31 สิงหาคม 2558
สปช.แถลงแนวทางปฏิรูประบบพลังงาน เสริมสร้างความมั่นคงระบบพลังงาน เปิดโอกาส ปชช. มีส่วนร่วม
มนูญ ศิริวรรณ ประธานคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรปิโตรเลียมและราคาพลังงาน กล่าวถึง การปฏิรูปโครงสร้างราคาน้ำมัน ต้องสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับผู้ใช้ทุกกลุ่ม ลดการอุดหนุนราคาเชื้อเพลิง เพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ลดการแทรกแซงหรือการถูกควบคุมจากภาครัฐ ขจัดการผูกขาด ส่งเสริมการแข่งขันอย่างเสรี
ด้านอัญชลี ชวนิชย์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปการบริหารและกำกับกิจการพลังงาน สนับสนุนให้มีการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลพลังงานแห่งชาติ เพื่อรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลด้านพลังงานอย่างอิสระ พร้อมกล่าวว่า โครงสร้างระบบบริหารพลังงานในประเทศจะเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายมากขึ้น โดยแต่งตั้งผู้แทนจากภาคประชาชน ผู้ประกอบการ และนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมเป็นกรรมการ ขณะที่วิบูลย์ คูหิรัญ ประธานคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปกิจการไฟฟ้า เสนอให้ทบทวนการจัดทำค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าใหม่ ต้องมีแผนที่จะให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิต และใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้มีการผลิตและซื้อขายไฟฟ้าเสรี จัดตั้ง "ศูนย์ควบคุมระบบโครงข่ายไฟฟ้า" สร้างโครงข่ายระบบสายส่งไฟฟ้าในกลุ่มประชาคมอาเซียนและภูมิภาคข้างเคียง
นอกจากนี้ อลงกรณ์ พลบุตร ประธานคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปพลังงานทดแทน กล่าวว่า พลังงานทดแทนควรได้รับการส่งเสริมสนับสนุนมากขึ้น อาทิ โครงการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย การอนุรักษ์พลังงานในอาคารภาครัฐและเอกชนในระบบ ESCO (เอสโค่) และ BEC (เบค) และโครงการติดตั้งโซลาร์รูฟอย่างเสรี
ที่มา: สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา
“บวรศักดิ์” วอนมองภาพรวมร่างรัฐธรรมนูญไม่ใช่มองทีละส่วน คิดให้ดีหากไม่ผ่าน ใครได้ใครเสีย
บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ บรรยายพิเศษ เล่าเรื่องยกร่างรัฐธรรมนูญ ในงานสัปดาห์แห่งการเรียนรู้ (วัน LO) ประจำปี 2558 ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยกล่าวว่าจะต้องแบ่งประชาธิปไตยเป็น 2 ช่วงคือช่วงแรกประชาธิปไตยในระยะเปลี่ยนผ่าน 5 ปี เพื่อปรับให้เหมาะสมกับสังคมไทยนำไปสู่การปฏิรูปประเทศได้สำเร็จ โดยมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ(คปป.)เข้าทำหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์การปฏิรูป สร้างความปรองดอง และหากเกิดความรุนแรงต้องยับยั้งได้ทันที
บวรศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านความเห็นชอบจาก สปช. หรือผ่านประชามติหรือไม่ ตนรับได้ทั้งหมด หากผ่านก็ดีใจแต่ก็ต้องเหนื่อยกับการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือหากไม่ผ่านก็โล่งใจที่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อ ตนจะกลับไปทำงานสอนหนังสือและเสียงวิจารณ์ตนตลอดเวลาที่ผ่านมาก็จะหายตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม คำตัดสินสุดท้ายอยู่ที่ประชาชนที่เป็นเสียงสวรรค์ ขอให้ดูร่างรัฐธรรมนูญในแบบภาพรวมไม่ใช่ดูทีละส่วน ขอให้ดูว่าร่างนี้แก้ปัญหาความขัดแย้งในอดีต และสร้างความปรองดองได้หรือไม่ สิทธิเสรีภาพความเป็นพลเมืองมีความก้าวหน้าหรือไม่ สามารถตอบสนองความคาดหวังการปฏิรูปและการปรองดองที่คนไทยเรียกร้องมาเกือบ 10 ปี ได้หรือไม่ ต้องคิดให้ดีว่าหากไม่ผ่านใครได้ใครเสีย
ที่มา: สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา
1 กันยายน 2558
“เสรี” แนะ สปช.ฟังเสียง ปชช.ประกอบการตัดสินใจรับ/ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
เสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) รับหนังสือร้องเรียนเรื่องรัฐธรรมนูญกับการแก้ไขปัญหาวิกฤติชาติ จากเครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ โดย พท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี ตัวแทนเครือข่ายฯ โดยเสรีกล่าวหลังรับหนังสือว่า ร่าง รธน.ฉบับนี้มีปัญหา หลายส่วนเป็นอคติ นำปัญหาเฉพาะกลุ่มคนมาบัญญัติไว้ ส่งผลให้เกิดอำนาจแฝง อาทิ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ หากนำร่าง รธน.ฉบับนี้ไปใช้จะเกิดปัญหาในการบริหารประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รัฐบาลอ่อนแอ พรรคการเมืองรวมตัวกันเรียกร้องผลประโยชน์ เข้าสู่ระบบโควตา วงจรที่เกิดขึ้นคือการแบ่งปันผลประโยชน์ และอำนาจ ท้ายที่สุดจะกลับเข้าสู่วงจรทุจริตคอรัปชั่น ระบบการตรวจสอบมีปัญหา ไม่สามารถถอดถอนนักการเมือง เสียงข้างมากอยู่ได้ เสียงข้างน้อยอยู่ไม่ได้ จึงต้องการเรียกร้องให้ สมาชิก สปช.รับทราบและนำทุกข้อมูลที่ได้รับจากประชาชนมาประกอบการพิจารณารับหรือไม่ ร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 กันยายน นี้
ที่มา: สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา
2 กันยายน 2558
2 สปช. ประกาศจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ วอนทบทวนปรับแก้ให้สมบูรณ์
บุญเลิศ คชายุทธเดช และนิมิต สิทธิไตรย์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ร่วมกันแถลงข่าวประกาศจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 กันยายน 2558 นี้ว่า แม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีเนื้อหาที่ดีอยู่มากแต่ก็มีส่วนน้อยที่ บกพร่อง ซึ่งบางภาคส่วนยังไม่ยอมรับ รวมไปถึงหากประชาชนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจหลักการและเนื้อหาสาระในร่างรัฐธรรมนูญ เกรงว่าผลการลงมติที่ออกมาอาจสร้างความไม่ปรองดองรอบใหม่ขึ้นได้ และหากผ่านการลงมติจาก สปช. แล้วนำไปสู่การทำประชามติและไปบังคับใช้อาจสร้างปัญหาได้ ทำให้กระทบต่อร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับและต่อประเทศ ดังนั้นจึงขอให้มีการทบทวนให้รอบคอบ และปรับแก้ให้สมบูรณ์จนเป็นที่ยอมรับเกิดความสบายใจและมั่นใจของทุกฝ่าย ซึ่งมองว่าจะเกิดประโยชน์มากกว่า
ที่มา: สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา
สปช.นิรันดร์ หวั่น บทบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ทำร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ
นิรันดร์ พันทรกิจ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) แถลงเรียกร้องไปยังสมาชิก สปช. ให้ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะมองว่าหากลงมติรับร่างฯ จนเข้าสู่กระบวนการทำประชามติแล้ว จะทำให้สูญเสียงบประมาณจำนวนมากในการดำเนินการ แต่ร่างรัฐธรรมนูญจะยังไม่สามารถผ่านความเห็นชอบจากประชาชนได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ(ชั่วคราว) พ.ศ.2557 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม บัญญัติต้องผ่านเสียงประชามติเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งหากนับแล้วคือต้องมากกว่า 23.5 ล้านคน จากจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั้งหมดประมาณ 47 ล้านคน
ทั้งนี้ ตนดูจากสถิติการทำประชามติครั้งที่ผ่านมาพบว่ามีผู้มาใช้สิทธิออกเสียง ประชามติเพียง 25 ล้านคน และผ่านความเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งเป็นจำนวน 14 ล้านคน เท่านั้น จึงนับว่ายังห่างจากคะแนนเสียงที่จะให้ทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติ อยู่มาก ประกอบกับครั้งนี้มีพรรคการเมืองหลายพรรคที่แสดงความไม่เห็นด้วย จึงอาจเป็นปัจจัยเสริมในการให้ผู้มีสิทธิออกเสียงโหวตไม่ผ่านประชามติมากขึ้นกว่าเดิม นอกจากนั้น ยังขอเสนอแนะให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แก้ไขรัฐธรรมนูญ(ชั่วคราว) พ.ศ.2557 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 37 วรรค 7 โดยเปลี่ยนจากเดิมที่กำหนดให้การผ่านประชามติด้วยเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิ เลือกตั้ง ให้เป็นการผ่านประชามติด้วยเสียงข้างมากของผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง เพื่อให้มีความเป็นไปได้ ในการผ่านร่างรัฐธรรมนูญ
