ผลงาน คสช. กับการปฏิรูปแบบเรียน

นับตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติมีบทบาทในการบริหารจัดการประเทศ จุดที่น่าสนใจจุดหนึ่งคือความพยายามในการผลักดันสร้างความสมานฉันท์ปรองดองทุกวิถีทาง ซึ่งรวมไปถึงการสร้างความปรองดองผ่านทางการศึกษา ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีแผนการจัดการศึกษาที่เป็นรูปธรรมเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย แต่ก็มีหลายองค์กรที่ขานรับนโยบายของคสช. โดยเรียงลำดับตามวันที่ดังนี้
 
2 มิถุนายน 2557 ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวถึงการเชิญผู้บริหารขององค์กรต่างๆที่มีบทบาททางการศึกษามาหารือเรื่องการสร้างสมานฉันท์ปรองดองในประเทศตามโรดแมปของคสช. เนื่องจาก ศธ. เป็นหน่วยงานที่มีบุคลากรในสังกัดจำนวนมาก จึงอยากให้ ศธ.มีบทบาทในการชี้แจงทำความเข้าใจสถานการณ์บ้านเมืองให้แก่บุคลากรระดับล่าง พร้อมขอให้ ศธ.เป็นผู้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นและจัดกิจกรรมสร้างความสมานฉันท์ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้กำชับให้ปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบายของ คสช. รวมถึงสอดส่องเหตุการณ์ในพื้นที่ และมีแนวโน้มว่าจะนำแนวทางของสพฐ.มาดำเนินการกับหน่วยงานอื่นๆ
 
 
เตรียมปลูกฝันความรักสามัคคี จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
 
5 มิถุนายน 2557 มีข่าวจากปลัดกระทรวงศึกษาธิการว่า มีการประชุมหัวหน้าส่วนราชการกระทรวงร่วมกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งศธ.ได้เสนอเรื่องเร่งด่วนตามนโยบายของคสช. ได้แก่ การจัดโครงการและกิจกรรมสร้างความเข้าใจ ความรักความสามัคคี ปรองดองสมานฉันท์ ความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ภูมิใจในความเป็นไทย ผ่านกิจกรรมลูกเสือ ยุวกาชาด กิจกรรมรักษาดินแดน ฯลฯ ซึ่งแต่ละองค์กรหลักจะไปจัดประชุมทำความเข้าใจในส่วนของตัวเอง โดยเน้นการสลายสีเสื้อให้หมดไป
 
 
9 มิถุนายน 2557 ปลัดกระทรวงศึกษาธิการเปิดเผยว่า กระทรวงฯ เตรียมฟื้นวิชาประวัติศาสตร์ และวิชาหน้าที่พลเมือง ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของคสช. ที่ต้องการให้คนไทยมีความรักสามัคคี โดยได้ให้สัมภาษณ์อีกว่า “ดังนั้นในสถานการณ์ปัจจุบันที่ต้องเร่งสร้างความสมานฉันท์และความปรองดองให้เกิดขึ้นแก่คนในชาติ ในส่วนของการศึกษาคงเป็นเรื่องของการส่งเสริมการเรียนการสอนในวิชาดังกล่าวให้มากขึ้น เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนมีความรักความสามัคคีกัน”
 
 
ในวันเดียวกันยังมีการเปิดเผยถึงแนวทางปฏิบัติและมาตรการการดำเนินงาน 12 ข้อ โดยเนื้อหาหลักคือการสนับสนุนภารกิจในการสร้างความปรองดองของคสช. การห้ามไม่ให้มีการเผยแพร่ข่าวสารที่มีลักษณะในการปลุกระดมยั่วยุ ข้อความอันเป็นเท็จ ไม่เคารพกฎหมาย หรือขัดแย้งต่อต้านการปฏิวัติ และห้ามไม่ให้บุคลากรเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง
 
 
อีกด้านหนึ่ง อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เปิดเผยว่า สวธ.วางแนวทางจัดกิจกรรมในชุมชน เน้นถ่ายทอดความรู้จากผู้ใหญ่สู่เยาวชน เกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินของในหลวงในพื้นที่ต่างๆ และจัดกิจกรรมให้เยาวชนไปสืบค้นถึงพระราชกรณียกิจ จากนั้นให้นำมาถ่ายทอดในสื่อต่างๆ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ตระหนักถึงคุณูปการของในหลวง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ 
 
