8 มิถุนายน 2558
สปช.รับหลักการของร่าง พ.ร.บ.โฉนดชุมชน
ที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) เห็นชอบในรายงานเรื่องสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในรูปแบบโฉนดชุมชน และเห็นชอบในหลักการของร่างพ.ร.บ.สิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในรูปแบบโฉนดชุมชน หรือร่าง พ.ร.บ.โฉนดชุมชน ที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการและด้อยโอกาสเสนอ โดยมติเห็นชอบในรายงานดังกล่าวด้วยเสียง 130 เสียง ไม่เห็นด้วย 60 เสียง งดออกเสียง 26 เสียง จากจำนวนผู้เข้าร่วมประชุม 216 คน ส่วนร่าง พ.ร.บ.โฉนดชุมชน สปช.มีมติเห็นชอบในหลักการด้วยเสียง 121 เสียง ไม่เห็นด้วย 69 เสียง งดออกเสียง 26 เสียง จากจำนวนผู้เข้าร่วมประชุม 216 คน หลังจากนี้คณะกรรมาธิการฯ จะนำความเห็น ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะที่ได้จาก สปช.ประกอบรายงานและร่าง ส่งมอบให้รัฐบาลต่อไป
9 มิถุนายน 2558
ครม.-คสช. แก้ รธน. 7 ประเด็น เปิดทางประชามติ รื้อโรดแมปใหม่
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมร่วมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 จำนวน 7 ประเด็น ได้แก่
1.แก้ไขคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ สนช.จากเดิมที่ระบุว่า ต้องไม่เคยถูกถอดถอนสิทธิเลือกตั้ง ให้เป็น "ไม่อยู่ในระหว่างการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง" แต่ไม่เกี่ยวกับกรณีการถูกถอดถอนในคดีทุจริต
2.ในบางตำแหน่งที่ต้องถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อไม่ให้เป็นภาระมากเกินไป จึงแก้ไขให้อะไรก็ตามที่ต้องถวายสัตย์ปฏิญาณ นอกจากการถวายสัตย์ฯ ต่อหน้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ยังสามารถถวายสัตย์ฯ ต่อหน้ารัชทายาท หรือผู้แทนพระองค์
3.การขยายกรอบการทำงานให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จากเดิมที่ต้องพิจารณาคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ได้ขยายเวลาให้อีกไม่เกิน 30 วัน รวมเป็น 90 วัน
4.เมื่อ สปช.เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้นำร่างรัฐธรรมนูญไปทำประชามติ โดยให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับผิดชอบ โดยนำ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 มาบังคับใช้ และต้องแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญให้กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งอย่างน้อย ร้อยละ 80 ครัวเรือน หรือ 19 ล้านครัวเรือน จากนั้น กกต.จะเป็นผู้กำหนดวันออกเสียงประชามติ โดยต้องไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่ไม่ช้ากว่า 45 วัน ซึ่งคาดว่าจะออกเสียงประชามติ ได้ในช่วงปลายเดือน ม.ค. หรือต้นเดือน ก.พ.59
นอกเหนือจากคำถามว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว อาจจะมีการสอบถามประชามติในประเด็นอื่นด้วย โดย สปช.และ สนช. สามารถทำคำถามได้ฝ่ายละ 1 คำถาม จากนั้นให้ส่งมายัง ครม. ถ้า ครม.เห็นชอบ ก็จะให้ กกต.จัดทำประชามติในครั้งเดียวกัน แต่ถ้าผลของประชามติในคำถามอื่น ขัดแย้งกับคำถามรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ก็กำหนดให้ กมธ.ยกร่างฯ ปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ให้สอดคล้องคำถามอื่น
5. เมื่อ สปช. ลงมติ ไม่ว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญก็ตาม ก็ให้ยุบ สปช.พร้อมให้ตั้ง “สภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ” มีสมาชิกไม่เกิน 200 คน โดยนายกฯ เป็นผู้แต่งตั้ง และไม่ต้องนำความขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งผู้ที่เคยเป็น สปช.ชุดเดิม ก็ไม่ขัดข้องที่จะไปอยู่ในสภาดังกล่าว โดยทำหน้าที่เสนอแนะการปฏิรูปเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญอีก ส่วนอายุของสภาขับเคลื่อนฯ จะมีอายุตามที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ระบุไว้
6. ถ้า กมธ.ยกร่างฯ 36 คน สิ้นสุดลงไม่ว่ากรณีใด ให้ตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 21 คน ประกอบด้วย ประธาน 1 คน กรรมการ 20 คน ซึ่งอาจตั้ง กมธ.ยกร่างฯ คนเดิมได้ด้วย เพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และรับฟังความเห็นประชาชนภายใน 180 วัน เมื่อร่างเสร็จก็ให้ทำประชามติอีกครั้ง ทั้งนี้ หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ก็อาจจะมีการหยิบยกรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งขึ้นมาใช้
7.แก้ไขถ้อยคำภาษา เลขมาตราที่เคลื่อน ทั้งนี้ คาดว่าจะส่งให้ประธาน สนช.พิจารณาได้ภาย 1-2 วัน โดยที่ สนช.ไม่สามารถปรับแก้ร่างนี้ได้ เพียงแค่เสนอแนะ ตั้งข้อสังเกตได้เท่านั้น อย่างไรก็ตามร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมนี้ ยังคงมี 48 มาตรา และยังมีมาตรา 44 อยู่
สปช.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน
ที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) มีมติเห็นชอบในรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่องธนาคารที่ดินและร่างพระราชบัญญัติธนาคารที่ดิน พ.ศ. ... ซึ่งคณะกรรมาธิการปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส ที่มี นายอำพล จินดาวัฒนะ เป็นประธาน ร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูประบบการจัดการทรัพยากรโดยชุมชน เป็นผู้เสนอ ด้วยเสียงเห็นชอบในรายงาน 166 ต่อ 41 เสียง งดออกเสียง 14 เสียง และเห็นชอบในร่าง พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน ด้วยเสียง 143 ต่อ 53 เสียง งดออกเสียง 25 เสียง จากจำนวนผู้เข้าร่วมประชุม 221 คน โดยการมีธนาคารที่ดิน จะเป็นกลไกที่เข้ามาช่วยเกษตรกรจากวัฏจักรของปัญหาความยากไร้ ปัญหาที่ต้องพึ่งการจำนองที่ดินหรือขายขาดได้ พร้อมช่วยฟื้นฟูยกระดับวิถีเกษตรกรกลับคืนมา
รองประธาน สนช. ให้ 2 สนช.อดีตผู้ว่าฯ ชี้แจงกรณีจัดซื้อยาปราบศัตรูพืช
สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 กล่าวถึงกรณีที่ นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบการทุจริต สภาผู้แทนฯ ออกมาแฉ 2 สมาชิก สนช.เกี่ยวข้องกับการทุจริตจัดซื้อยาปราบศัตรูพืช ว่าจะให้สมาชิก สนช. ทั้งสองคนคือ ชาญวิทย์ วสยางกูร อดีต ผวจ.มุกดาหาร และพรศักดิ์ เจียรณัย อดีต ผวจ.เลย ทำข้อมูลข้อเท็จจริง เพื่อเรียนให้นายกรัฐมนตรีทราบ และต้องให้โอกาสทั้ง 2 ท่าน ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงก่อน
เมื่อถามว่า จะต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบหรือไม่ สุรชัยกล่าวว่า ต้องขอคำชี้แจงของทั้ง 2 ท่านก่อน จึงค่อยดูขั้นตอนต่อไปว่าจำเป็น หรือไม่จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง
10 มิถุนายน 2558
กกต.เคาะวันทำประชามติ 10 ม.ค.59
ศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงความพร้อมในการทำประชามติว่า หากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 ก.ย.ตามโรดแม็ปที่กำหนดไว้ ภายในวันที่ 16 ก.ย. สปช.จะต้องส่งต้นฉบับร่างรัฐธรรมนูญมาให้ กกต. จากนั้นวันที่ 30 ก.ย. กกต. จะจัดหาโรงพิมพ์จัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อแจกให้ประชาชนจำนวน 19 ล้านครัวเรือน หรือร้อยละ 80 ครัวเรือน ให้เสร็จภายใน 45 วัน หรือภายในวันที่ 15 พ.ย. จากนั้น กกต.จะทยอยแจกร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนได้ศึกษาทำความเข้าใจภายในวันที่ 30 พ.ย. จากนั้นจะลงประชามติในวันที่ 10 ม.ค.2559
11 มิถุนายน 2558
เครือข่ายติดตามพ.ร.บ.ป่าชุมชน 6 ภาค ค้านร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน
เครือข่ายติดตามพ.ร.บ.ป่าชุมชน 6 ภาค ได้เดินเข้ายื่นหนังสือคัดค้านร่าง พ.ร.บ. ป่าชุมชน ต่อปราโมทย์ ไม้กลัด ประธานกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (สปช.) โดยคำประกาศคัดค้านมีประเด็นดังนี้ ร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชนไม่ได้สะท้อนหัวใจของป่าชุมชนและเรียนรู้จากบทเรียนการจัดการป่าไม้ที่เป็นสากล, ขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียอย่างสำคัญ, ลิดรอนสิทธิของชุมชนที่อยู่อาศัยกับป่าและทำป่าชุมชนมาแต่ดั้งเดิม และสุดท้ายคือการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าชุมชนต้องตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจแก่ชุมชนและมีกติกากำกับที่ชัดเจน
สนช.นัดถกแก้ไขรธน.สามวาระรวด 18 มิ.ย.นี้
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยถึงการพิจารณาขอแก้ไขเพิ่มรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ว่า ในมาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว กำหนดให้สนช.พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับร่าง ซึ่งสิ้นสุดในวันที่ 25 มิ.ย. ดังนั้น จึงได้นัดสมาชิกสนช.พิจารณาเรื่องดังกล่าวในวันที่ 18 มิ.ย.นี้ ทั้งนี้ จะเป็นการพิจารณา 3 วาระรวด และตั้งคณะกรรมาธิการเต็มสภา โดยจะเชิญตัวแทนจากครม.และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมีอำนาจเต็มในการตัดสินใจเข้าร่วมการประชุมด้วย และในการพิจารณานั้น อาจมีบางประเด็นต้องประชุมลับ ซึ่งขึ้นอยู่กับที่ประชุม โดยจะเปิดโอกาสให้สมาชิกได้อภิปรายอย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตาม หากสมาชิกมีประเด็นต้องการแก้ไข ก็สามารถสอบถามความเห็นจากผู้แทนได้ แต่หากตัวแทนครม. และคสช.ไม่เห็นด้วย และยืนยันตามร่างเดิม ก็ต้องยึดตามนั้น ทั้งนี้ การลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ จำนวน 220 คน ดังนั้น ต้องให้ได้ 110 คนขึ้นไป หากเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งถือว่าร่างแก้ไขนี้ตกไป
12 มิถุนายน 2558
สนช.รับหลักการร่าง พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์ 163 งดออกเสียง 4 เสียง เห็นชอบหลักการวาระแรกร่าง พ.ร.บ. กองทุนยุติธรรม พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณารายละเอียดต่อไป สำหรับสาระสำคัญกฎหมายนี้ คือกำหนดให้มีกองทุนยุติธรรมเพื่อเป็นแหล่งเงินทุน สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงความยุติธรรม ประกันตัวบุคคล การช่วยเหลือผู้ต้องหาหรือจพเลยในคดีอาญา การช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน
สนช.รับหลักการร่าง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแขวง และร่าง พ.ร.บ. ศาลเยาวชนและครอบครัว
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่มีพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นประธานมีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .. ด้วยคะแนนเห็นด้วย 167 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 งดออกเสียง 4 เสียง พร้อมกำหนดแปรญัตติ 7 วัน ระยะเวลาดำเนินงาน 30 วัน
สาระสำคัญคือ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 เพื่อให้พนักงานอัยการผู้มีตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีอัยการ หรืออธิบดีอัยการภาค ซึ่งอัยการสูงสุดมอบหมายมีอำนาจอนุญาตให้ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลแขวง ซึ่งไม่สามารถยื่นฟ้องต่อศาลได้ทันภายในระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ด้วยคะแนน 167 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 4 เสียง กำหนดแปรญัตติ 7 วัน ระยะเวลาดำเนินงาน 30 วัน เช่นเดียวกัน