ที่มา: สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา
3 กันยายน 2558
“วิษณุ” ยันดำเนินคดีแพ่งคดีจำนำข้าวก่อนหมดอายุความแน่
กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ตั้งกระทู้ถามรัฐบาลถึงความคืบหน้าการดำเนินคดีแพ่งต่อผู้กระทำผิดโครงการรับจำนำข้าว ด้านวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุม สนช. ว่ารัฐบาลยึดหลักสำคัญ 3 ข้อดำเนินการคือ ใช้หลักนิติธรรม ดำเนินการอย่างรัดกุม ตั้งคณะกรรมการผู้ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย ให้ความเป็นธรรมกับผู้เกี่ยวข้อง และดำเนินคดีตามอายุความ พร้อมนำกฎหมาย พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาเป็นหลักในการพิจารณา ร่วมกับกฎหมายลูกคือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติ เกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ภายใต้การทำงานของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งจะทำงานแล้วเสร็จในเดือน ก.ย. นี้ หลังขยายเวลาการไต่สวนตามคำขอให้แล้ว ก่อนส่งต่อให้คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งนำไปสู่การวินิจฉัย แล้วให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลังออกคำสั่งหากมีการเรียกค่าสินไหมทด แทน ตามกรอบเวลาอายุความ 2 ปีในเดือน ก.พ. 60 แต่กระบวนการทั้งหมดนี้ รองนายกฯ ยืนยันว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือน ธ.ค.นี้ หรือ ม.ค. 59 ส่วนกรณีเอกชนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีอายุความ 1 ปี ได้เตรียมรูปคดีทั้งหมดเพื่อส่งให้พนักงานอัยการดำเนินคดีภายในปีนี้
ที่มา: สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา
สปช.สิระ ยันคืนเงินเดือน 1.7 ล้าน หากร่าง รธน.ถูกคว่ำ
สิระ เจนจาคะ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านสังคม แถลงข่าวยืนยันคืนเงินเดือนระหว่างทำหน้าที่สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติที่ผ่าน มา 11 เดือนรวมเป็นเงิน 1,700,000 บาทหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพราะถือว่าทำหน้าที่ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่เกิดประโยชน์กับประชาชน ไม่สมกับได้รับเงินเดือนซึ่งถือเป็นภาษีของประชาชน อย่างไรก็ตามเห็นว่าร่าง รธน.ฉบับนี้เกิดขึ้นจากการรับฟังความเห็นของทุกกลุ่ม เนื้อหาต่างๆที่บรรจุไว้มีประโยชน์ต่อประชาชน ก็ไม่น่ามีเหตุผลอะไรที่จะทำให้ร่าง รธน.ถูกคว่ำ
ที่มา: สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา
5 กันยายน 2558
"147 สปช." เตรียมโหวตคว่ำร่าง รธน. ก่อนลงมติจริงพรุ่งนี้
รายงานข่าวจากรัฐสภาแจ้งว่า ช่วงค่ำวันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมา สปช.ฝ่ายไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จากกลุ่มต่างๆ ได้ส่งตัวแทนมาหารือกันกว่า 20 คน ที่โรงแรมพูลแมน เพื่อตรวจสอบความพร้อมและความมั่นใจครั้งสุดท้าย ก่อนการลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของสปช.ในวันที่ 6 ก.ย. โดยพบว่าสมาชิกสปช.ที่ยืนยันว่าจะลงคะแนนไม่เห็นชอบนั้นมีสูงถึง 130-140 เสียงแล้ว เนื่องจากส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านสปช.ไปสู่การทำประชามตินั้น มีแนวโน้มสูงที่จะถูกประชาชนลงมติคว่ำ สูญงบประมาณกว่า 3,000 ล้านบาทไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะพรรคการเมืองใหญ่อย่างเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ ต่างมีความเห็นในทิศทางเดียวกัน คือรับไม่ได้กับคปป. ที่จะมีอำนาจเหนือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อีกทั้งยังสุ่มเสี่ยงจะเกิดกระแสต้านคสช.มากขึ้น ระหว่างการรณรงค์ก่อนออกเสียงประชามติ
