NLA Weekly (3 กรกฎาคม 2558): กมธ.ยกร่างฯ เดินหน้าพิจารณารธน. เคาะผู้สมัคร ส.ส.ต้องมีสัดส่วนผู้หญิง 1 ใน 3

NLA Weekly (3 กรกฎาคม 2558): กมธ.ยกร่างฯ เดินหน้าพิจารณารธน. เคาะผู้สมัคร ส.ส.ต้องมีสัดส่วนผู้หญิง 1 ใน 3

เมื่อ 5 ก.ค. 2558
30 มิถุนายน 2558
 
กมธ.ยกร่างฯ พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ปัดล็อบบี้ สปช. โหวตรับร่างรธน.
 
วันที่ 30 มิถุนายน 2558 คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยถึงการประชุมของวันที่ 29 มิถุนายน 2558 ว่า ที่ประชุมได้แขวนมาตรา 50 เรื่องการเป็นเจ้าของการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ใช้คลื่นความถี่ที่จะเปิดเสรีให้ต่างชาติ สามารถเข้ามาถือหุ้นกิจการโทรคมนาคมได้ไม่เกิน 70 เปอร์เซ็นต์ ตามสาระสำคัญของข้อผูกพันเปิดตลาดการค้าบริการ ชุดที่ 8 ที่ประชุมจึงมีมติให้แขวนไว้ก่อน เพราะเห็นว่า เรื่องสื่อสารมวลชนของประเทศเป็นเรื่องของความมั่นคง จึงไม่ควรให้ต่างชาติเข้ามาถือครอง หรือเป็นเจ้าของสื่อ และสื่อของประเทศไทยก็ต้องให้คนไทยเป็นเจ้าของ
 
ส่วนวันที่ 30 มิถุนายน 2558 จะประชุมในมาตรา 51 เกี่ยวกับ เสรีภาพของพลเมืองในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตรา 53 เกี่ยวกับเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ และปราศจากอาวุธ ซึ่งในมาตรานี้ ไม่ได้มีคำขอแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนของหลักการ แต่มีการขอปรับแก้ในถ้อยคำที่จะใช้บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ
 
ขณะที่คำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ปฏิเสธว่า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ไม่มีการเดินสายล็อบบี้สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นเพียงการสร้างข่าวให้เกิดความตื่นเต้นเท่านั้น เพราะกรรมาธิการฯ ส่วนใหญ่มาจาก สปช. และเป็นเพียงการพูดคุยชี้แจง ทำความเข้าใจภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น ส่วนสมาชิก สปช. จะตัดสินใจรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ขึ้นอยู่กับสิทธิและวิจารณญาณของแต่ละคน
 
ที่มา: ไทยรัฐ
 
1 กรกฎาคม 2558
 
กมธ.ยกร่าง รธน. พิจารณาคำขอแก้ไข ม.64 สิทธิของพลเมืองกับการมีส่วนร่วมด้านทรัพยากรธรรมชาติ
 
ที่ประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคำขอแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 64 ว่าด้วยสิทธิของพลเมืองที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการได้รับประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างเป็นธรรม  รวมทั้งเรื่องที่ประชุมยังคงแขวนไว้ในหลายมาตราซึ่งส่วนใหญ่เป็นการแก้ไขเพียงแค่ถ้อยคำไม่เกี่ยวข้องกับหลักการ  ซึ่งคาดว่าจะปรับแก้ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้  ก่อนส่งให้ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ช่วงวันที่  5 -7 กันยายน นี้
 
ด้านกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ เลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้รายงานต่อประธานในที่ประชุมว่า การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญลงรายมาตราเป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งคาดว่าในวันนี้จะสามารถพิจารณาจบในมาตราที่ 72 ที่ว่าพลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 20,000 คน มีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้มีมติถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่น
 
 
2 กรกฎาคม 2558
 
สนช.ผ่านวาระ 3 ร่าง พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างกิจการรถไฟฟ้า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการฯ
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างกิจการรถไฟฟ้า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ในท้องที่ อ.เมืองสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ พ.ศ... ซึ่งคณะกรรมาธิการการคมนาคม สนช.พิจารณาเสร็จแล้ว วาระ 3 ด้วยคะแนน เสียง 183 ไม่เห็นด้วยไม่มี และงดออกเสียง 2 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุม 185 คน พร้อมประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นกฎหมาย
 
สำหรับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จัดทำขึ้น เนื่องจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยได้สำรวจที่ดินที่จะต้องมีการเวนคืนเพื่อใช้สร้างกิจการรถไฟฟ้า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตบางนา - กรุงเทพมหานคร และอ.เมืองสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ พ.ศ. 2553 จึงต้องมีการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ดังกล่าวต่อไป
 
 
สนช. เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ ประกาศใช้เป็นกฎหมาย
 
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 เป็นประธานในที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ ร่างพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไปด้วยคะแนน 184 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 3 เสียง 
 
ทั้งนี้ เหตุผลที่ร่าง พ.ร.บ.นี้เนื่องจากปัจจุบันคดีอาญาที่เด็กหรือเยาวชนเป็นผู้ต้องหาซึ่งไม่สามารถยื่นฟ้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวได้ทันภายในระยะเวลาที่กำหนดและต้องขออนุญาตฟ้องจากอัยการสูงสุดมีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากทำให้การพิจารณาอนุญาตฟ้องคดีล่าช้า ดังนั้น จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 เพื่อกำหนดให้พนักงานอัยการผู้มีตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีอัยการหรืออธิบดีอัยการภาคซึ่งอัยการสูงสุดมอบหมาย มีอำนาจอนุญาตให้ฟ้องคดีอาญาที่เด็กหรือเยาวชนเป็นผู้ต้องหา ซึ่งไม่สามารถยื่นฟ้องต่อศาลได้ทันภายในระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด
 
 
โพลกมธ.ยกร่างฯ ชี้ ปชช. ส่วนใหญ่เห็นด้วยมีนายกคนนอก
 
ถวิลวดี บุรีกุล  กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผย ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 ต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญ  จำนวน  77,160 คน จาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ  ระหว่างวันที่ 1– 31 พฤษภาคม 58   ซึ่งพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน  โดยประชาชน ร้อยละ 93 เห็นว่า เมื่อ ส.ส. ได้เป็นนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีจะต้องลาออกจากการเป็น ส.ส.   และร้อยละ 90.9 เห็นด้วย ที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อจะต้องมาจากความนิยมของประชาชน   และร้อยละ 86.6 เห็นด้วย ให้มีนายกรัฐมนตรีมาจากคนนอกได้ หากบ้านเมืองเกิดวิกฤติ  โดยจะต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3
 
 
กมธ.ยกร่างฯ เคาะ ผู้สมัคร ส.ส.ต้องมีสัดส่วนผู้หญิง 1 ใน 3  
 
สุภัทรา นาคะผิว โฆษกคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯ ได้เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 76 ซึ่งมีการถกเถียงเกี่ยวกับการพิจารณาส่งผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อ จะต้องมีการหยั่งเสียงประชาชน หรือสมาชิกพรรคการเมืองในเขตเลือกตั้ง หรือในภาคก่อน โดยต้องมีเงื่อนไขว่าต้องมีสัดส่วนสตรีไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ในบัญชีของการทำการหยั่งเสียงดังกล่าว จนต้องมีการลงมติ ผลปรากฏว่า มติเสียงข้างมาก 20 ต่อ 9 เสียง ให้ยังคงสัดส่วนสตรีจำนวน 1 ใน 3 เอาไว้ตามเดิม
 
จากนั้นที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่าในมาตรา 76 ควรตัดคำว่า “กลุ่มการเมือง” ออกไป เนื่องจาก กมธ.ยกร่างฯ มีความเห็นในเบื้องต้นแล้วว่ากลุ่มการเมืองไม่สามารถส่งผู้สมัคร ส.ส.ได้ จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องคงคำว่ากลุ่มการเมืองเอาไว้ในมาตรานี้อีก
 
นอกจากนี้ กมธ.ยกร่างฯ ได้ตัดมาตรา 75 ของร่างรัฐธรรมนูญออก ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่กำหนดแนวทางปฏิบัติตนของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และผู้นำอื่นในภาครัฐ โดยเห็นว่าควรนำบทบัญญัติเหล่านี้ไปอยู่ในประมวลจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และผู้นำอื่นในภาครัฐแทน
 
ที่มา: เดลินิวส์
 
3 กรกฎาคม 2558
 
ประชาชนยื่นหนังสือถึง สปช. ค้าน พ.ร.บ.ป่าชุมชน
 
เทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)  มอบหมายให้ คณพล ตุ้ยสุวรรณ ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานประสานการเมืองและรับเรื่องราวร้องทุกข์ เป็นตัวแทนรับยื่นหนังสือจาก กัญญา ปันกิติ  ตัวแทนเครือข่ายขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ที่ยื่นคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับของคณะกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีหลักการที่ผูกขาดการบริหารจัดการดูแลทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะป่าไม้ ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน  และชี้ชัดว่าตั้งใจแยกคนออกจากป่า โดยทางเครือข่ายฯ  ขอให้มีการปรับปรุงแก้ไข เนื้อหาสาระของร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน โดยยึดหลักสิทธิชุมชนและหลักการจัดการป่าชุมชนเป็นสำคัญ แต่ถ้าหากว่ากรรมาธิการฯ ยังคงยืนยันตามร่างเดิม ก็ขอให้ถอนร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน เพื่อเข้าสู่กระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนในการนำเสนอร่างกฎหมาย พร้อมยืนยันว่าหากยังมีการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวต่อไป โดยไม่มีการปรับปรุงเนื้อหาตามข้อเสนอ ทางเครือข่ายก็จะเดินหน้าคัดค้านจนถึงที่สุด
 
ที่มา: ประชาไท
เรื่องที่เกี่ยวข้อง: