NLA Weekly (13 - 18 ก.ย. 58): นายกฯ เผย ถ้าประชามติไม่ผ่านอาจยำรวม รธน. 40-50-ร่างกมธ.ที่ถูกคว่ำมาใช้

NLA Weekly (13 - 18 ก.ย. 58): นายกฯ เผย ถ้าประชามติไม่ผ่านอาจยำรวม รธน. 40-50-ร่างกมธ.ที่ถูกคว่ำมาใช้

เมื่อ 19 ก.ย. 2558
13 กันยายน 2558
 
อดีต สปช. นิรันดร์ หวั่นประชามติไม่ผ่าน เห็นด้วยแก้ รธน.ชั่วคราวรอบ 2
 
นิรันดร์ พันธกิจ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดเผยว่า ตนเห็นด้วยที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะประชุมหารือแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 37 วรรค 7 เรื่องการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเห็นว่ามาตรานี้อาจทำให้เกิดปัญหาขึ้นในอนาคตได้ เนื่องจากการตีความคำว่า “ผู้มีสิทธิ” กับ “ผู้มาใช้สิทธิ” ทั้งนี้หาก ครม.เห็นชอบให้แก้มาตราดังกล่าวแล้ว ตนเสนอว่า ให้แก้ในมาตราเดียวกันให้มีความชัดเจนว่า หากร่างรัฐธรรมนูญนี้ยังไม่ผ่านประชามติอีก ก็ให้หยิบรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งที่เคยประกาศใช้แล้วมาปรับแก้ไข โดยควรจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550
 
อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ยังกล่าวถึง การแต่งตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญว่า ไม่มีโควต้าสำหรับสมาชิก สปช. ทั้ง 2 ตำแหน่ง แต่ส่วนตัวมองว่าสมาชิก สปช. ทั้งที่ลงมติรับและไม่รับร่างรัฐธรรมนูญควรจะได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนฯอย่างน้อย 100 คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปทุกคณะ เพื่อจะได้เข้าไปร่วมสานต่อการทำงานให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากขึ้น
 
ที่มา: เดลินิวส์ 
 
อดีตรองประธาน กมธ.ยกร่างฯ ยัน ไม่เคยสัญญาห้าม กมธ.ยกร่างฯ เป็น กรธ.
 
มานิจ สุขสมจิตร อดีตรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญกล่าวถึงกรณีที่วัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้ทำตามสัญญาว่า กมธ.ยกร่างฯ ทั้ง 36 คน จะไม่กลับมารับตำแหน่งในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่า ตนไม่เคยสัญญา เพียงแค่พูดในรายการหนึ่งว่า ตนได้ยินบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกมธ.ยกร่างฯ บอกว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่าน จะไม่ขอกลับมาร่างรัฐธรรมนูญอีก ส่วนคนอื่นๆก็เป็นสิทธิของแต่ละคนที่จะตัดสินใจเอง ซึ่งเราไม่เคยมีการทำสัญญาประชาคมอะไรไว้ทั้งนั้น
 
ที่มา: เดลินิวส์ 
 
 
14 กันยายน 2558
 
“วิษณุ” ไม่ห้าม ตั้งทหาร นั่ง สปท.-กรธ. ย้ำ ต้องมีภูมิรู้ เข้าใจการเมืองไทย
 
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวนายกรัฐมนตรีจะทาบทามให้มาเป็นประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ว่า ไม่เปลี่ยนใจและไม่มีใครมาชวน สำหรับการคัดเลือกผู้ที่จะมาเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (สปท.) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นั้น วิษณุกล่าวว่าตนไม่ทราบ ส่วนที่มีข่าวว่านายกรัฐมนตรีมอบหมายให้แต่ละกระทรวงไปคัดเลือกคนมาเป็น สปท. ตนก็ไม่ทราบว่านายกฯไปคุยเป็นการส่วนตัวหรือไม่ แต่ในที่ประชุม ครม. นายกฯ ไม่มีการสั่งการใดๆ
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า การจะมีทหารเข้ามาเป็นทั้ง สปท.และ กรธ.นั้น ก็เข้ามาได้ ไม่ได้ห้ามอะไร เขากำหนดแค่ว่าต้องอายุ 40 ปีขึ้นไป ทั้งทหารเก่า หรือเกษียณก็สามารถเข้ามาได้ แต่เขาต้องรู้ว่า เข้ามาทำงาน ต้องมีความเข้าใจมิติใหม่ของการเมืองไทยในอดีต เพื่อจะได้เก็บสิ่งที่ดีที่สุดมาใช้ และต้องเข้าใจรัฐธรรมนูญที่เพิ่งตกไปล่าสุดด้วย แต่ถ้าเป็นทหารที่รับราชการอยู่ก็ต้องสละตำแหน่งราชการ หรืออาจไม่รับตำแหน่ง กรธ.ก็ได้
 
ที่มา: ผู้จัดการ 
 
นายกฯ เผย ถ้าประชามติไม่ผ่านอาจนำ รธน. 40-50- ร่างที่ถูกคว่ำ มารวมกัน 
 
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ให้สัมภาษณ์ภายในการเปิดงานประชุมทิศทางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ว่า ในสัปดาห์นี้จะพูดคุยถึงการตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) เพราะตนมีงานอย่างอื่นทำด้วย ไม่ได้ทำแต่การเมืองอย่างเดียว
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในสัดส่วนของสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จะมีสัดส่วนของนักการเมืองเข้าไปหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า แล้วแต่ว่าเขาจะมาหรือไม่ แต่ในส่วนของกรธ.นั้น คงไม่ต้อง เอาคนที่เขาร่างมาดีกว่า และทางนี้ก็เสนอความคิดเห็นเข้าไปซึ่งจะดีกว่า
 
เมื่อถามว่า การร่างรัฐธรรมนูญจะนำเอากรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญเข้ามาด้วยหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่รู้ ยังไม่ได้คิด แต่ตอนนี้ยังไม่มีคนเก่า คนเก่าเขาก็ทำไว้ดีแล้วซึ่งเป็นผลงานของ กมธ.และ สปช. ตนก็นำมาใช้ประโยชน์ ไม่ใช่ว่าทำแล้วใช้ไม่ได้ ใช้ได้ทั้งหมดเพียงแต่ว่า จะเอามาทำอย่างไรให้ราบรื่นและสามารถทำงานได้
 
เมื่อถามย้ำว่า กรณีที่วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าถ้าไม่ผ่านประชามติ เป็นไปได้หรือที่จะนำเอารัฐธรรมนูญฉบับเก่าฉบับใดฉบับหนึ่งมาเป็นตัวตั้งร่างรัฐธรรมนูญ นายกฯ กล่าวว่า ก็เป็นไปได้ โดยจะมีการนำเอารัฐธรรมนูญ ทั้งปี 40 และ 50 รวมถึงร่างของกมธ. ที่ตกไปมารวมกัน
 
ที่มา: ข่าวสด 
 
 
15 กันยายน 2558
 
“พรเพชร” เผย ถกแม่น้ำ 3 สาย นายกฯ ย้ำสเป็ก “สปท.” เป็นข้าราชการ-ผู้ทรงคุณวุฒิ-ทหาร ตำรวจ-อดีต สปช.
 
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังร่วมประชุมกับครม. คสช. สนช.ว่า นายกรัฐมนตรีได้กล่าวในที่ประชุม ให้แต่ละฝ่ายเสนอชื่อผู้ที่เหมาะสมเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เข้ามาพิจารณา โดยเน้นย้ำว่า สปท.จะต้องเข้ามาทำงานขับเคลื่อนการปฏิรูปต่อไป ซึ่งต้องอาศัยบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น 1.ข้าราชการประจำ แต่จะไม่เอาข้าราชการระดับบนสุด เพราะข้าราชการในส่วนนี้ต้องทำหน้าที่บริหารงานกระทรวง 2.ข้าราชการที่เกษียณอายุไปแล้วต่างรู้ดีว่า ควรจะขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาของประเทศอย่างไร 3.ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถโดยไม่ปิดกั้นว่าจะเป็นเสื้อสีใด พรรคการเมืองใด 4.ด้านความมั่นคง ทั้งทหาร ตำรวจ 5.เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปเดิม
 
ที่มา: ข่าวสด
 
 
16 กันยายน 2558
 
“วิษณุ” ชี้ ใช้ รธน. 40-50 เป็นตัวตั้งไม่ได้ เว้นแต่เอามายำกับร่างปี 58
 
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การย่นเวลาการร่างรัฐธรรมนูญให้สั้นลงมา จะมีคำตอบเมื่อเข้าสู่กระบวนการร่าง ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าตอนร่างจะใช้ฉบับไหนเป็นหลักหรือเริ่มจากศูนย์ ถ้าเริ่มจากศูนย์ต้องใช้เวลาเต็ม 6 เดือน แต่ถ้าเริ่มจากฉบับอื่นเป็นหลักจะเร็วขึ้น อย่างไรก็ตามการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ต้องมีทางออกให้ประชาธิปไตยไม่ให้มีทางตัน
 
เมื่อถามว่า การร่างรัฐธรรมนูญให้เร็ว สามารถใช้รัฐธรรมนูญฉบับใด มาเป็นตัวตั้งได้หรือไม่ วิษณุกล่าวว่า ถ้าหยิบฉบับใดฉบับหนึ่งขึ้นมาเลย 7 วัน สามารถร่างทำให้เสร็จได้ แต่จะตอบโจทย์อื่นไม่ได้ ถ้าหยิบรัฐธรรมนูญปี 50 ขึ้นมาแล้ว จะยึดอำนาจทำไม ขนาดบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกมธ.ยกร่างฯ ที่เป็นเลขานุการร่างรัฐธรรมนูญปี 40 ยังไม่หยิบมาใช้ หาก กรธ. จะไปยกปี 40 ขึ้นมา จะอธิบายกับสังคมได้อย่างไร ดังนั้น ควรหยิบบางส่วนของปี 40 ปี 50 และร่างปี 58 ที่แก้ปัญหาบางอย่างไป ซึ่งเป็นความเห็นส่วนตัวที่จะทำให้เร็วขึ้นได้ และออกมาดูดีด้วย
 
ที่มา: ไทยรัฐ 
 
 
17 กันยายน 2558
 
สนช.  รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติผ่านวาระ 1 รับหลักการร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 161 ไม่เห็นด้วย 4 งดออกเสียง 3 พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาร่างพระราชบัญญัติฉบับจำนวน 15 คน
 
สุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ชี้แจงว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว มีขึ้นเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยกำหนดให้ ไม่ให้นำพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับการเช่าที่ผู้เช่าเป็นนิติบุคคล รวมถึงห้ามคนต่างด้าวเช่าที่ดินเพื่อประกอบการเกษตรกรรม
 
ทั้งนี้ ที่ประชุมฯเห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เพราะให้ความเป็นธรรมกับผู้เช่าและผู้ให้เช่าอย่างเท่าเทียม แต่อย่างไรก็ตาม ได้มีข้อกังวลเกี่ยวกับการสวมสิทธิเช่าที่ดินหรือการแสวงหาผลประโยชน์ของกลุ่มทุนข้ามชาติ พร้อมกับมีการตั้งข้อสังเกตว่ามาตรา 5/2 ของร่างพระราชบัญญัตินี้ อาจขัดกับกฎหมายอื่น เนื่องจากตามพื้นฐานของกระทรวงพาณิชย์ ได้กำหนดเกณฑ์ห้ามบุคคล หรือนิติบุคคลต่างด้าวถือหุ้นเกินร้อยละ 50 ของทุนจดทะเบียน แต่ร่างพระราชบัญญัตินี้ กำหนดไว้ที่ร้อยละ 25 เท่านั้น
 
   
 
18 กันยายน 2558
 
ปัด "มีชัย" รับนั่งประธาน กรธ.
 
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวที่ว่ามีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตกลงใจรับเป็นประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่า ยังไม่ทราบข้อเท็จจริง  ต้องไปถามสื่อที่นำมาลงว่า นำข่าวมาจากไหนขณะนี้มีชัยอยู่ต่างประเทศ  เป็นตัวแทนรัฐบาลไปประชุมอธิบายข้อกฎหมายเกี่ยวกับประมงให้สหภาพยุโรป (EU)
 
เมื่อถามว่า แสดงว่าจะให้มีชัยเป็นคนตัดสินใจเอง วิษณุตอบว่า เอาให้แน่ก่อนว่ามีคนไปชวนนายมีชัย ไม่เช่นนั้นจะเหมือนนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่า ยังไม่มีใครมาเชิญ หากมาเชิญแล้วจะรับหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง