NLA Weekly (15-21 ส.ค. 58): สปช. ยกร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการปฎิรูป / สนช. ผ่านกฎหมาย 3 วาระรวด 2 ฉบับคือ "ปปง." และ พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย

NLA Weekly (15-21 ส.ค. 58): สปช. ยกร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการปฎิรูป / สนช. ผ่านกฎหมาย 3 วาระรวด 2 ฉบับคือ "ปปง." และ พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย

เมื่อ 23 ส.ค. 2558
17 สิงหาคม 2558
 
โฆษก กมธ.ยกร่างฯ ยืนยัน ให้ สนช. เป็น ส.ว. จนกว่าจะมีการเลือกตั้งชุดใหม่ ส่วนคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฎิรูปฯ มีไว้ยามวิกฤติ
 
พลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เล่าความคืบหน้ารัฐธรรมนูญ ทบทวนบทเฉพาะกาลไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง โดยยังคงกำหนดให้ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ( สนช.) ทำหน้าที่จนกว่าจะมี ส.ว.  นอกจากนี้ พลเอก เลิศรัตน์ ยังได้กล่าวถึงกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาวิจารณ์ว่า ร่างรัฐธรรมนูญล้าหลัง นั้น ตนพร้อมยืนยันว่า ยุคนี้ไม่ใช่ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ ส่วนคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการสร้างความปรองดองแห่งชาติ มีขึ้นเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยจะทำหน้าที่ไม่ต่างจาก สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่ให้คำแนะนำรัฐบาลเมื่อเกิดวิกฤติทางการเมืองจนไม่สามารถควบคุมได้
 
 
คณะกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาปฏิรูปแห่งชาติ เสนอวิธีการปฏิรูประบบบริหารจัดการทรัพยากรของประเทศอย่างยั่งยืน
 
คณะกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาปฏิรูปแห่งชาติ เสนอ ปฏิรูปองค์กรรับผิดชอบเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ อาทิ จัดตั้งองค์กรเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ กำหนดนโยบายสร้างการอยู่ร่วมกันระหว่างนิคมอุตสาหกรรมและชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม และปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
 
และกำหนดให้โรงงานติดตั้งระบบรายงานแสดงผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำทิ้ง หรือคุณภาพอากาศจากปล่องต่อสาธารณะ ได้เสนอให้กำหนดนโยบายสนับสนุน และส่งเสริมให้โรงงาน ติดตั้งเครื่องแสดงผลต่อสาธารณะให้เป็นแนวทางเดียวกัน พร้อมทั้งพิจารณาร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดให้โรงงานติดตั้งระบบรายงานแสดงผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำทิ้งหรือคุณภาพอากาศจากปล่องต่อสาธารณะ เพื่อกำกับอีกที
 
ส่วนการพัฒนาและปรับปรุงระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานว่าด้วยกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อการพัฒนาหรือฟื้นฟู ท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า ได้เสนอให้ปรับปรุงกฎระเบียบกองทุนพัฒนาไฟฟ้าให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นและประชาชนมีส่วนร่วมในโครงการพัฒนาพื้นที่โรงไฟฟ้าอย่างแท้จริง หลังพบการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าฯ ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ พร้อมเสนอให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานตั้งคณะอนุกรรมการว่าด้วยการพัฒนาไฟฟ้าฯ ทำหน้าที่ดูแลกองทุนผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว
 
 
คณะกรรมาธิการปฏิรูปการกีฬา สปช. จับมือการกีฬาแห่งประเทศไทย หวังพัฒนาสนามกีฬาให้เป็นปอดของจังหวัดและเป็นพื้นที่พัฒนานักกีฬา
 
พลเรือเอกอภิวัฒน์ ศรีวรรธนะ รองประธานกรรมาธิการปฏิรูปการกีฬา แถลงภายหลังการประชุมทบทวนเรื่องการถ่ายโอนภารกิจในการดูแลสนามกีฬาระดับจังหวัดให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ซึ่งพบว่ายังมีปัญหาเรื่องงบประมาณสนับสนุน เพราะไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายปกครองท้องถิ่น และกฎหมายการคลังและภาษีอากรของ อปท. ที่กำหนดให้สามารถนำงบประมาณไปสนับสนุนหรืออุดหนุนกิจกรรมกีฬาของท้องถิ่นได้ ดังนั้น การการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) จึงยินดีจะร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของจังหวัดในระดับต่าง ๆ เพื่อดูแลสนามกีฬา พร้อมจะมีการแก้ไขกฎระเบียบ เพื่อให้การพัฒนาสนามกีฬาในแต่ละจังหวัดสอดคล้องกับการเป็นปอดของจังหวัด เป็นศูนย์ฝึกซ้อมวิทยาศาสตร์การกีฬา และเป็นพื้นที่ในการพัฒนานักกีฬาได้ ส่วนจังหวัดใดที่สามารถพัฒนาสนามกีฬาระดับจังหวัดได้ดีอยู่แล้วให้ดำเนินการต่อไป โดย กกท. จะเข้าไปสนับสนุนในด้านเทคนิค
 
 
18 สิงหาคม 2558
 
 
สปช.รับทราบรายงานกำหนดแผนขับเคลื่อนประเทศให้แล้วเสร็จภายใน 17 ปี เร่งด่วนสุดคือ การป้องกันและปราบปรามทุจริตประพฤติมิชอบ
 
ที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) รับทราบรายงานของคณะกรรมการสังเคราะห์ภาพรวมเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ โดยรายงานฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อเชื่อมโยงข้อเสนอการปฏิรูปของ สปช. ที่มีจำนวนมากซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องสำคัญมาจัดกลุ่มสังเคราะห์ให้เห็นภาพรวมและลำดับความสำคัญ
 
โดยวาระสำคัญสูงสุดได้แก่ปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามทุจริตประพฤติมิชอบ เกี่ยวกับกระบวนการทำงานของกลไกปราบปรามทุจริตทั้งระบบ บทลงโทษที่รุนแรงและรวดเร็ว และป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน รองลงมา คือ วาระปฏิรูปการเข้าสู่อำนาจ/ระบบพรรคการเมือง ว่าด้วยการตื่นรู้และมีส่วนร่วมทางการเมืองของพลเมือง ระบบการเลือกตั้ง/การเข้าสู่อำนาจที่ใสสะอาด และวาระปฏิรูปการปรับโครงสร้างอำนาจส่วนกลางส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น ว่าด้วยการกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ส่วนกลางภูมิภาคและท้องถิ่นให้ชัดเจน การกระจายอำนาจและถ่ายโอนภารกิจ รวมถึงวาระปฏิรูปอื่นๆ ตามลำดับ พร้อมกำหนดแผนและขั้นตอนการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศให้บรรลุผลลัพธ์การปฏิรูปแต่ละด้านตามที่กำหนดไว้ภายใน 17 ปี
 
 
สปช. เตรียมทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ ให้ผูกพัน ครม. และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปฯ ต้องทำตามแนวทางและระยะเวลาที่กำหนด
 
นพ.ชูชัย  ศุภวงศ์  รองประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ ชี้แจง แนวทางการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูปโดยแบ่งเป็น 4 หมวด ได้แก่ การเมืองการปกครองและกระบวนการยุติธรรม / สังคมและวัฒนธรรม / เศรษฐกิจ / ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  
 
และได้มอบหมายให้ 18 คณะกรรมาธิการปฏิรูป พิจารณาเป้าหมายและสาระการปฏิรูปในแต่ละด้านที่จำเป็นต้องบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อรองรับการปฏิรูปในอนาคต พร้อมระบุว่า บทบัญญัติในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ จะผูกพันคณะรัฐมนตรี(ครม.)  คณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ และหน่วยงานของรัฐ ที่จะต้องปฏิรูปตามแนวทางและระยะเวลาที่ได้กำหนดไว้ ทั้งนี้ สปช. จะมีเวลาในการพิจารณาเอกสารประกอบการศึกษาเตรียมการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ หลังจากที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้ส่งมองร่างรัฐธรรมนูญและเอกสารฯ ฉบับนี้แล้ว  ก่อนที่ สปช.จะพิจารณารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญต่อไป
 
 
สนช.มีมติเห็นชอบให้ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองการดำเนินงานของสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 พ.ศ. .... ประกาศใช้เป็นกฎหมาย
 
