18 กรกฎาคม 2558
กมธ.ยกร่างฯ ได้ข้อยุติเอกสิทธิ์คุ้มครองสมาชิกรัฐสภาแล้ว เพิ่มโทษแบนการเมืองตลอดชีวิต
การประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นอกสถานที่ ที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรีวันที่ 6 ที่ประชุมได้พิจารณาทบทวนเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมด รวมถึงทบทวนที่มาของสมาชิกวุฒิสภาสรรหาทั้ง 4 ช่องทาง โดยเฉพาะคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา และได้ข้อยุติเรื่องเอกสิทธิ์คุ้มครองของสมาชิกรัฐสภา
สำหรับมาตรการลงโทษนักการเมืองด้วยการถอดถอนและลงโทษทางการเมือง ที่ประชุมมีการปรับใหญ่จากรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ที่ลงโทษทางการเมือง 5 ปี ในทุกฐานความผิด เปลี่ยนเป็นการแยกลงโทษใน 2 กรณี คือ การลงโทษตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี กรณีความผิดฐานจงใจใช้อำนาจที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่น และฐานประพฤติผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง ส่วนอีก 4 ฐานความผิด ได้แก่ มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อว่าทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และส่อว่ากระทำผิดต่อหน้าที่ในการยุติธรรม จะถูกห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง และตำแหน่งอื่นๆ ตลอดไป
สปช. เปิด เวทีเสวนา ปฎิรูปกฎหมายปิโตรเลียม เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน เสนอปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ก่อนเดินหน้าเปิดสัมปทาน
คณะอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมปฏิรูปเชิงประเด็นขององค์กรที่สำคัญ ในคณะกรรมาธิการวิสามัญการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดเวทีเสวนารับฟังความเห็นประชาชน ในหัวข้อ “ปฎิรูปกฎหมายปิโตรเลียม เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน" ที่โรงแรมเอเชีย โดยมีรายงานสรุปผลการศึกษาปัญหาการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมรวมถึงเสนอหลักการและยุทธศาสตร์ของกฎหมายปิโตเลียมฉบับใหม่ พร้อมเปิดให้ผู้เข้าร่วมเสวนาได้ร่วมแสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง
โดยนายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน สภาปฎิรูปแห่งชาติ กล่าวว่า การรับฟังความเห็นของประชาชนต่อร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียมและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ก่อนเสนอให้ สนช.นำไปพิจารณาจะทำให้กฎหมายเกิดความครบถ้วน น่าเชื่อถือ และเมื่อกฎหมายใช้บังคับแล้วจะต้องเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน จากการศึกษาพบว่า กฎหมายปิโตรเลียม 2514 และกฎหมายภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 2514 ยังมีหลายประเด็นที่ต้องแก้ไขให้เหมาะสม ก่อนเปิดสัมปทานรอบใหม่ เช่น ปัญหาการจัดเก็บรายได้ ค่าภาคหลวงและผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ ที่บางมาตราเอื้อประโยชน์ให้เอกชน การให้หลักประกันกับผู้สำรวจว่ารัฐจะไม่จำกัดปริมาณการส่งออก อย่างไรก็ตาม รัฐควรเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับปิโตรเลียมต่อสาธารณชน รวมถึงให้ชะลอการสัมปทานปิโตรเลียมไปก่อน จนกว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายทั้งสองฉบับให้แล้วเสร็จ
19 กรกฎาคม 2558
ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป ไม่ใช่รัฐธรรมนูญในฝัน
ศ.บวรศักดิ์. อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เผยภาพรวมการประชุมที่พัทยา ว่า คณะกรรมาธิการสามารถตกผลึกประเด็นหลักได้เรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่เรียบร้อยเพราะต้องผลการหารือกับคณะกรรมาธิการ 18 คณะ ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ รวมถึงทบทวนความเรียบร้อยทั้งหมด
ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ยังยอมรับว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป ไม่ใช่ร่างในฝันของตนเอง เพราะมีหลายเรื่องต้องการบัญญัติไว้แต่ไม่ได้บัญญัติ นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดทั้งที่มาจากรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ระยะเวลาการร่างรัฐธรรมนูญ และกระบวนการการร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ต้องรับฟังความคิดจาก สปช. สนช. ครม. คสช. และประชาชน ดังนั้นจึงทำให้การยกร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นไปตามความต้องการของกรรมาธิการทั้งหมด แต่ยืนยันว่าคณะกรรมาธิการได้ทำอย่างดีที่สุดเพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนอย่างแท้จริง
20 กรกฎาคม 2558
'บวรศักดิ์' ยืนยันการตัดสิทธิ์ใบแดงของ กกต. กรรมาธิการได้พิจารณาอย่างรอบคอบ
ศ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ผ่านรายการสถานีอู่ทองใน ทางสถานีโทรทัศน์รัฐสภา ถึงภาพรวมของการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนอกสถานที่ ที่โรงแรมเอเชีย พัทยา จังหวัดชลบุรี ตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า โดยภาพรวมคณะกรรมาธิการได้ข้อยุติในการพิจารณาหลายเรื่อง อาทิ จำนวนสมาชิกวุฒิสภา 200 คน มาจากการเลือกตั้ง 77 จังหวัดๆละ 1 คน และจากการสรรหาของคณะกรรมการสรรหา 123 คน ในส่วนข้อกังวลในเรื่องอำนาจคณะกรรมาการการเลือกตั้ง (กกต.) นั้น ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่า การตัดสิทธิ์ใบแดงของ กกต. กรรมาธิการได้พิจารณาอย่างรอบคอบ โดยพิจารณาตามคำขอของคณะรัฐมนตรีและตามข้อเท็จจริงที่ปรากฎ
เห็นชอบ‘โตไปไม่โกง’บรรจุในหลักสูตร
ที่รัฐสภามีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อพิจารณารายงานเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (รอบที่ 2 ) ร่างพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ พ.ศ. … ร่างพ.ร.บ.การโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ พ.ศ. … และร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่าง ประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. … ของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดย กมธ.ปฏิรูปการป้องกันฯได้จัดตั้งคณะกรรมการกำกับรัฐวิสาหกิจ และคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ รวมถึงการผลักดันให้มีการบรรจุหลักสูตรโตไปไม่โกงไว้ในหลักสูตรการศึกษา รวมถึงรัฐวิสาหกิจจะต้องเปิดเผยข้อมูลโดยจัดทำบัญชีเช่นเดียวกับบริษัท อื่น ๆ ในตลาดหลักทรัพย์
สำหรับร่างพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ พ.ศ. … มีสาระสำคัญ คือ การปรับปรุง พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ซึ่งหน่วยงานของรัฐจะต้องกำหนดวิธีการและระยะเวลาในการเข้าถึงข้อมูลของรัฐอย่างชัดเจน หากเป็นข้อมูลเกี่ยวกับการเงินหรืองบประมาณของหน่วยงานรัฐที่กระทบกับสิทธิมนุษยชน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม จะต้องเปิดเผยข้อมูล ส่วนร่างพ.ร.บ. การโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ พ.ศ. … สาระสำคัญ คือ การเสนอให้เกิดกลไกการกลั่นกรองการใช้งบประมาณของรัฐในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ซึ่งในอดีตเกิดการแทรกแซงสื่อและการโฆษณาส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อโฆษณาตนเอง จึงเสนอให้มีการจัดทำแผนงบประมาณของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ รวมถึงจัดตั้งคณะกรรมการควบคุมการใช้งบประมาณเพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อให้เกิดความชัดเจน
21 กรกฎาคม 2558
กมธ.ยกร่างฯ มีมติขยายเวลาการทำงานอีก 30 วัน เพื่อปรับแก้ถ้อยคำให้สอดคล้องกันทั้งฉบับ
พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขยายเวลาการทำงาน พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญออกไปอีก 30 วันตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแก้ไขเพิ่มเติมกำหนด เนื่องจากคณะกรรมาธิการได้ปรับแก้เนื้อหาภาค 4 ว่าด้วยเรื่องการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองไปไว้ใน พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญทำให้กระทบกับโครงสร้างบางส่วน ซึ่งกรรมาธิการต้องต้องใช้เวลา ปรับแก้ถ้อยคำและข้อความบางประโยคให้มีความสอดคล้องกันทั้งฉบับ อีกทั้ง กรรมาธิการเตรียมเชิญผู้เสนอคำขอแก้ไขเพิ่มเติมทั้ง 9 คำขอมารับทราบการปรับแก้ ในวันที่ 17-19 ส.ค. นี้ เพื่อความรอบคอบและสมบูรณ์ของร่างรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่า ทุกบทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญนี้มีความชัดเจน และจะไม่มีการแก้ไขอีก โดยจะส่งมติดังกล่าวให้ สปช.ได้รับทราบภายในวันนี้ (21 ก.ค.) ทั้งนี้ กรรมาธิการยกร่างฯ จะต้องส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายให้ สปช.ศึกษาภายในวันที่ 22 ส.ค. ก่อนจะลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ในราววันที่ 5-7 ก.ย. 58
สปช. เห็นชอบรายงาน กมธ.ปฎิรูปการเกษตรฯ สปช.เสนอปฏิรูปกฎหมายการแข่งขันทางการค้า ลดการผูกขาด
ที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีมติเห็นชอบรายงานของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์ การท่องเที่ยวและบริการ สปช. เรื่อง การผูกขาดและการแข่งขันที่เป็นธรรม (รอบ 2) เรื่อง การปฏิรูปกฎหมายการแข่งขันทางการค้า ที่กรรมาธิการฯ พิจารณาเสร็จแล้ว ด้วยคะแนนเสียง 196 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง และงดออกเสียง 1 เสียง พร้อมเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การแข่งขันทางการค้า พ.ศ....ด้วยคะแนนเสียง 194 เสียง ไม่เห็นด้วย 2 เสียง และงดออกเสียง 2 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุม 198 คน
โดยนายเกริกไกร จีระแพทย์ ประธานกรรมาธิการฯ พร้อมด้วยอนุกรรมาธิการฯ ได้กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมฯ ว่า ประเทศไทยมีกฎหมายแข่งขันทางการค้าบังคับใช้มาเกือบ 16 ปี คือ พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 แต่ที่ผ่านมากลับไม่สามารถบังคับกฎหมายใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องปฏิรูปกฎหมายดังกล่าวให้มีความทันสมัย มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์และบทลงโทษให้ชัดเจน รวมถึงปรับปรุงขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายให้ครอบคลุมถึงรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากปัจจุบันมีรัฐวิสาหกิจหลายแห่งประกอบธุรกิจแข่งขันกับภาคเอกชนโดยตรง นอกจากนี้ยังต้องปรับโครงสร้างสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าให้เป็นองค์กรอิสระ เพื่อให้การบริหารจัดการและการปฏิบัติงานมีความเป็นอิสระปลอดจากการถูกแทรกแซงทางการเมือง ทั้งนี้เพื่อเป็นเครื่องมือกำกับดูแล แก้ปัญหาการผูกขาด และส่งเสริมให้การแข่งขันเป็นไปอย่างเสรีและเป็นธรรม
22 กรกฎาคม 2558
'นพ.ชูชัย'แจงกมธ.ยกร่างเตรียมถกหมวดปฏิรูป23กค.นี้
นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ รองประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ คนที่ 6 ในฐานะประธานอนุ กมธ.ศึกษาเตรียมการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูป เปิดเผยว่า ได้หารือกับคณะกมธ.ปฏิรูปทั้ง 18 ด้านของสปช.แล้ว และได้ข้อสรุปว่าจะมีการกำหนดเรื่องปฏิรูปไว้ในรัฐธรรมนูญเพียง 5 มาตรา 17 ด้าน ใน 4 กลุ่มใหญ่ คือ ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านสิ่งแวดล้อม โดยจะนำเสนอกมธ.ยกร่างฯให้พิจารณาและเห็นชอบในช่วงบ่ายในวันที่ 23 ก.ค.นี้ ซึ่งคาดว่าเนื้อหาที่จะบัญญัติในรัฐธรรมนูญ จะเสร็จในวันที่ 24 ก.ค.นี้ และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูป ก็จะเสร็จในปลายเดือน ก.ค.ก็จะแล้วเสร็จเช่นเดียวกัน
