14 กรกฎาคม 2558
กมธ.ยกร่างฯ ร่างแก้ไข ที่มา-อำนาจ ของศาลรัฐธรรมนูญ ประชาชนยื่นฟ้องได้ ครอบคลุมคดีละเมิดสิทธิฯ
คำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงถึงผลการพิจารณาว่าวันแรกสามารถพิจารณาได้จำนวน 29 มาตราคือ มาตรา 217-245 ซึ่งเป็นมาตราที่เกี่ยวกับศาลและกระบวนการยุติธรรม
โดยได้ปรับแก้ถ้อยคำเล็กน้อย เช่น ในมาตรา 230 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญนั้น คณะกรรมาธิการฯ ได้ปรับแก้เกี่ยวกับจำนวนของคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้มี 7 คน เดิมกำหนดให้มีจำนวน 11 คน
ในมาตรา 235 คณะกรรมาธิการฯ ได้เพิ่มอำนาจการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญให้ครอบคลุมถึงคดีที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของประชาชน โดยกำหนดให้ประชาชนสามารถยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง จากเดิมที่เคยกำหนดให้บุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรอง จะมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ก็ต่อเมื่อเป็นกรณีที่ไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้ว
นายคำนูณ ยังกล่าวถึงการพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ซึ่งบัญญัติในมาตรา 241 ด้วยว่า คณะกรรมาธิการฯ ได้กำหนดให้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจที่จะพิจารณากรณีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งเดิมกำหนดไว้เพียงเรื่องการพิจารณาการเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งเท่านั้น นอกจากนี้ยังกำหนดให้ผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิสามารถอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้ทุกกรณี
สำหรับภาพรวมการประชุมขอได้พิจารณาไปแล้ว 245 มาตรา โดยมีการแก้ไขทั้งสิ้น 176 มาตรา และตัดออก 10 มาตรา
กมธ. ปฏิรูปเศรษฐกิจฯ (สปช.) เสนอการปฏิรูประบบและโครงสร้างภาษี แยก 2 ระดับ ขยายช่วงเงินได้ ยกเลิกอากรแสตมป์
สมชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมาธิการ พร้อมด้วย ศ.พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ โฆษกกรรมาธิการ และวิริยะ นามศิริพงศ์ กรรมาธิการ ในคณะกรรมาธิการปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แถลงว่า กรรมาธิการฯ เตรียมส่งรายงานการปฏิรูประบบและโครงสร้างภาษี ต่อคณะรัฐมนตรี ตามที่สภาปฏิรูปแห่งชาติมีมติเห็นชอบ โดยกรรมาธิการ ได้เสนอ 5 หลักการเพื่อปฎิรูป ที่เน้น แยกภาษีเป็น 2 ระดับแยกภาษีระดับชาติกับภาษีระดับท้องถิ่นให้ชัดเจน / เก็บภาษีให้ครบฐาน / ขยายช่วงเงินได้ / ยกเลิกอากรแสตมป์ / และ ปรับปรุงการบริหารจัดเก็บภาษีให้รัดกุมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ
ทั้งนี้ สมชัย ยืนยันว่า การจัดการระบบภาษีที่เสนอเป็นระบบที่มีความยุติธรรม ประชาชนเสียภาษีได้ถูกต้องครบถ้วนมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความเลื่อมล้ำได้ และทำให้การแข่งขันของธุรกิจไทยดีขึ้น อีกทั้งระบบคลังของไทยก็จะกระจายอำนาจมากขึ้นด้วย
สปช.เห็นชอบ 3 วาระ ปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน
ที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ได้มีมติเห็นชอบกับรายงานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน สปช. จำนวน 3 ฉบับ ประกอบด้วย การปรับโครงสร้างอำนาจส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น / การปฏิรูประบบงบประมาณ / การเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการบริหารงานแห่งรัฐ
โดยการปฏิรูประบบงบประมาณ เสนอให้ใช้ยุทธศาสตร์ชาติเป็นกรอบกำกับการจัดสรรงบประมาณทั้งหมด และจัดทำงบประมาณตามพื้นที่ คู่ขนานไปกับระบบงบประมาณตามภารกิจ ภายใต้หลักการที่เน้นการมุ่งผลสัมฤทธิ์ การมีส่วนร่วมของประชาชน การบูรณาการ สร้างความเป็นธรรม ความรับผิดชอบและความโปร่งใส
ด้านการปฎิรูปโครงสร้างอำนาจส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น มีข้อเสนอให้จัดภารกิจและขอบเขตความรับผิดชอบให้เกิดการบูรณาการร่วมกัน ร่วมถึง ปรับโครงสร้างองค์กรให้มีขนาดเล็ก กะทัดรัด มีความคล่องตัว มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ประชาชนได้มีส่วนร่วม เกิดการบริการสาธารณะที่ดี พร้อมปฏิรูปการบริหารงานบุคคลภาครัฐให้มีมาตรฐาน ขจัดความเหลื่อมล้ำ มีเอกภาพในด้านค่าตอบแทนและมีความเป็นกลางทางการเมือง
ส่วนการปฏิรูปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการบริหารงานแห่งรัฐ เสนอให้ออกกฎหมายใหม่ และปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเดิมที่เกี่ยวข้อง พร้อมเสนอแผนปรับปรุงองค์กรภาครัฐให้พัฒนาตนเองให้มีประสิทธิภาพ เข้าถึงและสอดคล้องความต้องการของประชาชนอย่างทั่วถึงเป็นธรรม แก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น พร้อมรองรับแนวทางการขับเคลื่อนประเทศและสร้างรายได้เฉลี่ยของวิสาหกิจชุมชนให้สูงขึ้นด้วย
15 กรกฎาคม 2558
ความคืบหน้า ร่าง รธน. ปรับแก้เรื่องฐานความผิดของผู้ที่ถูกยื่นถอดถอน บุคคลที่สิทธิยื่นถอดถอน และ ที่มา กกต.
ปกรณ์ ปรียากร กับ สุภัทรา นาคะผิว โฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงความคืบหน้าการพิจารณาเพิ่มเติมไปอีก 24 มาตราคือ มาตรา 246-269 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
สาระสำคัญส่วนหนึ่งที่ถูกยกขึ้นมาพิจารณาคือ ประเด็นผู้ที่ถูกยื่นถอดถอนออกจากตำแหน่งทางการเมืองว่า ต้องเข้าข่าย 6 ฐานความผิด คือพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อในทางทุจริตต่ออำนาจหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งข้าราชการ ส่อว่ากระทำผิดต่อหน้าที่ในการยุติธรรม ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
ทั้งนี้ บุคคลที่มีสิทธิในการยื่นถอดถอนแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ กรณีที่เป็นสมาชิกรัฐสภา ทั้ง ส.ส. และส.ว. ต้องเข้าชื่อขอถอดถอนไม่น้อยกว่า 1ใน 4 ของสมาชิกที่มีอยู่ และกรณีที่เป็นประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ต้องรวบรวมรายชื่อไม่น้อยกว่า 2 หมื่นรายชื่อ จึงจะสามารถยื่นถอดถอนได้ ซึ่งทั้ง 2 กรณีต้องระบุพฤติการณ์ความผิดเป็นข้อๆ อย่างชัดเจน โดยรายละเอียดการพิจารณาใตร่สวนความผิดให้ไปบรรจุไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
ประเด็นสุดท้ายคือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) จะมีการพิจารณาเรื่ององค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหา กกต. โดยกำหนดให้มาจากประธานศาลรัฐธรรมนูญ หรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด หรือตุลาการศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรครัฐบาล ผู้นำฝ่ายค้านหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคฝ่ายค้าน อธิการบดีที่เลือกที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยหรือตัวแทนจากคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน หรือ กอร. และตัวแทนจากประธานสภาองค์กรชุมชน
กมธ.ยกร่างฯ กำหนดให้รัฐสภามีอำนาจถอดถอนนักการเมือง แต่วุฒิสภามีอำนาจแค่คนที่ตัวเองตั้ง
