+กมธ.ยกร่างฯ แจง ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ทำให้การปกครองส่วนท้องถิ่นตรวจสอบได้ ประชาชนมีส่วนร่วม+
นพ.กระแส ชนะวงศ์ กล่าว รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีจุดดีเด่นที่มีประโยชน์ต่อการกระจายอำนาจ 4 ประการ ได้แก่ ทำให้การปกครองท้องถิ่นไม่เป็นสิ่งลึกลับแต่เปิดเผยตรวจสอบได้ ประชาชนมีส่วนร่วมโดยตรงและอ้อมมากขึ้น กระจายอำนาจไปสู่การปกครองท้องถิ่นชัดเจนมากขึ้น และให้งบประมาณและทรัพยากรในการปกครองท้องถิ่นที่ชัดเจน
ด้าน วุฒิสาร ตันไชย เสริมอีกว่า การมีองค์กรบริหารบุคคลของการปกครองท้องถิ่นเอง กำหนดสถานะข้าราชการท้องถิ่นให้มีความเท่าเทียมกัน สร้างหลักประกันการย้ายหรือสับเปลี่ยนสังกัดระหว่างองค์กรบริหารท้องถิ่นรูปแบบต่างกันได้ ภายใต้ระบบคุณธรรม
+ปกครองท้องถิ่นยังไม่ก้าวหน้า ต้องเพิ่มอำนาจจัดการภาษี+
การอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ ในหมวดการกระจายอำนาจ และการปกครองท้องถิ่น มีสมาชิกอภิปรายว่า ยังไม่มีความชัดเจนในการปกครองท้องถิ่น เนื่องจากกระบวนการมีส่วนร่วมไม่เป็นรูปธรรม และการกระจายอำนาจต้องเขียนให้ชัดเจนว่า ถ่ายโอนอย่างไร ขับเคลื่อนอย่างไร เพราะที่ผ่านมาก็ยังขับเคลื่อนไม่ได้ หลายๆภารกิจยังอยู่ในส่วนกลาง ทั้งนี้ เมื่อกระจายอำนาจแล้ว ควรระบุถึงระบบจัดเก็บภาษี ให้ชัดว่าท้องถิ่นจัดเก็บภาษีอะไรได้บ้าง นอกจากนี้ ควรมีกองทุนเงินเดือนและสวัสดิการของข้าราชการส่วนท้องถิ่น
+สมัชชาพลเมืองอาจทำให้การบริหารท้องถิ่นสะดุด+
มาตรา 215 เพื่อประโยชน์ส่วนรวม พลเมืองอาจรวมตัวกันเป็นสมัชชาพลเมือง ประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากองค์ประกอบที่หลากหลายในท้องถิ่นและมีความเหมาะสมกับภูมิสังคมของแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะเข้ามามีส่วนร่วมตัดสินใจดำเนินงานที่มีผลกระทบต่อประชาชนและสามารถให้ความเห็นในการบริหารงานของผู้ว่าราชการจังหวัดและองค์กรบริหารท้องถิ่นได้
ประเด็นนี้ นายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง กล่าวว่า การระบุให้ประชาชนหรือชุมชน ย่อมมีสิทธิมีส่วนร่วมในการบริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การตรวจสอบการดำเนินงาน การถอดถอน คณะผู้บริหารท้องถิ่น มาตรานี้ไม่ควรบรรจุไว้ เพราะจะทำให้การทำงานบริหารในท้องถิ่นสะดุด และจะสร้างความแตกแยกในแผ่นดิน
+กมธ.ยกร่างฯ แจง ข้าราชการจัดการเลือกตั้ง เพิ่มอำนาจศาลแจกใบแดง เพิกถอนสิทธิ์+
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษก กมธ.ยกร่างฯ ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้จัดตั้งคณะกรรมการการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) มีหน้าที่จัดการเลือกตั้งแทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทั้งการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. รวมทั้งผู้บริหารท้องถิ่น ยกเว้นการแต่งตั้งคน ระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้ง แต่การให้ใบเหลืองก็ยังเป็นอำนาจของ กกต.
ส่วนการให้ใบแดงที่เป็นการเพิกถอนสิทธิ จะให้อำนาจศาล เพราะที่ผ่านมามีการมองว่า กกต.ไม่เป็นกลาง มีอคติ ที่สำคัญไม่สามารถตรวจสอบได้ด้วยกฎหมาย ทำให้ผู้ถูกใบแดงไม่ได้รับความเป็น แต่มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งได้ และผู้ถูกเพิกถอนสิทธิสามารถยื่นฎีกาได้
อย่างไรก็ตาม สปช.หลายคนไม่เห็นด้วยกับการแต่งตั้ง กจต. เพราะเกรงว่าจะมีหน้าที่ซ้ำซ้อน ก้าวก่ายการทำงานกับกกต. นอกจากนี้ยังพบว่า การทุจริตในหน่วยเลือกตั้งแทบไม่มีเลย ประกอบกับคนที่จะมาเป็น กจต. ก็มีงานประจำอยู่แล้ว
+ผู้พิพากษาศาลฎีกา ศาลปกครองสูงสุด วาระละ 4 ปี อายุครบ 65 เกษียณ+
บรรเจิด สิงคะเนติ กรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ สำหรับมาตรา 226 ว่าด้วยการดำรงตำแหน่งและการเกษียณอายุราชการของผู้พิพากษาและตุลาการนั้น ประธานศาลฎีกา และประธานศาลปกครองสูงสุด ให้ดำรงตำแหน่งเพียงหนึ่งวาระ คือ 4 ปี เพื่อป้องกันไม่ให้อยู่ในตำแหน่งมากจนเกินไป แต่ประเด็นนี้เสรี สุวรรณภานนท์ สปช. มีความเห็นว่าการเปลี่ยนผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวบ่อยๆ จะไม่เป็นผลดีต่อการทำงาน
+กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มั่นใจ ลดซ้ำซ้อน คุ้มครองสิทธิได้ เมื่อยุบรวมผู้ตรวจการฯกับกรรมาการสิทธิฯ+
เลิศรัตน์ รัตนวานิช กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ชี้แจงกรณีที่มีหลายท่านคัดค้านการควบคุมกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและผู้ตรวจการแผ่นดิน ว่าอำนาจหน้าที่ของทั้งสององค์กรแบ่งแยกได้ยากมาก ทั้งสององค์กรมีหน้าที่ทับซ้อนกันในเรื่องการปกป้องคุ้มครองสิทธิของประชาชน มีองค์กรที่เป็นอิสระและเป็นกลางเหมือนกัน จนแทบจะมีหลักการเหมือนกัน ในบ้านเรา ประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิก็สับสนเวลาจะไปร้องเรียน การรวมเป็นองค์กรเดียวกันจะช่วยให้การร้องเรียนมีประสิทธิผลมากขึ้น และการรวมกันจะยกระดับกฎหมายให้เป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ อำนาจที่กำหนดไว้ก็ไม่ได้น้อยไปกว่าเดิม
+เพิ่มความสะดวก ลดซ้ำซ้อน ไม่เพียงพอยุบรวบผู้ตรวจการฯ กับ กรรมาการสิทธิฯ+
ขจัดภัย บุรุษพัฒน์ อภิปรายประเด็นนี้ว่า ไม่เห็นด้วยการรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนกับผู้ตรวจการแผ่นดิน เพราะทั้งสององค์กรมีภารกิจ โครงสร้าง วัฒนธรรมที่ต่างกัน การควบรวมอาจจะอาจสร้างปัญหาได้ ส่วนเหตุผลที่ระบุว่ารวมสององค์กรเพื่อลดความซ้ำซ้อน เพิ่มความสะดวกให้ประชาชน และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานนั้น ไม่มีน้ำหนักพอ เพราะการแก้ไขปรับปรุงแต่ละองค์กรน่าจะง่ายกว่า
ด้าน ประสาร มฤคพิทักษ์ อภิปรายว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินมีขอบเขตของจริยธรรม กฎหมาย ระบบราชการ แต่กรรมการสิทธิเน้นไปสู่ประชาชน ถ้ามีการควบรวมกันคงต้องใช้เวลา 3-4 ปีถึงรวมกันได้ เหตุผลที่บอกว่าซ้ำซ้อนจึงต้องควบรวมกันไม่น่าจะสำคัญเท่าการที่สิทธิของประชาชนพร่าเลือนไป
+เวลาจำกัด การปฏิรูปไม่อาจสำเร็จได้ก่อนการร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ ต่อเวลาปฎิรูปและปรองดอง+
ช่วยเย็น เข้าสู่การอภิปราย ภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง คำนูน สิทธิสมาน กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ชี้แจงภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง มีคำถามว่าทำไมไม่ปฏิรูปประเทศให้เสร็จก่อนที่จะเลือกตั้งครั้งใหม่ ก็เพราะว่าภารกิจของคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญมีเวลาจำกัด การปฏิรูปไม่อาจสำเร็จได้ก่อนการร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ การกำหนดให้มีองค์กรใหม่ๆ ขึ้นมานั้นไม่ได้ต้องการสืบทอดอำนาจ แต่หากบัญญัติให้หน้าที่ในการสร้างความปรองดองไปอยู่ในมือคนที่เข้ามาเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด ก็อาจสานต่อไม่ได้
ทั้งนี้ มีคำถามอีกว่าถ้าบัญญัติกลไกพิเศษไว้ในภาค 4 จะไม่ขัดกับกลไกการทำงานตามปกติหรือ คำตอบคือ ไม่น่าจะเกิดขึ้นหากทุกฝ่ายเห็นความจำเป็นของการเปลี่ยนแปลงประเทศ และอำนาจหน้าที่ของกลไกพิเศษนี้ก็จำกัดอย่เพียง 22 มาตรา และจำมีอายุแค่ 5 ปี อย่างไรก็ดีหากมีการตัดสินใจเรื่องใดก็จะนำไปสู่การลงประชามติโดยประชาชนทั้งประเทศ
25 เมษายน 2558
เข้าสู่วันที่ 6 ของการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ วันนี้เป็นการอภิปรายภาค 4 เรื่อง การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
+หวั่นสภาขับเคลื่อนฯ ถูกมองสืบทอดอำนาจ+
สปช.หลายคนท้วงติงที่มาของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศที่ระบุว่ามีสมาชิกสภาฯไม่เกิน 120 คน มาจากสปช. 60 คน สนช. 30 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 30 คน เพราะเกรงจะถูกครหาจากสังคมว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ เช่น จุรี วิจิตรวาทการ เห็นว่าไม่ควรเขียนลงในร่างรัฐธรรมนูญ การเขียนแบบนี้คงไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม แต่อย่างไรก็ดียังเห็นด้วยว่าต้องมีกลไกในการทำงานต่อ นอกจากนี้ ยังมีการแสดงความเห็นต่อการกำหนดระยะเวลาของรัฐธรรมนูญภาค 4 เรื่องการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองที่กำหนดให้มีระยะเวลา 5 ปี และสามารถต่ออายุได้อีก 5 ปีแต่ต้องผ่านการทำประชามติ โดยดุสิต เครืองาม เสนอให้ตัดความข้อนี้ออก เพราะไม่เชื่อว่า 5 ปี จะทำการปฏิรูปได้สมบูรณ์
+สปช.ยังเห็นต่าง ต่อการจัดตั้งองค์กรบริหารพัฒนาภาค+
กระพล แก้วประพาฬ กล่าวว่า มาตรา 284(5) ที่กำหนดให้มีองค์กรบริหารพัฒนาภาคนั้น เสนอให้ตัดออกเลย เพราะสภาปฏิรูปแห่งชาติต้องการให้ราชการส่วนกลางมีหน้าที่น้อยที่สุดเฉพาะเรื่องความมั่นคง เรื่องภาษี ส่วนเรื่องในพื้นที่โครงการที่อยู่ในวิสัยของภูมิภาคและท้องถิ่น ก็ขอให้กระจายอำนาจไป ไม่ควรให้องค์กรระดับภาคมีส่วนเข้ามาแก้ไขปัญหาในจังหวัดต่างๆ
ด้านนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตอบข้อซักถามว่า คณะกรรมาธิการฯ คุยกันแล้วเรื่ององค์กรบริหารการพัฒนาภาค เห็นว่าควรให้เป็นราชการส่วนกลาง ไม่ใช่ส่วนท้องถิ่น ตอนนี้กรมต่างๆ คิดเรื่องการจัดตั้งระบบภาคของตัวเอง คิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องจัดระเบียบหน่วยงานราชการที่อยู่ตามภูมิภาคต่างๆ เสียที
+แนะรัฐอย่าคุมการรักษาพยาบาลเอกชนมาก+
ประเสริฐ ศัลย์วิวรรธน์ สปช. เห็นว่า การรักษาพยาบาลของเอกชน เป็นทางเลือกของประชาชนว่าจะรับการรักษาจากเอกชนหรือไม่ก็ได้ และเห็นว่าหากไม่มีเอกชน การบริการของภาครัฐเพียงอย่างเดียวอาจรับมือไม่ไหว การมีโรงพยาบาลเอกชนจึงทำให้ประชาชนที่สามารถจ่ายไหวไปใช้บริการภาคเอกชน และแบ่งเบาภาครัฐในการักษาประชาชนที่ไม่สามารถไปพึ่งพาภาคเอกชนได้ ถ้ารัฐควบคุมราคาเอกชนมากๆ อาจทำให้เอกชนทำไม่ไหว
+สปช.เสนอเพิ่มความสำคัญอุตสาหกรรม - เกษตรกรรม+
ประทวน สุทธิอํานวยเดช กล่าวว่า กรรมาธิการยกร่างฯ ลืมเรื่องที่รัฐต้องให้ความสำคัญกับภาคอุตสาหกรรม เรื่องของภาคอุตสาหกรรมมีแต่เรื่องการกำกับดูแล เพิ่มหน้าที่ให้เขา อยากขอให้ช่วยเพิ่มเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ให้มีความเข้มแข็ง มีการวิจัยและพัฒนา เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
ด้านอุทัย สอนหลักทรัพย์ เสนอเรื่องเกษตรกรรม ให้เขียนลงไปในรัฐธรรมนูญว่า มีเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นเกษตรอินทรีย์ และเสนอให้เขียนว่าให้ปฏิรูปให้เป็นศูนย์กลางเกษตรอินทรีย์โลก และควรปฏิรูปการเกษตรไปสู่ภาคอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ
26 เมษายน 2558
วันสุดท้ายของการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ วันนี้เป็นการอภิปรายภาค 4 เรื่อง การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง การแก้ไขรัฐธรรมนูญและบทเฉพาะกาล มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
+สังศิต เสนอแยกงานสอบสวนจากตำรวจเพื่อให้มีการตรวจสอบถ่วงดุล+
สังศิต พิริยะรังสรรค์ เห็นว่าควรแยกงานสืบสวนและงานสอบสวนออกจากกัน เช่น เมื่อตำรวจไปจับคนค้ายาเสพติดมา ตำรวจฝ่ายสืบสวนและสอบสวนก็นั่งอยู่ด้วยกัน ฝ่ายสอบสวนก็จะถามข้อมูลจากฝ่ายสืบสวน สรุปแล้วก็จะไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล ดังนั้นจึงควรต้องแยกส่วนงานสอบสวนออกมาเฉพาะ ทั้งนี้ สังศิต ยังเห็นว่าการเพิ่มอำนาจให้อัยการ ผู้ว่าราชการฯ นายอำเภอรวมสอบสวนจะทำให้ประชาชนมีทางเลือกอื่นและเป็นธรรมมากขึ้น ด้าน อดิศักดิ์ ภานุพงษ์ ก็สนับสนุนให้การสอบสวนต้องเป็นอิสระจากการแทรกแซงของผู้บังคับบัญชา และให้ประชาชนตรวจสอบได้
+กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเชื่อ คณะกรรมการปรองดองฯ ทางออกความขัดแย้ง+
เอนก เหล่าธรรมทัศน์ หนึ่งในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ ซึ่งต้องเป็นคนกลาง ไม่ฝักใฝ่การเมืองและเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับเป็นที่เคารพนับถือ อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการปรองดองฯ คือ ศึกษาหาสาเหตุของความขัดแย้ง รวมถึงปลูกฝังให้คนยึดมั่นในหลักสันติสุข
ทั้งนี้ คณะกรรมการต้องช่วยฟื้นฟูและเยียวยาผู้เสียหายหรือครอบครัวผู้เสียหายจากเหตุความขัดแย้งทางการเมืองในทุกยุค ทุกรูปแบบ ไม่เว้นแม้แต่ปัญหาชายแดนภาคใต้ หรือ เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 นอกจากนี้ ยังสามารถเสนอคณะรัฐมนตรีให้ตราพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องให้การที่เป็นประโยชน์และแสดงความสำนึกผิดต่อหน้าคณะกรรมการปรองดองฯ
+รัฐธรรมนูญแก้ไขยาก วางเงื่อนไขให้ซับซ้อน ในทางปฏิบัติแทบจะเป็นไม่ได้+
นันทวัฒน์ บรมานันท์ สมาชิก สปช. ขออภิปรายบทสุดท้ายของรัฐธรรมนูญว่า วางเงื่อนไขให้แก้ไขได้ยากมาก แม้จะมีลักษณะใกล้เคียงกับ ปี 2550 แต่รูปแบบและโครงสร้างของรัฐสภาเปลี่ยนรูปไป และต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง ทั้งที่ ปี 2550 ใช้แค่ 2 ใน 3 รวมถึงอาจจะต้องลงประชามติ ทำให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายสูง นอกจากนี้ยังต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยอีกว่าประเด็นดังกล่าวขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทำให้ระยะเวลาในการแก้ไขเนิ่นนานโดยใช้เหตุ
+รัฐธรรมนูญประกาศใช้ให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญยังทำหน้าที่ ยกร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ+
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวสรุปในส่วนบทเฉพาะกาล ซึ่งสาระสำคัญคือ การหมดวาระของตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว เริ่มจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ภายหลังเสร็จสิ้นการยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะต้องร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ และให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อ และให้ สนช.ทำหน้าที่วุฒิสภาจนกว่าการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญใหม่เสร็จ มาตราสุดท้าย มาตรา 315 ให้การกระทำหรือการใดๆ ที่ได้ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ไม่ว่าก่อนหรือหลังรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้ให้ชอบด้วยกฎหมายทั้งหมด