นพ.ชูชัย กล่าวถึงโครงสร้างของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ว่า ด้วยการปฏิรูปและรายละเอียดจะกำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการยกร่างยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะการยกร่างจะต้องคำนึงถึงสถานการณ์ที่เป็นจริงในปัจจุบัน ที่สถานการณ์บ้านเมืองยังไม่ปกติ เพราะถ้าในสถานการณ์ที่ปกติอาจจะเขียนอย่างหนึ่ง แต่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ก็อาจจะต้องออกแบบโครงสร้างอีกอย่าง ตรงนี้คือความยากลำบากของการออกแบบ เรื่องกลไกที่จะปฏิรูปบ้านเมืองต่อไปในภายภาคหน้า
สปช.เห็นชอบวาระปฏิรูปที่ 15 สร้างสังคมผู้ประกอบการ หวังสร้างความเข้มแข็งให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพิ่มรายได้ประชาชน
การประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ได้มีมติเห็นชอบ วาระปฏิรูปที่ 15 สร้างสังคมผู้ประกอบการ(รอบ2) ที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์ การท่องเที่ยวและบริการ จัดทำรายงานเสนอ ด้วยเสียง 174 ต่อ 1 เสียง พร้อมเห็นชอบกับหลักการ เหตุผล และสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ส่งเสริมวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... ที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเกษตรฯ เสนอ ด้วยเสียง 172 ต่อ 2 เสียง โดยวาระปฏิรูปดังกล่าวกำหนดให้สร้างสังคมผู้ประกอบการเป็นวาระแห่งชาติ และมียุทธศาสตร์ชัดเจนเน้นกลุ่มธุรกิจเป้าหมาย มีสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการและส่งเสริมวิสาหกิจสำหรับแต่ละสาขาเศรษฐกิจภายใต้กระทรวงต่าง ๆ เน้นการมีส่วนร่วมของสถาบันเฉพาะทางของภาคเอกชน พร้อมสร้างกระบวนการและมาตรการส่งเสริมวิสาหกิจ ทั้งที่เกิดใหม่และที่มีอยู่ในลักษณะ Tailor-made อย่างต่อเนื่องและครบวงจร (Packages) ซึ่งทั้งหมดนี้ดำเนินตามกรอบปฏิรูปการเรียนรู้สร้างจิตวิญญาณผู้ประกอบการ ความรู้และทักษะในการประกอบการ ปฏิรูปกระบวนการและมาตรการส่งเสริม ปฏิรูปกลไกองค์กรทั้งในระดับนโยบาย ระดับสนับสนุนและระดับดำเนินการ รวมทั้งปฏิรูปด้านกฎหมายเพื่อลดอุปสรรคและเอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจทุกระดับ
ทั้งนี้ วาระปฏิรูปดังกล่าวมุ่งเพิ่มความสามารถของวิสาหกิจโดยเฉพาะขนาดเล็ก วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรในเศรษฐกิจฐานรากได้เกาะเกี่ยวเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่มูลค่าได้มากขึ้น ช่วยผู้ประกอบการให้มีเครื่องมือสร้างมูลค่าในการแข่งขัน ลดการพึ่งพาการรับจ้างผลิต เพิ่มความมั่นคงของเศรษฐกิจ ประชาชนได้มีรายได้มากขึ้น ซึ่งรายงานวาระปฏิรูปดังกล่าว สปช.จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
คณะกรรมการการเตรียมการเพื่อรับมือวิกฤตการณ์ “กรุงเทพจม” เสนอตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติฯ ป้องกันกรุงเทพฯจมถาวร
คณะกรรมการการเตรียมการเพื่อรับมือวิกฤตการณ์ “กรุงเทพจม” เสนอรายงานการปฏิรูปเพื่อรับมือวิกฤตการณ์น้ำทะเลขึ้นสูงและแผ่นดินทรุด พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) พิจารณาเสร็จแล้ว ต่อที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ
คณะกรรมการฯ เห็นว่าควรมีการปฏิรูปเรื่องดังกล่าวในเชิงนโยบายโดยบรรจุประเด็นการวางแผนรับมือป้องกัน “กรุงเทพจม” เป็นยุทธศาสตร์ชาติ (ฉบับที่ 1) ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ และปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง อาทิ เพิ่มบทลงโทษ และวางผังเมืองให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน พร้อมแต่งตั้ง “คณะกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติเพื่อรับมือวิกฤตการณ์น้ำทะเลขึ้นสูงและแผ่นดินทรุด” เพื่อขับเคลื่อนหน่วยงานที่จะบูรณาการร่วมกัน และกำกับดูแลภารกิจที่เกี่ยวข้องในภาพรวม รวมถึงดำเนินการด้านกลไกวิชาการอย่างเป็นรูปธรรม จัดสรรงบประมาณสนับสนุนการวิจัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมการป้องกันระยะยาว อาทิ กำหนดให้การประปานครหลวงวางแผนรับมือระยะยาว 20 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ภาครัฐควรสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรับรู้ข่าวสารและร่วมแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
23 กรกฎาคม 2558
สนช.รับหลักการร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองดำเนินงานของสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน +3 รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของภูมิภาค
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองดำเนินงานของสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน +3 พ.ศ...ตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดยนายวิสุทธ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ตราขึ้น เพื่อจัดตั้งสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน +3 หลังจากที่ประเทศไทยได้ร่วมลงนามในความตกลงเพื่อจัดตั้งสำนักงานฯ ดังกล่าว เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.2557 ที่ผ่านมา โดยเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่มีเป้าหมายเพื่อเฝ้าระวังและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของภูมิภาค และสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินแบบพหุภาคีตามกรอบอาเซียน +3 พร้อมกำหนดให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานฯ ได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันในการดำเนินงานและการปฏิบัติงานของสำนักงานฯ ในประเทศไทย
ภายหลังการพิจารณาที่ประชุม สนช. ได้มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวด้วยคะแนนเสียง 175 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 3 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุม 179 คน พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวจำนวน 15 คน กำหนดเวลาแปรญัตติ 7 วัน โดยกำหนดระยะเวลาดำเนินงานภายใน 30 วัน
24 กรกฎาคม 2558
กมธ.ยกร่างฯ ค้านต่างชาติเป็นเจ้าของสื่อไทย - ร่าง พ.ร.บ.ปฏิรูปพิจารณาเสร็จ 12 ด้าน
ที่รัฐสภา การประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ประชุมได้พิจารณาทบทวนเนื้อหาในมาตราที่คณะกรรมาธิการได้แขวนไว้ อาทิ มาตรา 50 เรื่อง การเป็นเจ้าของการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ใช้คลื่นความถี่ ที่จะเปิดเสรีให้ต่างชาติสามารถเข้ามาถือหุ้นกิจการโทรคมนาคมได้ไม่เกินร้อยละ 70 ตามสาระสำคัญของข้อผูกพันเปิดตลาดการค้าบริการชุดที่ 8 ในประเด็นดังกล่าวคณะกรรมาธิการส่วนใหญ่เห็นว่า เรื่องสื่อสารมวลชนของประเทศเป็นเรื่องของความมั่นคง จึงไม่ควรให้ต่างชาติเข้ามาถือครองหรือเป็นเจ้าของสื่อ และสื่อของประเทศไทยก็ต้องให้คนไทยเป็นเจ้าของซึ่งต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะเรื่องของสนธิสัญญาระหว่างประเทศต่างๆ
ทั้งนี้ นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ รองประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ คนที่ 6 ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการศึกษาเตรียมการจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ กล่าวว่า การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ ได้แบ่งออกเป็น 17 ด้าน ขณะนี้ พิจารณาเสร็จแล้ว 12 ด้าน ซึ่งในวันที่ 27 กรกฎาคม นี้ ที่ประชุมจะพิจารณาครบทั้ง 17 มาตรา พร้อมยืนยันว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นฉบับปฏิรูปอย่างแท้จริง มีทิศทางการปฏิรูปที่ชัดเจนซึ่งจะทำให้ประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลง