รายงานจับตาหนึ่งปี สนช. ใช้งบเฉียด 300 ล้าน พิจารณากฎหมาย 130 ฉบับ ผ่าน 108 ไม่ผ่าน 0
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นสภาที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ(ชั่วคราว) พ.ศ. 2557 เพื่อทำหน้าที่เสนอ และกลั่นกรองกฎหมาย รวมทั้งทำหน้าที่อื่นๆ ที่เดิมเป็นอำนาจหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาด้วย
หากนับจากวันที่เริ่มการประชุมครั้งแรกของ สนช. เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2557 จนถึงวันที่ 7 สิงหาคม 2558 สนช. มีอายุการทำงานครบ 1 ปี ผลงานของสนช. ในส่วนของการพิจารณากฎหมายนั้น มีร่างกฎหมายที่เข้าสู่การพิจารณาของ สนช. จำนวน 130 ฉบับ สนช. ประกาศให้ใช้เป็นกฎหมายแล้ว จำนวน 108 ฉบับ อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช. จำนวน 22 ฉบับ และมีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งไปแล้ว 28 ตำแหน่ง ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปแล้ว 4 คน ทั้งนี้กฎหมายที่ประกาศใช้ 108 ฉบับ ยังไม่นับรวม พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2557 และ 2558
+ หนึ่งปี สนช. พิจารณากฎหมายแล้ว 130 ฉบับ ครม.เสนอมากสุด 105 ฉบับ
ในจำนวนร่างกฎหมายที่เข้าสู่การพิจารณาของสนช. 130 ฉบับ เป็นกฎหมายที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรีมากที่สุดคือ 105 ฉบับ โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 21 ฉบับ สมาชิก สนช. 3 ฉบับ และประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 1 ฉบับ
ขณะที่กฎหมายที่ผ่านการพิจารณาแล้วจำนวน 108 ฉบับ ถูกเสนอโดย 23 หน่วยงาน กระทรวงการคลังเสนอมากที่สุดอย่างน้อย 18 ฉบับ รองลงมาคือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างน้อย 9 ฉบับ กระทรวงยุติธรรมและกระทรวงคมนาคมเสนอกฎหมายไปอย่างน้อย 7 ฉบับ
+ กฎหมายผ่านเฉลี่ยเดือนละ 9 ฉบับ ผ่านสามวาระรวด 3 ฉบับไม่เคยมีฉบับไหนไม่ผ่าน
ในแง่กระบวนการออกกฎหมายของ สนช. พบว่า จากการประชุมเต็มคณะรวมทั้งสิ้น 80 ครั้ง สามารถออกกฎหมายได้ 108 ฉบับ เฉลี่ยแล้วการประชุม 1 ครั้ง จะผ่านกฎหมายได้ 1.35 ฉบับ และหากคิดจากการทำงานที่ผ่านมา 12 เดือน เท่ากับ สนช. ผ่านกฎหมายเฉลี่ยเดือนละ 9 ฉบับ โดยที่ไม่เคยมีกฎหมายฉบับใดที่เมื่อ สนช. รับหลักการในวาระที่ 1 แล้วต่อมาถูกโหวตให้ตกไปเลยแม้แต่ฉบับเดียว อาจกล่าวได้ว่ากฎหมายที่เข้า สนช. ทุกฉบับไม่เคยมีฉบับใดไม่ผ่าน
