16 กุมภาพันธ์ 2558
“พรเพชร” แถลงแก้ไขกฎหมายศาลทหารไม่ละเมิดสิทธิ
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงกรณีองค์กรสิทธิมนุษยชนหลายแห่งที่ออกมาคัดค้านการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร และเรียกร้องให้หยุดการพิจารณากฎหมายดังกล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายนี้ไม่มีประเด็นเกี่ยวกับการลิดรอนสิทธิบุคคล และไม่ได้เพิ่มอำนาจให้ศาลทหารในการดำเนินการละเมิดสิทธิบุคคลเพิ่มขึ้น แต่เป็นการปรับปรุงกฎหมายศาลทหารบางเรื่อง เพื่อยกระดับการคุ้มครองสิทธิเกี่ยวกับการควบคุมผู้ต้องหาของศาลทหาร ให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาทั่วไป
อย่างไรก็ตาม พรเพชร อธิบายต่อว่า “การขึ้นศาลทหารยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เกิดขึ้นหลังจากบ้านเมืองไม่สงบ...เพื่อเป็นการสร้างบรรยากาศสู่การปฏิรูป คสช.จึงต้องมีเครื่องมือและกฎหมาย...ซึ่งจำเป็นและแม้ศาลทหารจะมีอำนาจพิจารณาคดีอาญาทั่วไป แต่ คสช.ได้ออกคำสั่งให้คดีที่ต้องขึ้นศาลทหารมีเพียง 2 ประเภท คือคดีหมิ่นสถาบันและคดีความมั่นคงที่ขัดคำสั่ง คสช. สะท้อนให้เห็นว่าการคงกฎอัยการศึกและการมีศาลทหารก็จำกัดประเภทคดี และมีผู้ฝ่าฝืนจำนวนไม่มาก”
ตัวแทนการพรรคการเมือง ห่วงรัฐธรรมนูญใหม่จะทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ
คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และองค์กรอื่นๆ จัดสัมมนา เรื่อง”หลักการใหม่เกี่ยวกับระบอบการเมือง และสถาบันการเมือง” โดยมีการเชิญผู้แทนพรรคการเมืองจำนวน 43 พรรคเข้าร่วมสัมมนา โดยจุรินทร์ ลักษณวิศิฏฐ์ ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นห่วงการออกแบบรัฐธรรมนูญที่อาจทำให้ระบบรัฐสภาและระบบพรรคการเมืองอ่อนแอ เช่น ต้องยุบสภาทั้งหมดหากนายกรัฐมนตรีถูกการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จากเดิมที่ใหันายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง ขณะที่ สามารถ แก้วมีชัย ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย กล่าวความเห็นส่วนตัวว่าเป็นห่วงเกี่ยวกับพรรคการเมืองที่มีสัญญาณว่าจะอ่อนแอลง ในรัฐธรรมนูญใหม่เช่นกัน
กรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน สปช. เตรียมเสนอแก้กฎหมาย เปิดทางเลือกสำรวจปิโตรเลียมและเชื้อเพลิงธรรมชาติ
ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ โฆษกคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า ขณะนี้กรรมาธิการฯ เตรียมแก้ไขกฎหมายให้ประเทศมีทางเลือกในการสำรวจการผลิตปิโตรเลียมและเชื้อเพลิงธรรมชาติอื่น ตลอดจนให้การสำรวจมีแนวทางชัดเจน ตรวจสอบได้ และสนับสนุนให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานที่ชัดเจนในระดับนโยบาย นอกจากนี้ กรรมาธิการฯ ยังเน้นปฏิรูปให้ประชาชนมีส่วนร่วม ตั้งแต่การกำหนดนโยบายพลังงาน และสามารถเป็นผู้ผลิตและผู้ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมจัดทำศูนย์ข้อมูลพลังงานแห่งชาติ โดยใช้รูปแบบสากล เพื่อนำเสนอข้อมูลพลังงานที่ชัดเจนและครอบคลุม
กมธ. ปฏิรูปสังคมฯหนุนปฏิรูปกระบวนการคืนสัญชาติให้คนไทยพลัดถิ่น
นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส สปช. เสนอปฏิรูปกระบวนการคืนสัญชาติให้คนไทยพลัดถิ่น ด้วยระบบการบริหารจัดการเชิงรุกเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะทาง โดยอธิบดีกรมการปกครอง ต้องเร่งพัฒนาระบบและการจัดการภาครัฐ และจะดึงความร่วมมือจากหน่วยวิชาการและเครือข่ายประชาสังคมเข้าร่วมทำงานอย่างใกล้ชิด
กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ บัญญัติให้ทุกภาคส่วนเดินหน้าให้มีการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองภายใน 5 ปี
คำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า ที่ประชุมได้พิจารณาในภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง โดยมาตรา 1 บัญญัติให้ภาคนี้ก่อให้เกิดหน้าที่แก่รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลและหน่วยงานของรัฐ รวมถึงพลเมือง ที่ต้องจัดให้มีการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองในระยะเวลา 5 ปีตามรัฐธรรมนูญกำหนด ทั้งนี้ หากจะต่ออายุ จะต้องให้ผู้สิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 5 หมื่นคน หรือรัฐสภา คณะรัฐมนตรี เสนอให้ทำประชามติ และต้องอยู่ในวาระอีกไม่เกิน 5 ปี
17 กุมภาพันธ์ 2558
ขบวนการกระเหรี่ยงฯ เรียกร้อง กมธ.ยกร่าง รธน. คุ้มครองสิทธิและฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง
บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ รับหนังสือจาก พฤ โอ่โดเชา ตัวแทนขบวนการกระเหรี่ยงเพื่อฟื้นฟูวิถีวัฒนธรรมและจิตวิญญาณ เรียกร้อง กรรมาธิการยกร่างฯ, สปช. และรัฐบาลผลักดันและแก้ปัญหาให้ชาวกะเหรี่ยง อาทิ ขอให้รัฐบาลสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนปฏิบัติการแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินรัฐ การบริหารจัดการ ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ตลอดจนขอให้บัญญัติเรื่องสิทธิชุมชน ชาติพันธุ์ชนเผ่าพื้นเมืองไว้ในรัฐธรรมนูญ ด้านบวรศักดิ์ กล่าวว่า ยินดีนำเรื่องดังกล่าวไปพิจารณา ซึ่งกรรมาธิการยกร่างฯ ตระหนักถึงความสำคัญเกี่ยวกับสิทธิชุมชน และได้มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เรียบร้อยแล้ว
กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ ระบุ การปฏิรูปด้านสาธารณสุขและด้านการศึกษา ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี
นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ รองคณะประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยผลการประชุมว่า ได้กำหนดให้มีการปฏิรูปด้านสาธารณสุข โดยให้ความสำคัญต่อการปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิ คือป้องกันโรคและภัยคุกคามต่อสุขภาพ รวมถึงปฏิรูปการบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพรวมถึงการเงินการคลังของกองทุนสุขภาพให้มีมาตรฐานใกล้เคียงกัน
ขณะที่ ดร.อมรวิชญ์ นาครทรรพ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวในด้านการศึกษาว่า เน้นการพัฒนาคนให้เป็นพลเมืองที่ดี ด้วยการปฏิรูปเพื่อพัฒนาระบบการเรียนรู้ เน้นกระบวนการคิด การใช้เหตุผล เรียนรู้ด้วยวิธีลงมือปฏิบัติ และต้องส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับประชาชนทุกวัย จัดสรรค่าใช้จ่ายรายหัวโดยตรงแก่ผู้รับการศึกษาทุกคนอย่างพอเพียงและตามความจำเป็น พร้อมกับการพัฒนาระบบธรรมาภิบาลในวงการศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยจัดให้มีระบบตรวจสอบความโปร่งใสของการบริหารและการจัดการศึกษาทุกระดับ นอกจากนี้ ควรมีกฎหมายเกี่ยวกับมาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา บุคลากรทางการศึกษา การจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษา และการให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการบริหารการศึกษา ซึ่งการปฏิรูปดังกล่าวจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี หลังมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ
18 กุมภาพันธ์ 2558
วันชัย สอนศิริ เสนอให้นายกรัฐมนตรีเจรจากับอดีตนายกฯ ทักษิณ
วันชัย สอนศิริ โฆษกวิป สปช. กล่าวว่าเหตุผลที่เสนอให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เจรจากับ พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะว่า ปัญหาความขัดแย้งของบ้านเมืองที่สะสมมาเป็นเวลานานจะยุติลงได้ด้วยการเจรจา ไม่ใช่การออกกฎหมาย หรือการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดจากการแสวงหาอำนาจทางการเมืองระหว่างคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย พร้อมย้ำว่า ความปรองดองที่ดีที่สุดคือ การเจรจา ไม่ว่าจะเจรจาด้วยวิธีทางตรงหรือทางลับ
19 กุมภาพันธ์ 2558
สนช. ผ่านวาระสาม ร่าง พ.ร.บ.ศาลทหาร และ ร่าง พ.ร.บ.อุ้มบุญ
การพิจารณากฎหมายวันนี้ สนช. รับหลักการร่างกฎหมายในวาระที่ 1 จำนวน 3 ฉบับ ประกอบด้วย ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (แก้ไขเพิ่มเติมการอุทธรณ์ฎีกา), ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น, ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่ประธาน ปปช.เป็นผู้เสนอ
สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ที่เสนอโดยสมาชิก สนช. ที่ประชุมสนช. เห็นชอบให้คณะรัฐมนตรีรับไปพิจารณาก่อนรับหลักการ
ขณะที่การพิจารณาร่างกฎหมายในวาระ 3 มีจำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ และ ร่าง พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร โดยร่าง พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร สนช.ออกมาชี้แจงว่า ในชั้นพิจารณาของกรรมาธิการ ได้แก้ไขมาตรา 46 ด้วยการกำหนดตำแหน่งของทหารที่มีอำนาจสั่งการให้ชัดเจนว่า กรณีที่มีเหตุสุดวิสัย ให้ศาลทหารที่มีอำนาจสั่งขังผู้ต้องหา โดยให้ผู้บังคับบัญชาทหารที่มีตำแหน่งตั้งแต่ผู้บัญชาการกองพลหรือเทียบเท่าเป็นผู้มีอำนาจสั่งควบคุมผู้ต้องหาไว้ตามความจำเป็น
สนช. มีมติเห็นชอบรายงานการรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ
ที่ประชุม สนช.มีมติเห็นชอบรายงานการรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ที่เสนอต่อกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ อาทิ เสนอให้แยกฝ่ายนิติบัญญัติออกจากฝ่ายบริหารอย่างชัดเจน แนวทางการสร้างความปรองดองและการปฏิรูปประเทศ ทั้งนี้จะนำส่งความเห็นทั้งหมดไปยังกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในปลายสัปดาห์นี้ พร้อมตั้ง คณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาศึกษาเสนอแนะและรวบรวมความเห็นเพื่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 5 คน เพื่อทำหน้าที่ประสานงานกับกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
สนช.เห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อติดตามตรวจสอบการทำงานและการใช้จ่ายงบประมาณของ กสทช.
