“ห้องเวรชี้” เป็นชื่อเรียกห้องพิจารณาคดีในศาล ที่ใช้สำหรับการพิจารณาคดีที่ถูกส่งมาขึ้นศาลเป็นวันแรก คดีที่จำเลยรับสารภาพและไม่มีรายละเอียดมากนัก ชะตากรรมของผู้ต้องหาจำนวนมากถูกจะตัดสินอย่างรวดเร็วที่ห้องเวรชี้นี้เอง โดยเจ้าหน้าที่ศาลและผู้พิพากษาจะทำงานกันอย่างเป็นระบบคล้ายสายพานโรงงานอุตสาหกรรม
ขั้นตอนปกติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา วันที่จำเลยขึ้นศาลวันแรก ศาลจะถามคำให้การของจำเลยว่าจะรับสารภาพหรือจะปฏิเสธ และจำเลยต้องการทนายความหรือไม่ หากจำเลยยังไม่มีทนายความและต้องการทนายความ ศาลต้องแต่งตั้งทนายความให้
หากจำเลยให้การปฏิเสธ ศาลต้องกำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐาน และวันนัดสืบพยาน เพื่อให้ทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยมีสิทธิต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ หากจำเลยรับสารภาพ ถ้าเป็นคดีที่มีอัตราโทศสูง คือ โทษจำคุกอย่างต่ำห้าปีขึ้นไป ศาลจะต้องให้โจทก์นำพยานเข้าสืบจนปรากฏแน่ชัดว่าจำเลยกระทำความผิดจริงจึงจะมีคำพิพากษาได้ แต่หากเป็นคดีที่อัตราโทษน้อยกว่านั้น เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลก็อาจพิพากษาได้ทันที
วันหนึ่งๆ มีผู้ต้องหาถูกพาตัวมาศาลเป็นจำนวนมาก คนที่ถูกฝากขังระหว่างสอบสวนจะถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวมาจากเรือนจำ คนที่เพิ่งถูกจับมาใหม่ๆ จะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจพามาจากโรงพัก คนที่ได้ประกันตัวระหว่างการสอบสวนจะเดินทางมาเอง มากกว่าครึ่งเป็นคดีที่อัตราโทษไม่สูง เช่น ความผิดฐานเมาแล้วขับ ความผิดฐานครอบครองยาเสพติด ซึ่งผู้ต้องหาส่วนมากรับสารภาพและไม่ต้องการต่อสู้คดี
ด้วยปริมาณคดีที่มาก และไม่ยุ่งยากซับซ้อน “ห้องเวรชี้” จึงเป็นระบบที่ศาลแต่ละแห่งตั้งขึ้นเพื่อจัดการคดีเล็กๆ น้อยๆ ให้เสร็จไปได้คราวละมากๆ ในแต่ละวัน
ในทางปฏิบัติ เมื่อผู้ต้องหาถูกพาตัวมาจากเรือนจำ โรงพัก หรือเดินทางมาเองตามหมายนัด ก็จะถูกคุมขังอยู่รวมกันที่ห้องขังใต้ถุนศาล เจ้าหน้าที่ศาลประจำห้องเวรชี้ จะเรียกผู้ต้องหาไปถามทีละคนว่าจะรับสารภาพหรือปฏิเสธ กระบวนการนี้เกิดขึ้นโดยไม่มีทนายความหรือผู้เกี่ยวข้องร่วมตัดสินใจด้วย (ทนายความสามารถเข้าไปได้หากยื่นคำร้องเป็นกรณีพิเศษ แต่ญาติไม่สามารถเข้าไปได้) เมื่อผู้ต้องหาตอบเจ้าหน้าที่ศาลแล้ว เจ้าหน้าที่ศาลก็จะร่างเอกสารที่เกี่ยวข้องกับคดีเตรียมรอเอาไว้ล่วงหน้า โดยเป็นคำให้การของผู้ต้องหาว่ารับสารภาพหรือปฏิเสธ และร่างรายงานกระบวนพิจารณาของวันนั้นเตรียมพร้อมไว้
เนื่องจากเจ้าหน้าที่เตรียมเอกสารไว้เรียบร้อยแล้ว เมื่อผู้พิพากษาที่เป็น “เวรชี้” ขึ้นบัลลังก์จึงไม่เหลือขั้นนตอนที่ยุ่งยากนัก ศาลจะได้รับเอกสารที่เตรียมพร้อมไว้แล้วว่าผู้ต้องหาคนไหนจะรับสารภาพและคนไหนจะปฏิเสธ ผู้ต้องหาหลายสิบคนจะถูกพาเข้ามาในห้องเวรชี้พร้อมกัน ศาลจะเรียกชื่อทีละคน และผู้ต้องหาซึ่งเพิ่งถูกเปลี่ยนสถานะเป็นจำเลยก็จะยืนขึ้น ศาลจะอ่านข้อหาตามฟ้องให้ฟังตามแบบพิธี แล้วถามสองคำถามสั้นๆ