รายงานข่าวว่า สำหรับสัดส่วนเสียงไม่เห็นชอบทั้งหมดจะมาจากสปช.จังหวัด ที่ค่อนข้างมีเอกภาพชัดเจนเป็นหลัก โดยเฉพาะจากภาคเหนือและอีสานรวมแล้วกว่า 60 เสียง ส่วนอีก 50-60 เสียง จะมาจากสปช.ที่สังกัดกมธ.การเมือง กมธ.กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม กมธ.ท้องถิ่น และกธม.แรงงาน เป็นหลัก และที่เหลืออีก 20-30 เสียง จะกระจายอยู่ตามกมธ.ชุดที่เหลืออีก 7 คณะ ขณะที่ฝ่ายเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญนั้น คาดว่าจะมีคะแนนอยู่ในระดับ 100 เสียง พร้อมทั้งมีกระแสข่าวว่าสปช.ที่เป็นกมธ.ยกร่างฯ บางส่วนจะลงคะแนนงดออกเสียง และบางรายก็จะไม่เข้าร่วมการประชุมด้วย เนื่องจากทราบผลแล้วว่าสู้ไม่ได้
นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ด้วยว่า คะแนนเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญอาจทะลุถึงระดับ 160 เสียงได้ เนื่องจากกระบวนการลงคะแนนใช้วิธีการขานชื่อโดยเปิดเผยตามรายชื่อตัวอักษร ถ้าหากช่วงแรกเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญทิ้งห่างจำนวนมาก สปช.ครึ่งท้ายที่เป็นฝ่ายสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ และฝ่ายที่ยังลังเลอยู่อาจจะลงมติให้ฝ่ายไม่รับไปเลย เพื่อแสดงความเป็นเอกภาพของสปช.
ที่มา: ข่าวสด
6 กันยายน 2558
มติ สปช. 135:105 คว่ำ! ร่าง รธน. สายทหารไม่เห็นชอบเพียบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สปช. ลงมติเห็นชอบร่างรับธรรมนูญ 105 คน โดยส่วนใหญ่เป็น สปช. ที่เข้าไปเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เช่น นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ ไพบูลย์ นิติตะวัน มานิจ สุขสมจิตต์ ถวิลวดี บุรีกุล คำนูณ สิทธิสมาน เป็นต้น ขณะเดียวกันยังมี สปช. สายทหาร คือ พล.ร.อ.พจุณฑ์ ตามประทีป ร่วมลงมติเห็นชอบด้วย นอกจากนี้เป็นจรัส สุวรรณมาลา จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ ประมนต์ สุธีวงศ์ ปราโมทย์ ไม้กลัด รสนา โตสิตระกูล วสันต์ ภัยหลีกลี้ วุฒิสาร ตันไชย อลงกรณ์ พลบุตร เป็นต้น
ลง มติไม่เห็นชอบ 135 คน เช่น วันชัย สอนศิริ นิรันดร์ พันทรกิจ ชัย ชิดชอบ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ชัยอนันต์ สมุทวาณิช ดิเรก ถึงฝั่ง ดำรงค์ พิเดช ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นนทวัฒน์ บรมานันท์ เสรี สุวรรณภานนท์ อมร วานิชวิวัฒน์ และ สปช. สายทหารจำนวนมาก
งดออกเสียง 7 คน ได้แก่ เทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. ทัศนา บุญทอง รองประธาน สปช. เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง พล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์ กมธ.ยกร่างฯ เป็นต้น
ที่มา: สำนักข่าวอิศรา
“กมธ.ยกร่างฯ” ยอมรับการตัดสินใจของ สปช. ขณะที่ “บวรศักดิ์” ปฏิเสธร่วมเป็นกมธ.ยกร่างอีก
บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมด้วยกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงข่าวภายหลังสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญว่า ตนและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญยอมรับการตัดสินใจของสมาชิกสภาปฏิรูป แห่งชาติ (สปช.) และขอขอบคุณ สปช. ที่มีมติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ แต่ปฏิเสธแสดงความเห็นกรณี สปช. ไม่ให้ความเห็นชอบ ส่วนคำถามที่ว่า การลงมติครั้งนี้มีใบสั่งหรือไม่นั้น ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างฯ กล่าวว่า ขอให้สื่อมวลชนวิเคราะห์เอง พร้อมยืนยันว่า ได้ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญอย่างดีที่สุดแล้ว
บวรศักดิ์ ยังปฏิเสธที่จะไม่เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญอีก นอกจากนี้ยังขอให้ประชาชนจับตาดูว่าร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นใหม่จะทำให้ประชาชนเป็นใหญ่ได้หรือไม่
ที่มา สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา