NLA Weekly (6 กุมภาพันธ์ 2558): ปชช.ค้านร่างกฎหมายดิจิทัล ขณะที่พ.ร.บ.สวนป่าฉลุยวาระสาม

NLA Weekly (6 กุมภาพันธ์ 2558): ปชช.ค้านร่างกฎหมายดิจิทัล ขณะที่พ.ร.บ.สวนป่าฉลุยวาระสาม

เมื่อ 6 ก.พ. 2558
2 กุมภาพันธ์ 2558: กฤษฎีกาแนะรองนายกฯ นั่ง ปธ.ดิจิทัลฯ มีมติยุบซิป้าทิ้ง
 
มนู อรดีดลเชษฐ์ คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัล อีโคโนมี และที่ปรึกษาปลัดกระทรวงไอซีที เปิดเผยว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา มีข้อเสนอถึงรัฐบาล ให้เปลี่ยนตำแหน่งประธานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดิจิทัล อีโคโนมี จากเดิมที่ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ.... กำหนดให้ตำแหน่งประธาน คือ นายกรัฐมนตรี เป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เพราะเห็นว่าตำแหน่งนายกฯ อาจมีภารกิจรัดตัว จนไม่มีเวลามาขับเคลื่อนการทำงานดังกล่าว
 
ส่วนการปรับปรุงโครงสร้างของไอซีที ผ่าน พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ขณะนี้ ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. แล้ว โดยไอซีทีจะยุบสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า และตั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลขึ้นแทน เพื่อช่วยคณะกรรมการดิจิตอลอีโคโนมี ขับเคลื่อนในเรื่องต่างๆ โดยโอนพิจารณาโอนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถและตรงกับภารกิจมาจากซิป้า
 
 
สปช. มีมติให้แก้ไขร่าง พ.ร.บ.องค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค 
 
สภาปฏิรูปแห่งชาติ  มีมติด้วยคะแนนเสียง 145 เสียง ไม่เห็นด้วย 72 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง ให้คณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สปช. นำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค กลับไปแก้ไข
 
โดยสมาชิก สปช. ส่วนใหญ่ เสนอให้ปรับปรุงในเรื่อง ภาระหน้าที่ของหน่วยงานที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งเห็นว่ายังคงซ้ำซ้อนกับสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าหน่วยงานดังกล่าวจะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเอกชนหรือเจ้าพนักงานตามกฎหมายอาญา
 
 
3 กุมภาพันธ์ 2558: “บวรศักดิ์” โว ตั้ง "ศาลวินัยการคลังฯ" คุมเข้มโกงเงินแผ่นดิน 
 
บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึง กรณีที่พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เสนอแนะให้ตั้ง “ศาลฉ้อราษฎร์บังหลวง”เพื่อให้คดีโกงลดกระบวนการให้เร็วขึ้นว่า สิ่งที่กำลังทำก็สอดคล้องกับที่พล.อ.เปรมเสนอ คือการเพิ่มขึ้นศาลในการป้องการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยศาลที่จะตั้งขึ้นใหม่ได้แก่ศาลวินัยการคลัง และงบประมาณ ในการดำเนินงาน หากป.ป.ช.และสตง.พบว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือข้าราชการระดับสูงมีการทุจริตต่อทรัพย์สินที่เป็นเงินแผ่นดิน สามารถฟ้องศาลโดยตรงได้ โดยไม่ต้องรอหลักฐานจนถึงที่สุด เหมือนกรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงเป็นการอุดช่องว่าง
 
 
ภาคประชาชนยื่น 2 หมื่นชื่อ ค้าน ร่างกม.ดิจิทัล
 
มูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง พร้อมด้วยองค์กรภาคประชนอีก 4 องค์กร เรียกร้องให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญทบทวนและรับฟังความเห็นต่อชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากมีเนื้อหาที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพ โดยให้อำนาจเจ้าที่รัฐในการสืบค้นข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่ต้องร้องขอต่อศาล, ขาดกลไกตรวจสอบ  อีกทั้งไม่มีผู้แทนด้านสิทธิในคณะกรรมการตามร่างกฎหมาย
 
ร่างชุดกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล ประกอบด้วย ร่างกฎหมาย จำนวน 13 ฉบับ อาทิ ร่างกฎหมายรักษาความปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติซึ่งกำหนดให้ตั้งคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ หรือ กปช.มีอำนาจเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของบุคคลได้อย่างอิสระ ทั้งนี้ ในการคัดค้านชุดร่างกฎหมายนี้  มีประชาชนร่วมลงชื่อรณรงค์ผ่านเว็บไซต์ change.org เป็นจำนวน20,678 รายชื่อ
 
 
 
5 กุมภาพันธ์ 2558: ร่างพ.ร.บ.สวนป่า ฉลุยวาระสาม สนช.ถกวุ่น ปมตัดโทษอาญาผู้ฝ่าฝืน 
 
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติด้วยคะแนน 185 ต่อ 2 และงดออกเสียง 5 เสียง เห็นชอบให้มีการประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สวนป่า (ฉบับที่..) พ.ศ. ...
 
ระหว่างการพิจารณา สมาชิกถกเถียงกันอย่างกว้างขวางเรื่องการตัดบทลงโทษทางอาญาออก จากกรณีการกระทำผิดหรือฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย จนต้องพักการประชุมและให้กมธ.วิสามัญฯไปหารือ จนท้ายที่สุดได้ข้อสรุปว่าให้คงโทษทางอาญาตามมาตรา 22/3 และมาตรา 25/4 ไว้ แต่ปรับปรุงถ้อยคำและโทษให้เหมาะสม 
 
นอกจากนี้ มีการตัดรายชื่อต้นไม้ที่อยู่ในบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.จำนวน 8 รายการ จากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอเข้ามาจำนวน 66 รายการ อาทิ ยางพารา มะฮอกกานี โกงกาง ยูคาลิปตัส กระถิน สนประดิพัทธิ์ เสม็ด เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตเกษตรกร
 
 
 
6 กุมภาพันธ์ 2558: ค้านแก้ ‘ป.วิแพ่ง’ ตัดสิทธิประชาชน ห้ามอุทธรณ์-ฎีกา
 
เดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความและคณะ ร่วมอ่านแถลงการณ์เรื่อง "เมื่อประชาชนหมดสิทธิ์อุทธรณ์-ฎีกาคดีต่อศาลฎีกาในคดีแพ่ง และคดีอาญา (คดียาเสพติด) กับข่าวที่ไม่ชอบด้วยจริยธรรมของสื่อสิ่งพิมพ์" เนื้อหาของแถลงการณ์ตอนหนึ่งระบุว่า ที่ศาลยุติธรรมเสนอแก้ไขกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ที่ต้องห้ามฎีกาและสิ้นสุดในชั้นอุทธรณ์ สภาทนายความไม่เห็นด้วยกับการเสนอกฎหมายดังกล่าวของศาลยุติธรรม เพราะเป็นการตัดสิทธิ์ประชาชนในการฎีกา ซึ่งร่างแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ฉบับที่สภานิติบัญญัติได้รับไว้เพื่อพิจารณานั้น หากผ่านใช้เป็นกฎหมายจะทำให้คดีแพ่งและคดีอาญา (คดียาเสพติด) สิ้นสุดแค่ชั้นศาลอุทธรณ์ 
 
โดยศาลขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักการเดิมให้เป็นการต้องขออนุญาตต่อผู้พิพากษา 4 คนแทน ซึ่งสภาทนายความเห็นว่าขัดหลักการสากลของสิทธิมนุษยชนที่องค์กรในประเทศไทยพึงถือปฏิบัติ
 
ที่มา: ไทยพีเอส
 
เรื่องที่เกี่ยวข้อง: