timeline ของภาวะสุญญากาศทางการเมืองไทย
ในพ.ศ.2557 นี้ว่ามีที่มาอย่างไร แล้วเกิดวิกฤติอย่างไร โดยเหตุการณ์ลำดับเริ่มจาก
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเป็นการแช่แข็งให้รัฐบาลและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งใหม่ได้ เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถออกพระราชกฤษฎีกาฯ ให้มี วันเลือกตั้งใหม่ได้เพราะ จะทำให้มี พ.ร.ฎ. ซ้อนกัน 2 ฉบับ และอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญตามมาตรา108 และมีคนไปฟ้องให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะและร้องให้ ยุบพรรคเพื่อไทยได้
ดังนั้นคำถามที่น่าสนใจคือ ใครเป็นผู้มีอำนาจในการจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ ถ้าลองมองย้อนไปยังปี 2549 หลังศาลรัฐธรรมนูญยุคนั้นวินิจฉัยว่าการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 เป็นโมฆะต่อมาได้จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่และประกาศพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติม กำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2549 แล้วก็เริ่มใหม่ทั้งกระบวนการ โดยให้ กกต.มีอำนาจในการจัดการเลือกตั้งอีกครั้ง ดังนั้นทางออกเกี่ยวกับปัญหาการเลือกตั้งดูจะมีความเป็นไปได้ในแนวทางนี้มากที่สุด
ข้อสรุประหว่างการหารือระหว่างกกต. กับ รัฐบาล ได้กำหนดให้วันที่ 20 กรกฎาคม 2557 เป็นวันเลือกตั้งโดย กกต.จะไปยกร่างพ.ร.ฎ. วันเลือกตั้งใหม่แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบจากนั้นนายกฯ จะนำร่างพ.ร.ฎ.ขึ้นทูลเกล้าฯต่อไปด้วยเหตุนี้การขับเคลื่อนการเลือกตั้งครั้งนี้จึงมีระเบิดเวลาที่รัฐบาลต้องรับมือเพื่อป้องกันภาวะสูญญากาศก่อนที่การเลือกตั้งจะเสร็จสิ้น
แต่ทั้งนี้กกต.ได้ประสานไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่กฤษฎีกายังมีความเห็นแย้ง ทำให้การออกพ.ร.ฎ.แก้ไขเพิ่มเติมทำให้การจัดการเลือกตั้งต้องถูกเลื่อนออกไป
ยุทธศาสตร์ล้มล้างประชาธิปไตย
ระเบิดลูกที่แรก การชิงเกมถอดถอนนายกฯ โดยวุฒิสภา และ ศาลรัฐธรรมนูญ กรณีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี หลังจากศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยว่าคำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ให้โยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เข้าข่ายเป็นการกระทำเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 266 และ 268 กลุ่ม ส.ว.จำนวนหนึ่งจึงยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความผิดของนายกฯ
ในกรณีนี้ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ตำแหน่งนายกฯ รักษาการสิ้นสุดไป ก็ยังต้องพิจารณาอีกว่าจะต้องพ้นจากตำแหน่งไปทั้งคณะรัฐมนตรีหรือไม่และนั่นอาจทำให้เข้าสูตรของภาวะสุญญากาศอีกหนทางหนึ่ง
ซึ่งวันนี้ศาลก็ได้มติเอกฉันท์ ยิ่งลักษณ์ พ้นรักษาการนายกฯ ผิดโยกย้ายขรก.ประจำ และครม. ต้องรักษาการจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีใหม่เข้ามาแทนที่ โดยรมต.คนใดมีส่วนร่วมในการลงมติโยกย้าย "ถวิล” ให้สิ้นสุดการทำหน้าที่ด้วยไม่อาจให้กระทำหน้าที่ต่อไปทั้งนี้คำร้องการพิจารณาแต่งตั้งนายกฯคนใหม่ ไม่ได้อยู่ในอำนาจศาล
ระเบิดลูกที่สอง รัฐธรรมนูญ มาตรา 127 กำหนดให้ ภายใน 30 วันนับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้มีการเรียกประชุมรัฐสภา เพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก และมาตรา 172 กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรต้องให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรีภายใน 30 วันนับจากวันเปิดประชุมสภาครั้งแรก ดังนั้นจึงมีประเด็นว่าหากจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ อาจทำให้มีผู้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเฉพาะในส่วนของการเปิดสภาผู้แทนราษฎรภายใน 30 วัน นับตั้งแต่การเลือกตั้งได้
ประเด็นนี้ ประพันธ์ นัยโกวิท อดีต กกต.และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรนูญฉบับ 2550 ได้ให้ความเห็นไว้ว่า หากหลังครบ 30 วันแล้ว ยังเปิดสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ไม่ได้ รัฐบาลรักษาการจะต้องสิ้นสภาพหรือไม่ก็อยู่ที่การตีความว่ากำหนดนระยะเวลาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 127 และมาตรา 172 เป็นระยะเวลาซึ่งมีสภาพบังคับเด็ดขาด ขยายไม่ได้หรือว่าเป็นเพียงระยะเวลาที่เขียนไว้เพื่อเร่งรัดการปฏิบัติหน้าที่
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญเคยตีความในประเด็นระยะเวลาไว้ ในกรณีที่ (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 108 ที่กำหนดว่า ถ้ามีการยุบสภาแล้วต้องกำหนดวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 45 วันและไม่เกิน 60 วัน นั้นเป็นกำหนดเวลาโดยเด็ดขาดหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้ เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2557ว่าระยะเวลาที่กำหนดในมาตรา 108 ไม่ได้เป็นระยะเวลาที่กำหนดโดยเด็ดขาด ถ้ามีเหตุจำเป็นเรื่องความมั่นคงเพื่อความเรียบร้อยสามารถขยายได้ เพียงแต่ กกต.กับ นายกรัฐมนตรีต้องพิจารณาร่วมกัน ดังนั้น การกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 127 และมาตรา 172 จึงน่าจะตีความทำนองเดียวกับที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้ในกรณีมาตรา 108 เพื่อความเรียบร้อยสามารถขยายได้ ไม่ใช่บทเร่งรัด
อีกทั้งมีความกังวลอีกว่า หากมีการจัดให้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ แต่หากมีการขัดขวางการเลือกตั้งในบางพื้นที่จนนำไปสู่การเปิดหน่วยเลือกตั้งไม่ครบทุกหน่วยทั่วประเทศ จะทำให้กกต.ไม่สามารถประกาศผลการเลือกตั้งส.ส.บัญชีรายชื่อได้ และไม่สามารถรับรองส.ส.ให้ครบร้อยละ 95 ตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้กกต.ไม่สามารถที่จะจัดการเลือกตั้งให้เสร็จสิ้นภายใน 180 วันนับจากวันลงคะแนนวันแรกได้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือย่อมมีผู้ร้องไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้ง เพื่อให้วินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการเลือกตั้งครั้งใหม่วังวนของปัญหาการเลือกตั้งก็จะกลับมาดังเดิม
ดังนั้นเส้นทางข้างหน้าของวิกฤติการเมืองไทย ได้ผูกโยงเอาไว้กับองค์กรอิสระอย่างศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นกรณีการวินิจฉัยมาตรา 127 และมาตรา 172 หรือกรณีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี นับว่าเป็นการวางบทอันยอดเยี่ยมให้เกิดภาวะสุญญาการทางการเมือง เพื่อกำจัดรัฐบาลแบบถอนรากถอนโคนในที่สุด อีกทั้งต่อให้เกิดการเดินหน้าเลือกตั้งก็ใช่ว่าจะไม่พบอุปสรรคแต่อย่างใด นี้เป็นเงื่อนไขที่วางให้นำไปสู่การมีนายกฯคนกลางหรือไม่ และรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งหรือไม่ยังเป็นคำถามที่น่าสนใจอยู่
หากระเบิดเวลาลูกใดลูกหนึ่ง ระเบิดขึ้น ภาวะ สุญญากาศอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งและความรุนแรง หากมีการดึงดันจะเอา นายกฯคนกลางตามมาตรา 7 หรือการมีนายกฯ ที่ไม่เป็นไปตามครรลองของประชาธิปไตย จะยิ่งทำให้เสียงของคนไทยที่ถูกลิดรอนลุกขึ้นต่อต้าน ไม่ว่าจะเป็นการรัฐประหารโดยชนชั้นนำหรือทหาร อาจก่อให้เกิดการสูญเสียอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนก็เป็นได้
อย่างไรก็ตามมีระเบิดอีกหนึ่งลูก หากการเลือกตั้งยังไม่สามารถดำเนินการได้ หรือยังไม่สามารถเปิดสภาได้ก่อนเดือนสิงหาคม ก็มีโอกาสที่จะไม่สามารถออก พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 ได้ทัน ซึ่งจะกระทบต่อการบริหารงานแผ่นดินและภาพรวมเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก
แม้ว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 166 จะระบุว่า ถ้าพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีออกไม่ทันปีงบประมาณใหม่ ให้ใช้กฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณปีก่อนนั้นไปพลางก่อน หากใช้ระบบงบประมาณของปีก่อนไปพลางก็จะมีเงินส่วนที่เป็นรายจ่ายขั้นต่ำที่จำเป็น ได้แก่ ค่าใช้จ่ายบุคลากร สาธาราณูปโภคพื้นฐาน ค่าเช่าอาคาร/ที่ดิน แต่ในส่วนที่เป็น เงินโอนไปยังองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น นโยบายที่มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และนโยบายใหม่ก็ต้องหยุดชะงักจึงเป็นประเด็นว่านโยบายใดบ้างที่จะหยุดชะงักลงหากการเลือกตั้งไม่แล้วเสร็จได้ทัน และหากมีปัญหาจำเป็นเร่งด่วน เช่นภัยพิบัติ การแก้ปัญหาในภาวะฉุกเฉินจะทำได้ยากลำบากยิ่งขึ้น
ดังนั้นระเบิดลูกสุดท้ายจึงเป็นประเด็นที่น่ากลัวเป็นที่สุด แม้ว่าประเทศเราจะไม่ได้ถูกชัตดาวน์เหมือนกับเหตุการณ์
โอบามา แคร์ ของสหรัฐอเมริกา แต่ผลเสียอาจจะใหญ่หลวงก็เป็นได้
มีความน่ากังวลอีกว่า ในกรณีปัจจุบันนายกรัฐมนตรีเป็นเพียงตำแหน่งรักษาการ และถูกผูกมัดไว้ด้วยเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 181 (3) ซึ่งจำกัดอำนาจของคณะรัฐมนตรีรักษาการ ต้องไม่ทำอะไรที่ส่งผลเป็นการผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไปดังนั้นหากจะนำพระราชบัญญัติงบประมาณในปีก่อนมาใช้ก็ยังไม่แน่ว่าจะมีอำนาจทำได้หรือไม่และหากคณะรัฐมนตรีรักษาการไม่มีอำนาจอนุมัติงบประมาณใดมาใช้ได้เลย ก็จะทำให้ส่วนราชการต่างๆ ต้องหยุดชะงักไปด้วยและนั่นจะเป็นการชัตดาวน์ของจริง
ความหวังริบหรี่ : ทางออกของภาวะสุญญากาศ
พุฒิพงศ์ พงศ์อเนกกุลเสนอทางออกของวิกฤติว่า หากคณะรัฐมนตรีถูกศาลออกคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรปรับใช้แก่กรณีกรณีจึงต้องอาศัยการเทียบเคียงบทบัญญัติกฎหมายที่ใกล้เคียง อย่างเช่น มาตรา 21 บัญญัติว่า “ในกระทรวงให้มีปลัดกระทรวงคนหนึ่งมีอำนาจหน้าที่ดังนี้ (2) เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการของส่วนราชการในกระทรวงรองจากรัฐมนตรี” ดังนั้น กรณีรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งรักษาการทั้งคณะ (เช่น รัฐมนตรีรักษาการเสียชีวิตทั้งคณะ) จึงไม่มีรัฐมนตรีลำดับรองหรือรัฐมนตรีอื่นรักษาการแทนอีกจึงต้องให้องค์กรที่มีอำนาจลำดับรองลงมา คือ ปลัดกระทรวงซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการของส่วนราชการในกระทรวงรองจากรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่รักษาการรัฐมนตรีจนกว่ารัฐมนตรีชุดใหม่ซึ่งมีที่มาจากการเลือกตั้งจะเข้ารับหน้าที่โดยเทียบเคียงมาตรา 42 วรรคหนึ่ง กรณีไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ก็ให้รัฐมนตรีช่วยฯรักษาการแทน หรือถ้าไม่มีรัฐมนตรีช่วยฯ ก็ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายรัฐมนตรีคนหนึ่งรักษาการแทนประกอบมาตรา 21 โดยอนุโลม
ดังนั้นแม้ว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรจะสิ้นสุดการเป็นนายกฯ หรือ คณะรัฐมนตรีพ้นสภาพไปยกชุดก็ยังไม่ถือว่าประเทศเข้าสู่ภาวะสุญญากาศจนต้องใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 7 เพื่อเสนอชื่อนายกฯคนกลางได้
ส่วนเรื่องงบประมาณ ให้ใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 166 ที่ระบุว่า งบประมาณรายจ่ายของแผ่นดินให้ทำเป็นพระราชบัญญัติ ถ้าพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณออกไม่ทันปีงบประมาณใหม่ให้ใช้กฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณปีก่อนนั้นไปพลางก่อนนั้น ทั้งนี้เงื่อนไขในการปลดระเบิดลูกนี้ คือ ตามรัฐธรรมนูญในมาตรา 181(2) จะอนุญาตให้รัฐบาลรักษาการทำหน้าที่เกี่ยวกับการอนุมัติโครงการ หรือการใช้จ่ายงบประมาณได้ โดยต้องผ่าน กกต.นั้นเอง
ดังนั้นทางออกในเวลานี้คือจัดให้การเลือกตั้งไห้ไว้ที่สุด อย่างน้อยก็ก่อนเวลาวันที่ 30 สิงหาคม เพื่อที่จะได้เปิดสภาและผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อให้กลไกการบริหารกลับมาทำงานได้ตามปกติแต่ความหวังในครั้งนี้คงต้องวางไว้บนมือขององค์กรอิสระอย่างกกต.ที่จะจัดการเลือกตั้งและดำเนินการให้พ.ร.ฎ.การเลือกตั้งแก้ไขเพิ่มเติ่มออกโดยเร็วที่สุดอีกทั้งต้องคอยดูสัญญาณจากศาลรัฐธรรมนูญว่าจะรับคำร้องการตัดสินตามมาตรา รัฐธรรมนูญมาตรา 127 และมาตรา 172 ว่าเป็นบทเร่งรัดหรือไม่ อีกทั้งการจัดการเลือกตั้งยังต้องดูอีกว่าหากเกินเงื่อนไขแบบเดิม ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่าอย่างไร และหากจะต้องยืดเวลาออกไป และเปิดสภาเพื่อผ่านงบประมาณไม่ทันก็ต้องให้ กกต.เป็นผู้อนุมัติเรื่องเงินแทนไปพลางก่อน ซึ่งหมายความว่าหวังที่ริบหรี่นี้ว่างอยู่บนมือขององค์กรอิสระต่อไป
คำถามที่น่าสนใจว่าจากนี้ ปวงชนชาวไทยจะก้าวต่อไปอย่างไร หากมีองค์กรหรือกลุ่มบุคคลใดมาขัดขวางการเลือกตั้งที่เป็นสิทธิอันพึงมีของเราเพื่อที่จะกำหนดชะตาชีวิตของเราเองโดยไม่ต้องให้ใครมาตัดสินให้ว่าประเทศนี้ควรเป็นอย่างไร
อ้างอิง
(เข้าถึงเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2557)
เว็บไซต์ Thailand Political Database (เข้าถึงเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2557)
เว็บไซต์ Thailand Political Database (เข้าถึงเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2557)
(เข้าถึงเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2557)