10 สิงหาคม 2558
สภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ เรียกร้อง สปช.ผลักดันร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ ปกป้องสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศ
วิทยา กุลสมบูรณ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) รับหนังสือจาก เกรียงไกร ชีช่วง กรรมการบริหารกิจการสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (สชพ.) พร้อมคณะ เพื่อขอให้ สปช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะรัฐบาล ดำเนินการผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ... รวมทั้งข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองฯ อาทิ ให้สัญชาติไทยกับเด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทย และการลดขั้นตอนการพิสูจน์สัญชาติไทย เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยเร็ว
รองประธาน สปช. เผย สปช. ต้องทำภารกิจยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต่อ หากร่างรัฐธรรมนูญได้รับความเห็นชอบ
บวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คนที่ 1 และประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ภายหลังส่งร่างรัฐธรรมนูญร่างสุดท้ายให้ สปช.ในวันที่ 22 สิงหาคม 2558 แล้ว จะต้องรออีก 15 วัน หากร่างรัฐธรรมนูญได้รับความเห็นชอบ จะต้องนำสิ่งที่ สปช. ทั้ง 11 ด้าน 18 คณะ ได้เสนอมาบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง จำนวน 4 มาตรา และจัดทำเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศจำนวน 29 มาตรา จากนั้น สนช.จะเป็นผู้พิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเหล่านั้นภายใน 90 วัน นับตั้งแต่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีทั้งสิ้นจำนวน 6 ฉบับ ประกอบด้วย ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว./ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)/ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง/ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ/ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการสร้างความปรองดองแห่งชาติ และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติ แต่หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านนั้นคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่จำนวน 21 คน
11 สิงหาคม 2558
เครือข่ายพสกนิกรไทย รวมใจสามัคคี ยื่นหนังสือให้กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ” ปรับที่มา ส.ว.ให้พระมหากษัตริย์เลือก 200 คน
นรีวรรณ จินตกานนท์ รองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ รับการยื่นหนังสือจาก สาธุ อนุโมทามิ เลขาธิการเครือข่ายพสกนิกรไทยรวมใจสามัคคี(คพ.รส.) ซึ่งเป็นการรวมตัวของภาคีเครือข่าย16 องค์กร อาทิ สมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ที่ขอให้กรรมาธิการยกร่างฯ บัญญัติประเด็นสำคัญด้วยการเพิ่มคำว่า พระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ ในมาตรา 2 และ 3 พร้อมขอให้แก้ไขมาตรา 121 ที่มา ส.ว. จำนวนไม่เกิน 300 คน ให้มาจากการแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์ตามพระราชอัธยาศัย จำนวน 200 คน มาจากการเลือกกันเองและการสรรหาจากอดีตข้าราชการตำแหน่งปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า ผู้แทนสภาวิชาชีพ ผู้แทนและผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ อีก 100 คน นอกจากนี้ ขอให้เพิ่มเติมประเด็นเกี่ยวกับพระราชวินิจฉัยในร่างกฎหมาย หากไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยหรือไม่มีการพระราชทานคืนมาภายใน 30 วัน ขอให้ร่างกฎหมายฉบับนั้นต้องตกไปและไม่สามารถหยิบยกขึ้นมาพิจารณาในคณะรัฐมนตรี หรือรัฐสภาชุดนั้นได้อีก รวมถึงประเด็นปฏิรูปการศึกษาที่เครือข่ายพสกนิกรไทยรวมใจสามัคคี ขอให้ร่างรัฐธรรมนูญยึดหลักการกระจายอำนาจให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมจัดการศึกษาอย่างเหมาะสม
กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญมีมติให้กำหนดให้ตั้ง กก.ยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการสร้างความปรองดองในรัฐธรรมนูญใหม่
บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงว่า ที่ประชุมมีมติ กำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง มีสมาชิก 23 คน ที่มา 3 ส่วน คือ 1.มาจากประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ผู้บัญชาการกองทัพไทย ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 2.มาจากผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา และ 3.มาจากผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกิน 11 คน เป็นผู้เชียวชาญการปฏิรูปด้านต่าง ๆ และการสร้างความปรองดอง ซึ่งแต่งตั้งจากมติรัฐสภา ส่วนอำนาจหน้าที่คือ ภายใน 5 ปี หลัง รธน.ประกาศใช้ ระหว่างนั้น หากเกิดปัญหาความขัดแย้งในประเทศโดยไม่สามารถควบคุมได้ ให้ คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและสร้างความปรองดองแห่งชาติ มีอำนาจใช้มาตรการที่จำเป็นจัดการสถานการณ์นั้นๆ ได้ และสามารถสั่งการและยับยั้งการกระทำของ ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหารได้ และให้ถือคำสั่งนั้นเป็นที่สุด
13 สิงหาคม 2558
ประธาน สปช. ยืนยันตั้ง กก.ยุทธศาสตร์ปฏิรูปแห่งชาติ ไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ
เทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงกรณีการกำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปแห่งชาติในร่างรัฐธรรมนูญด้วยว่า เบื้องต้นตนยังไม่ทราบรายละเอียดในเรื่องนี้ ส่วนกรณีการกำหนดอำนาจพิเศษนั้นเชื่อว่าจะมีไว้เพื่อแก้ปัญหาประเทศในช่วงวิกฤตเท่านั้น ยืนยันไม่น่าเป็นการสืบทอดอำนาจแต่อย่างใด นอกจากนี้ประธาน สปช. ยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้มีสมาชิกเสนอประเด็นคำถามมากว่า 1 คำถาม ดังนั้นจึงต้องหาข้อตกลงกันให้ได้ว่าจะใช้คำถามใด เนื่องจาก สปช. สามารถเสนอคำถามสำหรับทำประชามติได้เพียงคำถามเดียวเท่านั้น ทั้งนี้จะมีการประชุมเพื่อถามความเห็นของ สปช. ในเรื่องนี้ในวันที่ 18 สิงหาคม 2558
ประธาน กกต. คาด วันลงประชามติเป็นไปตามกำหนดเดิม 10 มกราคม 2559
ศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงการดำเนินการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่า ต้องรอการลงมติร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 7 กันยายนนี้ว่าที่ประชุม สปช.จะรับร่างหรือไม่ หาก สปช.ให้ความเห็นชอบก็จะได้ความชัดเจนว่าจะมีประเด็นคำถามทั้งหมดกี่คำถาม ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับคณะรัฐมนตรี ที่จะเป็นผู้กำหนดเป็นขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งคาดว่าจะมีคำถามไม่เกิน 3 คำถาม และหากเป็นไปตามนี้ จะต้องพิมพ์บัตรเพิ่มเติม ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า กกต. มีความพร้อม และมั่นใจว่าวันลงประชามติจะเป็นไปตามกำหนดการเดิม คือ วันที่ 10 มกราคม 2559
สนช.รับหลักการแก้ไขร่างพ.ร.บ.โรงเรียนนายร้อยตำรวจ
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมจากพระราชบัญญัติโรงเรียนนายร้อยตำรวจ พ.ศ.2551 เรื่องการกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และยกเลิกการกำหนดเงื่อนไขการแต่งตั้งและโยกย้ายผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้แก้ไขเพิ่มเติมข้อความบางประการในพระราชบัญญัติเดิม เพราะพบปัญหาและอุปสรรคหลังจากใช้มา 7-8 ปี เหตุผลของการเสนอร่างนี้ เนื่องจากการกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งและเงื่อนไขการแต่งตั้งและโยกย้ายผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจในพระราชบัญญัติโรงเรียนนายร้อยตำรวจ พ.ศ.2551 แตกต่างจากกระบวนการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจอื่นที่ดำรงตำแหน่งในระดับเทียบเท่ากันตามกฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติ
จากนั้นที่ประชุม สนช.ได้มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติโรงเรียนนายร้อยตำรวจวาระแรก ด้วยคะแนน 168 ต่อ 8 คะแนน งดออกเสียง 5 เสียง พร้อมมอบหมายให้คณะกรรมาธิการการกฎหมายกระบวนการยุติธรรม และกิจการตำรวจ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ภายใต้กรอบเวลาการดำเนินการ 30 วัน กำหนดแปรญัตติ 5 วัน.
14 สิงหาคม 2558
สนช. มีมติไม่ถอดถอน 248 อดีต ส.ส. กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันนี้มีพิจารณาวาระสำคัญ คือ การลงคะแนนลับถอดถอนหรือไม่ถอดถอนอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จำนวน 248 คน ออกจากตำแหน่ง ตามข้อบังคับข้อ 157 จากกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ประเด็นที่มาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โดยมิชอบ ตามมาตรา6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ประกอบมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ซึ่งขั้นตอนการลงมติสมาชิกได้บัตรลงคะแนนทั้งหมด 7 ใบ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มตามฐานความผิด ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งคำร้องมา ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 ฐานความผิดร่วมลงชื่อและลงมติแก้ไขทั้ง 3 วาระ มีจำนวน 237 คน โดยได้บัตรลงคะแนน 5 ใบ ประกอบด้วย บัตรสีม่วง สีฟ้า สีเขียว สีเหลือง และสีส้ม กลุ่มที่ 2 ฐานความผิดร่วมกันเสนอและลงมติแก้ไขในวาระ 2 และ 3 จำนวน1 คน ใช้บัตรสีขาว และกลุ่มที่ 3 ฐานความผิดสำหรับผู้ที่ไม่ร่วมลงชื่อและลงมติในวาระ 2 มีจำนวน 10 คน ใช้บัตรสีชมพู
ทั้งนี้ภายหลังจากใช้เวลาลงคะแนนลับและนับคะแนนราวกว่า 7 ชั่วโมง ผลปรากฏว่า ที่ประชุม สนช.มีมติไม่ถอดถอนอดีต ส.ส.จำนวน 248 คน ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากคะแนนเสียงถอดถอนไม่ถึง 3 ใน 5 หรือ 132 เสียงของจำนวนของสมาชิก สนช. ที่มีอยู่จำนวน 220 คน