NLA Weekly (7-12 ก.ย. 58): วางปฏิทินโรดแม็ปใหม่ เลือกตั้งช่วงมี.ค.-มิ.ย.60

NLA Weekly (7-12 ก.ย. 58): วางปฏิทินโรดแม็ปใหม่ เลือกตั้งช่วงมี.ค.-มิ.ย.60

เมื่อ 12 ก.ย. 2558
7 กันยายน 2558
 
อดีต สปช.สิระ บริจาคเงินเดือนคืน 1.7 ล้านบาท
 
สิระ เจนจาคะ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แถลงข่าวคืนเงินเดือนระหว่างทำหน้าที่สมาชิก สปช.ที่ผ่านมา 11 เดือนจำนวน 1.7 ล้านบาท ให้กับสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรตามที่ได้รับปากไว้ แต่ด้วยทางสำนักงานฯ ไม่มีระเบียบในการรับเงินดังกล่าวคืน ตนจึงจะนำเงินจำนวนนี้ไปบริจาคให้กับมูลนิธิ วัด และผู้ประสบปัญหาทั่วประเทศ
 
ด้านจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวชี้แจงว่า ไม่ได้ปฏิเสธการคืนเงินจากสิระ การคืนเงินให้รัฐสามารถทำได้ แต่ต้องเป็นในรูปแบบของการบริจาค ถ้ามอบให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ก็เป็นรายได้ของแผ่นดิน ซึ่งทางสำนักงานฯ จะดำเนินการส่งเงินคืนต่อกระทรวงการคลังต่อไป
 
 
เลขาสภาผู้แทนราษฎร เผย อยู่ระหว่างสรุปงบฯ  สปช.
 
จเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงประเด็นตัวเลขการใช้งบประมาณของ สปช.ทั้งหมด ในการทำงานช่วงดำรงตำแหน่งว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างสรุปตัวเลขของงบประมาณทั้งหมด ส่วนงบประมาณที่จะเตรียมให้กับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ คงต้องดูกฎหมายงบประมาณก่อน แต่เบื้องต้นได้ตั้งไปตามปกติ ลดจำนวนจากสมาชิก สปช. 250 คน เหลือเป็นสภาขับเคลื่อนฯ 200 คน โดยหลักเกณฑ์ต่างๆ จะใช้เหมือนกัน แต่จะขึ้นอยู่กับระเบียบใหม่ในเรื่องของสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นผู้ช่วยหรือที่ปรึกษา ก็ต้องดูอีกทีว่าจะมีการกำหนดใหม่อย่างไร ทั้งนี้สมาชิก สปช.จะไม่มีสิทธิ์เข้าเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา จะมีเฉพาะอดีต ส.ส. และ ส.ว. เท่านั้น ที่ได้รับสิทธิ์นี้   
 
 
 
8 กันยายน 2558
 
"วิษณุ" แจงปฏิทินโรดแม็ปใหม่ เลือกตั้ง มี.ค.-มิ.ย.60
 
พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม.ว่า วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ได้ชี้แจงในที่ประชุมถึงลำดับขั้นตอนและปฏิทินของการร่างรัฐธรรมนูญว่า เริ่มต้นในเดือนกันยายน-ตุลาคม 58 จะตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จากนั้นเดือนตุลาคม 58 - เมษายน 59 อยู่ในช่วงของการยกร่างรัฐธรรมนูญภายใน 6 เดือน เดือนเมษายน –สิงหาคม 59 เป็นขั้นตอนของการจัดทำประชามติ และประกาศใช้รัฐธรรมนูญในเดือนกันยายน 59 และในเดือนกันยายน-ตุลาคม 59 เป็นช่วงของการยกร่างกฎหมายลูก ภายใน 2 เดือน ซึ่งขั้นตอนนี้เป็นเรื่องที่ยาก
 
จากนั้นเมื่อส่งให้ สนช.ผ่านร่างกฎหมายลูกภายใน 3 เดือน และในเดือนกุมภาพันธ์ 60 ส่งกฎหมายลูกให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบภายใน 1 เดือน โดยขั้นตอนนี้ถือว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่จำเป็นต้องส่งให้ตรวจสอบ เนื่องจากจะมีการตั้งคำถามว่ากฎหมายที่ออกมามีความถูกต้อง ชอบธรรมอย่างไร จากนั้นในเดือนมีนาคม 60จึงเริ่มประกาศใช้กฎหมายลูกและเริ่มรณรงค์หาเสียงได้ ส่วนการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน 60 จากนั้นจะตั้งรัฐบาลใหม่ภายในระยะเวลา 1เดือนคือประมาณกรกฎาคม 60
 
ที่มา : เดลินิวส์
 
9 กันยายน 2558
 
ราชกิจจาฯ ประกาศกฎหมาย 16 ฉบับรวด
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 กันยายน ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่กฏหมายใหม่ 16 ฉบับ โดยเป็นพระราชบัญญัติ 11 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (ฉบับที่ 2), พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2558, พระราชบัญญัติโรคติดต่อพ.ศ.2558, พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ พ.ศ.2558, พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558, พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2558, พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558, พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างกิจการรถไฟฟ้า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง–สมุทรปราการ ในท้องที่อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ พ.ศ.2558, พระราชบัญญัติการผังเมือง (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558, พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่24) พ.ศ.2558, พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2558
 
ที่มา: ไทยรัฐ
 
 
สนช.แถลงผลงาน 1 ปี พิจารณากฎหมาย 143 ฉบับ
 
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงข่าวผลงาน สนช.ครบ 1 ปี เพื่อรายงานผลการดำเนินงานรอบ 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม 57- 7สิงหาคม 58 ว่า ผลงาน 1 ปี เป็นที่น่าพอใจ มีกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. 143 ฉบับ ส่วนใหญ่เป็นกฎหมายที่รัฐบาลเสนอมาเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน และนโยบายรัฐบาล
 
ส่วนการแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ 21 คน มาทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญนั้น ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ระบุว่า การร่างรัฐธรรมนูญให้รับฟังความเห็น สนช. ด้วย ได้หารือกับสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 ว่าต้องเตรียมการดำเนินการ อาจมีสมาชิก สนช. ไปร่วมเป็นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ1-2 คน เพื่อให้ทุกอย่างราบรื่น เพราะ สนช. ต้องมีหน้าที่พิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญด้วย
 
ที่มา:  ไทยรัฐ
 
10 กันยายน 2558
 
“วิษณุ” เผย ประธานกรรมการร่าง รธน. ควรเป็นนักกฎหมาย ไม่เลือกคนเห็นขัดแย้ง
 
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงคุณสมบัติ ผู้ที่จะมาทำหน้าที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ว่าต้องเอาตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.บอก เพราะท่านเป็นคนหา ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่เห็นเหมือน คสช. แต่คงไม่เลือกเอาคนที่เห็นขัดแย้ง ทั้งนี้ ตัวประธานคณะกรรมการร่างฯ ไม่มีที่ไหนเขียนเอาไว้ว่า ต้องเป็นนักกฎหมาย ในอดีตเคยมีนักรัฐศาสตร์ แต่ถ้าเป็นนักกฎหมายจะดี เพราะประธานเป็นคนคุมเกม บริหารจัดการประชุมได้ง่าย
 
วิษณุกล่าวอีกว่า เจตนารมณ์ของ คสช.ในการยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ คือ 1. มีการบริหารราชการแผ่นดิน 2. มีการปฏิรูป และ 3. มีปรองดองเกิดขึ้น เรื่องปรองดองเป็นเรื่องใหญ่ เพราะนายกฯ พูดหลายครั้ง ท่านนำไปผูกกับเหตุการณ์ด้วย ว่า โรดแม็ป 6+4+6+4 หรือ 20 เดือนนั้น มีโอกาสจะสั้นลงมาเป็น 10 เดือน 15 เดือนได้หากสถานการณ์บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อย มีความปรองดอง สามารถหาเสียงเลือกตั้งได้
 
ที่มา: ไทยรัฐ
 
11 กันยายน 2558
 
“วิษณุ” รับอาจแก้ รธน.ประเด็นประชามติรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ให้ใช้ฉบับเก่าแทน ด้านกมธ.ยกร่างฯ ชุดบวรศักดิ์ไม่ถูกตัดสิทธิการเมือง 2 ปี
 
