29 มีนาคม 2558
สนง.ศาลปกครอง ค้าน กมธ.ยกร่างฯ ให้ศาลยุติธรรมบังคับคดีปกครอง
สำนักงานศาลปกครองเผยแพร่ผลการประชุมสัมมนาตุลาการศาลปกครองสูงสุดและตุลาการศาลปกครองชั้นต้นทั่วประเทศ ที่จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 27-29 มี.ค.โดยที่ประชุมได้หารือถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้มีการกําหนด ให้มีกลไกในการบังคับคดีทางแพ่งและคดีปกครองในสังกัดศาลยุติธรรม ซึ่งที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ ไม่เห็นพ้องกับการที่กมธ.ยกร่างฯเนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 บัญญัติให้มีการจัดตั้งศาลปกครองเป็นศาลคู่แยกต่างหากจากศาลยุติธรรม เพื่อให้มีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีที่มีข้อพิพาททางปกครอง เพราะหน่วยงานทางปกครองและประชาชนไม่มีความเท่าเทียมกันในการค้นหาพยานหลักฐาน เพื่อประกอบการฟ้องหรือต่อสู้คดีดังนั้นศาลปกครองจึงกําหนดวิธีพิจารณาโดยใช้ระบบไต่สวน
30 มีนาคม 2558
สหพันธ์ปลัดอำเภอฯ - เครือข่ายสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้าน หนุนร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารการปกครองพัฒนาหมู่บ้าน
นายหมวดเอก เรวัต เครือบุดดีมหาโชค ประธานสหพันธ์ปลัดอำเภอแห่งประเทศไทย (ส.ปอ.ท.) พร้อมด้วยเครือข่ายสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย ยื่นหนังสือไปถึงนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ขอสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารการปกครองพัฒนาหมู่บ้าน และเสนอร่างแก้ไขพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อหวังเสริมสร้างและกระจายอำนาจให้แก่คณะกรรมการหมู่บ้าน ในการบริหารจัดการและพัฒนาหมู่บ้านได้โดยตรง ให้ประชาชนพึ่งตนเองได้อย่างแท้จริง รวมถึงการลดความเหลื่อมล้ำ
31 มีนาคม 2558
กมธ.ยกร่างฯ เห็นชอบให้มีสัดส่วนผู้หญิงมีส่วนร่วมทางการเมือง
พลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นควรให้มีสัดส่วนผู้สมัครสตรีเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง ในบัญชีผู้สมัครระบบบัญชี ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 โดยมีการลงมติด้วยคะแนน17 ต่อ 15 งดออกเสียง 2 เสียง
นอกจากนี้ในประเด็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ที่ประชุมมีมติแก้ไขบทบัญญัติกรณีที่นายกรัฐมนตรี ถูกลงมติไม่ไว้วางใจจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ให้พ้นสมาชิกภาพไปเฉพาะนายกรัฐมนตรี แต่ให้สภาผู้แทนราษฏร และส.ส.ยังคงปฎิบัติหน้าที่ต่อไป
ครม.ไฟเขียวแก้ไขร่างพ.ร.บ.ผังเมือง พ.ศ.2518
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติม ร่าง พ.ร.บ. ผังเมือง พ.ศ. 2518 ซึ่งเดิมมีการกำหนดระยะเวลาการกำหนดผังเมืองรวม 5 ปี เมื่อครบกำหนดจึงจัดทำผังเมืองต่อ แต่ปรากฏว่า เมื่อมีกฎกระทรวงที่ต้องออกขึ้นตาม พ.ร.บ.ผังเมืองดังกล่าวหมดอายุลง ระหว่างที่รอกฎหมายใหม่ ที่ผ่านมามี กลุ่มผู้แสวงหาประโยชน์มักจะร่างกฎกระทรวงให้ช้าลง เพื่อขออนุญาตสร้างอาคารและตึกให้เกิดประโยชน์ต่อกลุ่มต่อฝ่ายตนเองก่อน และเมื่อมีผังเมืองออกมาก็จะนำใบอนุญาตที่ได้ เอาไปขายพร้อมที่ดินทำในราคาสูง เพื่อแก้ไขจุดอ่อนดังกล่าว จึงได้แก้ไขเพิ่มเติมร่างดังกล่าวให้ไม่มีกำหนดระยะเวลา ให้มีระยะเวลาต่อเนื่องไปโดยไม่กำหนดการหมดอายุ
1 เมษายน 2558
กมธ.ยกร่างฯ แก้คุณสมบัติรัฐมนตรีต้องไม่เคยติดคุก
ที่ประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะนำเรื่องที่กรรมาธิการเห็นควรทบทวนมาหารือกัน ซึ่งมี 2 ประเด็นสำคัญ คือ เรื่องที่มาของนายกรัฐมนตรี และที่มาของส.ว. สำหรับประเด็นหลักๆ ที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมคือ คุณสมบัติของรัฐมนตรี จะต้องไม่เคยจำคุก เว้นแต่เป็นความผิดที่กระทำโดยความประมาท ความผิดลหุโทษ และหมิ่นประมาท โดยจะต้องพ้นโทษมาแล้วเป็นเวลา 5 ปีก่อนได้รับการแต่งตั้ง
นอกจากนี้ มีการปรับแก้ถ้อยคำบางส่วน โดยไม่ได้กำหนดให้การเข้าร่วมประชุมสภาฯ วุฒิสภา และรัฐสภา ของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นหน้าที่ และเป็นภารกิจสำคัญเหนือภารกิจอื่น เพราะหากกำหนดสภาพบังคับดังกล่าว อาจมีผลต่อการทำงานของรัฐบาล ทั้งนี้ ที่ประชุมยังแก้ไขมาตรา 193จากเดิมที่รัฐบาลจะไปทำสนธิสัญญากับต่างประเทศ จะต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา โดยแก้ไขให้ตั้งคณะกรรมาธิการต่างประเทศ รัฐสภา ให้ความเห็นชอบแทนรัฐสภา
โปรดเกล้าฯ เลิกกฎอัยการศึก
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชดําริว่า ตามที่ได้มีประกาศกองทัพบก ฉบับที่ ๑/๒๕๕๗ เรื่อง การประกาศใช้ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก ลงวันที่ ๒๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ ให้ใช้กฎอัยการศึก ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เวลา ๐๓.๐๐ นาฬิกา และ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๒/๒๕๕๗ เรื่อง การประกาศใช้กฎอัยการศึก ทั่วราชอาณาจักร ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ ให้ใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ ๒๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เวลา ๑๖.๓๐ นาฬิกา เป็นต้นมานั้น
บัดนี้สถานการณ์หมดความจําเป็นที่จะต้องใช้กฎอัยการศึกตามประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวแล้ว อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เลิกใช้กฎอัยการศึกตามประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าว
หัวหน้า คสช. ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งแทนกฎอัยการศึกที่ถูกยกเลิก
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๓/๒๕๕๘ เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ โดยอาศัยอำนาจตาม รัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา44 ประกาศใช้แทนกฎอัยการศึกที่ยกเลิกไป เพื่อใช้บังคับตั้งแต่วันที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้เป็นไปตามหน้าที่รักษาความสงบของประเทศ
“พีมูฟ” จี้สนช.ถอนร่าง.พรบ.ชุมนุมฯ
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(ขปส.) หรือพีมูฟ นำโดยนายจำนง หนูพันธ์ ได้ยื่นหนังสือไปถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อคัดค้านร่างพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.... โดยนายจำนง กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวขัดหลักสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ สิทธิทางการเมือง อีกทั้งยังมีเนื้อหาลิดรอนการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งนี้สาระสำคัญของกฎหมายดังกล่าวให้การชุมนุมในที่สาธารณะต้องทำหนังสือแจ้งต่อหัวหน้าสถานีตำรวจในท้องที่ชุมนุมไม่น้อยกว่า 48 ชั่วโมง ห้ามชุมนุมกีดขวางทางเข้าออกทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา ศาล สนามบิน และสถานที่ราชการและห้ามเคลื่อนย้ายการชุมนุมก่อนได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ทั้งที่ การชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนกระทำได้ ซึ่งรัฐต้องอำนวยความสะดวกให้ จึงขอคัดค้านร่างพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ และขอเรียกร้องให้ประธานสนช.ยุติและถอนร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ออกจากสนช.ทันที
กมธ.ยกร่างฯ เคาะที่มานายกฯ-ส.ว.
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงว่า ที่ประชุมกมธ.ยกร่างฯได้พิจารณาปรับแก้ไข 2 ประเด็นหลัก คือ ที่มานายกรัฐมนตรี และที่มาส.ว. โดยเรื่องที่มานายกรัฐมนตรี ในมาตรา182 ที่จากเดิมจะใช้เสียงของส.ส.เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาที่มีอยู่ทั้งหมดโดยเพิ่มเติมว่า หากผู้ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีมีที่มาจากส.ส. จะใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาที่มีอยู่ทั้งหมด พร้อมทั้งเพิ่มเติมว่า หากเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากบุคคลภายนอก จะต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกสภาที่มีอยู่ทั้งหมด ซึ่งสาเหตุของการปรับแก้ไข เพื่อต้องการเปิดช่องในยามวิกฤติที่สภาต้องการคนนอกมาทำหน้าที่ เช่น ในเหตุการณ์ก่อนวันที่ 22 พ.ค.57ที่บ้านเมืองไม่มีทางออกจนนำมาสู่การรัฐประหาร
ส่วนเรื่องที่มาส.ว.ตามมาตรา 121 โดยที่ประชุมได้มีการปรับแก้ไขที่มา ส.ว.โดยกำหนดให้ วุฒิสภามี 200 คน มาจาก 3 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มแรก มาจากการเลือกตั้ง 77 จังหวัด จังหวัดละ 1 คน กลุ่มที่สอง มาจากการเลือกตั้งกันเอง จำนวน 65 คน กลุ่มที่สาม คือ การสรรหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 58 คน
2 เมษายน 2558
รองนายกฯ ชี้ ทำประชามติมีทั้งข้อดีข้อเสีย
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การทำประชามติยังเร็วไปที่จะพูดถึง เพราะทำประชามติมีทั้งข้อดีและข้อเสีย การทำประชามติ คือ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมและเป็นเสื้อเกราะคุ้มครองรัฐธรรมนูญเพื่อจะได้ไม่มีข้ออ้างมาแก้ไขได้อีก ส่วนข้อเสียคือความอึดอัดหากแก้ไขไม่ได้ และทำให้การประกาศใช้รัฐธรรมนูญอาจยืดยาวไปหลายปีการเสียเงินงบประมาณกว่า 3,000 ล้านบาทในการทำประชามติแต่ละครั้ง และสุดท้ายมีคนคัดค้านก็จะเกิดความไม่ปรองดองในประเทศ
4 องค์กรวิชาชีพสื่อ ออกแถลงการณ์ห่วงคำสั่ง 3/2558 กระทบสิทธิฯ หนักกว่ากฎอัยการศึก
องค์กรวิชาชีพสื่อสารมวลชน 4 แห่ง ประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ร่วมต่อคำสั่งที่ 3/2558 ของหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ ชี้ ข้อ 5 ของคำสั่ง ซึ่งให้อำนาจเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอำนาจออกคำสั่งห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด และได้กำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับนั้น มีเนื้อหาที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชนมากยิ่งขึ้นกว่ากฎอัยการศึก
3 เมษายน 2558
สนช.รับหลักการร่างกฎหมายฟอกเงินวาระแรก
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาร่างกฎหมายที่มีลักษณะเดียวกัน หรือพวง จำนวน 3 ฉบับ ประกอบด้วย 1.ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย(ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... 2.ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ฉบับที่ ..) พ.ศ... และ 3.ร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวงกรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .. เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งองค์กรระหว่างประเทศ จะมีการตรวจสอบประเมินสถานการณ์ของไทยในปี 2559
ทั้งนี้ ที่ประชุม สนช. มีมติรับหลักการในวาระแรก โดยร่างป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายด้วยคะแนน 167 ต่อ 1 และร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ด้วยคะแนน 170 งดออกเสียง 4 และ ร่างพ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวงทบวง กรม ด้วยคะแนน 169 งดออกเสียง 5 พร้อมให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณากฎหมายทั้ง 3 ฉบับ จำนวน 21 คน.