สนช.เล็งตั้ง “ศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษ” วางระบบอุทธรณ์ฎีกาทั้งประเทศใหม่ ให้คดีส่วนใหญ่สิ้นสุดที่ชั้นอุทธรณ์

สนช.เล็งตั้ง “ศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษ” วางระบบอุทธรณ์ฎีกาทั้งประเทศใหม่ ให้คดีส่วนใหญ่สิ้นสุดที่ชั้นอุทธรณ์

เมื่อ 19 ก.ค. 2558
ไฟล์แนบขนาดไฟล์
ร่างพ.ร.บ.จัดตั้งศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษ.pdf220.12 KB
 
17 กรกฎาคม 2558 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติรับหลักการวาระ 1 ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ พร้อมร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องอีก 8 ฉบับ รวมมีร่างกฎหมายในชุดนี้ 9 ฉบับ เพื่อจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ และจัดวางระบบอุทธรณ์ฎีกาของทั้งประเทศใหม่ให้เป็นระบบเดียวกัน
 
อะไรคือศาลชำนัญพิเศษ และทำไมต้องมีศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
ศาลชำนัญพิเศษ หรือ ถ้าเรียกให้เข้าใจง่ายก็คือศาลที่มีความชำนาญเป็นพิเศษเฉพาะเรื่อง สำหรับตัดสินคดีบางประเภทที่ต้องอาศัยความรู้ความสามารถเฉพาะทาง เช่น คดีภาษีอากร หรือ ที่ต้องใช้ผู้พิพากษาสมทบที่เป็นตัวแทนจากกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ เช่น ศาลแรงงาน หรือ ที่ต้องมีกระบวนการพิจารณาคดีที่แตกต่างเป็นพิเศษเพื่อคุ้มครองผู้เสียหายหรือจำเลย เช่น ศาลเยาวชนและครอบครัว
 
ในปัจจุบันมีศาลชำนัญพิเศษอยู่ 5 ประเภท คือ ศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลภาษีอากร ศาลแรงงาน ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ และศาลล้มละลาย ซึ่งต่างก็มีพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลและวิธีพิจารณาคดีของตัวเองแตกต่างกันไป ตามความเหมาะสมของแต่ละประเภทคดี
 
ตามกฎหมายปัจจุบัน หากประชาชนไม่พอใจคำพิพากษาของศาลชำนัญพิเศษ ให้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลฎีกาได้โดยตรงเลย โดยไม่ต้องผ่านศาลอุทธรณ์ก่อน และหากศาลฎีกาพิพากษาเป็นอย่างไรแล้วก็เป็นอันสิ้นสุด สาเหตุที่กฎหมายกำหนดให้การพิจารณาคดีชำนัญพิเศษมีเพียงสองชั้นศาลก็เพื่อต้องการแก้ปัญหาคดีความที่ล่าช้า ให้คดีในศาลพิเศษเหล่านี้พิจารณาให้แล้วเสร็จรู้ผลโดยเร็ว ยกเว้นคดีเยาวชนและครอบครัวที่ตามกฎหมายปัจจุบันต้องยื่นให้ศาลอุทธรณ์ก่อน โดยยังมีสามชั้นศาลเหมือนคดีทั่วไป
 
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2558 สนช.ได้ลงมติ เห็นชอบให้ประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (เรื่องสิทธอในการอุทธรณ์ฎีกา) ไปแล้ว ซึ่งมีสาระสำคัญกำหนดหลักเกณฑ์การยื่นคดีต่อศาลฎีกาใหม่ กำหนดให้ประชาชนที่ต้องการยื่นคดีให้ศาลฎีกาวินิจฉัยต้องขออนุญาตจากศาลฎีกาก่อน เปลี่ยนจากระบบที่เดิมการยื่นคดีต่อศาลฎีกาเป็นสิทธิของคู่ความ มาเป็นระบบขออนุญาต เพื่อลดภาระคดีของศาลฎีกาให้เหลือแต่คดีสำคัญๆ ที่จะวางบรรทัดฐานการตีความกฎหมายเท่านั้น
 
เมื่อระบบการยื่นอุทธรณ์ฎีกาในคดีแพ่งทั่วไปถูกเปลี่ยนแปลงแล้ว สนช.จึงต้องการปรับปรุงระบบการยื่นอุทธรณ์ฎีกาของศาลชำนัญพิเศษทั้งหลายให้เหมือนกับคดีทั่วไปด้วย เพื่อจัดวางระบบการอุทธรณ์ฎีกาให้สอดคล้องกันทั้งประเทศ
 
สาระสำคัญของ ร่างพ.ร.บ.จัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
ร่างพ.ร.บ.จัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ มีทั้งสิ้น 10 มาตรา มีสาระสำคัญ ดังนี้
 
หนึ่ง กำหนดให้จัดตั้ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ขึ้น มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่อุทธรณ์มาจากศาลชำนัญพิเศษทั้ง 5 ประเภท โดยในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษนี้ ก็ให้แบ่งออกเป็น 5 แผนก คือ แผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ แผนกคดีภาษีอากร แผนกคดีแรงงาน แผนกคดีล้มละลาย และแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว
 
วันเริ่มเปิดทำการของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกา
 
สอง ให้มีประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ และรองประธานห้าคน
 
สาม กรณีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยโดยที่ประชุมของผู้พิพากษาแผนกใด ให้ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษจัดให้มีการประชุมของผู้พิพากษาแผนกดังกล่าวทุกคน แต่ต้องไม่น้อยกว่าสองในสามของผู้พิพากษาในแผนกนั้น และการลงมติให้เป็นไปตามเสียงข้างมาก
 
สี่  คดีที่มีคำพิพากษาก่อนวันที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษจะเปิดทำการ ให้การอุทธรณ์ฎีกาเป็นไปตามกฎหมายเดิมไปก่อน และคดีที่มีการยื่นอุทธรณ์ฎีกาไปแล้วก่อนศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษจะเปิดทำการ ก็ให้พิจารณาพิพากษาต่อไป
 
 
 
 
แก้ร่างพ.ร.บ.อีก 8 ฉบับ ให้สอดคล้องเป็นระบบเดียวกัน
เมื่อมีการเสนอจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษขึ้นเป็นศาลแห่งใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน และมีการวางระบบการอุทธรณ์ฎีกาใหม่ จึงกระทบกับกฎหมายหลายๆ ฉบับที่มีอยู่แล้ว จึงต้องเสนอแก้ไขให้สอดคล้องเป็นหลักการเดียวกันทั้งระบบด้วย โดยร่างกฎหมายที่เสนอแก้ไขในชุดเดียวกันอีก 8 ฉบับ มีดังนี้
 
1. ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่...) กำหนดนิยามความหมายของศาลอุทธรณ์ใหม่ให้ครอบคลุมศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษด้วย และให้ใช้คำเรียกรวมใหม่ว่า “ศาลชั้นอุทธรณ์” นอกจากนี้ยังกำหนดให้การตั้งแผนกในศาล หรือการตั้งสำนักงานสาขา ทำได้โดยออกเป็นประกาศคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม
 
2. ร่างพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน (ฉบับที่...) กำหนดให้การอุทธรณ์คดีแรงงาน อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ โดยเงื่อนไขการห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงยังเป็นเหมือนเดิม ส่วนการฎีกาต้องให้ศาลฎีกาอนุญาตก่อน และหากมีปัญหาว่าคดีใดอยู่ในอำนาจศาลแรงงานหรือไม่ ให้ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเป็นผู้วินิจฉัย
 
3. ร่างพ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ (ฉบับที่...) กำหนดให้การอุทธรณ์คดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้านระหว่างประเทศ อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ โดยเงื่อนไขการห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงถูกยกเลิกไป ส่วนการฎีกาต้องให้ศาลฎีกาอนุญาตก่อน และหากมีปัญหาว่าคดีใดอยู่ในอำนาจศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศหรือไม่ ให้ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเป็นผู้วินิจฉัย
 
4. ร่างพ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่...) กำหนดให้การอุทธรณ์คดีล้มละลาย อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ โดยเงื่อนไขคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ยังเป็นเหมือนเดิม คดีล้มละลายที่ต้องห้ามอุทธรณ์ให้คู่ความขออนุญาตจากศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษก่อน ส่วนการฎีกาคดีทางแพ่งต้องให้ศาลฎีกาอนุญาตก่อน การฎีกาคดีอาญาให้เป็นไปตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และหากมีปัญหาว่าคดีใดอยู่ในอำนาจศาลล้มละลายหรือไม่ ให้ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเป็นผู้วินิจฉัย
 
5. ร่างพ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร (ฉบับที่...) กำหนดให้การอุทธรณ์คดีภาษีอากร อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษได้ไม่จำกัดประเภทคดี โดยเงื่อนไขการห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงถูกยกเลิกไป ส่วนการฎีกาต้องให้ศาลฎีกาอนุญาตก่อน และหากมีปัญหาว่าคดีใดอยู่ในอำนาจศาลภาษีอากรหรือไม่ ให้ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเป็นผู้วินิจฉัย
 
6. ร่างพ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว (ฉบับที่...) กำหนดให้การอุทธรณ์คดีเยาวชนและครอบครัว อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษก่อน โดยเงื่อนไขคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ยังเป็นเหมือนเดิม ส่วนการฎีกาคดีทางแพ่งต้องให้ศาลฎีกาอนุญาตก่อน การฎีกาคดีอาญาให้เป็นไปตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และหากมีปัญหาว่าคดีใดอยู่ในอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัวหรือไม่ ให้ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเป็นผู้วินิจฉัย
 
7. ร่างพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค (ฉบับที่...) กำหนดให้คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคถือเป็นที่สุด การฎีกาจะทำได้ต้องได้รับอนุญาตจากศาลฎีกาก่อนเท่านั้น
 
8. ร่างพ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่...) ร่างฉบับนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการอุทธรณ์ฎีกาโดยตรง แต่เกี่ยวข้องกับการให้อำนาจประธานศาลฎีกาออกข้อบังคับกำหนดค่าป่วยการ ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ของพยานผู้เชี่ยวชาญที่มาให้ความเห็นต่อศาล
 
ร่างกฎหมายชุดนี้รวม 9 ฉบับ นอกจากจะมุ่งวางระบบเรื่องสิทธิอุทธรณ์ฎีกาแล้ว ยังวางระบบให้ประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมมีอำนาจออกข้อบังคับกำหนดค่าป่วยการ ค่าเดินทาง และค่าที่พัก ของพยานผู้เชี่ยวชาญที่มาให้ความเห็นต่อศาลทุกศาลให้เป็นระบบเดียวกัน ซึ่งแต่เดิมกฎหมายบางฉบับกำหนดให้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
 
นอกจากนี้กฎหมายชุดนี้ยังจัดวางอำนาจการบริหารจัดการศาลยุติธรรมให้เป็นไปในทางเดียวกันด้วย โดยกฎหมายบางฉบับที่เคยกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้รักษาการก็แก้ไขให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้รักษาการแทน และให้อำนาจในการออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องต่างๆ อยู่ที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม
 
 
ความรู้ประกอบ

ปัญหาที่ศาลมีหน้าที่ต้องวินิจฉัยมีอยู่สองประเภท คือ ปัญหาข้อเท็จจริง และปัญหาข้อกฎหมาย
 
ปัญหาข้อเท็จจริง คือ ปัญหาที่ศาลต้องใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของสองฝ่าย แล้วเลือกว่าจะเชื่อว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ตัวอย่างเช่น เชื่อว่าจำเลยอยู่ในที่เกิดเหตุในวันเกิดเหตุหรือไม่, เชื่อว่าจำเลยขับรถเร็วเกินกว่า 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมงหรือไม่ หรือ เชื่อว่าจำเลยชำระหนี้ไม่ตรงตามกำหนดจริงหรือไม่
 
ปัญหาข้อกฎหมาย คือ ปัญหาที่ศาลต้องปรับใช้ข้อกฎหมายเข้ากับข้อเท็จจริงที่สรุปมาแล้ว ว่าจะต้องตีความกฎหมายที่มีอยู่อย่างไร ตัวอย่างเช่น เมื่อจำเลยรับสารภาพแล้วว่าได้พูดถึงโจทก์จริงศาลต้องวินิจฉัยว่าคำพูดนั้นเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่, เมื่อโจทก์และจำเลยยอมรับตรงกันว่าสัญญาที่ลงนามร่วมกันนั้นลงวันที่ผิด การลงวันที่ผิดทำให้สัญญาเป็นโมฆะหรือไม่ หรือ ลูกจ้างขาดงานเพราะต้องดูแลพ่อที่ป่วยถือว่าลูกจ้างขาดงานโดยมีเหตุอันสมควรหรือไม่
 
เมื่อศาลมีภาระคดีที่ต้องพิจารณามาก คดีที่มีข้อถกเถียงกันเฉพาะปัญหาข้อเท็จจริง แต่ไม่มีปัญหาข้อกฎหมายให้ศาลต้องวินิจฉัย และเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์ไม่มาก หรือคดีความผิดเล็กๆ น้อยๆ จึงอาจถูกกำหนดให้เป็นคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์หรือห้ามฎีกา เพราะเชื่อว่าดุลพินิจของศาลชั้นต้นในการรับฟังข้อเท็จจริงก็น่าเชื่อถือเพียงพอแล้ว แต่หากคดีมีข้อถกเถียงเป็นปัญหาข้อกฎหมายนั้นส่วนใหญ่จะอนุญาตให้อุทธรณ์หรือฎีกาได้ เพื่อให้ศาลที่สูงขึ้นไปวางบรรทัดฐานการตีความกฎหมายและตรวจสอบดุลพินิจการตีความกฎหมายของศาลชั้นต้นด้วย
 
 
มองความเปลี่ยนแปลงของระบบการอุทธรณ์ฎีกาแบบใหม่
ปริมาณคดีที่คั่งค้างในศาลฎีกาจำนวนมาก เห็นเหตุให้ในยุคสนช.มีการเสนอปรับปรุงระบบอุทธรณ์ฎีกาของศาลยุติธรรมใหม่ทั้งหมด โดยสนช.เห็นชอบข้อเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ไปเรียบร้อยแล้ว และกำลังจะพิจารณาแก้ไขระบบอุทธรณ์ฎีกาในศาลชำนัญพิเศษต่อเนื่องกันมาด้วย ซึ่งพอจะมองลักษณะของระบบใหม่ได้ ดังนี้
 
ประการที่หนึ่ง สถานะของศาลฎีกาจะเปลี่ยนไป จากเดิมศาลฎีการับพิจารณาคดีทุกประเภทที่คู่ความไม่พอใจคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ทำให้มีคดีคั่งค้างเต็มศาลไปหมด สถิติคดีของศาลฎีกาในปี 2557 ศาลฎีการับคดีชำนัญพิเศษมาทั้งสิ้น 2,760 คดี พิจารณาเสร็จไปเพียง 830 คดี แบ่งได้ประเภทได้ตามตาราง ดังนี้
 
สถิติปริมาณคดีชำนัญพิเศษของศาลฎีกา ในปี 2557
 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯศาลล้มละลายศาลภาษีอากรศาลเยาวชนและครอบครัวศาลแรงงาน
คดีรับใหม่
ในปี 2557
2084631112621,760
คดีรับใหม่ที่แล้วเสร็จ
ในปี 2557
53520116830
*ข้อมูลจากศาลฎีกา
 
แต่เนื่องจากระบบใหม่จัดวางให้ศาลฎีกามีหน้าที่พิจารณาเฉพาะคดีที่จะวางบรรทัดฐานการตีความกฎหมาย หรือคดีที่เป็นประโยชน์สาธารณะเท่านั้น ทำให้คดีแพ่งและคดีชำนัญพิเศษส่วนใหญ่จะจบที่ศาลชั้นอุทธรณ์ จะเหลือคดีความขึ้นสู่ศาลฎีกาน้อยกว่าเดิมมาก และทำให้สถานะของศาลฎีกาในระบบใหม่เปลี่ยนเป็นศาลสูงสุดที่พิจารณาคดีจำนวนไม่มาก แต่เป็นคดีสำคัญที่จะวางบรรทัดฐานการตีความกฎหมายและส่งผลกระทบต่อสังคม
 
ระบบใหม่นี้อาจแก้ปัญหาคดีคั่งค้างได้มาก แต่ขณะเดียวกันก็ถือว่าพลิกโฉมกระบวนการยุติธรรมของไทย จากที่เดิมมีศาลสามชั้น เหลือเพียงสองชั้น ยกเว้นคดีที่พิเศษจริงๆ เท่านั้นถึงจะขึ้นสู่ศาลฎีกาได้
 
ประการที่สอง ศาลชั้นอุทธรณ์ต้องปรับตัวอย่างมาก จากเดิมที่ศาลชั้นอุทธรณ์เป็นศาลชั้นที่สอง คดีที่ผ่านออกจากศาลชั้นนี้ยังอาจถูกพิจารณาแก้ไขอีกครั้งที่ศาลฎีกาได้ ทำให้ระบบต่างๆ ของศาลอุทธรณ์ เช่น การกลั่นกรองคดี การคัดเลือกบุคลากรที่เหมาะสม มาตรฐานของการทำคำพิพากษา ยังหละหลวมกว่าศาลฎีกาซึ่งทำหน้าที่เป็นศาลสุดท้ายอยู่มาก
 
หลังจากการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และตามข้อเสนอชุดร่างพ.ร.บ.จัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษนี้ จะทำให้คดีจำนวนมากมาสิ้นสุดที่ศาลชั้นอุทธรณ์ ศาลชั้นอุทธรณ์จึงต้องเร่งปรับตัวและสร้างมาตรฐานการทำงานให้น่าเชื่อถือ สามารถรองรับคดีจำนวนมากๆ และพัฒนาคุณภาพการทำงานในฐานะศาลชั้นสุดท้าย ให้เทียบเท่ากับศาลฎีกาในสมัยก่อนให้ได้  
 
ประการที่สาม ศาลชำนัญพิเศษไม่ได้มีข้อดีที่ความรวดเร็วอีกต่อไป จากเดิมศาลชำนัญพิเศษออกแบบมาให้พิจารณาคดีอย่างรวดเร็ว จึงมีแค่สองชั้นศาล แต่ตามข้อเสนอในชุดร่างพ.ร.บ.จัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษถือเป็นการวางระบบใหม่ ให้คดีชำนัญพิเศษที่เป็นการวางแนวทางตีความกฎหมาย หรือ คดีที่เป็นประโยชน์สาธารณะมีโอกาสพิจารณาสามชั้นศาลได้
 
ระบบเช่นนี้เป็นระบบเดียวกับการพิจารณาคดีแพ่งทั่วไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งทำให้คดีชำนัญพิเศษไม่มีกระบวนการที่ออกแบบมาให้คดีเสร็จไปโดยรวดเร็วกว่าคดีแพ่งทั่วไปแล้ว ข้อเสนอชุดนี้จะทำให้การอุทธรณ์ฎีกาในคดีแพ่งและคดีชำนัญพิเศษเป็นระบบเดียวกัน