ประชุม สนช.เห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา ติดตาม และตรวจสอบการปฏิบัติงานของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. จำนวน 15 คน เพื่อติดตามตรวจสอบการทำงานและการใช้จ่ายงบประมาณของ กสทช. โดยคณะกรรมาธิการชุดนี้มีกำหนดปฏิบัติงานตามภารกิจ 60 วัน
กมธ.ยกร่าง รธน. ตั้งคณะอนุกรรมาธิการ 11 คณะ ออกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
การประชุมกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในวันนี้ที่ประชุมมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมาธิการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญจำนวน 11 คณะเพื่อพิจารณาออกกฎหมายลูกให้เสร็จทันพร้อมใช้ควบคู่กับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ประกอบด้วย
1.คณะอนุกรรมาธิการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
2.คณะอนุกรรมาธิการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยคณะรัฐมนตรี
3.คณะอนุกรรมาธิการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
4.คณะอนุกรรมาธิการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
5.คณะอนุกรรมาธิการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ
6.คณะอนุกรรมาธิการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญและวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ
7.คณะอนุกรรมาธิการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
8.คณะอนุกรรมาธิการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน
9.คณะอนุกรรมาธิการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
10.คณะอนุกรรมาธิการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน
และ 11.คณะอนุกรรมาธิการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการคลังและการงบประมาณของรัฐ
กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ สนับสนุนการจัดตั้งธนาคารแรงงานเพื่อเป็นกองทุนการเงินของผู้ใช้แรงงาน
นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ รองประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่าที่ประชุมได้กำหนดให้ตรากฎหมายและกำหนดกลไกเพื่อรองรับเสรีภาพของผู้ใช้แรงงาน ด้วยการรวมตัวกันเจรจาต่อรอง และกำหนดกติกาการจ้างงานร่วมกัน พร้อมสนับสนุนการจัดตั้งธนาคารแรงงานเพื่อเป็นกองทุนการเงินของผู้ใช้แรงงาน เพื่อส่งเสริมการออมและพัฒนาตนเอง ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม ให้ผู้ใช้แรงงานสามารถเข้าถึงการกู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยต่ำได้
20 กุมภาพันธ์ 2558
กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ เตรียมร่างกฎหมาย กฎหมายปรองดอง กฎหมายสมัชชาคุณธรรม ก่อนรัฐธรรมนูญใหม่
ด้านนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ กล่าวว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีหลักการในการร่างเหมือนกับรัฐธรรมนูญฉบับก่อนที่เปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนก่อนลงเป็นรายมาตรา พร้อมย้ำว่ารับฟังทุกความเห็น โดยจะเปิดรับฟังไปจนถึงปลายเดือนมิถุนายน ก่อนส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ สปช.พิจารณา นอกจากนี้ กรรมาธิการยกร่างฯ เตรียมการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ รวมถึงกฎหมายลูกฉบับอื่น เช่น กฎหมายปรองดอง กฎหมายสมัชชาคุณธรรม ซึ่งควรดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน นับจากนี้ เพื่อให้ทันก่อนมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่
สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย ยื่นหนังสือ สปช.ขอให้ทบทวนร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิตอล
พีรพงษ์ จารุสาร ตัวแทนสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย ขอให้พิจารณาทบทวนร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่..) พ.ศ. ... และร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. ... เนื่องจากร่างกฎหมายดังกล่าวส่งผลกระทบต่อกลุ่มคนพิการและผู้ด้อยโอกาสอย่างมาก เพราะที่ผ่านมากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ตามกฎหมายเดิมมีเจตนารมณ์ในการนำเงินของกองทุน ที่มีรายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ จากผู้ประกอบกิจการไปใช้เพื่อลดช่องว่าง หรือลดความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นกับคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส แต่ร่างกฎหมายใหม่กลับนำเงินจากกองทุนดังกล่าวไปใช้เป็นเงินหมุนเวียนสำหรับองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนแทน
กมธ.ยกร่างฯ เสนอตั้งคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ ศึกษาสาเหตุของความขัดแย้ง ตรากฎหมายอภัยโทษ
นายคำนูญ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาหมวด 3 การสร้างความปรองดอง โดยที่ประชุมได้มีการกำหนดให้มีคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ ประกอบด้วยกรรมการไม่เกิน 15 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ไม่ฝักฝ่ายทางการเมืองหรือความขัดแย้ง ซึ่งกำหนดให้ มีอำนาจหน้าที่ ตรากฎหมาย พระราชกฤษฎีกาอภัยโทษให้กับบุคคล ที่ยอมรับและสำนึกผิดพร้อมพูดความจริงที่เป็นประโยชน์ต่อการสร้างความปรองดอง เยียวยาผู้เสียหายจากความขัดแย้ง ศึกษาสาเหตุของความขัดแย้งให้เสนอต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี สร้างเครือข่ายสร้างความปรองดองในภาคส่วนต่างๆ และเสนอร่างพระราชบัญญัติเพื่อการสร้างความปรองดองต่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยเพื่อเสนอต่อรัฐสภาเพื่อให้บังคับใช้
นอกจากนี้ คุณสมบัติของคณะกรรมการดังกล่าวขึ้นอยู่กับกฎหมายลูกที่จะมีการร่างเอาไว้รวมถึงหลักเกณฑ์การสำนึกผิด แต่คณะกรรมการดังกล่าว จะเน้นเพื่อเป็นเวทีให้คู่ขัดแย้งได้พูดคุยกันเพื่อการสำนึกผิด ซึ่งอำนาจในการอภัยโทษยังคงเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ต่อไป อย่างไรก็ตาม นายคำนูญระบุว่า บุคคลที่จะได้รับอภัยโทษนั้น จะใช้กับผู้ที่ได้รับโทษแล้วเท่านั้นโดยที่ยังมีความผิดติดตัวอยู่ไม่ใช่การนิรโทษกรรม
พระพุทธะอิสระ ขอให้ สปช.ปฏิรูปศาสนจักรให้เป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างแท้จริง
ไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สปช.รับหนังสือจาก มหัศจักร โสดี ตัวแทนพระพุทธะอิสระ วัดอ้อน้อย จังหวัดนครปฐม เพื่อขอให้ปฏิรูปศาสนาจักรให้เป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จริง ตามหลักธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า โดยนายมหัศจักร กล่าวว่า ควรกำหนดบทลงโทษแก่ผู้ละเมิดพระธรรมวินัยให้ชัดเจน การพิจารณาออกกฎหมายยึดทรัพย์แก่นักบวชและวงศาคณาญาติของนักบวชที่ร่ำรวยผิดปกติ ไม่สามารถชี้แจงที่มาที่ไปได้ ตลอดจนตั้งองค์กรปกครองคณะสงฆ์ที่ประกอบไปด้วยนักบวช ฆราวาสที่มีความรู้ความชำนาญ มาช่วยแบ่งเบาภาระงานคณะสงฆ์ทั้งด้านปกครอง บริหารและการศึกษา เพื่อให้งานคณะสงฆ์พัฒนาก้าวทันต่อกระแสโลก
ผู้พิพากษาศาลฎีกา ค้านแก้กฎหมายห้ามฎีกา ชี้จำกัดสิทธิประชาชน
ชำนาญ รวิวรรณพงษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา กล่าวถึงกรณี สนช.รับหลักการร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่...) พ.ศ... (แก้ไขเพิ่มเติมการอุทธรณ์ฎีกา) ว่าไม่เห็นด้วยกับหลักการดังกล่าว เพราะถือเป็นการจำกัดสิทธิประชาชน ซึ่งผู้พิพากษาศาลฎีกาและที่ประชุมคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (กบศ.) หลายคนก็เห็นด้วย แต่ก็ยังไม่ทราบว่ากฎหมายนี้ผ่านการพิจารณาของ กบศ. และผ่านการพิจารณาของ สนช.ได้อย่างไร นอกจากนี้ ชำนาญ ชี้ว่า เราจะต้องสร้างมาตรฐานของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้ดีเสียก่อน จะเอาแบบอย่างของศาลในต่างประเทศมาใช้ไม่ได้
เห็นด้วยกับ ร่าง พ.ร.บ.ศาลทหาร ฉบับแก้ไขไหม?