ผลงานคสช. กับปัญหาแรงงานข้ามชาติ

ปัญหาแรงงานข้ามชาติ หรือแรงงานต่างด้าวเป็นปัญหาสำคัญปัญหาหนึ่งที่คสช. ให้ความสำคัญ นับจากหลังการรัฐประหารมาจนถึงวันที่ 25 มิถุนายน 2557 คสช.ออกประกาศคำสั่งเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติไปแล้วทั้งสิ้น 7 ฉบับ 
 
10 มิถุนายน 2557 คสช.ออกคำสั่งฉบับที่ 59/2557 และ 60/2557 จัดตั้งคณะทำงานพิเศษสองชุดเพื่อแก้ปัญหา คำสั่งฉบับที่ 59/2557 ตั้งคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว โดยอำนาจหน้าที่ที่สำคัญของคณะกรรมการชุดนี้ คือเสนอการแนะนโยบายเพื่อแก้ปัญหา ติดตามผล รวมทั้งพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนงานก่อนนำเสนอคสช. 
 
ส่วนคำสั่งฉบับที่ 60/2557 ซึ่งออกในวันเดียวกัน สั่งให้จัดตั้งคณะอนุกรรมการประสานงานการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว มีหน้าที่ เสนอแนะนโยบายหรือมาตรการต่อ คณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว ประสานงาน ติดตามการดำเนินงาน และ ให้ข้อเสนอแนะแก่ส่วนราชการ รวมทั้ง พิจารณาทบทวน ปรับปรุง และพัฒนาหลักเกณฑ์ในการบริหารจัดการ เสนอแก่คณะกรรมการ เป็นต้น
 
สื่อต่างชาติรายงานว่าแรงงานกลัว แห่อพยพออก
คำสั่งทั้งสองฉบับไม่ได้พูดถึงการกวดขันเรื่องแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารทำงานถูกกฎหมาย หรือบทลงโทษโดยตรง แต่ท่าทีของคสช.ก็ทำให้แรงงานข้ามชาติจำนวนมากเกิดความวิตก ไทยรัฐออนไลน์ อ้างรายงานของบีบีซี สื่อยักษ์ใหญ่สัญชาติอังกฤษซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2557 หรือเพียงสี่วันหลังคสช.ออกคำสั่งฉบับที่ 59 และ 60 ว่า
 
แรงงานข้ามชาติชาวกัมพูชาหลายหมื่นคนอพยพออกจากไทยกลับประเทศ ด้วยความกลัวว่าผู้นำกองทัพไทยจะกวาดล้างปราบปรามแรงงานข้ามชาติ ทั้งนี้องค์กรสากลด้านการอพยพ (IOM) ทวีตข้อความผ่านสื่อสังคมออนไลน์ว่า มีชาวกัมพูชาข้ามชายแดนไทยกลับประเทศไปแล้วกว่า 70,000 คน โดยโฆษกของ IOM ระบุว่า ชาวกัมพูชาที่อพยพออกจากไทยจำนวนมากมีความรู้สึกหวาดกลัว เพราะไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับพวกตนหากยังอยู่ในประเทศไทย รายงานของบีบีซียังระบุด้วยว่า หลังการรัฐประหาร ชาวกัมพูชาจำนวนมากถูกนายจ้างชาวไทยไล่ออกและส่งกลับประเทศ
 
ก่อนหน้าที่บีบีซีจะเผยแพร่รายงานดังกล่าวข้างต้น เว็บไซด์ Radio Free Asia รายงานเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2557 ว่า The Cambodian Human Rights Action Committee (CHARC) องค์กรเครือข่ายซึ่งเป็นการรวมตัวขององค์กรด้านสิทธิในกัมพูชา 21 องค์กร ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อกรณีที่แรงงานชาวกัมพูชาเดินทางกลับประเทศเป็นจำนวนมาก (บางส่วนสมัครใจกลับเอง บางส่วนถูกส่งกลับ) โดย CHARC เรียกร้องให้ดำเนินการส่งกลับโดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน 
 
แถลงการณ์ของ CHARC ระบุด้วยว่า จากคำบอกเล่าของพยานที่เชื่อถือได้ มีแรงงานข้ามชาติชาวกัมพูชาประมาณ 9 คน เสียชีวิตเพราะถูกทำร้ายโดยเจ้าหน้าที่ไทยระว่างการส่งกลับ แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า มีแรงงานหลายคนที่ติดอยู่บริเวณชายแดนเพราะไม่มีเงินกลับบ้าน 
 
16 มิถุนายน 2557 หน้าเศรษฐกิจของไทยรัฐออนไลน์ ออกบทวิเคราะห์ว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้แรงงานชาวกัมพูชาตื่นตระหนกและเดินทางออกนอกประเทศหลังการรัฐประหารอาจเป็นเพราะ แรงงานชาวกัมพูชาเคยถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการชุมนุมทางการเมือง รวมทั้งบางคนอาจพัวพันกับการขายสิ่งผิดกฎหมาย เมื่อคสช.ประกาศจัดระเบียบแรงงานข้ามชาติจึงเกิดความกลัว และเมื่อมีการบอกเล่าเรื่องนี้ปากต่อปากก็ทำให้ความตื่นตระหนกขยายเป็นวงกว้าง 
 
 
ที่มาภาพ เดลินิวส์
 
 
คสช.ออกประกาศยัน ไม่มีกวาดล้าง
จากกรณีที่เกิดขึ้น ทำให้คสช. ต้องออกประกาศมาเพื่อชี้แจงและหามาตรการแก้ไข วันที่ 16 มิถุนายน 2557 คสช ออกประกาศฉบับที่ 67/2557 ยืนยันว่าไม่มีมาตรการเร่งรัดกวาดล้างแรงงานข้ามชาติดังที่เป็นข่าว ในการจัดระเบียบนั้น ให้นายจ้างเตรียมรายชื่อลูกจ้างในสังกัดเพื่อรับการตรวจ เพื่อเป็นการป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย ปัญหายาเสพติด ปัญหาการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม รวมทั้งให้ระมัดระวัง กรณีมีบุคคล หรือกลุ่มบุคคล แอบอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ มาปล่อยข่าวให้แรงงานเกิดความหวาดกลัวด้วย
 
17 มิถุนายน 2557 คสช.ก็ออกประกาศฉบับที่ 68/2557 เรื่องมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว ระยะที่ 1 เป็นการชั่วคราว กำหนดให้ นายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าวดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย เพื่อให้แรงงานต่างด้าวได้รับความคุ้มครองในการทำงาน รวมทั้งให้นายจ้าง และแรงงานต่างด้าวที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยให้ความร่วมมือกับทางการ เพื่อให้สามารถคุ้มครองดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยการดำเนินการตามประกาศฉบับนี้ให้คณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวเป็นผู้ติดตามผลและรายงานคสช.
 
แม้ทางคสช. ออกจะมายืนยันอย่างเป็นทางการว่าไม่มีแนวนโยบายที่จะกวาดล้างจับกุม แต่แรงงานเหล่านี้ก็ยังมีความกังวลใจ เพราะยังคงมีการปล่อยข่าวลืออยู่ 
 
20 มิถุนายน 2557 ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า แรงงานชาวเวียดนามจำนวนมาก เดินทางกลับประเทศโดยข้ามแดนที่สะพานมิตรภาพไทยลาว 3 จังหวัดนครพนม โดยแรงงานเหล่านี้ขึ้นรถทัวร์มาจากกรุงเทพตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน 2557 เพราะมีข่าวลือว่า หากไม่เดินทางกลับภายในวันที่ 20 มิถุนายน 2557 พวกเขาจะต้องเสียค่าปรับหลายหมื่นบาท แม้ว่าพวกเขาจะเดินทางเข้าประเทศโดยถูกกฎหมายก็ตาม 
 
ในช่วงค่ำของวันที่ 20 มิถุนายน มีเหตุการณ์ที่สำคัญเกิดขึ้นสองเหตุการณ์
 
'ประยุทธ์' แถลง จะผ่อนผัน-เร่งจัดระเบียบ-แก้ปัญหาค้ามนุษย์
เหตุการณ์แรก พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา มีแถลงการณ์ "คืนความสุข ให้คนในชาติ" ทางโทรทัศน์ ซึ่งตอนหนึ่งของแถลงกาณ์ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา พูดถึงปัญหาแรงงานข้ามชาติ ซึ่งสรุปความได้ว่า การค้ามนุษย์และแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน ต้นเหตุของปัญหาเกิดจาก ความต้องการแรงงานข้ามชาติที่มีสูง เพราะเป็นแรงงานที่มีค่าแรงต่ำช่วยประหยัดต้นทุน ประกอบกับการที่เจ้าหน้าที่ทุจริต ทำให้มีแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายทะลักเข้าในประเทศเป็นจำนวนมาก
 
เมื่อแรงงานข้ามชาติที่ไม่ขึ้นทะเบียนมีจำนวนมาก รัฐก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น อาชญากรรม โรคระบาด และการใช้แรงงานทาสหรือแรงงานเด็กได้ ปัญหาการใช้แรงงานทาสและการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติ ยังมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของไทยในเวทีโลกด้วย ซึ่งไทยอาจถูกสหรัฐลดระดับความน่าเชื่อถือในการตอบสนองการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ อันจะทำให้ไทยต้องเสียสิทธิประโยชน์ทางการค้าหลายประการ
 
สำหรับกรณีการอพยพกลับประเทศของแรงงานข้ามชาติที่เกิดขึ้น พล.อ. ประยุทธเห็นว่า น่าจะเป็นการกระทำของกลุ่มผู้มีอิทธิพล เพราะหากแรงงานเหล่านี้เดินทางกลับไปก็จะต้องหาแรงงานอื่นมาทดแทน ซึ่งทำให้ผู้มีอิทธิพลและนายหน้าสามารถหาผลประโยชน์ได้อีกจากแรงงานที่จะเข้าประเทศ และหากทางการไทยบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ทางนายหน้าและผู้มีอิทธิพลก็จะถือโอกาสเรียกเก็บผลประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติในอัตราที่สูงขึ้น 
 
สำหรับการแก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติ เบื้องต้นจะผ่อนผันให้ทั้งแรงงานที่เข้ามาทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมายทำงานต่อไปเป็นการชั่วคราว แต่ก็จะต้องเร่งดำเนินการนำแรงงานนอกระบบทั้งหมดเข้าสู่ระบบ เพื่อให้การบริหารจัดการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และนอกจากนี้ ก็ต้องเร่งดำเนินการปราบปรามบรรดานายหน้าด้วย  
 
สหรัฐลดระดับความน่าเชื่อถือของไทยลงไปต่ำสุด เรื่องค้ามนุษย์
ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่พล.อ. ประยุทธแถลงผ่านโทรทัศน์ กระทรวงต่างประเทศสหรัฐเปิดเผยรายงานการค้ามนุษย์ประจำปี พ.ศ.2557 ซึ่ีงครอบคลุมช่วงเวลาระหว่างวันที่ 1 เม.ย.2556 -31 มี.ค. 2557 ประกาศลดระดับความน่าเชื่อถือในการตอบสนอง การแก้ปัญหาค้ามนุษย์ของไทย โดยไทยถูกปรับลงไปอยู่ในระดับต่ำสุดร่วมกับประเทศอย่างเกาหลีเหนือและซีเรีย 
 
โดยประเด็นสำคัญที่เป็นเหตุแห่งการลดระดับ ได้แก่ ความล้มเหลวในการปราบปรามการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมการประมง การลักลอบนำแรงงานต่างด้าวมาใช้แรงงานและค้าประเวณี รวมถึงเหตุที่เจ้าหน้าที่กองทัพเรือไทยพัวพันการหาผลประโยชน์กับผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมโรฮิงญา ทั้งยังhttp://freedom.ilaw.or.th/th/case/554 ">ฟ้องร้องผู้สื่อข่าว 2 คน ที่นำรายงานข่าวของรอยเตอร์มาเผยแพร่ซ้ำ โดยผลกระทบจากการลดระดับได้แก่ ได้แก่การที่สหรัฐอาจพิจารณาระงับการให้ความช่วยเหลือ ที่มิใช่ความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรม และความช่วยเหลือที่เกี่ยวกับการค้าแก่ไทย 
 
 
ตั้งศูนย์ One Stop Service ตั้งคณะกรรมการ-อนุกรรมการ รับมือ
หลังถูกลดระดับความน่าเชื่อถือ 25 มิถุนายน 2557 คสช.ก็มีประกาศและคำสั่งออกมาอีก 3 ฉบับ เพื่อแก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติ 
 
ประกาศ คสช. ฉบับที่ 70/2557 เรื่อง มาตรการชั่วคราวในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ โดยมีสาระสำคัญ คือ ให้จัดตั้งศูนย์ประสานรับแรงงานกัมพูชากลับเข้าทำงาน ในสี่จังหวัด 4 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว จันทบุรี ตราด และสุรินทร์ เพื่อดำเนินการออกใบอนุญาตเข้าเมืองชั่วคราวให้แก่แรงงานสัญชาติกัมพูชา และให้จัดตั้งศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ในทุกจังหวัด เพื่อทำหน้าที่พิจารณาออกใบอนุญาตทำงานชั่วคราวและจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว สัญชาติเมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา โดยให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลัก 
 
ส่วนคำสั่งคสช.ฉบับที่ 73/2557 และ 74/2557 ก็ป็นคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์  และอนุกรรมการประสานงานการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ (ตามลำดับ) โดยอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการมีหลายประการ เช่น เสนอแนะนโยบายการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวและปัญหาการค้ามนุษย์ ประสานงาน ติดตามการดำเนินงาน และให้ข้อคิดเห็นแก่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ส่วนคณะอนุกรรมการฯก็มีหน้าที่เช่นการเสนอแนะนโยบายและแนวทางการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ ต่อคณะกรรมการ