ที่ประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับการถอดถอนบุคคลและการตัดสิทธิทางการเมืองหรือสิทธิในการดำรงตำแหน่ง ซึ่งคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ได้ปรับเนื้อหาในส่วนสาระสำคัญโดยสรุปว่า การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้เป็นอำนาจของที่ประชุมรัฐสภา ส่วนบุคคลที่ดำรงตำแหน่งอื่นซึ่งหมายถึงบุคคลที่วุฒิสภาแต่งตั้ง จะให้สิทธิวุฒิสภาในการถอดถอน ทั้งนี้กระบวนการถอดถอนจะต้องเริ่มจากการยื่นเรื่องไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือประธานวุฒิสภาจากนั้นส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เพื่อพิจารณาไต่สวน ส่วนการลงมติถอดถอนในรัฐสภาจะต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่า 3ใน 5 แต่ถ้าเป็นการถอดถอนในวุฒิสภาจะต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของวุฒิสภา ขณะที่ การดำเนินคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ได้แก้ไขในส่วนของการแต่งตั้งผู้ไต่สวนอิสระ โดยกำหนดให้ผู้ไต่สวนอิสระต้องมีจำนวน 3 คนและให้เรียกว่าคณะผู้ไต่สวนอิสระ ซึ่งเปลี่ยนจากบทบัญญัติเดิมที่เขียนแล้วตีความได้ว่าให้มีผู้ไต่สวนอิสระเพียงคนเดียว
กมธ.ยกร่างฯ เคาะแยก กสม.-ผู้ตรวจการฯ
โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงผลการพิจารณาในส่วนขององค์กรตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญครบถ้วนแล้ว ประกอบด้วย 5 องค์กรได้แก่ คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) มีกรรมการ 5 คน / คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) มีกรรมการ 7 คน / คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) มีกรรมการ 9 คน / คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) มีกรรมการ 7 คน / และผู้ตรวจการแผ่นดิน มีกรรมการ 3 คน
นอกจากนี้ยังกล่าวถึงโครงสร้างที่มาของคณะกรรมการสรรหาองค์กรตรวจสอบทั้ง 5 องค์กร โดยกรรมาธิการเห็นตรงกันว่า ควรจะมีกรรมการสรรหา 7 คน โดยคนที่ 1-6 เป็นโครงสร้างเดียวกันประกอบด้วย
1. ประธานหรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ของศาลรัฐธรรมนูญ 1 คน
2. ประธานหรือตุลาการศาลปกครองสูงสุดซึ่งเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ของศาลเลือกมา 1 คน
3. ประธานสภาผู้แทนฯ หรือ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล 1 คน
4. ผู้นำฝ่ายค้านหรือ ส.ส. ฝ่ายค้านเลือกมา 1 คน
5. อธิการบดีสถาบันอุดมศึกษาที่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยเลือกมา 1 คน
6. ตัวแทนภาคเอกชนจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชนสามสถาบันจับสลากมา 1 คน
ทั้งนี้ ที่มาของกรรมการสรรหาคนที่ 7 จะแตกต่างกันตามสภาพการทำหน้าที่ของแต่ละองค์กร ประกอบด้วย กรณีของ กกต. มาจากประธานที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนทุกจังหวัดจับสลากมา 1 คน / กรณีของ คตง. มาจากผู้แทนองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบบัญชี ให้จับสลากมา 1 คน / กรณีของ ปปช. มาจากประธานศาลฎีกาหรือผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเลือกมา 1 คน / กรณีของ กสม. มาจากผู้แทนองค์กรภาคเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน โดยวิธีการได้มาจะขึ้นกับ พรบ.คณะกรรมการสิทธินุษยชนซึ่งจะมีการร่างขึ้นใหม่อีกที และกรณีของผู้ตรวจการแผ่นดิน มาจากผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า สลากมา 1 คน /
สำหรับสำหรับวาระในการดำรงตำแหน่งนั้น ให้ ปปช. มีวาระมากกว่าองค์กรตรวจสอบอื่นๆ คือ 9 ปีเนื่องจากเป็นองค์กรกึ่งตุลาการและมีคดีทุจริตจำนวนมาก ส่วนองค์กรที่เหลือมีวาระ 6 ปี อย่างไรก็ตามเฉพาะ ปปช. และ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่หากมีกรรมการพ้นไปก่อนครบวาระ คนที่มาใหม่จะมีวาระเต็มตามวาระ 9 ปีหรือ 6 ปีตามกรณี ส่วนอีก 3 องค์กรที่เหลือ กรรมการที่มาแทนที่จะอยู่ในวาระเท่ากับวาระที่เหลือของกรรมการที่พ้นไปเท่านั้น หรือนัยหนึ่งคือจะต้องพ้นไปทั้งคณะพร้อมกันเมื่อครบวาระ
16 กรกฎาคม 2558
กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ยังไม่เคาะว่าจะขยายเวลาพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่
ศ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ชี้แจง หลังรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่1) พ.ศ.2558 มีผลบังคับใช้ แต่คณะกรรมาธิการจะเดินหน้าพิจารณาตามกรอบเดิม พร้อมเตรียมนัดถกว่าจะขยายเวลาการพิจารณาออกไปหรือไม่ในวันที่ 21 ก.ค.นี้ ส่วนการพิจารณาจะเริ่มในภาค 4 การปฏิรูปและสร้างความปรองดองตั้งแต่มาตรา 277 โดยคณะกรรมาธิการจะรอผลการหารือของคณะกรรมาธิการปฏิรูปทั้ง 18 คณะเพื่อวางแนวทางในการปฏิรูปให้สอดคล้องกัน
กมธ.ยกร่างฯ แจง แก้หมวดการปฏิรูปใหม่ รายละเอียดให้ไปอยู่ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ
โฆษก กมธ.ยกร่างฯ แถลงการประชุมหมวดการปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง โดยได้ปรับแก้หลักการให้มีองค์ประกอบของคณะกรรมการระดับยุทธศาสตร์ที่ทำหน้าที่เรื่องการปฏิรูปและการปรองดองเหลือเพียงคณะเดียว จากร่างเดิมที่แยกเป็นสองคณะ
ทั้งนี้ สรายละเอียดเนื้อหาสำคัญตามร่างเดิม ให้กรรมาธิการยกร่างฯ ไปจัดตั้งเป็นอนุกรรมาธิการร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูปและการปรองดอง โดยมีผู้แทนคณะกรรมการปฏิรูปของ สปช. ทั้ง 18 ด้านมาร่วมเป็นอนุกรรมาธิการร่วม โดยเบื้องต้นจะยกร่างให้แล้วเสร็จ ใน 22 ส.ค. แล้วจะส่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวให้ สปช.ต่อไป
ส่วนการพิจารณาบทสุดท้ายว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 299 – 303 โดยยังคงยึดแนวทางที่กำหนดไว้ในร่างแรกที่กำหนดว่ารัฐธรรมนูญจะมีสามส่วน ได้แก่ ส่วนที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์และรูปของรัฐที่แก้ไขไม่ได้ / ส่วนที่เป็นหลักการสาระสำคัญจะแก้ไขได้โดยต้องผ่านเสียง 2 ใน 3 ของรัฐสภาแล้วต้องนำไปทำประชามติ / และส่วนที่เหลือที่แก้ได้ด้วยเสียง 2 ใน 3 ของรัฐสภาเองในวาระที่สาม โดยมีขั้นตอนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะทำหน้าที่กลั่นกรองว่าการแก้ไขดังกล่าวจะอยู่ในแนวทางใด
และยังมีการปรับแก้เพียงเล็กน้อยในมาตรา 303 โดยกำหนดชัดเจนว่าเมื่อครบรอบ 5 ปีให้ประธานรัฐสภาแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิจากสภาผู้แทนฯ วุฒิสภา คณะรัฐมนตรี ศาลฎีกา ศาลปกครองสูงสุด และองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบอำนาจรัฐ เป็นคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอิสระประเมินผลการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ ให้เวลาทำงาน 6 เดือนเพื่อพิจารณาทำรายงานว่าควรแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตราใดบ้าง แล้วส่งรายงานไปยังรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีทุกรอบ 5 ปี
17 กรกฎาคม 2558
สนช.เห็นชอบประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้าในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าฯ เป็นกฎหมาย
ที่ประชุม สนช. มีมติ 186 เสียง ผ่านวาระ 3 ร่าง พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้าในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าฯ ประกาศใช้เป็นกฎหมาย หวังเสริมสร้างประสิทธิภาพกลไกการจัดระเบียบการนำผ่านสินค้า เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของรัฐ
ทั้งนี้ ผู้ยกร่างชี้แจ้งว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวตราขึ้น เนื่องจากปัจจุบันการขนส่งสินค้าผ่านแดนและการถ่ายลำในราชอาณาจักรเพื่อส่งต่อไปยังประเทศอื่นมีปริมาณเพิ่มอย่างต่อเนื่อง จึงควรกำหนดมาตรการในการกำกับดูแลสินค้าที่นำผ่านให้มีความรัดกุมมากยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันการใช้วิธีการนำผ่านเป็นช่องทางในการลักลอบส่งออกหรือนำเข้าสินค้า และเป็นการเสริมสร้างประสิทธิภาพในกลไกการจัดระเบียบการนำผ่านสินค้าเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของรัฐ
สนช.รับหลักการร่าง พ.ร.บ.กำลังสำรอง-ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
ที่ประชุมมีมติเห็นควรรับหลักการร่างพระราชบัญญัติกำลังพลสำรอง พ.ศ. ... ด้วยคะแนน 189 งดออกเสียง 4 พร้อมกับให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาจำนวน 19 คน โดยหลักการและเหตุผลคือ กำหนดให้มีระบบกำลังพลสำรองพร้อมปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งที่ผ่านมาต้องใช้การหมุนเวียนกำลังพลเนื่องจากขาดงบประมาณ จึงได้เสนอกฎหมายเพื่อกำหนดประเภทบุคคลที่จะเป็นกำลังพลสำรอง
รวมถึงกำหนดหน้าที่สิทธิในการเข้ารับราชการทหารให้เกิดความชัดเจนและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการกำลังพลสำรอง หรือ คกส. โดยประธานคณะกรรมการให้มาจากการมอบหมายของนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรี และกรรมการ 20 คน พร้อมกำหนดวิธีรับบุคคลเข้าเป็นกำลังพลสำรองโดยวิธีรับสมัคร หรือคัดเลือกจากนายทหารสัญญาบัตรกองหนุน นายทหารสัญญาบัตรนอกราชการ นายทหารสัญญาบัตรนอกกอง ทหารกองหนุนประเภทที่ 1 หรือที่ประเภท 2
อย่างไรก็ตาม มีข้อกังวลจากสมาชิกในสภาว่า การรับสมัครบุคคลจากสองลักษณะจะมีวิธีการคัดเลือกอย่างไร และเมื่อเป็นกำลังพลสำรองจะได้รับการยกเว้นการเกณฑ์ทหารหรือไม่ และในกรณีหากมีการเรียกกำลังพลสำรองเป็นเวลานาน จะมีการดูแลสิทธิประโยชน์นายจ้างที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างที่เป็นกำลังพลสำรองอย่างไร
ส่วน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ พ.ศ. .... โดยมีนายวิษณุ เครืองาม ชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า ขณะนี้มีหลายคดีที่เป็นคดีชำนัญพิเศษ ทั้งคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ คดีภาษีอากร คดีแรงงาน คดีล้มละลาย และคดีเยาวชนและครอบครัว ที่จะต้องอาศัยความชำนาญของผู้พิพากษาและการพิจารณาเป็นพิเศษ รวมทั้งต้องมีผู้พิพากษาสมทบและคดีเหล่านี้เมื่อฟ้องไปยังศาลชั้นต้นและไปจบลงที่ศาลฎีกา ทำให้คดีกระจุกตัวคั่งค้างที่ศาลฎีกาจำนวนมาก ขณะที่ผู้พิพากษาก็ไม่ได้ตามคดีอย่างต่อเนื่องไปถึงชั้นศาลฎีกา ดังนั้นจึงเห็นว่าควรมีศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาคดีชำนัญพิเศษเหล่านี้ ซึ่งถือเป็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และคู่กรณีจะได้ประโยชน์จากการพิจารณาของศาลที่รวดเร็วขึ้นและได้รับความเป็นธรรม โดยแบ่งให้มีการพิจารณาคดีชั้นอุทธรณ์เป็น 5 แผนกตามคดีประเภทคดีชำนัญพิเศษ
แต่จะต้องมีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวเนื่องอีก 8 ฉบับ โดยแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การอุทธรณ์และฎีกา
18 กรกฎาคม 2558
กมธ.ยกร่างฯ กำหนด ตัดสิทธิทางการเมืองตลอดไป กรณีต้องคำพิพากษาผิดฐานทุจริต
คณะกรรมาธิการพิจารณาเรื่อ คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)
โดยที่ประชุมมีมติให้คงมีมาตรา 111 (8) ที่ว่าด้วยการไม่ให้บุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยกระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือกระทำการอันทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือไม่เที่ยงธรรมลงสมัครับเลือกตั้ง ส.ส.
และแก้ไข มาตรา 111 (14) โดยกำหนดให้บุคคลที่อยู่ในระหว่างต้องห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามมาตรา 247 ว่าด้วยการแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ หรือถูกถอดถอนอันเหตุมาจากการจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายและการประพฤติจริยธรรมอย่างร้ายแรง จะลงสมัคร ส.ส.ไม่ได้
และปรับแก้ มาตรา 111 (15) โดยบัญญัติว่าบุคคลที่เคยถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง ด้วยเหตุ 4 ข้อ คือ ถูกถอดถอนเนื่องจากพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งราชการ และ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม จะไม่สามารถลงสมัคร ส.ส.ได้ สำหรับกรณีขอมาตรา 111 (8) และ (15) เป็นการห้ามตลอดชีวิต แต่ในรัฐธรรมนูญจะใช้คำว่าตลอดไป
นักการเมือง-พรรค โดนยุบได้ หากใช้สิทธิและเสรีภาพในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดการมล้างการปกครอง
ส่วนเรื่องการใช้สิทธิและเสรีภาพในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดการมล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กรรมาธิการยกร่างฯ ได้บัญญัติเพิ่ม ว่าถ้าพรรคการเมืองดำเนินการในดำเนินการในลักษณะดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งให้เลิกการกระทำและอาจจะมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้นได้ แต่ไม่ให้นำมาใช้กรณีที่ ส.ส.หรือกรรมการบริหารพรรคดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในฐานะเป็น ส.ส.หรือพรรคการเมือง
ส่วนเนื้อหาเรื่องผู้นำการเมืองที่ดีและระบบผู้แทนที่ดี คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ได้บัญญัติให้มีกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานทางจริยธรรมที่มีกลไกเพื่อบังคับให้เป็นไปตามมาตรฐานจริยธรรม และเพิ่มบทบัญญัติว่าจะให้มีการดำเนินการตรวจสอบแบบการยื่นภาษีย้อนหลัง 5 ปีของผู้สมัครลงเลือกตั้งทางการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น องค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เป็นต้น โดยบุคคลเหล่านั้นเมื่อยื่นแบบแสดงการเสียภาษีรายได้ส่วนบุคคลย้อนหลัง 5 ปีแล้ว จะมีคณะกรรมการชุดหนึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบ แต่การตรวจสอบจะดำเนินการเฉพาะผู้ที่ได้รับตำแหน่งเท่านั้น
กมธ.ยกร่างฯ คงเอกสิทธิ์คุ้มครองสมาชิกรัฐสภาในสมัยประชุม
โฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ สรุปประเด็นเกี่ยวกับเอกสิทธิ์คุ้มครองของสมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ส.และ ส.ว. ที่จากเดิมกำหนดให้ในระหว่างสมัยประชุมจะทำการจับกุม คุมขัง หรือออกหมายเรียก ส.ส.หรือ ส.ว.ไม่ได้ เว้นแต่ในกรณีที่จะได้รับอนุญาตจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภานั้น
ในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ได้บัญญัตติเพิ่มเติม ว่า ในกรณีที่ถูกจับกุมขณะทำความผิดหรือในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือความผิดอาญาที่มีโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ส.ส.หรือส.ว. จะไม่ได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครองและสามารถถูกสอบสวนในฐานะเป็นผู้ต้องหาได้ นอกจากนี้ยังเปิดช่องในกรณีที่สมาชิกรัฐสภาผู้นั้นยินยอมให้มีการดำเนินคดีในชั้นศาลก็ไม่ต้องขออนุมัติจากสภาต้นสังกัด แต่การพิจารณาคดีต้องไม่เป็นการขัดขวางต่อการที่ส.ส.หรือส.ว.มาประชุมสภา
อย่างไรก็ตาม หากเกิดมีการจับกุม ส.ส.หรือส.ว.ในขณะทำความผิด จะต้องมีการรายงานไปยังประธานสภาฯหรือประธานวุฒิสภาโดยทันทีและประธานสภาฯทั้งสองอาจร้องขอให้ปล่อยตัวได้ เช่นเดียวกับการฟ้องร้อง ส.ส.และ ส.ว.ในคดีอาญาไม่ว่าจะฟ้องนอกหรือในสมัยประชุมสภาฯ ศาลจะพิจารณาคดีนั้นในสมัยประชุมไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา แต่ถ้าเป็นความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือคดีเกี่ยวกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. หรือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง