24 มีนาคม 2558
ญาติวีรชนพฤษภา 35 ยื่นหนังสือ ขอให้ทบทวนเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ที่เปิดโอกาสให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอก
บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ รับหนังสือจาก อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 2535 และกลุ่มญาติวีรชน ขอให้ทบทวนเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอกที่ไม่ใช่ ส.ส. เข้ามาดำรงตำแหน่งได้
โดยกลุ่มญาติมองว่า การบัญญัติในรัฐธรรมนูญเช่นนี้ จะทำให้เกิดการสืบทอดอำนาจของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เช่นเดียวกับปี 2535 ที่มาจากเป็นการสืบทอดอำนาจจากคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ไม่สงบภายในประเทศ และเป็นที่มาของพฤษภาทมิฬ 35
รอง ปธ.สนช. รับการยื่นเรื่องขอให้ทบทวนเนื้อหา ร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ จากเครือข่ายภาคประชาชน 38 องค์กร
สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) คนที่ 1 รับการยื่นหนังสือจาก จำนงค์ หนูพันธ์ ประธานเครือข่ายสลัมสี่ภาค พร้อมองค์กรภาคประชาสังคมและเครือข่ายประชาชน รวม 38 กลุ่ม อาทิ เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ที่ต้องการให้ สนช.ทบทวนร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ... ซึ่งผ่านวาระแรก ไปเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เนื่องจากเห็นว่ากระบวนการเสนอกฎหมายดังกล่าวไม่ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ทั้งที่เป็นกฎหมายที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพประชาชนโดยตรง
รองประธาน สนช. กล่าวขอบคุณและชื่นชมกลุ่มผู้เรียกร้องในการทำหน้าที่พลเมือง ที่เข้ามาส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการพิจารณากฎหมายของ สนช. อย่างไรก็ตาม ร่างดังกล่าวอยู่ในขั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างฯ ที่ยังสามารถปรับปรุงแก้ไขได้ ตนจึงจะเร่งส่งข้อมูลที่กลุ่มเสนอไปยังกรรมาธิการเพื่อนำไปประกอบการพิจารณา และขอให้กลุ่มส่งตัวแทนเข้าร่วมฟังการประชุมของกรรมาธิการด้วย
ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ยืนยัน รัฐธรรมนูญร่างแรกเขียนอย่างเหมาะสมตามสถานการณ์ ชี้เสียงค้านมีแค่นักการเมืองที่มีส่วนได้เสีย
ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ยืนยัน รัฐธรรมนูญร่างแรกเขียนอย่างเหมาะสม ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ชี้เสียงค้านมีแค่นักการเมืองที่มีส่วนได้เสีย ไม่ใช่เสียงของประชาชน พร้อมย้ำ การเลือกตั้งแบบ open list เป็นการเพิ่มสิทธิให้กับประชาชน และทำให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็ง
บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่ น.ต. ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 แสดงความไม่เห็นด้วยกับการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และเห็นควรให้นำรัฐธรรมนูญปี 2550 มาปรับใช้ ว่า ส่วนตัวเคารพและรับฟังความคิดเห็นของ น.ต.ประสงค์ พร้อมยืนยันว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดนี้ เป็นไปอย่างเหมาะสมตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
ไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใดในอดีตที่บัญญัติเรื่องการปฏิรูปและการปรองดอง เนื่องจากปัจจุบันปัญหาของประเทศไม่เหมือนปี 2550 ทำให้การยกร่าง ฯ ในสมัยนั้นอาจไม่ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง ตนจึงไม่อยากให้ยึดติดกับรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือ 2550
กมธ.ปฏิรูประบบสาธารณสุข สปช. รับการยื่นเรื่องขอให้ถอดวาระพิจารณา ระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพ จากวาระการประชุม สปช. ในวันที่ 25 มี.ค. นี้
ประเสริฐ ศัลวิวรรธน์ เลขานุการคณะกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุข สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) พร้อมด้วย น.อ. ไพศาล จันทรพิทักษ์ โฆษกคณะกรรมาธิการ รับหนังสือจาก สุรพงษ์ พรมท้า แกนนำเครือข่ายจับตาปฏิรูปสาธารณสุขและคณะ ที่ตั้งข้อสังเกตในกรอบความคิดรวบยอดของการปฏิรูประบบสาธารณสุขที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปสาธารณสุข เตรียมเสนอต่อที่ประชุม สปช. ในวันพุธที่ 25 มีนาคม
ทางกลุ่มเห็นว่าวาระที่ 24 ระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพ ยังไม่มีการศึกษาที่เป็นระบบ ไม่รอบคอบ ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์จริง และอาจมีเจตนารมณ์ต้องการรวบอำนาจไว้ที่กระทรวงสาธารณสุข ไม่ใช่การกระจายอำนาจจากส่วนกลางตามทิศทางการปฏิรูปประเทศที่ควรเป็น
26 มีนาคม 2558
เมินนักศึกษา สนช.รับหลักการ"สวนดุสิต-เกษตร-มธ.-มข."ออกนอกระบบแล้ว สายอธิการหนุน!
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจาณาเรื่องด่วน ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ พ.ศ...โดยให้รวม มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตกาฬสินธุ์ จัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ เพื่อร่วมผลิตบัณฑิตให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนและท้องถิ่นของจังหวัดกาฬสินธุ์และพื้นที่ใกล้เคียง
สมาชิกสนช.ส่วนใหญ่อภิปรายสนับสนุนร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว แต่ตั้งข้อสังเกตว่าการเปิดสาขาวิชาจะต้องตอบสนองความต้องการของท้องถิ่น และพื้นที่ใกล้เคียง ไม่ใช่เพื่อแข่งขันกับมหาวิทยาลัยอื่นที่เกิดขึ้นมานานแล้วและได้รับความนิยมมากกว่า
ต่อมามีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ที่มีเนื้อหานำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบจำนวน 4 ฉบับ ได้แก่
ร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยสวนดุสิต พ..ศ.....
ร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ...
ร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.... และ
ร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ....
กฤษณพงศ์ กีรติกร รมช. กระทรวงศึกษาธิการ ชี้แจงว่า ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมีสาระสำคัญคือ ปรับปรุงการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม โดยส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยของรัฐพัฒนาไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการแต่อยู่ในกำกับของรัฐเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการที่เป็นอิสระและมีความคล่องตัว
มีรายงานว่า สมาชิกส่วนใหญ่อภิปรายสนับสนุน โดยเฉพาะสมาชิกที่มาจากสายอธิการบดีมหาวิทยาลัย อาทิ นายเฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดีม.ศรีนครินทรวิโรฒ (มศว. ) ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ สถาบันบัณฑิตพัฒน บริหารศาสตร์ (นิด้า ) นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน ประธานสภาคณาจารย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)นางสุมณฑา พรหมบุญ อดีตอธิการบดี มศว.
ต่อมาที่ประชุมมีมติรับหลักการในวาระแรกทั้ง 4 ฉบับ พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 15 คน 4 คณะขึ้นมาเพื่อพิจารณาต่อไป
30วินาที!ผ่าน'นิรโทษฯคสช.
ที่ประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พิจารณาวาระทบทวนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา และบันทึกเจตนารมณ์ โดยมีประเด็นการพิจารณาที่สำคัญ คือ มาตรา 315 ว่าด้วย
"บรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้น และการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้"
โดยที่ประชุมได้ผ่านมาตรานี้ไปอย่างรวดเร็ว ด้วยเวลาไม่ถึง 30 วินาที ไม่มีการอภิปรายเพื่อขอให้พิจารณาตัวบทบัญญัติ หรือเจตนารมณ์