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงข้อสังเกตเรื่องการทำประชามติในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวว่ายึดเสียง ข้างมากของผู้มีสิทธิหรือผู้ออกมาใช้สิทธิ จะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวหรือไม่ว่า ความจริงเรื่องดังกล่าวถือว่าชัดอยู่แล้ว ถ้ามีเพียงประเด็นนี้ประเด็นเดียวคงไม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ยกเว้นมีประเด็นอื่นซึ่งจำเป็นต้องแก้อีก อาจแก้ผสมไปพร้อมกันด้วยเพื่อให้เกิดความชัดเจนขึ้น       
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากประชามติรอบนี้ไม่ผ่าน เป็นไปได้หรือไม่ที่จะหยิบรัฐธรรมนูญฉบับใดขึ้นมาเป็นตัวตั้ง วิษณุกล่าวว่า เป็นไปได้ ส่วนจะใช้กี่ฉบับนั้นยังตอบไม่ได้ในเวลานี้ เพราะครั้งที่ 3 ไม่ควรทำประชามติแล้ว ถ้าจะทำอีกจะมีคำถามตามมาว่า ถ้าครั้งที่ 3 ไม่ผ่านอีกจะทำอย่างไรต่อ ใจคอจะเสีย 3 พันล้านบาทไปเรื่อยๆ แล้วไม่ได้อะไรเลย ประเทศเราไม่ได้รวยขนาดนั้น เมื่อมันไม่ไปสู่ประชามติอีก ก็ต้องมีมาตรฐานอะไรสักอย่างที่จะตอบประชาชนว่าทำไมไม่ทำประชามติ อาจเป็นเพราะได้เอาฉบับหนึ่งฉบับใดมาใช้แล้ว
       
เมื่อถามว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนดหลัง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญพ้นตำแหน่งแล้ว ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 2 ปี จะบังคับใช้กับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ด้วยหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวเขียนเอาไว้ว่า เวลาจะเขียนรัฐธรรมนูญฉบับถาวรให้เขียนเรื่องการห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2 ปีเอาไว้ด้วย จึงเป็นภาระของ กรธ.ที่ต้องไปเขียนเอาไว้ ส่วน กมธ.ยกร่างฯ ชุดนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ จะไม่ถูกห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2 ปี เพราะถือว่าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบ
 
 
เสนอชื่อ “นครินทร์ เมฆไตรรัตน์” เป็นว่าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 
 
คณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีการนัดประชุมเพื่อคัดเลือกนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประเภทผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์อื่นๆ ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านการบริหารราชการแผ่นดิน แทน นายเฉลิมพล เอกอุรุ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากมีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ โดยมีดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธาน พร้อมด้วยกรรมการ 2คน คือ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
 
จากการพิจารณาคุณสมบัติของผู้เข้ารับการสมัครทั้งสิ้น 10 คน ที่ประชุมมีมติเลือก ศาสตราจารย์นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี  57 เป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยได้รับคะแนนเสียง 2 ใน 3 จากจำนวนกรรมการเท่าที่มีอยู่ทั้งหมด ขณะที่นายวิทยา พานิชพงศ์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ได้รับการเสนอชื่อเพียง 1คะแนน
 
 
12 กันยายน 2558
 
เผยสัดส่วนสภาขับเคลื่อนฯ โควต้าสปช.คว่ำร่าง 44 คน ให้ทุกกระทรวงเสนอ 5 ชื่อ กลุ่ม 40 ส.ว.อีกบางส่วน
 
รายงานข่าวเปิดเผยกับมติชนว่า การแต่งตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จำนวน 200 คนนั้น คสช.จะแต่งตั้งในสัดส่วนที่มาจากอดีต สปช.ที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 44 คน โดยถือว่าเป็นเกรดเอ กลุ่มนี้นำโดย พล.ท.ฐิติวัจน์ กำลังเอก ที่จะขึ้นเป็น พล.อ.ในเดือนตุลาคมนี้ โดย พล.อ.ฐิติวัจน์มีบทบาทในการเคลื่อนไหวรวบรวมเสียง สปช.ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ นอกจากกลุ่ม 44 สปช.เกรดเอแล้ว ยังมีอดีต สปช.ที่รับร่าง รธน. 5-10 คน รวมถึงนายคำนูณ สิทธิสมาน อดีต สปช.และอดีต กมธ.ยกร่างฯสมาชิกสภาขับเคลื่อนฯอีกส่วนหนึ่งจะมาจากรายชื่อที่กระทรวงต่างๆ ส่งเข้ามารับการคัดเลือก กระทรวงละ 5 คน และจากกลุ่มอดีต 40ส.ว.บางส่วน
 
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า กระทรวงการคลังส่ง 5 รายชื่อ เพื่อเสนอให้นายกฯพิจารณาคัดเลือกเป็น สปท.ประกอบด้วย 1.ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล อดีตปลัดกระทรวงการคลังและอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 2.นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานวุฒิสภา และประธานรัฐสภา 3.นายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร ว่าที่ปลัดกระทรวงการคลัง4.นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และ 5.นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง
 
ที่มา: มติชน