15 มิถุนายน 2558
สปช. เสนอแนวคิดเปิดคาสิโน หวังนำรายได้ช่วยเศรษฐกิจของประเทศ
บุญเลิศ คชายุทธเดช สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พร้อมด้วยสมาชิก สปช.รวม 12 คน ร่วมแถลงข่าวถึงแนวคิดการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ ว่า ภายหลังการปรึกษาหารือถึงเรื่องดังกล่าว เบื้องต้นทางกลุ่มเห็นพ้องในแนวคิดให้รัฐบาลเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ารับสัมปทานเปิดคาสิโนในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อนำรายได้ของนักท่องเที่ยวที่นิยมการเสี่ยงโชคเข้าประเทศ และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมถึงสร้างอาชีพให้ผู้มีรายได้น้อยได้อีกทางหนึ่งด้วย โดยทางกลุ่มเห็นควรตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาถึงผลกระทบในมิติต่างๆ ของการเปิดคาสิโนในประเทศไทย ทั้งนี้จะนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติและรัฐบาลเพื่อพิจารณาต่อไป
16 มิถุนายน 2558
โฆษก กมธ.ยกร่างฯ เชื่อ กระแสคว่ำร่างรัฐธรรมนูญไม่เป็นอุปสรรคการทำงาน
พลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่าสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ว่า เป็นเรื่องธรรมดาของการทำงานร่วมกันกับคนจำนวนมาก ย่อมมีความเห็นที่แตกต่างกัน ควรปล่อยให้เป็นสิทธิของแต่ละคน ส่วนในเรื่องข้อเท็จจริงและเสียงส่วนใหญ่จะเป็นอย่างไรต้องรอ แต่เชื่อกระแสดังกล่าวจะไม่เป็นปัญหาต่อการร่างรัฐธรรมนูญ
พลเอกเลิศรัตน์ ยังกล่าวถึงกรณีการแก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 เพื่อขยายเวลาการทำงานของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญอีก 30 วัน ว่า คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะหารือเพื่อของมติจากกรรมาธิการทุกคนอีกครั้ง พร้อมกันนี้เชื่อว่าคณะกรรมาธิการฯจะสามารถจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเสร็จทันก่อนที่รัฐธรรมนูญฉบับถาวรจะประกาศใช้ ส่วนการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่วันที่ 16 -23 มิถุนายนนี้จะเป็นการนำประเด็นเนื้อหาสาระสำคัญของแต่ละภาคที่มีการขอแก้ไขเพิ่มเติมมาหารือ เพื่อให้ได้ข้อสรุปเบื้องต้น
ครม.เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม-ตั้งกระทรวงดิจิทัลฯ
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ซึ่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นการรวมร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. .... ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล พ.ศ. .... และร่าง พ.ร.บ.กองทุนพิจารณาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. รวม 3 ฉบับ เป็นฉบับเดียวกัน และแก้ไขชื่อเป็น "ร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. ...." ทั้งนี้หลังจากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้วให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาและหากไม่มีข้อทักท้วงใดๆให้ถือเป็นมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่เสนอเพื่อส่งต่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาและบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป
ประธาน สปช. ยืนยัน หารือนอกรอบ คงกรอบ 37 วาระปฏิรูป และ 6 วาระการพัฒนา
เทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวต่อที่ประชุม สปช. ถึงผลการหารือนอกรอบเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2558 เรื่องแนวทางการทำงานและแผนวาระการปฏิรูปประเทศว่า เมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 คาดจะมีผลให้ สปช. ได้รับร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว ในวันที่ 22 ส.ค. 2558 และจะมีผลให้ สปช. ต้องลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในวันที่ 5 - 7 กันยายน 2558 และ สปช. ต้องสิ้นสุดวาระปฏิบัติงานทันที ขณะ สปช. สามารถเสนอคำถามในการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญได้ 1 คำถาม
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สปช. ยังคงยืนยันแผนงานตามที่กำหนดไว้เดิมทุกประการ คือทุกคณะกรรมาธิการได้นำเสนอกรอบแนวคิดการปฏิรูป ทั้ง 37 วาระปฏิรูป และ 6 วาระการพัฒนา ก่อนวันที่ 31 พฤษภาคม ที่ผ่านมา และทำการแก้ไขปรับปรุงก่อนเสนอ สปช.อีกครั้งภายในวันที่ 30 มิถุนายน จากนั้นเสนอ สปช.ให้ความเห็นชอบแผนปฏิรูปดังกล่าว ซึ่งไม่ช้ากว่าวันที่ 22 สิงหาคม วันสุดท้ายที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญจากกรรมาธิการยกร่างฯ และหากวาระปฏิรูปใดจำเป็นต้องมีกฎหมายประกอบ และสามารถยกร่างได้ทันย่อมเสนอพร้อมแผนปฏิรูปฉบับ
สมบูรณ์ได้ทันที พร้อมกันนี้ สปช.ได้ทยอยเสนอแผนปฏิรูปต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามที่ได้ตกลงไว้กับรัฐบาลแล้ว
17 มิถุนายน 2558
กมธ.พลังงาน สนช. แนะ ตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ปฏิรูปพลังงานไทย
พลเอกสกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพลังงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงข่าวการดำเนินงานของ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ว่าเบื้องต้นหลัง กมธ. ได้ศึกษาเรื่องดังกล่าวแล้วเห็นสมควรให้มีทางเลือกการผลิตปิโตรเลียม 3 วิธี ประกอบด้วย การเปิดสัมปทานแบบเดิมแต่พัฒนาให้เป็นสัมปทานในรูปแบบใหม่ การแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) และการจ้างผลิต พร้อมเสนอแนะให้ตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติดำเนินการเป็นตัวแทนรัฐบาล โดยเป็นผู้มีสิทธิเพียงรายเดียวในการสำรวจและให้สิทธิเกี่ยวกับปิโตรเลียมในการดำเนินการบริหารจัดการปิโตรเลียม และการบังคับบริษัทน้ำมันเอกชนในฐานะคู่สัญญา ซึ่งจะทำให้รัฐได้ผลประโยชน์เต็มที่ เพราะเป็นระบบร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน อย่างไรก็ตามรูปแบบดังกล่าวยังต้องศึกษาผลดีผลเสียอย่างละเอียดอีกครั้ง
ขณะที่โครงสร้างภาษีเงินได้ปิโตรเลียมนั้นบางส่วนยังต้องศึกษาเพิ่มเติม เพื่อปรับปรุงแก้ไข อาทิ อัตราค่าภาคหลวง ผลประโยชน์ตอบแทน และการจัดเก็บภาษีเงินได้ปิโตรเลียมให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของประชาชนที่มาจากการขุดเจาะน้ำมัน ขั้นตอนการผลิต รวมไปถึงมาตรการป้องกันความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่สำรวจปิโตรเลียมด้วย ทั้งนี้ กมธ.ได้รวบรวมข้อมูลดังกล่าวเสนอไปยังรัฐบาล ส่งต่อไปยังกระทรวงพลังงานเรียบร้อยแล้ว เพื่อนำไปประกอบการแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
18 มิถุนายน 2558
สนช.เห็นชอบ แก้ไขรธน.ชั่วคราว 203:0 งดออกเสียง 3
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มีมติชนรายงายว่าในวาระที่สอง ซึ่งเป็นการประชุมโดยการใช้ที่ประชุมใหญ่เป็นกรรมาธิการ โดยพิจารณาทีละมาตราที่ขอแก้ไข ทั้งนี้บรรยากาศการประชุมในวาระที่สอง เป็นไปด้วยความราบรื่น สมาชิก สนช.ส่วนมากเพียงลุกขึ้นอภิปรายตั้งคำถามในเชิงเทคนิคและถ้อยคำของกฎหมายเพื่อความชัดเจนเท่านั้น ไม่มีการอภิปรายเห็นต่างในเชิงหลักการ ซึ่งผู้แทนคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้แก่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกลาโหม วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ชี้แจงทั้งหมด โดยเฉพาะนายวิษณุ เป็นตัวหลักในการชี้แจง โดยตลอดการประชุมในวาระที่ 2 ไม่มีมาตราใดเลยที่ต้องแก้ไขข้อความ
ขณะที่ก่อนจบการพิจารณาในวาระสอง พลเอกประวิตร ในฐานะรองหัวหน้า คสช. กล่าวขอบคุณสมาชิก สนช. ที่ให้ความสนใจการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ทั้งนี้การเสนอแก้ไขดังกล่าวก็เพราะ ครม.และ คสช. ทำตามเสียงเรียกร้องของประชาชนที่ต้องการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และขอขอบคุณล่วงหน้าที่ลงมติเพื่อให้รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้เป็นประโยชน์กับประชาชนและประเทศชาติ
จากนั้นที่ประชุมเข้าสู่วาระสาม ขั้นลงมติว่าจะเห็นชอบ หรือ ไม่เห็นชอบ การขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 โดยที่ประชุมใช้วิธีการขานชื่อรายบุคคล และลงมติแบบเปิดเผย ผลปรากฏว่า ที่ประชุมมีมติ เห็นชอบ 203 คะแนน ไม่เห็นชอบ ไม่มี งดออกเสียง 3 โดยทั้ง3คนที่งดออกเสียงคือ ประธาน และรองประธาน สนช.ทั้ง 3 คน
รวมเวลาการประชุมพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 5 ชั่วโมง 40นาที
19 มิถุนายน 2558
สนช.ผ่านวาระแรกร่าง พ.ร.บ.ส่งออกและนำเข้าสินค้า พร้อมให้มีการประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร เป็นกฎหมาย
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติให้ความเห็นชอบกับร่างกฎหมายในวาระที่หนึ่ง 1 ฉบับ คือร่าง พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. ... ที่คณะรัฐมนตรีเสนอ ด้วยเสียง 175 เสียง โดยไม่มีผู้ไม่เห็นด้วย ซึ่งร่างฉบับนี้นับเป็นการแก้ไขกฎหมายเดิมซึ่งประกาศใช้มากว่า 36 ปี ให้การขนส่งสินค้าผ่านแดนและการถ่ายลำในราชอาณาจักรเพื่อส่งต่อไปประเทศอื่นที่นับวันมีปริมาณเพิ่มขึ้น ได้มีมาตรการในการกำกับดูแลสินค้าที่นำผ่านให้มีความรัดกุมมากขึ้น ป้องกันการใช้วิธีนำผ่านเป็นช่องทางลักลอบส่งออกหรือนำเข้าสินค้าและเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของรัฐ
นอกจากนี้ สนช. ให้ความเห็นชอบผ่านวาระที่สาม อีก 1 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... เป็นกฎหมาย ด้วยเสียง 176 เสียง และไม่มีผู้ไม่เห็นด้วย ซึ่งร่างดังกล่าวนับเป็นแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเดิมให้มีความสอดคล้องกับเทคนิคและเทคโนโลยีการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน เคลื่อนย้ายอาคาร การกำหนดให้มีการประกันภัยในอาคารบางประเภทให้กับบุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหายจากอาคารด้วย