7 เมษายน 2558
ศาลทหาร อธิบายขอบเขตอำนาจ หลังสังคมสนใจมากขึ้น
ศาลทหารกรุงเทพ เชิญบุคลากรด้านคดีรัฐธรรมนูญ จำนวน 50 คน เข้ารับฟังการบรรยายสรุป "ขอบเขตอำนาจศาลทหารและการพิจารณาคดีของศาลอาญากรุงเทพ" พล.ต.พนมเทพ เวสารัชชนันท์ ตุลาการพระธรรมนูญ หัวหน้าศาลทหารกรุงเทพ กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์เราถือว่าอยู่ในศาลปกติ หมายถึง เหตุการณ์ปกติที่ไม่ได้ประกาศใช้กฎอัยการศึก เพราะฉะนั้นเหตุการณ์ใดๆ ก็ตาม ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2558 เป็นต้นไป ถือเป็นคดีปกติ สามารถอุทธรณ์ หรือฎีกาได้ เว้นพื้นที่ตามแนวชายแดนที่ยังมีกฎอัยการศึกบังคับใช้ ซึ่งการพิจารณาดำเนินคดียังคงยึดหลักเดิม คือ ต้องขึ้นศาลทหาร และมีศาลเดียว โดยไม่มีการอุทธรณ์ หรือฎีกา
ขณะที่ น.ท.สุรชัย สรามเตะ ตุลาการพระธรรมนูญของศาลทหารกรุงเทพ กล่าวว่า ขอบเขตอำนาจหน้าที่และวิธีพิจารณาคดีของศาลทหารมีอยู่ใน พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2497 และกำหนดให้ศาลทหารสังกัดอยู่ในกระทรวงกลาโหม โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้รับผิดชอบงานด้านธุรการของศาลเท่านั้น ส่วนการพิจารณาพิพากษาคดี การมีคำสั่ง การบังคับ การพิพากษาต่างๆ ให้อยู่ในดุลพินิจของศาลทหาร นอกจากนี้ น.ท.สุรชัย ยังเผย สถิติคดี คสช.ของศาลทหารกรุงเทพ ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2557 - 31 มีนาคม 2558 รวมมีคดีขอฝากขัง 148 คดี จำนวนผู้ทำความผิด 172 ราย ศาลรับฟ้อง 85 คดี พิจารณาเสร็จ 52 คดี และอยู่ระหว่างการพิจารณาอีก 33 คดี นอกจากนี้ยังอยู่ในระหว่างฝากขัง 45 คดี ส่งสำนวนคืน 18 คดี ออกหมายจับ 80 ราย ออกหมายค้น 2 ราย
8 เมษายน 2558
สปช.เห็นชอบรายงานกมธ.ศึกษากฎหมายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
จุมพล รอดคำดี คณะอนุกรรมาธิการพิจารณากฎหมายดิจิทัลเพื่อการเศรษฐกิจและสังคม ในกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) รายงานต่อที่ประชุม สปช. ถึงผลกระทบที่จะเกิดจากการบังคับใช้ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัลทั้ง 10 ฉบับ ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติ ว่ากฎหมายดังกล่าวไม่สามารถสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและสังคมได้ เนื่องจากมีการจัดตั้งคณะกรรมการ สำนักงานและองค์กรขึ้นมาใหม่หลายคณะ แต่ยังขาดความชัดเจนในเรื่องสถานะความรับผิดชอบ และรูปแบบขององค์กรว่าเป็นหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน นอกจากนี้ยังเพิ่มอำนาจหน้าที่เหมือนตำรวจของพนักงานเจ้าหน้าที่อย่างไร้ขอบเขตและไม่มีมาตรการหรือกฎไกปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน
จากนั้นสมาชิก สปช.ส่วนใหญ่อภิปรายความเห็นสนับสนุน ก่อนที่ประชุมจะลงมติเห็นชอบกับรายงานของ กมธ.ด้วยคะแนน 163 ต่อ 4 งดออกเสียง 13 พร้อมข้อเสนอแนะเพื่อนำไปปรับปรุงก่อนจะนำเสนอ ครม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
คสช. อาศัยอำนาจม.44 ออกกม.คุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ทหารมีอำนาจดูแล ฝ่าฝืนมีโทษ
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประกาศคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 4/2558 เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายที่คุ้มครองประโยชน์สาธารณะ และประชาชนโดยส่วนรวม ซึ่งอาศัยอํานาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 โดยมีคําสั่ง ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 รัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมาย อาจขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร โดยแจ้งความประสงค์ไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อพิจารณามอบหมายให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารไปปฏิบัติการตามคําขอ ในกรณีที่เห็นสมควร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อาจขอให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีคําสั่งมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอํานาจหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่ง หรือหลายฉบับ
ข้อ 2 ในการปฏิบัติการตามข้อ 1 ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารที่ได้รับมอบหมายมีอํานาจหน้าที่ เช่นเดียวกับเจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายนั้น รวมทั้งให้เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาและเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจชั้นผู้ใหญ่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ข้อ 3 ให้เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และเจ้าพนักงาน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายที่รัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายนั้น ยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนตามกฎหมายนั้น ๆ และให้ดําเนินการร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร หากขัดขืนหรือไม่ให้ความร่วมมือ ให้ถือว่าผู้นั้นกระทําความผิดวินัยร้ายแรง
9 เมษายน 2558
ประธาน สนช. ระบุ ยังไม่มีสัญญาณ ให้ทำประชามติ
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า ยังไม่พบว่ามีสัญญาณใดๆ เกี่ยวกับข้อเสนอให้มีการทำประชามติ แต่ถ้าหากจะให้ทำประชามติ ก็จะเป็นหน้าที่ของ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะเสนอไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 ก่อน เพื่อให้รองรับการทำประชามติได้
ปธ.สนช. รับหนังสือจากประธานเครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2551
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รับหนังสือจาก นาวาอากาศโท ดร.สุมิตร สุวรรณ ประธานเครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา โดยเครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาเสนอให้มีการแก้ไข พระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2551 ดังกล่าวเป็น พระราชบัญญัติระเบียบการบริหารงานบุคคลในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. .... เพื่อต้องการให้เกิดระบบใหม่และทดแทนระบบราชการ โดยเฉพาะในส่วนของพนักงานมหาวิทยาลัย เนื่องจากที่ผ่านมา พบว่า ระบบพนักงานมหาวิทยาลัยถูกลิดรอนสิทธิให้ต่ำกว่าข้าราชการทั้งในเรื่องเงินเดือน ค่าตอบแทน สวัสดิการและความมั่นคงในการทำงานอีกทั้งยังเป็นการลดทอนประสิทธิภาพในการทำงานลง และจะทำให้เกิดความอ่อนแอในระยะยาว
สปช.เปิดเวทีฟังเสียงชาวอุบลฯ ครบทุกอำเภอ อยากได้เลือกตั้งทุกระดับ
ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จัดเวทีการมีส่วนร่วม และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี โดยมีเสนอบทสรุป จาก 25 เวที 25 อำเภอ ในจำนวนกลุ่มตัวอย่าง 1,488 คน ซึ่งสะท้อนปัญหาความต้องการของประชาชนในหลายประเด็น เช่น ต้องการให้มีการกระจายอำนาจในการจัดการเลือกตั้งทุกระดับ ต้องการให้ผู้ใหญ่บ้านดำรงตำแหน่งวาระเพียง 4 ปี ต้องการยกฐานะ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ให้เป็นเทศบาลทุกแห่งทั่วประเทศ เป็นต้น
10 เมษายน 2558
‘กลุ่มเยาวชน’ ร้อง รบ.เดินหน้าพรบ.ยาสูบใหม่
ที่ทำเนียบรัฐบาล สุภาพรรณ์ โพธิ์อ่อง แกนนำเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง พร้อมด้วยแกนนำนักเรียน 30 คน เข้าพบ ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อติดตามความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ ที่ยังไม่ผ่านคณะรัฐมนตรี โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อคือ 1.ขอให้รัฐบาลเร่งพิจารณาผ่าน ร่างพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ เพื่อปกป้องเด็ก เยาวชน และสังคมไทยจากภัยยาสูบ 2.เครือข่ายขอให้กำลังใจรัฐบาลในการสร้างสรรค์สิ่งดีๆเพื่อสังคมไทย รวมถึงการต่อสู้กับความพยายามแทรกแซงของอุตสาหกรรมบุหรี่ข้ามชาติ และ 3.เครือข่ายเยาวชนพร้อมสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลในการลดปัจจัยเสี่ยงทุกรูปแบบ และยินดีช่วยเฝ้าระวังร่วมแจ้งเบาะแสเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาปัจจัยเสี่ยงที่กระทบต่อเด็ก เยาวชนและประชาชนทุกรูปแบบ
ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน บอกประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญต้องไม่ร่างเอาใจแต่ตนเอง
ศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึง รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องดูเสียงสะท้อนของประชาชนไม่ใช่เอาแต่ใจของผู้ร่าง ไม่อย่างนั้นอาจจะเกิดปัญหาตามมา เพราะไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามหากคนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยก็จะมีการต่อต้านเกิดขึ้น คนที่ไม่เห็นด้วยก็จะไปสนับสนุนอีกฝ่ายหนึ่งโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ ทั้งนี้ตนเห็นว่ากมธ.ยกร่างฯ ทั้งหมดต้องเป็นคนรับผิดชอบ ใครที่เป็นหัวหน้าต้องมีความรับผิดชอบสูงสุด แต่ที่ผ่านมาตนได้รับคำร้องเรียนจากกมธ.ยกร่างฯ บางรายว่ามีการเผด็จการของประธานกมธ.ยกร่างฯ เอาความเห็นตนเป็นใหญ่ไม่ค่อยรับฟังเสียงของใคร ฉะนั้นคนที่เป็นประธานไม่เหมาะที่จะเป็นประธาน กมธ.ยกร่างฯ ก็ควรที่จะกล้าให้มากพอที่จะแสดงพลังออกมา
รองประธาน สนช. รับหนังสือขอให้ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของมติที่ประชุม กสท. กรณี นำมติงดออกเสียงมานับเป็นคะแนนเสียงในที่ประชุม
สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รับการยื่นหนังสือจากมณี จิรโชติมงคลกุล อนุกรรมการด้านสื่อและโทรคมนาคมและสุวรรณา จิตประภัสสร์ ตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภคสื่อ ขอให้ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของมติประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่ชาติ (กสทช.) นำเอามติงดออกเสียง 2 คะแนนมานับเป็นคะแนนเสียงในการลงมติให้ความเห็นชอบในการตรวจสอบข้อเท็จจริงการเป็นผู้มีผลประโยชน์ร่วมกันของบริษัท Solution corner (SLC)