NLA Weekly (23 มกราคม 2558) : ลงมติถอดถอนยิ่งลักษณ์

NLA Weekly (23 มกราคม 2558) : ลงมติถอดถอนยิ่งลักษณ์

เมื่อ 26 ม.ค. 2558
19 มกราคม 2558: กมธ.ยกร่างฯ บัญญัติหลักการพื้นฐานของหลักนิติธรรม 5 ข้อ ในรัฐธรรมนูญ
 
คำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมกมธ.ยกร่างฯ ได้พิจารณาบัญญัติหลักการพื้นฐานสำคัญของหลักนิติธรรม 5 ข้อ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญที่ได้มีการบัญญัติไว้ เพื่อความสูงสุดของรัฐธรรมนูญ การเคารพรัฐธรรมนูญและกฎหมายทั้งโดยรัฐและประชาชน คุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค การแบ่งแยกการใช้อำนาจ ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การป้องกันการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์สาธารณะ รวมถึงหลักนิติกระบวนที่ต้องไม่บังคับใช้รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายย้อนหลังที่เป็นโทษทางอาญา ไม่ทำให้บุคคลต้องถูกดำเนินคดีอาญาในการกระทำความผิดเดียวกันมากกว่าหนึ่งครั้ง
 
 
'บวรศักดิ์' เผยเตรียมลดการเกษียณอายุของผู้พิพากษาเหลือ 65 ปี
 
บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า จะพิจารณาการกำหนดให้ข้าราชการตุลาการเกษียณอายุราชการจากเดิม 70 ปี ปรับลดเหลือ 65 ปี ตามคำร้องของศาลที่ได้เสนอต่อ กมธ. ส่วนประเด็นเรื่องระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของตุลาการในศาลต่างๆ เห็นว่าน่าจะคงระยะเวลาไว้เหมือนเดิม เช่น กรณีศาลรัฐธรรมนูญที่มีระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง 9 ปี เบื้องต้นจะยังคงเดิม อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับที่ประชุมของ กมธ.
 
 
21 มกราคม 2558 : กมธ.ยกร่าง เผย กำหนดให้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ส.ส. - ส.ว.
 
พลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ที่ประชุม รับแก้ไขกำหนดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญครบ 3 ปีแล้ว ให้พ้นจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ แต่ยังสามารถดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่อไปได้ และให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีวาระดำรงตำแหน่ง 9 ปี วาระเดียว โดยจะพ้นจากตำแหน่งเมื่ออายุครบ 70 ปี บริบูรณ์ 
 
นอกจากนี้ยังกำหนดให้การพิจารณาคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ ขณะที่คดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคแล้วแต่กรณี สำหรับคดีเกี่ยวกับการจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิ้นให้ศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาคมีอำนาจในการพิจารณา ส่วนคดีชำนัญพิเศษอื่นให้อุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
 
 
 
 
22 มกราคม 2558: สนช.ถอดถอน 'ยิ่งลักษณ์' ตัดสิทธิ์ 5 ปี 'นิคม-สมศักดิ์' รอด
 
ที่ประชุม สนช.มีมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีโครงการรับจำนำข้าว ด้วยคะแนน 190:18 งดออกเสียง 11 เสียง และจะถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี นอกจากนี้ยังอาจถูกฟ้องดำเนินคดีทางแพ่งและอาญาด้วย
 
ขณะที่มีมติไม่ถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภาด้วยคะแนน ด้วยคะแนน 120:95 งดออกเสียง 4 เสียง และไม่ถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา 115:100 งดออกเสียง 4 เสียง
 
ทั้งนี้ การถอดถอนต้องใช้เสียงสมาชิก 3 ใน 5 หรือมากกว่า 132 เสียง จากสมาชิกทั้งสิ้น 220 คน ขณะที่วันนี้มีองค์ประชุม 219 คน ขาด 1 คน คือ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ที่ลาป่วย
 
ที่มา: ประชาไท 
 
 
กมธ.ยกร่างฯ เคาะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 
 
การประชุม กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นกลุ่มมาตราว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งอยู่ใน หมวด 1 ว่าด้วยศาลและกระบวนการยุติธรรม ของภาค 3 นิติธรรม ศาล และองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ มีการถกเถียงกันหลายประเด็นเรื่องที่มาของคณะกรรมการสรรหาตุลาการรัฐธรรมนูญ ผลสุดท้ายสรุปว่าคณะกรรมการสรรหามาจาก
 
1.ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 2 คน
 
2.ตุลาการศาลปกครอง 2 คน
 
3.พรรครัฐบาล 1 คน
 
4.พรรคฝ่ายค้าน 1 คน
 
5.นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ 2 คน
 
และ 6.นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ 2 คน
 
ขณะที่ผู้ทรงคุณวุฒิจากสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ หรือสมัชชาพลเมือง ยังแขวนไว้พิจารณา 
 
 
 
กมธ.ยกร่างฯ ตัดเนื้อหา ห้ามสื่อเสนอข่าว Hate speech 
 
การประชุม กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ประชุมได้ทบทวนเนื้อหา ที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพสื่อมวลชน กรณีห้ามนำเสนอข่าวสารที่สร้างความเกลียด หรือ Hate Speed ซึ่งบัญญัติอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา ที่ 20 ของส่วนเสรีภาพของบุคคล
 
บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเสนอให้ทบทวน โดยเป็นห่วงว่ารัฐธรรมนูญจะกลายเป็นการคุกคามสื่อมวลชน ที่ประชุมบางส่วนเห็นว่า ในต่างประเทศมีการกำหนดไว้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดความแตกแยกและฆ่าล้างเผาพันธุ์จึงไม่ควรตัดทิ้ง ประกอบกับเหตุการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมาเกิดจากการนำเสนอข่าวที่สร้างความเกลียดชัง ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบด้วยเสียงส่วนใหญ่ ให้ตัดถ้อยความประโยคสุดท้ายในวรรคสอง ของมาตราที่ 20 เรื่องสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ห้ามสื่อมวลชนเสนอข่าวสารที่เป็นการสร้างความเกลียดชัง หรือ Hate Speech ออกไป เพื่อไม่ให้เกิดความกลัวของสื่อมวลชน และป้องกันนักการเมืองใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการปิดกั้นสื่อ 
 
 
 
ผ่านร่างพ.ร.บ.ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ 5 ฉบับ
 
ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมี นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 เป็นประธานในการประชุม ที่ประชุมลงมติเรื่องร่าง พรบ.ประกอบด้วย
 
1.) ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบราชการพลเรือน ฉบับที่ .. พ.ศ. .... สมาชิก สนช.มีมติ เห็นด้วย 197 ไม่เห็นด้วย 0 งดออกเสียง 4
 
2.) ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบราชการทหาร ฉบับที่ .. พ.ศ. .... สมาชิก สนช.มีมติ เห็นด้วย 198 ไม่เห็นด้วย 0 งดออกเสียง 4
 
3.) ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ฉบับที่ .. พ.ศ. .... สมาชิก สนช.มีมติ เห็นด้วย 196 ไม่เห็นด้วย 0 งดออกเสียง 6
 
4.) ร่าง พ.ร.บ.เงินเดือนเงินวิทยฐานะและเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ฉบับที่ .. พ.ศ. .... สมาชิก สนช.มีมติ เห็นด้วย 198 ไม่เห็นด้วย 0 งดออกเสียง 4
 
5.) ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการรัฐสภา ฉบับที่ .. พ.ศ. .... สมาชิก สนช.มีมติ เห็นด้วย 198 ไม่เห็นด้วย 0 งดออกเสียง 4
 
 
เรื่องที่เกี่ยวข้อง: