6 กรกฎาคม 2558
ผู้แทนชุมชนทับยาง จ.พังงา ยื่น สปช. ค้าน ร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน
ปราโมทย์ ไม้กลัด ประธานกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) รับหนังสือจาก ทัศนา นาเวช ผู้แทนชุมชนทับยาง จ.พังงา พร้อมด้วย กลุ่มชนเผ่ากระเหรี่ยง กลุ่มชนเผ่าปกาเกอะญอ กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล และกลุ่มชาวบ้าน ที่คัดค้านร่าง พ.ร.บ. ป่าชุมชน เนื่องจากเห็นว่าเนื้อหาสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมให้ประชาชนจัดการป่าชุมชน เพราะมีการระบุไว้ว่าชุมชนไม่มีสิทธิจัดทำป่าชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์ โดยไม่มองเรื่องสิทธิชุมชนที่ดำรงและคงอยู่กับชุมชนมาตั้งแต่ในอดีต
ประธาน สปช. ชี้ โหวตร่างรัฐธรรมนูญ ควรใช้วิธีลงคะแนนเปิดเผย
เทียนฉาย กีระนันท์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดเผยว่า กรณีที่มีสมาชิก สปช. เสนอให้มีการลงมติร่างรัฐธรรมนูญแบบลับนั้น ยังไม่สามารถตอบได้ในขณะนี้ ซึ่งยังไม่อยากวิพากษ์วิจารณ์เพราะยังไม่ถึงเวลา แต่ถ้าจะทำก็ต้องมีการแก้ไขข้อบังคับก่อน และจะต้องมีการหารือกับสมาชิกอีกครั้ง แต่ส่วนตัวเห็นว่า ควรลงมติด้วยวิธีเปิดเผย โดยใช้วิธีเสียบบัตรลงคะแนนเหมือนปกติ เพื่อความโปร่งใส
7 กรกฎาคม 2558
ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.กำลังพลสำรอง – นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างในวันรับราชการทหารเจอลงโทษ
คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.กำลังพลสำรอง พ.ศ. .... โดยเนื้อหาสำคัญจะกำหนดให้มี "คณะกรรมการกำลังพลสำรอง" หรือ คกส. มีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ คกส. มีอำนาจเกี่ยวกับเสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับกิจการกำลังพลสำรอง นอกจากนี้กำหนดให้กำลังพลสำรองเข้ารับราชการทหารในการเรียกกำลังพลสำรองเพื่อตรวจสอบ ฝึกวิชาทหาร ปฏิบัติราชการ ทดลองความพรั่งพร้อม หากหลีกเลี่ยงขัดขืนไม่เข้ารับราชการทหารต้องระวางโทษอาญา กำหนดสิทธิค่าตอบแทน สวัสดิการ ให้กับกำลังพลสำรอง นอกจากนี้ยังระบุว่า หากนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นกำลังพลสำรองในวันลาเพื่อรับราชการทหารตามพระราชบัญญัติ จะมีอัตราโทษทางอาญาเช่นเดียวกับบทบัญญัติมาตรา 146 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน
นอกจากนี้ ครม. เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริการพัสดุภาครัฐ พ.ศ. .... และ ร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับระบบการอุทธรณ์์และฎีกา รวม 9 ฉบับ ประกอบด้วย
1. ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ พ.ศ. ....
2. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
3. ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การอุทธรณ์และฎีกา)
4. ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การอุทธรณ์และฎีกา)
5. ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การอุทธรณ์และฎีกา)
6. ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการอุทธรณ์และฎีกา)
7. ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การอุทธรณ์และฎีกา)
8. ร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การอุทธรณ์และฎีกา)
9. ร่างพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย ยื่น สปช. แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านเพดานเงินเดือน
เกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) รับหนังสือ จาก มัลลิกา ลุนจักร ประธานสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย พร้อมคณะพยาบาล ที่เข้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรม เรียกร้องให้พิจารณาแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านเพดานเงินเดือน ใน พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและสร้างขวัญกำลังใจแก่พยาบาล นอกจากนี้ สหภาพพยาบาลฯ ยังขอให้รัฐจัดงบประมาณเพื่อสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน โดยให้ข้าราชการได้รับสิทธิประโยชน์เฉพาะ กรณีที่พยาบาลหรือบุคลากรสาธารณสุขเสียชีวิตหรือทุพพลภาพในขณะปฏิบัติหน้าที่ และพิจารณาบรรจุพยาบาลวิชาชีพ พนักงานกระทรวงและลูกจ้างชั่วคราว ภายในเวลา 1 เดือน เพื่อลดอัตราการขาดแคลนบุคลากรด้านการพยาบาล
8 กรกฎาคม 2558
สนช. เตรียมรายงานผลสอบสวนทางจริยธรรมของสมาชิก
นายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ วิป สนช. แถลงถึงวาระการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2558 ว่า เตรียมเสนอร่างกฎหมายเกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์เข้าสู่สภา โดยเสนอให้กระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กลับไปใช้ชื่อเดิมคือ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นอกจากนี้ ยังจะมีการสรุปผลการดำเนินงานของ สนช. ซึ่งมีการพิจารณากฎหมายแล้ว 129 ฉบับ เป็นกฎหมายผ่านวาระสาม 102 ฉบับ มีผลบังคับใช้ 72 ฉบับ ขณะที่เรื่องร้องเรียนของประชาชนเข้ามายัง สนช.มีจำนวน 416 เรื่อง พิจารณาแล้วกว่า 200 เรื่อง ส่วนคดีถอดถอนอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) 248 คนที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดนั้น ได้กำหนดวันแถลงเปิดสำนวนคดีประมาณวันที่ 15-16 กรกฎาคม อย่างไรก็ตาม วาระการประชุมจะมีการเสนอรายงานผลการสอบสวนทางจริยธรรมของ สนช.ด้วย
ทั้งนี้ กรณีของ วัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิก สนช. ที่แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมในลักษณะยกมือปาดคอตัวเอง ระหว่างที่มีผลการลงมติถอดถอน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว โดยผลการสอบสวนทางจริยธรรมสรุปว่า ไม่มีมูลความผิด เนื่องจากเห็นว่า พฤติกรรมดังกล่าวเป็นลักษณะของการยกไม้ยกมือธรรมดา ไม่ได้ส่อเจตนาท่าทางไม่เหมาะสมในลักษณะเยาะเย้ยหรือถากถางผู้ถูกถอดถอน ตามที่หม่องหลวง มิ่งมงคล โสณกุล หรือหม่อมเต่านา ยื่นเรื่องร้องเรียนให้มีการสอบจริยธรรม
กมธ.ยกร่างฯ คง ส.ว. 200 คน แต่ให้ ส.ว. เลือกตั้ง ไม่ต้องผ่านกรรมการกลั่นกรอง ก่อนให้ประชาชนลงคะแนน
กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีมติเห็นชอบให้คงจำนวน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ตามร่างแรกไว้ที่ 200 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรง จังหวัดละ 1 คน รวม 77 คน โดยไม่ต้องผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองแล้วค่อยให้ประชาชนเลือกเหมือนที่เคยบัญญัติไว้ในตอนแรก และอีก 123 คน มาจากการสรรหาจากหลายภาคส่วน ส่วนการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบแบ่งเขตจาก 250 คน เป็น 300 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อจาก 200 คน เป็น 150 คน โดยตัด ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อแบบโอเพนลิสต์ออก เพื่อให้การเลือกตั้งมีความง่าย ไม่ก่อให้เกิดความซับซ้อน ไม่เกิดบัตรเสีย และเปลี่ยนมาใช้การเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบปาร์ตี้ลิสต์เป็นบัญชีเดียวทั้งประเทศ เหมือนกับการเลือกตั้งที่ผ่านมา
9 กรกฎาคม 2558
สนช. รับการยื่นเรื่องค้านร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม จากเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ พลเอก สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน สนช.รับการยื่นหนังสือคัดค้าน ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปิโตรเลียม และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม จาก รสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี และ วีระ สมความคิด พร้อมเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย เนื่องจากเห็นว่าร่างกฎหมายดังกล่าวซึ่งกระทรวงพลังงานเป็นผู้เสนอและผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้ว ได้ระบุผ่านการทำประชาพิจารณ์ แต่กลับไม่มีภาคประชาชนคนใดรับทราบ รวมถึงไม่มีหลักเกณฑ์กำหนดการใช้ระบบสัมปทานหรือระบบแบ่งปันผลผลิตจึงอาจทำให้เกิดการใช้ดุลพินิจ หรือการต่อรองผลประโยชน์ส่วนตัว หรือความไม่โปร่งใสได้ง่าย ดังนั้น ต้องการให้ สนช.ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาจัดทำร่าง พ.ร.บ.ใหม่ โดยนำรายงานที่อนุกรรมาธิการของ สนช.ทำการศึกษาไว้มาประกอบการจัดทำ เพื่อให้เป็นกฎหมายด้านพลังงานที่เกิดประโยชน์กับประเทศอย่างแท้จริง
กมธ.ยกร่างฯ แก้นายกฯ ไม่ต้องนำชื่อ ครม.ให้วุฒิสภาตรวจสอบ
กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ประชุมพิจารณาในหมวดคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา โดยเป็นการปรับแก้ในหลายประเด็น อาทิ ที่มาของ นายกรัฐมนตรี เป็น 2 แนวทาง คือ หากมาจากผู้ที่เป็น ส.ส. ให้ใช้เสียงข้างมากของส.ส.ที่มีอยู่ในสภา แต่ถ้ามาจากคนนอกให้ใช้เสียง 2 ใน 3 ของ ส.ส.ที่มีอยู่ในสภา พร้อมตัดบทบัญญัติที่การนำชื่อคณะรัฐมนตรี ให้ประธานวุฒิสภาตรวจสอบคุณสมบัติออก ขณะที่ มาตรา 184 ที่แต่เดิม กำหนดให้ปลัดกระทรวงทำหน้าที่รัฐมนตรีรักษาการปลัดกระทรวงนั้นทันที หลังจากที่รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง โดยการยุบสภาผู้แทนราษฎร โดยที่ประชุมกรรมาธิการได้ปรับแก้เป็น หากมีคณะรัฐมนตรีเหลือไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ให้ปลัดกระทรวงนั้นๆ ที่ขาดอยู่ เข้าทำหน้าที่รักษาราชการแทน และได้เขียนบทบัญญัติให้รัฐมนตรีรักษาการนั้นลาออกจากตำแหน่งรักษาการ
10 กรกฎาคม 2558
กมธ.งบฯ ปี 59 พิจารณาแล้ว 12 กระทรวง ปรับลดแล้วกว่า 5,000 ล้าน
พลโท ชาตอุดม ติตถะสิริ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ชี้แจงภาพรวมการพิจารณางบประมาณว่า ได้พิจารณาไปแล้ว 12 กระทรวง ซึ่งขณะนี้เป็นการพิจารณากระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทั้งนี้ มีงบประมาณที่ผ่านการพิจารณาแล้วกว่า 1,027,103 ล้านบาท จากจำนวนงบประมาณทั้งหมด 2.72 ล้านล้านบาท ขณะที่การปรับลดงบประมาณเป็นไปตามเหตุและผลและความจำเป็น โดยได้ปรับลดในทุกกระทรวงที่ได้ผ่านการพิจารณากว่า 5,825 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณในการจัดอบรม งบประมาณจัดซื้อครุภัณฑ์ และงบประมาณสิ่งปลูกสร้าง โดยกรรมาธิการฯ ได้เน้นย้ำ ให้ทุกระทรวง ใช้จ่ายอย่างคุ้มค่า โปร่งใส พร้อมกับกระจายงบประมาณไปทุกภูมิภาค เพื่อพัฒนาสู่การบริการประชาชนที่ดีขึ้น