1 สิงหาคม 2558
กมธ.ยกร่างฯ เผย ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ใกล้เสร็จแล้ว
สุจิต บุญบงการ รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ คนที่ 3 กล่าวถึงความคืบหน้าการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ขณะนี้การร่างรัฐธรรมนูญสามารถพูดได้ว่าเนื้อหาสาระส่วนใหญ่เสร็จเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียง 1-2 ประเด็นเท่านั้นที่อาจต้องตัดสินใจกันให้เสร็จภายในวันที่ 14 สิงหาคมนี้ ส่วนบันทึกเจตนารมณ์รายมาตรา ตนเข้าใจว่าจะสามารถดำเนินการให้เสร็จเรียบร้อยครบทุกมาตราภายใน 1-2 สัปดาห์นี้
ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์
3 สิงหาคม 2558
สนช.เตรียมพิจารณากฎหมายค้ามนุษย์อีก 4-5 ฉบับ
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงถึงการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ว่า ที่ผ่านมา สนช.ได้ผ่านกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ อาทิ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และกฎหมายควบคุมดูแลการกระทำผิดต่อเด็กและเยาวชนในทางเพศ นอกจากนี้ สนช.กำลังรอการพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ในมิติต่างๆ อีก 4-5 ฉบับที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จะส่งให้ สนช.พิจารณาเพิ่มเติม เพื่อแสดงให้เห็นว่า ที่ผ่านมาในภาคปฏิบัติประเทศไทยได้ดำเนินการแก้ปัญหาค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่องแม้กฎหมายเหล่านี้เพิ่งออกมา แต่ สนช.จะติดตามการบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่หากพบว่า ยังมีการละเมิดเรื่องการค้ามนุษย์อยู่ จะทำหนังสือแจ้งให้รัฐบาลทราบหรือตั้งกระทู้ถามรัฐบาล เพื่อให้แก้ไขต่อไป
ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์
พีมูฟค้าน ร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชนรอบ 2
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟได้ชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภาเพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ภายหลังจากที่การประชุม สปช.เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ได้ถอนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ออกจากวาระการประชุม แต่ปรากฏว่า ในการประชุมสปช.วันที่ 3 สิงหาคมนี้ จะพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้อีกครั้ง โดยมีเนื้อหาไม่แตกต่างจากร่างที่เคยเสนอ ทำให้กลุ่มพีมูฟ ออกมาคัดค้าน
ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์
วิปรัฐบาลตีกลับร่างกม.ตำรวจเกณฑ์ - ไฟเขียวร่างกม.อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว
สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวหลังการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หรือ วิปรัฐบาล ว่า วิปได้พิจารณาตีกลับ ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ... (ว่าด้วยตำรวจกองประจำการ หรือ ตำรวจเกณฑ์) โดยมอบหมายให้คณะอนุกรรมการที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไปศึกษาในประเด็นที่สังคมมีข้อสงสัย โดยเฉพาะเรื่องอำนาจและการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงสถานะ เพราะในข้อกำหนดในกฎหมายกำหนดไว้กว้างจนเกินไป และควรให้คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. พิจารณาร่วมด้วย ดังนั้น จึงเลื่อนการนำเสนอกฎหมายต่อ สนช.ออกไปพลางก่อน โดยยังไม่ได้กำหนดกรอบเวลา
นอกจากนี้ วิปได้พิจารณาเห็นชอบกับ ร่าง พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายวิธีการพิจารณาความอาญา เรื่องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามผู้ที่ถูกควบคุมตัว เช่น กำไล หรือ ข้อมือ เพื่อติดตามผู้ที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดี หรือ ประกันตัว ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม ซึ่งจะมีการเสนอไปยัง สนช. ให้พิจารณาภายในวันที่ 6 สิงหาคม
ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์
4 สิงหาคม 2558
สปช. เห็นชอบตั้งธนาคารแรงงาน-ปฏิรูปการย้ายแรงงานข้ามชาติ-ยกระดับฝีมือแรงงาน
พล.ท.เดชา ปุญญบาล ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการแรงงานพร้อมคณะ ร่วมกันแถลงถึงผลการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบวาระปฏิรูปที่ 37 แผนการปฏิรูปการแรงงาน ทั้ง 3 ด้าน ดังนี้ 1. การพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของแรงงานไทย 2. การปฏิรูปการบริหารจัดการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติ และ 3. การจัดตั้งธนาคารแรงงานและการจัดทำฐานข้อมูลแรงงาน ซึ่งการปฏิรูปการแรงงานทั้ง 3 ด้านมีจุดมุ่งหมายเพื่อผลักดันให้มีการปฏิรูปการแรงงานอย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจน เพื่อเป็นการสร้างกลไกหลักประกันความมั่นคงทางรายได้ เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้ผู้ใช้แรงงาน
ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์
สปช.เตรียมแถลงผลงานวาระปฏิรูป 13 ส.ค.นี้
เทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดเผยกับถึงความคืบหน้าการพิจารณาวาระปฏิรูปของ สปช.ว่า โดยภาพรวมถือว่าพอใจและค่อนข้างมั่นใจว่าจะเสร็จตามกำหนดเวลา โดยวันที่ 13 สิงหาคมนี้ สปช.จะแถลงพร้อมส่งพิมพ์เขียววาระปฏิรูปให้กับรัฐบาล ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ หลังจากผลักดันวาระปฏิรูป 37 วาระ และ 6 วาระการพัฒนา และวาระปฏิรูปพิเศษ โดยคาดว่ากรอบวาระปฏิรูปของ สปช. น่าจะเสร็จสิ้นทั้งหมดในวันที่ 11 สิงหาคมนี้
ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์
5 สิงหาคม 2558
ปูด 'สปช.' ล็อบบี้คว่ำร่าง รธน.
สิระ เจนจาคะ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านสังคม ยืนยันว่ามีกระบวนการรวบรวมรายชื่อเพื่อให้สมาชิก สปช.ลงมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อแลกกับการเข้าดำรงตำแหน่งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศเป็นเรื่องจริง ซึ่งตอนนี้มีสมาชิก สปช.ลงชื่อแล้วจำนวน 100 คน โดยกระบวนการในการทำจะเป็นไปในลักษณะให้กลุ่มบุคคลจำนวนหนึ่ง ราว 2-3 คน ทำหน้าที่ไปขอให้สมาชิก สปช.ลงนามในกระดาษเปล่า ซึ่งล่าสุดได้มีความพยายามอย่างต่อเนื่อง และให้สมาชิก สปช.จังหวัดภาคเหนือตอนล่างคนหนึ่งลงนามแต่ถูกปฏิเสธ จึงแสดงให้เห็นว่าแม้ส่วนตัวจะได้มีการออกมาเปิดโปงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมแล้วแต่กลับยังมีการดำเนินการในลักษณะดังกล่าว
ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์
สปช.เคาะวันลงมติร่างรัฐธรรมนูญ 7 ก.ย. นี้ โหวต 125 เสียงขึ้นไปถือว่าผ่าน
อลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการคณะกรรมาธิการกิจการวิสามัญสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) แถลงผลการประชุมวิป สปช.ว่า ที่ประชุมกำหนดพิจารณาวาระการปฏิรูปช่วงสุดท้ายในวันที่ 10-11 สิงหาคม โดยจะมีการพิจารณาวาระเรื่องการปฏิรูปตำรวจเพิ่มเติมขึ้นมา จากนั้นในวันที่ 13 สิงหาคม สปช.จะจัดแถลงผลงานครบรอบ 1 ปี เรื่อง “สปช.รายงานประชาชน” พร้อมส่งรายงานพิมพ์เขียวการปฏิรูปทั้งหมดให้ ครม.
ส่วนกำหนดวันลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้นเบื้องต้นกำหนดอย่างไม่เป็นทางการเป็นวันที่ 7 กันยายน โดยต้องรอให้ประธาน สปช.ตัดสินเห็นชอบอีกครั้ง โดยเสียงที่ใช้โหวตเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญต้องมีเสียง สปช. 125 คนขึ้นไป จากจำนวนสมาชิก 249 คน ขณะที่สมาชิก สปช.ที่เป็นคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 21 คน ก็ลงมติได้เนื่องจากรัฐธรรมนูญไม่มีข้อห้ามไว้ สำหรับวิธีการลงมติร่างรัฐธรรมนูญจะทำโดยเปิดเผย ใช้วิธีขานชื่อเป็นรายบุคคล โดยวันลงมติจะไม่เปิดโอกาสให้สมาชิก สปช. อภิปรายเกี่ยวกับเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญอีก ส่วนการตั้งประเด็นคำถามประชามติจะประชุมหาข้อสรุประหว่างวันที่ 17-21 สิงหาคม
ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์
ยื่นรายชื่อ 20 สปช. เพิ่มคำถามประชามติ ให้ปฏิรูป 2 ปีก่อนเลือกตั้ง
ไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า ได้รวบรวมรายชื่อสมาชิก สปช.20 คน เพื่อยื่นญัตติเสนอประเด็นคำถามให้มีการปฏิรูปประเทศ 2 ปี ก่อนจัดการเลือกตั้ง โดยกรอบเวลา 2 ปี ให้เริ่มนับจากวันที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ เป็นคำถามการทำประชามติในส่วนของ สปช.ต่อ นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช.เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ในมาตรา 37 วรรคสี่และห้า ที่ระบุว่า ให้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยแนบคำถามทำประชามติไปด้วย
ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์
6 สิงหาคม 2558
สนช.เห็นชอบให้ “พงษ์นิวัฒน์” นั่งอัยการสูงสุด ตั้ง “ไพรัช-จิระ” เป็นกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวาระพิจารณาเลือกบุคคลที่เห็นสมควรเป็นกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ และให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการ เสนอชื่อ ให้ได้รับตำแหน่งอัยการสูงสุด โดยวิธีการลงคะแนนลับ ปรากฏว่าที่ประชุมเลือกไพรัช วรปาณี กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ และพล.อ.จิระ โกมุทพงศ์ สมาชิก สปช. เป็นกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ และที่ประชุมมีมติเห็นด้วยให้ ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร รองอัยการสูงสุดอาวุโสและสมาชิก สนช. เป็นอัยการสูงสุด
ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์
นัดแถลงปิดคดีถอดถอน 248 ส.ส. 13 ส.ค. นี้ กำหนดวันลงมติ 14 ส.ค.
ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อดำเนินกระบวนการถอดถอนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) 248 คน ออกจากตำแหน่ง จากกรณีร่วมกันลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.โดยมิชอบ ตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ประกอบมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542
สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า กระบวนการต่อไปที่จะให้ทั้ง 2 ฝ่ายแถลงปิดสำนวนทั้งด้วยวาจาและเอกสาร ขณะนี้มีผู้แจ้งขอแถลงปิดสำนวนด้วยวาจามาแล้วคือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้กล่าวหา และผู้ถูกกล่าวหา คือ นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรคชาติพัฒนาและคณะอีก 6 คน และจากพรรคเพื่อไทยนำโดย นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย ส่วนนายภราดร ปริศนานันทกุล อดีต ส.ส.อ่างทอง พรรคชาติไทยพัฒนา และคณะอีก 8 คน ขอแถลงปิดคดีเป็นหนังสือ ทั้งนี้ที่ประชุมได้นัดประชุม สนช.เพื่อฟังการแถลงการณ์ปิดสำนวนด้วยวาจาในวันที่ 13 สิงหาคม และลงมติในวันที่ 14 สิงหาคม เวลา 10.00 น.
ที่มา: มติชนออนไลน์
สนช.ผ่านร่าง พ.ร.บ.อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวผู้ต้องหา
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ฉบับที่... พ.ศ. ซึ่งร่าง พ.ร.บ.นี้เป็นส่วนที่เกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวผู้ที่ถูกปล่อยตัวชั่วคราว หลักเกณฑ์การบังคับคดีผู้ประกัน และการอุทธรณ์คำสั่งศาลที่ไม่อนุญาต ให้ปล่อยตัวชั่วคราว ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ ที่ โดย วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า ปัจจุบันมีการนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (Electronic Monitoring) หรืออีเอ็ม มาใช้ในการบังคับตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา จึงสมควรให้นำไปใช้ในการติดตามตัวผู้ถูกปล่อยชั่วคราว และมิให้เรียกหลักประกันเกินสมควร เพื่อให้ผู้ต้องหาและจำเลยมีโอกาสได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวมากขึ้น
ทั้งนี้ การจะนำอุปกรณ์ไปใช้จะต้องได้รับการยินยอมใน 3 เงื่อนไข คือ 1. กฎหมายบัญญัติให้ใช้ 2. เจ้าหน้าที่หรือศาลเห็นสมควรให้ใช้ และ 3. ผู้ต้องหาหรือจำเลยยินยอมให้ใช้ ซึ่งหากไม่ยอมรับในเงื่อนไขนี้ก็สามารถดำเนินการตามวิธีการอื่น นอกจากนี้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ยังบัญญัติให้มีการงดบังคับตามสัญญาประกันหรือลดจำนวนเงินที่ต้องใช้ ตามสัญญาประกันอีกด้วย นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ลงมติรับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวในวาระแรก 171 คะแนนไม่เห็นด้วย 1 คะแนน และงดออกเสียง 5 คะแนน และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 15 คนแปรญัตติภายใน 7 วัน
ที่มา: มติชนออนไลน์
สนช. ผ่านกม.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย ห้ามผู้เคยติดคุกคดีเกี่ยวกับเพศเป็น รปภ.
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ลงมติเห็นชอบผ่านร่างพ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย ในวาระที่ 3 และประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป ด้วยคะแนน 172 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง และงดออกเสียง 5 เสียง ร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นการจัดระเบียบผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจรักษาความปลอดภัยและพนักงานรักษาความปลอดภัย โดยส่วนใหญ่เป็นไปตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาฯ ได้แก้ไขบางมาตรา เช่น แก้ไขเกี่ยวกับคุณสมบัติของพนักงานรักษาความปลอดภัย (รปภ.) โดยกำหนดลักษณะต้องห้ามกำหนดให้ผู้ที่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกสำหรับความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายความผิดเกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือความผิดเกี่ยวกับเพศตามประมวลกฎหมายอาญาความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการพนัน หรือความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดเว้นแต่เป็นโทษ สำหรับความผิดที่กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษหรือพ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี ก่อนวันขอรับใบอนุญาตนั้น
ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์
สนช.เห็นชอบ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน ให้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน (ฉบับที่ …) พ.ศ. … ในวาระ 2-3 เพื่อป้องกันการโอนที่ดินสาธารณะไปใช้ประโยชน์ส่วนบุคคล จึงให้จดแจ้งและห้ามโอนที่ดินที่เป็นสาธารณูปโภค รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์การพ้นจากหน้าที่บำรุงรักษาสาธารณูปโภคของผู้จัดสรรที่ดิน และการให้ทรัพย์สินอันเป็นสาธารณูปโภคเป็นของนิติบุคคล หมู่บ้านจัดสรรให้เหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ทั้งนี้ ประชุมมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน ให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายด้วยคะแนน 170 เสียง และงดออกเสียง 4 เสียง
ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์
7 สิงหาคม 2558
สนช.ผ่านวาระ 3 พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติในวาระ 3 เห็นชอบให้ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. ... ประกาศใช้เป็นกฎหมายด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 167 ไม่เห็นด้วย 2 งดออกเสียง 4 ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดให้สามารถใช้ทรัพย์สิน ประเภทต่างๆ ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ อาทิ สินค้าคงคลัง วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้า และรวมไปถึงทรัพย์สินทางปัญญา มาเป็นหลักประกันได้โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินให้แก่ผู้รับหลักประกันนั้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลังจะออกกฎหมายลำดับรองเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามที่ร่าง พ.ร.บ.นี้ได้กำหนดไว้
ที่มา: วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา
กมธ.ยกร่างฯ ยันห้ามคนเคยถูกถอดถอนจาก 4 ฐานความผิด สมัคร ส.ส.ตลอดชีวิต
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวยืนยันว่า มาตรา 111(15) ของร่างรัฐธรรมนูญยังกำหนดเหมือนเดิมคือ ผู้ที่เคยถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งใน 4 ฐานความผิดจะถูกห้ามลงสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต คือ 1.ร่ำรวยผิดปกติ 2.ส่อทุจริตหน้าที่ 3.ส่อทำผิดตำแหน่งราชการ 4.ส่อทำผิดหน้าที่ยุติธรรม ซึ่งเป็นการกำหนดให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ในมาตรา 35 (4) ขณะที่มาตรา 111 (14) จะกำหนดให้ผู้ที่อยู่ระหว่างต้องห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามมาตรา 247 หรือถูกถอดถอนเหตุมาจากจงใจใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และประพฤติผิดจริยธรรมร้ายแรง จะห้ามสมัคร ส.ส.เป็นเวลา 5 ปี.
ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์