26 มกราคม 2558 : สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เสนอแนวทางการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ และการพิจารณาปรับปรุง ร่าง พ.ร.บ. พัฒนารัฐวิสาหกิจแห่งชาติ ต่อ สปช.
นายสมชัย ฤชุพันธ์ ประธาน กมธ.ปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง รับหนังสือจากนายอำพล ทองรัตน์ รักษาการเลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และคณะ ที่ขอเสนอแนวทางการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ และการพิจารณาปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) พัฒนารัฐวิสาหกิจแห่งชาติ พ.ศ... (ฉบับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์) เพื่อนำไปเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการของรัฐวิสาหกิจให้ปลอดจากการแทรกแซงของนักการเมืองและนายทุน ตลอดจนสร้างรัฐวิสาหกิจให้เป็นเครื่องมือของรัฐในการวางโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศ
กมธ. ยกร่าง รธน. กำหนดให้กรรมการในองค์กรตามรัฐธรรมนูญต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯ ต่อ ป.ป.ช.
กมธ. ยกร่าง รธน.กำหนดให้กรรมการในองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน รวมทั้งสำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ของตน พร้อมทั้งหลักฐานที่เกี่ยวข้องของคู่สมรส และบุตร ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือองค์กรตรวจสอบอื่น พร้อมทั้งให้เปิดเผยต่อสาธารณชนโดยเร็ว
อีกทั้ง กำหนดให้นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีต้องไม่ดำรงตำแหน่งใดในหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือตำแหน่งที่เกี่ยวกับการบริหารส่วนท้องถิ่น รวมถึงต้องไม่ดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์การที่มุ่งหาผลกำไร ตลอดจนจะต้องไม่แทรกแซงหรือก้าวก่าย หรือเข้ามาเป็นคู่สัญญากับรัฐในโครงการสัมปทานอันมีลักษณะเป็นผูกขาดตัดตอนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
27 มกราคม 2558 : ภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของชาติ เรียกร้องยุบรวมองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หวังป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น
พลเอกสำเริง พินกลาง ประธานคณะกรรมการภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของชาติ (ภตช.) และคณะ ขอให้ยุบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อให้เกิดการใช้งบประมาณของรัฐเป็นไปตามระเบียบและกฎหมายไม่ให้เกิดการทับซ้อนกัน และเกิดประโยชน์สูงสุดกับราชการ หลังทางเครือข่ายฯ ได้ทำการรวบรวมข้อมูลและตรวจสอบในหลายพื้นที่ใน อปท.โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แล้วพบว่า การบริหารของ อบจ.หลายแห่งมีการใช้งบประมาณไม่คุ้มค่า มีการกระทำการผิดระเบียบทางราชการและไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ส่อถึงการทุจริตและทำให้ราชการเสียประโยชน์จำนวนมาก และบางแห่งเป็นที่หาผลประโยชน์โดยมิชอบของกลุ่มการเมืองและเป็นแหล่งอิทธิพล
กมธ.ร่าง รธน. แจงความคืบหน้า เรื่องปรับโครงสร้างศาลและกระบวนการยุติธรรม
นายคำนูญ สิทธิสมาน โฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ชี้แจงความคืบการทำงานของกรรมาธิการฯ ว่า ได้มีการปรับโครงสร้างของกระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะองค์กรอัยการ จะไม่ให้ข้าราชการไปดำรงตำแหน่งในองค์กรรัฐวิสาหกิจ
ส่วนในศาลยุติธรรมได้เพิ่มศาลอุทธรณ์แผนกคดีเลือกตั้งเพื่อพิจารณาคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหมด และการยื่นบัญชีทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ จากเดิมเป็นอำนาจของศาลฎีกา ขณะที่ศาลปกครอง ได้เพิ่มแผนกวินัยคดีทางการเงินและการคลังในศาลปกครองกลาง และศาลปกครองสูงสุด
กมธ.ร่าง รธน. เผย กำหนดให้สามารถถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองย้อนหลังได้แม้พ้นจากตำแหน่งแล้ว
ที่ประชุม กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดให้นายกฯ หรือ รมต. ต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งทางการเมืองเข้าไปแทรกแซงการปฏิบัติงานราชการ หรือการบรรจุแต่งตั้งโยกย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง และการให้ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐพ้นจากตำแหน่ง
นอกจากนี้ ยังกำหนดหากผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด หรืออัยการสูงสุด มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือถูกพลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อร้องขอตามที่ รธน.กำหนด โดยต้องใช้มติด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาในการถอดถอน
โดยผู้ที่ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งจะถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่รัฐสภามีมติ และยังสามารถถอดถอนย้อนหลังได้ถึงแม้จะพ้นจากตำแหน่งทางการเมืองไปแล้วก็ตาม
ส่วนการพิจารณาองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ที่ประชุมเห็นควรกำหนดให้คณะกรรมการสรรหา กกต. มีจำนวน 12 คน ประกอบด้วย
1) ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 4 คน โดยเลือกจากที่ประชุมศาลฎีกา จำนวน 2 คน และตุลาการศาลปกครองสูงสุด 2 คน
2) ผู้ทรงคุณวุฒิ จากพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองฝ่ายรัฐบาล 1คน และพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองฝ่ายค้าน 2 คน
3) ผู้ทรงคุณวุฒิจากคณะรัฐมนตรี 1 คน
4) ผู้ทรงคุณวุฒิที่เลือกโดยอธิการบดีในสถาบันอุดมศึกษา 2 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ ที่เลือกโดยสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ จำนวน 2 คน
และให้ กกต.มีวาระการดำรงตำแหน่งวาระเดียว 6 ปี ส่วนการพิจารณาคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้น กำหนดให้เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์แผนกคดีเลือกตั้งตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ
28 มกราคม 2558 : กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้ ป.ป.ช.มีจำนวนเหลือ 9 คน วาระดำรงตำแหน่ง 9 ปี ได้เพียงวาระเดียว พร้อมเพิ่มอำนาจให้ไต่ส่วนผู้ที่เกี่ยวข้องกับกรณีร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ทั้งหมด
ปรับจำนวน ป.ป.ช. เป็น 9 คน มีวาระดำรงตำแหน่ง 9 ปี ได้เพียงวาระเดียวและต้องไม่เคยเป็น ป.ป.ช.มาก่อน ซึ่งไม่ได้กำหนดว่าจะต้องมีประสบการณ์ในด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และยังกำหนดให้วุฒิสภามีอำนาจลงมติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พ้นจากตำแหน่งด้วยคะแนนไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด เมื่อมี ส.ส.หรือประชาชนเข้าชื่อร้องขอ และหากมีผู้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เรื่องการกระทำผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ฐานทุจริตต่อหน้าที่ ร่ำรวยผิดปกติ ห้ามไม่ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ปฏิบัติหน้าที่ระหว่างที่ศาลรับคำร้องไว้จนกว่าจะมีคำพิพากษา
นอกจากนี้ กำหนดเพิ่มอำนาจหน้าที่ ป.ป.ช. ในการไต่สวน จากเดิมไต่สวนเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้สามารถไต่สวน และวินิจฉัยกรรมการในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และตัวการ ผู้ใช้และผู้สนับสนุนการกระทำความผิดในกรณีร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ด้วย
29 มกราคม 2558 : สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติเอกฉันท์ 171 เสียง รับหลักการร่างพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. ...
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธาน ประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เครื่องสำอาง ซึ่งเป็นการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยเครื่องสำอางฉบับเดิมเมื่อปี พ.ศ. 2535 ที่บังคับใช้มานาน จึงต้องเปลี่ยนแปลงระบบการกำกับดูแลเครื่องสำอางให้เป็นระบบเดียวกัน คือ ระบบการแจ้งรายละเอียดเครื่องสำอางก่อนจะผลิตหรือนำเข้า ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนให้อุตสาหกรรมเครื่องสำอางของไทยมีศักยภาพการแข่งขันในระดับสากล อีกทั้งจะเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีมาตรฐาน การมีมาตรการควบคุมเครื่องสำอางปลอม ผิดมาตรฐาน รวมถึงปรับปรุงบทกำหนดโทษและอัตราค่าธรรมเนียมให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
สนช. มีมติเอกฉันท์รับหลักการร่าง พ.ร.บ.เครื่องสำอางด้วยเสียง 171 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมาย 21 คน กำหนดเวลาแปรญัตติใน 15 วัน
คณะกรรมาธิการสังคมฯ กระตุ้นกระทรวงพัฒนาสังคมฯ เร่งออกมาตรการเชิงรุก เพื่อป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศต่อสตรี การกระทำความรุนแรงต่อบุคคลในครอบครัว
นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการกิจการสตรี ของ สนช.เสนอ ให้มีการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานราชการทุกกระทรวง และองค์กรธุรกิจ เพื่อรณรงค์อบรมข้าราชการและพนักงาน เรื่องการไม่แก้ปัญหาครอบครัวด้วยการใช้ความรุนแรงต่อบุคคลในครอบครัวและการล่วงละเมิดทางเพศสตรี การตั้งศูนย์ Hotline สำหรับกลุ่มเสี่ยงให้มีที่พึ่งนอกบ้าน การสร้างเครือข่ายชุมชนเฝ้าระวังความรุนแรงในครอบครัวและป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศเพื่อนบ้าน โดยความร่วมมือของหน่วยงานในพื้นที่ และรณรงค์ค่านิยมไทยไม่ใช้ความรุนแรงแก้ไขปัญหา และเห็นควรให้มีการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 และกฎหมายว่าด้วยความผิดทางเพศโดยทันที
สนช. รับหนังสือจากคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เรียกร้อง สนช.ทบทวน ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม หลังพบมีการตัดสิทธิคนว่างงาน
นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. และ พลเอกสิงห์ศึก สิงห์ไพร ประธาน กมธ. วิสามัญ ร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคม รับหนังสือ จากนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และคณะ เพื่อขอคัดค้านกฎหมายประกันสังคม หลังมีการตัดสิทธิคนว่างงาน โดยนางสาววิไลวรรณ กล่าวว่า การพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของ สนช.ยังมีประเด็นที่ผู้ประกันตนยังไม่เห็นด้วย อาทิ การตัดสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนกรณีลูกจ้างสมัครใจลาออกจากงานจะไม่มีสิทธิได้รับเงินกรณีว่างงานถึงร้อยละ 30 ของค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน รวมทั้งการสิ้นสุดสิทธิการเป็นผู้ประกันตนกรณีชราภาพ
จึงขอให้ สนช.ทบทวนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวด้วย โดยขอให้คงสิทธิการสมัครใจลาออกจากงานยังได้รับเงินทดแทนช่วงขาดรายได้ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้าง ไว้เหมือนเดิม
กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ปรับหลักการงบประมาณแผ่นดินใหม่ กำหนดให้เงินกู้เป็นรายได้ของแผ่นดิน ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณต้องมีรายละเอียดทั้งงบประมาณรายจ่ายและงบประมาณรายได้ประจำปี
นายคำนูณ สิทธิสมาน เปิดเผยว่า มีการปรับนิยามเงินแผ่นดินใหม่ ให้หมายความรวมถึง เงินรายได้แผ่นดิน เงินกู้ เงินคงคลังและเงินรายได้จากทรัพย์สินและสิทธิประโยชน์อื่นที่รัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐถือกรรมสิทธิ์หรือครอบครอง เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินโดยรวม พร้อมกันนี้ยังเพิ่มบทบัญญัติห้ามรัฐบาลกู้เงินโดยไม่ผ่านการตราพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี ซึ่งหมายถึงว่าไม่สามารถออกกฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินได้
นอกจากนี้ ยังบัญญัติหลักการของการจัดทำพระราชบัญญัติงบประมาณแผ่นดินขึ้นมาใหม่ โดยกำหนดให้ตราเป็นร่าง พ.ร.บ. งบประมาณประจำปี และร่าง พ.ร.บ.งบประมาณเพิ่มเติม ไม่ใช่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อให้หลังจากนี้ไปร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ต้องจัดทำเป็นรูปแบบที่มีรายละเอียด ทั้งงบประมาณรายจ่ายและงบประมาณรายได้ประจำปี เพื่อเอื้อต่อการออกเป็นกฎหมายลูกในอนาคตต่อไป ขณะที่การจัดสรรงบฯ นอกจากจัดสรรตามหน่วยงาน และภารกิจแล้ว ยังเพิ่มการจัดสรรงบฯ ให้เป็นไปตามพื้นที่ เพื่อให้ตรงกับความต้องการตามพื้นที่ของประชาชนกลุ่มต่างๆ อย่างครอบคลุมมากขึ้น
กมธ.พลังงาน สนช. เตรียมเสนอภาครัฐศึกษาแนวทางการดำเนินการรองรับการบริหารจัดการปิโตรเลียมของประเทศ พร้อมเสนอญัตติตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษา พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้อง
คณะกรรมธิการพลังงาน สนช.จะเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 โดยมีกรรมาธิการประกอบด้วยสมาชิก สนช. ผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน เพื่อร่วมกันหาทางออกในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการปิโตรเลียม เพื่อให้ประเทศได้รับประโยชน์อย่างสูงสุดและเป็นธรรมต่อทุกภาคส่วน เพราะปัจจุบันกฎหมายเหล่านี้ ยังไม่เปิดโอกาสให้มีการนำระบบแบ่งปันผลผลิตเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการได้ จึงต้องการเสนอให้ภาครัฐศึกษาแนวทางในการดำเนินการเพื่อรองรับการบริหารจัดการปิโตรเลียมของประเทศ ที่อาจนำระบบอื่นนอกจากสัมปทานมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นแบ่งปันผลผลิต การจ้างผลิต หรือดำเนินการโดยภาครัฐ
30 มกราคม 2558 : กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ มีมติควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้ตรวจการแผ่นดิน
นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงว่า คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมีมติควบรวม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยใช้ชื่อว่า "ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน"
เนื่องจากทั้งสององค์กรมีลักษณะงานที่คล้ายคลึงกัน และเพื่อเป็นการยกระดับสององค์กรให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพสูงสุด ในการเพิ่มสิทธิประโยชน์และคุ้มครองประชาชน ไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิหรือกรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมจากระบบราชการหรือการเมือง รวมทั้งอำนวยความสะดวกให้ประชาชนไปร้องทุกข์ได้ในที่เดียวแบบวันเบ็ดเสร็จ