หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. .... เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2557 เสียงคัดค้านจากประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการทำเหมืองแร่ก็เริ่มดังขึ้น ชาวบ้านหลายพื้นที่คัดค้านด้วยการออกแถลงการณ์มาแล้วหลายครั้งหลายหน หรือแม้กระทั่งเดินทางมาร้องเรียนกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมทั้งการไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อเรียกร้อง ให้ชะลอร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาร่างกฎหมาย และรอสภาที่มาจากเสียงของประชาชนเป็นผู้พิจารณา ขณะนี้ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวอยู่ในการดูแลของคณะกรรมการกฤษฎีกา
ย้อนกลับไปก่อนการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็มีความพยายามแก้ไข พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 มาแล้ว โดยมีการเสนอร่างกฎหมายแร่ถึง 4 ฉบับ เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา กล่าวว่า ร่างกฎหมายทั้งหมดยังไม่ถูกตราเป็นพระราชบัญญัติใช้บังคับ ด้วยเหตุผลที่เป็นข้อดีในระบอบประชาธิปไตยที่ให้ประชาชนได้เห็นเนื้อหาของร่างกฎหมายก่อนเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี จึงทำให้มีการทบทวนและชะลอเวลา ไม่เร่งรีบผลักดันมากเกินไป ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.แร่ ที่ ครม.ทหารอนุมัติ กลับมีความเร่งรีบ
ร่างดังกล่าวมีความน่าสนใจดังนี้
เดือน ธันวาคม 2557 ภาคประชาชนแถลงการณ์คัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.แร่ ฉบับ คสช.
--คณะกรรมการแร่มีแต่ข้าราชการ--
คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ภายใต้การดูแลของอานันท์ ปันยารชุน ที่ตั้งขึ้นหลังเหตุการณ์พฤษภาเลือด ปี 2553 อธิบายถึงความล้มเหลวของการจัดการทรัพยากรแร่ในประเทศไทยว่า เกิดจากความด้อยประสิทธิภาพของกลไกการกำกับดูแลและข้อบกพร่องที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในโครงสร้างการบริหารจัดการ นับแต่โบราณกิจการเหมืองแร่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของระบบราชการตลอดมา การแก้ไขร่างกฎหมายแร่ฉบับล่าสุดก็ยังคงยืนยันในหลักการเดิม คือให้กิจการแร่อยู่ในการควบคุมของข้าราชการต่อไป
ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้เพิ่มจำนวนคณะกรรมการแร่ซึ่งมีหน้าที่ให้คำปรึกษา แนะนำ ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจการดำเนินกิจการแร่ของประเทศ (ร่างมาตรา 8) จากเดิมไม่เกิน 10 คน เป็น 15 คน โดยสัดส่วนเป็นข้าราชการระดับอธิบดีขึ้นไปโดยตำแหน่ง 11 คน บุคคลที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่เกิน 3 คน รวมทั้งประธานสภาการเหมืองแร่ นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีคณะกรรมการแร่จังหวัด ซึ่งสัดส่วนก็มาจากข้าราชการในจังหวัดเป็นหลักอีกเช่นกัน โดยต้องเน้นย้ำว่าไม่มีสัดส่วนของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากการทำเหมืองแร่อยู่ในคณะกรรมการเหล่านี้เลย
--โอนอำนาจให้ข้าราชการอนุญาตทำเหมือง--
ตามกฎหมายปัจจุบันกำหนดให้การอนุญาตทำเหมืองแร่ หรือ การให้ “ประทานบัตร” เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยผู้ขอประทานบัตรทำเหมืองจะขอได้เขตหนึ่งไม่เกินคำขอละ 300 ไร่ แต่หากเป็นการขอประทานบัตรทำเหมืองในทะเล และการขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดิน (มาตรา 44 วรรคสอง) รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดเขตเหมืองแร่ให้แก่ผู้ขอประทานบัตรสำหรับเหมืองใต้ดินได้ไม่เกินรายละ 10,000 ไร่ และสำหรับทำเหมืองในทะเลได้ไม่เกินรายละ 50,000 ไร่ (มาตรา 45)
ขณะที่การขอประทานบัตรตามร่างกฎหมายแร่ ของ คสช. จะขอได้เขตหนึ่งไม่เกินคำขอละ 625 ไร่ การขอประทานบัตรในเขตอาชญาบัตรพิเศษ จะขอได้ไม่เกินคำขอละ 2,500 ไร่ การขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินจะขอได้ไม่เกินคำขอละ 10,000 ไร่ การขอประทานบัตรในทะเลจะขอได้ไม่เกินคำขอละ 50,000 ไร่ (ร่างมาตรา 41)
โดยผู้ออกใบอนุญาตทำเหมืองจะเปลี่ยนจากรัฐมนตรีเป็นข้าราชการประจำ การอนุญาตจะแบ่งออกเป็นสามประเภท ดังนี้