 
10 มิถุนายน 2557 นายประเสริฐ บุญเรือง เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)  ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินการสี่เรื่องเพื่อขับเคลื่อนนโยบายคือ 1. ให้ศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนจัดสอนอาชีพให้แก่ประชาชนที่มีความคิดแตกต่างกันโดยจัดให้มาทำกิจกรรมร่วมกัน 2. ให้บ้านหนังสืออัจฉริยะที่มีอยู่ 41,800 แห่งเปิดวีดิทัศน์เดินหน้าประเทศไทยที่ คสช. ได้ชี้แจงถึงความจำเป็นของการปฏิบัติการ 3. ให้ปรับศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาประชาธิปไตยและการเลือกตั้งประจำตำบลเป็นศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาประชาธิปไตยและการเลือกตั้งเพื่อความปรองดอง เพื่อสอนเนื้อหาการปกครองระบอบประชาธิปไตยและวิชาหน้าที่พลเมืองให้แก่ประชาชน 4. ให้กลุ่มพัฒนาการศึกษานอกโรงเรียนสังกัดกศน.ปรับปรุงหลักสูตรให้มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ชัดเจนมากขึ้น และให้กศน.ตำบลจัดค่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยเน้นเนื้อหาเรื่องความรัก ความสามัคคี ปรองดอง สมานฉันท์ และหน้าที่พลเมืองกับประวัติศาสตร์ชาติไทย นอกจากนี้ยังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “ขอให้ชาวกศน.อย่าแบ่งแยก อย่าคุยเรื่องการเมือง ขอให้คุยเรื่องที่ทำให้ประชาชนคนไทยมีความรักสามัคคีและสมานฉันท์”
 
 
11 มิถุนายน 2557 รองเลขาธิการ กพฐ. เปิดเผยความคืบหน้าว่า จะมีการประชุมในวันที่ 13 มิถุนายน โดยมีกรอบการดำเนินงาน 3 เรื่องคือ 1. แยกวิชาประวัติศาสตร์และวิชาหน้าที่พลเมืองเป็นวิชาเฉพาะต่างหาก เรียนวิชาละ 1 คาบต่อสัปดาห์ 2. ปรับปรุงเนื้อหาเพื่อเน้นในส่วนของประวัติศาสตร์ความเป็นชาติไทยให้มากขึ้น 3. จัดทำแบบเรียนประวัติศาสตร์ที่เป็นแบบเรียนหลัก และจัดกิจกรรมเน้นความรักความสามัคคีและความสมานฉันท์ของคนในชาติ
 
 
12 มิถุนายน 2557 ปลัดกระทรวงศึกษาเปิดเผยว่า โดยความคิดส่วนตัวนั้นรู้สึกว่าการฟังเพลงปลุกใจที่คสช.นำมาเปิดนั้นทำให้รู้สึกรักชาติและเกิดความฮึกเหิม และจากการสอบถามเด็กๆพบว่าชอบเพลงปลุกใจ จึงมีความคิดที่จะขอเพลงปลุกใจจากคสช.มาเปิดให้นักเรียนนักศึกษาในสถานศึกษาฟัง เพื่อให้เกิดนักเรียนนักศึกษาเกิดความรู้สึกรักชาติ
 
 
เตรียมแยกวิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง เริ่มเทอมสองปีนี้
 
13 มิถุนายน 2557 นายวินัย รอดจ่าย เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมืองว่า ที่ประชุมมีมติให้คงวิชาประวัติศาสตร์และวิชาหน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคมไว้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาเหมือนเดิม แต่ให้แยกการเรียนการสอนออกมาเป็นวิชาเฉพาะ และให้เพิ่มวิชาหน้าที่พลเมืองฯไว้ในรายวิชา/กิจกรรมที่สถานศึกษาจัดเพิ่มเติม นอกจากนี้ยังจะแต่งเพลงซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักชาติ และเชิญนักร้องที่มีชื่อเสียงมาร้องเพลง เพื่อปลุกใจและให้เด็กเกิดความรักชาติ
 
 
 
17 มิถุนายน 2557 ดร.กมล รอดคล้าย รองเลขาธิการกพฐ. เปิดเผยว่า มติที่ประชุมเดิมที่ไม่ต้องการแยกวิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมืองออกมาจากกลุ่มสาระสังคมศึกษานั้น ไม่ตอบโจทย์เรื่องการปรับการเรียนการสอนของคสช. ทาง สพฐ. จึงจะดำเนินการเรื่องนี้ใหม่โดยแยกสองวิชาดังกล่าวออกมาเป็นรายวิชาเฉพาะ และจะจัดทำคู่มือการเรียนการสอนให้ทันใช้ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557
 
 
 
 
จากแนวโน้มการเคลื่อนไหวทั้งหมดข้างต้น พอสรุปได้ว่าทิศทางของการศึกษาไทยอาจเอนเอียงไปในทางการเพิ่มเติมเสริมสร้างความรู้สึกรักชาติ ปรองดอง สมานฉันท์ โดยอาศัยการเรียนรู้ภายในห้องเรียน ซึ่งก็เป็นที่น่าเป็นห่วงว่าการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรนั้นเป็นไปอย่างกะทันหันและสวนทางกับมติของที่ประชุมคณะกรรมการการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง อีกทั้งหลักสูตรใหม่นี้จะมีผลบังคับใช้ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557 ซึ่งก็เป็นเวลาอีกประมาณหกเดือนเท่านั้นในการเตรียมตัวทั้งเนื้อหาหลักสูตรและตัวผู้สอน
 
ฯลฯ