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติเห็นสมควรประกาศให้ "ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองการดำเนินงานของสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 ใช้เป็นกฎหมายด้วยคะแนน 153 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 2 เสียง โดยเหตุผลความจำเป็นที่ต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น เนื่องจาก ประเทศไทยได้ร่วมลงนามในความตกลงจัดตั้งสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (Agreement Establishing ASEAN+3 Macroeconomic Research) เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2557 เพื่อจัดตั้งสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office : AMRO) เป็นองค์การระหว่างประเทศที่มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของภูมิภาค โดยการเฝ้าระวังสภาวะทางเศรษฐกิจของภูมิภาคและสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินแบบพหุภาคีตามกรอบอาเซียน+3
 
 
สนช. เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ปปง. ลดวาระเลขาธิการเหลือ 4 ปี
 
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ทั้งนี้ มีสาระสำคัญคือ การแก้ไขในส่วนองค์ประกอบและหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) รวมถึงกลไกการตรวจสอบ ถ่วงดุล และวาระเลขาธิการ ปปง. โดยให้มีคณะกรรมการจำนวน 15 คน จากเดิม 10 คน มาจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 6 คน กรรมการโดยตำแหน่ง 8 คน โดยเพิ่มที่มาจากผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยและเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตำแหน่งเลขานุการอีก 1 คน และให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมาจากการสรรหาของคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้น และผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเพื่อแต่งตั้ง โดยคณะกรรมการปปง.มีหน้าที่ระงับยับยั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ประเมินความเสี่ยงเกี่ยวกับการฟอกเงินและการสนับสนุนการเงินเพื่อการก่อการร้าย รวมถึงทำหน้าที่คัดเลือกบุคคลมาเป็นเลขาธิการ ปปง.
 
อย่างไรก็ดี สมาชิกส่วนใหญ่เห็นว่า อำนาจในการแต่งตั้งตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒินั้นควรจะผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา เพื่อให้กลไกตรวจสอบเกิดการถ่วงดุลที่ดี อีกทั้งวุฒิสภาก็ถือเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบโดยตรง เมื่อเทียบกับการผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอาจเกิดการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองได้ จึงเห็นควรให้มีการแก้ไขมาตรา 20 พร้อมกับเสนอให้วาระเลขาธิการ ปปง.คงเหลือเพียง 4 ปี จากที่กำหนดไว้ 6 ปี
 
ที่ประชุมจึงมีมติให้แก้ไขวาระดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ปปง.เป็น 4 ปี จากเดิม 6 ปี และให้แก้ไขมาตรา 51 เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับตำแหน่งเลขาธิการปปง. ก่อนวันที่ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ ให้เลขาธิการ. ปปง.ยังสามารถทำหน้าที่จนกว่าจะครบวาระ และเมื่อพ้นวาระและสามารถไปดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาสำนักงานปปง.หรือตำแหน่งอื่นๆเทียบเท่าได้ พร้อมกับมีมติให้ตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาแทนการตรวจสอบถ่วงดุลโดยคณะรัฐมนตรี
 
จากนั้นที่ประชุมจึงมีมติเอกฉันท์เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวในวาระ3 เห็นสมควรประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนน 150 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง.
 
ที่มา: ประชาไท 
 
22 สิงหาคม 2558 
 
ปธ.สปช.รับมอบร่างรัฐธรรมนูญจาก กมธ.ยกร่างฯ แล้ว 
 
ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติรับร่างรัฐธรรมนูญจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว โดย กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ได้พิจารณาคำขอแก้ไขเพิ่มเติมและความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ของสมาชิก สปช.และ คณะรัฐมนตรี (ครม.) และทุกความคิดเห็นที่เสนอมาอย่างเท่าเทียมกัน  ประกอบกับข้อคิดเห็นของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พรรคการเมืองและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยเน้นเนื้อหาสาระและเหตุผลเป็นสำคัญ  สำหรับความคิดเห็นของประชาชนนั้น กมธ.ให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าความคิดเห็นของกลุ่มอื่น และได้ปรับแก้ไขตามที่เสนอ อาทิ การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ ตามที่กำหนดไว้ใน รธน. 40 และ 50  ทั้งนี้ ได้มอบให้กับสมาชิก สปช.ศึกษาก่อนลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบทั้งฉบับ 6 ก.ย. 58  
 
ดาวน์โหลดร่างรัฐธรรมนูญได้ที่ http://www.parliament.go.th/ewtcommittee/ewt/draftconstitution/download/article/article_20150822125747.pdf