เมื่อพิจารณาระยะเวลาในการออกฎหมายของ สนช. พบว่า ร่างกฎหมายที่มีการพิจารณานานที่สุดคือ ร่างพ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน การพิจารณานับตั้งแต่เข้าวาระแรกจนผ่านวาระที่ 3 ใช้เวลาไป 202 วัน หรือเกือบ 7 เดือน ส่วนร่างกฎหมายที่พิจารณาเร็วที่สุด พิจารณา 3 วาระรวดภายใน 1 วัน มีจำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 63), ร่าง พ.ร.บ.กองอาสารักษาดินแดน และร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม (องค์ประกอบคณะกรรมการข้าราชการยุติธรรม) ซึ่งยังไม่รวมถึงการแก้เพิ่มเติมไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ที่ผ่านสามวาระรวดเช่นเดียวกันเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2558 ด้วยมติ 203 ต่อ 0 งดออกเสียง 3 โดยแก้ไขเพื่อเปิดช่องให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
กระบวนการพิจารณากฎหมายของ สนช. ยังเป็นที่จับตา เฝ้าดู เละสังเกตการณ์จากประชาชนไม่มากนัก เพราะ สนช. ทำงานอย่างรวดเร็วจนกฎหมายที่มีผลกระทบต่อประชาชนอาจเล็ดลอดออกมาประกาศใช้โดยไม่รู้ตัว ซึ่งมีกฎหมายมากกว่า 10 ฉบับที่ผ่านการพิจารณาในขณะที่ยังเป็นข้อถกเถียงในสังคมอย่างแพร่หลาย ตัวอย่างเช่น
พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก: เสียภาษีมรดกที่เกิน 100 ล้าน อัตราร้อยละ 10
พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก เป็นกฎหมายที่ถูกคาดหมายว่าจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ในวาระแรก ร่างกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้ผู้รับมรดกเสียภาษีในส่วนที่เกิน 50 ล้านบาทในอัตราร้อยละ 10 ทำให้ผู้ได้รับผลกระทบไม่พอใจ จึงมีการแก้ไขเป็น ให้ผู้ที่รับมรดกเกิน 100 ล้านบาทเสียภาษีส่วนที่เกิน ในอัตราร้อยละ 10 ซึ่งมีข้อถกเถียงว่า ผู้รับมรดกเกิน 100 ล้านบาทมีจำนวนน้อยมากทำให้เก็บภาษีได้น้อย และเก็บในอัตราคงที่ จึงไม่น่าจะนำรายได้เข้ารัฐได้มากนัก ทำให้อาจจะไม่สามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้จริง
พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ: การชุมนุมต้องแจ้งล่วงหน้า 24 ชั่วโมง
พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะเป็นกฎหมายที่มีข้อถกเถียงหลายประเด็นอาทิ ผู้จัดการชุมนุมต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ล่วงหน้า 24 ชั่วโมงว่าจะชุมนุม ซึ่งจิตรา คชเดช อดีตประธานสหภาพไทรอัมพ์ เห็นว่าบางเรื่องเป็นเรื่องเร่งด่วน ไม่สามารถแจ้งล่วงหน้าได้ เช่น นายจ้างเลิกจ้าง ปิดโรงงาน ก็เป็นเรื่องด่วนที่รอไม่ได้ ด้านแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เคยออกแถลงการณ์แสดงความกังวล ว่าหลายมาตราของกฎหมายนี้อาจละเมิดเสรีภาพการแสดงออก
นอกจากนี้ยังกำหนดให้ศาลเข้ามาออกคำสั่งบังคับในกรณีที่ผู้ชุมนุมไม่ออกจากพื้นที่ที่มีการประกาศให้ยุติการชุมนุมแล้ว อาจส่งผลทำให้ศาลกลายมาเป็นคู่ขัดแย้งกับผู้ชุมนุมเอง
พ.ร.บ.อุ้มบุญฯ: คนโสด คนรักเพศเดียวกัน มีลูกด้วยวิธีอุ้มบุญไม่ได้
พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ หรือกฎหมายอุ้มบุญ มีขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการตั้งครรภ์เพื่อประโยชน์ทางการค้า แต่ก็มีนักวิชาการบางส่วนคัดค้าน ขอให้ชะลอกฎหมายนี้ออกไปก่อนเพราะเกรงว่าการบังคับใช้อาจจะเป็นช่องทางให้คนลักลอบว่าจ้างอุ้มบุญซึ่งเป็นการค้ามนุษย์อย่างหนึ่ง ขณะเดียวกันกฎหมายฉบับนี้จำกัดการมีบุตรจากการอุ้มบุญให้เฉพาะคู่สามีภรรยาที่ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ ไม่ครอบคลุมคนโสดและคู่ชีวิตเพศเดียวกันที่ต้องการมีบุตร อีกทั้งกฎหมายฉบับนี้มีหลักเกณฑ์หลายส่วนที่ยังขาดความชัดเจนแน่นอน เนื่องจากจะต้องรอให้แพทยสภาและคณะกรรมการ ออกประกาศหรือกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องก่อน
แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 2 ฉบับ: คุ้มครองสิทธิผู้ค้ำประกันให้มากขึ้น
แก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง: วางระบบอุทธรณ์ฎีกาใหม่ ยื่นฎีกาต้องขออนุญาต
พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งของ สนช. ออกมาเพื่อจัดวางระบบการอุทธรณ์ฎีกาใหม่ ให้ศาลฎีกามีหน้าที่พิจารณาเฉพาะคดีที่จะวางบรรทัดฐานการตีความกฎหมายหรือคดีที่เป็นประโยชน์สาธารณะเท่านั้น ทำให้คดีแพ่งส่วนใหญ่จะจบที่ศาลชั้นอุทธรณ์ คดีที่ต้องการยื่นฎีกาต้องได้รับอนุญาตจากศาลฎีกาก่อน
ระบบใหม่นี้อาจแก้ปัญหาคดีคั่งค้างได้มาก แต่ขณะเดียวกันก็ถือว่าพลิกโฉมกระบวนการยุติธรรมของไทยจากที่เดิมมีศาลสามชั้นเหลือเพียงสองชั้น สภาทนายความออกตัวคัดค้านการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งครั้งนี้เพราะถือว่าเป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชนในการยื่นฎีกา
พ.ร.บ.วิชาชีพเภสัชกรรม: นิยาม “เภสัชกร” ยังไม่ชัด
พ.ร.บ.วิชาชีพเภสัชกรรม ผ่านออกมาในขณะที่สมาชิกสภาเภสัชกรจำนวน 1,633 คน ยื่นหนังสือต่อสภาเภสัชกรรม เพื่อคัดค้านร่างฉบับนี้เพราะยังไม่ผ่านการมีส่วนร่วมของสมาชิก โดยมีประเด็นที่เป็นที่ถกเถียง เช่น นิยามของวิชาชีพเภสัชกรไม่ชัดเจน เพิ่มหน้าที่ในการปรุงยาและจ่ายยาให้วิชาชีพอื่น และร่างนี้ยังได้ปรับแก้ให้เภสัชกรต้องต่ออายุใบประกอบวิชาชีพฯ ทุกๆ 5 ปี จากเดิมสอบใบประกอบวิชาชีพฯ ครั้งเดียวก็สามารถใช้ได้ตลอดชีพ
การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ผ่านไปแล้ว 4 แห่ง กำลังพิจารณาอีก 3 แห่ง
การออกนอกระบบหรือการเปลี่ยนสถานะของมหาวิทยาลัยจากหน่วยงานราชการในสังกัดของรัฐโดยตรง เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ด้วยเหตุผลเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการบริหาร ทำให้มหาวิทยาลัยมีอิสระมากขึ้น และลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาล มีกลุ่มนักศึกษาที่ไม่เห็นด้วยออกมาคัดค้านทั้งการจัดกิจกรรม ติดป้ายผ้า และยื่นหนังสือต่อ สนช. เพราะเห็นว่าการร่างกฎหมายดังกล่าวมาจากบุคคลกลุ่มเดียว ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาคมมหาวิทยาลัย การออกนอกระบบจะนำไปสู่ปัญหาต่างๆ เพราะมีการเพิ่มอำนาจให้ผู้บริหารมากขึ้น ค่าเล่าเรียนมีแนวโน้มสูงขึ้น นำไปสู่การปิดกั้นโอกาสเข้าถึงการศึกษา
สนช. เห็นชอบให้มหาวิทยาลัย 4 แห่งออกนอกระบบไปแล้ว ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสวนดุสิต นอกจากนี้ยังมีมหาวิทยาลัยอีก 3 แห่ง ที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณา ได้แก่ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
+ กฎหมายที่ประชาชนเคยเสนอผ่านแล้ว 4 จาก 26 ฉบับ ยังแก้ข้อคาใจไม่หมด
ก่อนการรัฐประหาร ภาคประชาชนเคยใช้สิทธิเข้าชื่อกัน 10,000 คน เพื่อเสนอร่างกฎหมายให้รัฐสภาพิจารณามาแล้วอย่างน้อย 50 ฉบับ มีร่างกฎหมายที่รัฐสภารับไว้พิจารณาแล้วแต่ยังไม่เสร็จ 26 ฉบับ เมื่อมีการประกาศยุบสภาร่างกฎหมายที่ประชาชนเสนอทั้งหลายจึงคั่งค้างอยู่ไม่มีทางไปต่อ จนกระทั่ง สนช. เริ่มปฏิบัติหน้าที่ก็ไม่ได้เอาร่างทั้ง 26 ฉบับกลับเข้าสู่กระบวนการ แต่หากร่างฉบับไหนมีหน่วยงานภาครัฐเสนอเข้ามาก็จะรับพิจารณาตามขั้นตอนไป แม้ว่าร่างที่หน่วยงานภาครัฐเสนอนั้นจะมีเนื้อหาแตกต่างจากร่างที่ประชาชนเคยเสนอค้างไว้ก็ตาม
พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ เป็นหนึ่งในกฎหมายที่ประชาชนเคยเสนอและค้างพิจารณาอยู่ในวาระที่ 2 ก่อนการยุบสภา ซึ่ง สนช.ประกาศใช้เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2557 ท่ามกลางข้อเรียกร้องของภาคประชาชนกลุ่มเดียวกับที่เคยเสนอกฎหมายให้ สนช. แก้ไขระบุเพิ่มข้อห้ามการทารุณกรรมสัตว์ด้วยวิธีต่างๆ เข้าไปอีก
อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ ซึ่ง สนช. ประกาศใช้ไปเมื่อ 9 มกราคม 2558 มีเนื้อหาคล้ายกับร่างกฎหมายที่ประชาชนเคยเสนอและค้างการพิจารณาอยู่ แต่ร่างของประชาชนใช้ชื่อว่า “ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ พ.ศ. ...” ข้อแตกต่างสำคัญ คือ ร่างฉบับที่ประกาศใช้ไปแล้วมีข้อยกเว้นให้เลือกปฏิบัติเพราะความแตกต่างทางเพศได้ หากเป็นกรณีที่มีเหตุผลทางวิชาการ ทางศาสนา หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งเป็นหลักการที่ภาคประชาชนคัดค้านมาตลอดและไม่มีในร่างที่ประชาชนเคยเข้าชื่อเสนอ
ขณะที่มีร่างกฎหมายอีกหลายฉบับที่ประชาชนอยู่ระหว่างการรวบรวมรายชื่อยังได้ไม่ครบ และ สนช. หยิบขึ้นมาพิจารณาประกาศใช้ไปแล้ว เช่น พ.ร.บ.ประมง ซึ่งผ่าน สนช. เมื่อ 29 มกราคม 2558 แม้กฎหมายฉบับนี้จะมีการระบุถึงบทบาทขององค์กรชุมชนประมงไว้คล้ายกับข้อเสนอที่ประชาชนอยากเห็น แต่หลักเกณฑ์เงื่อนไขก็ยังไม่เหมือนกับร่างพ.ร.บ.ประมง ฉบับภาคประชาชนทั้งหมด
พ.ร.บ.ประกันสังคมเป็นกฎหมายอีกฉบับที่กลุ่มผู้ใช้แรงงานเคยเข้าชื่อกันเสนอ เพื่อให้ลูกจ้างมีช่องทางเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารระบบประกันสังคมได้ รัฐสภาเคยลงมติไม่รับหลักการร่างกฎหมายนี้ทำให้ตกไป ต่อมาร่างของกระทรวงแรงงานผ่าน สนช. เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2558 ซึ่งมีเนื้อหาหลายประการที่คล้ายกับข้อเสนอของภาคประชาชนแต่ก็มีหลายประเด็นที่แตกต่างออกไป