NLA Weekly (19 - 25 ก.ย. 58): รอนายกฯ เคาะ กรรมการร่าง รธน. 30 ก.ย. ลุ้น “มีชัย” นั่ง ประธาน

NLA Weekly (19 - 25 ก.ย. 58): รอนายกฯ เคาะ กรรมการร่าง รธน. 30 ก.ย. ลุ้น “มีชัย” นั่ง ประธาน

เมื่อ 26 ก.ย. 2558
19 กันยายน 2558
 
สนช. จัดสัมมนาสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประจำปี 2558
 
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) จัดสัมมนาประจำปี 2558 เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การทำงานในอนาคต และเผยแพร่ผลงานให้ประชาชนรับทราบสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจฐานราก ทั้งผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และภาคการเกษตรที่กำลังอ่อนแอ เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างภาคการส่งออกกับภาคการเกษตร โดยตั้งกองทุนหมู่บ้านและมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล
 
 
ด้านพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ระบุว่า ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา สนช.ได้พิจารณากฎหมายสำคัญของประเทศ จนมีผลบังคับใช้แล้วถึง 119 ฉบับ และจะเดินหน้าพิจารณากฎหมายที่จำเป็นต่อการบริหารประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจะร่วมกับทุกฝ่ายในการปฏิรูปประเทศให้เกิดความยั่งยืน
 
 
 
 
20 กันยายน 2558
 
"นันทวัฒน์" ปัดถูกทาบนั่ง กรธ. เชื่อ ร่างรธน.ครั้งนี้ใช้เวลาไม่มาก
 
นันทวัฒน์ บรมานันท์ อดีตสมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงกรณีมีชื่อเป็นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่า ยังไม่ทราบเรื่องนี้ เพราะยังไม่มีการทาบทาม และถ้าทาบทามมา ก็ต้องทาบทามมาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะตนเป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์ ถ้ามหาวิทยาลัยส่งไป ก็พร้อมไปทำหน้าที่ ทั้งนี้เชื่อว่าร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้คงใช้เวลาไม่มากเหมือนที่ผ่านมา เพราะอาจจะหยิบรัฐธรรมนูญปี 40 และ50 หรือฉบับของบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.) มาปรับแก้ก็ได้
 
นันทวัฒน์ ยังกล่าวถึงกรณีที่มีชื่อของมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ปรึกษา คสช. มาเป็นประธาน กรธ. ว่าส่วนตัวเห็นว่าคงไม่มีใครอยากเป็น เพราะเป็นองค์กรที่ทำงานลำบาก ดังนั้นถ้านายมีชัยจะรับเป็นประธาน กรธ. ก็คงเพราะความเกรงใจ แต่ถ้ารับก็ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะนายมีชัยเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ
 
ที่มา : มติชน
 
 
เลขาฯ คสช. ชี้ เคลื่อนไหวรำลึก19ก.ย. อาจผิด พ.ร.บ.ชุมนุมฯ แย้มเอาผิดย้อนหลัง
 
พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) เคลื่อนไหวรำลึกครบรอบเหตุการณ์ 9 ปีรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 19 กันยายน ว่า คสช.เปิดโอกาสให้มีการแสดงออกได้ ทั้งนี้พยายามไม่ให้เกิดปัญหาความไม่สงบเรียบร้อย แต่ตนคิดว่าอย่าไปทำเช่นนี้ต่อเนื่อง เนื่องจากว่าเรายังมี พ.ร.บ.การชุมนุมในพื้นที่สาธารณะอยู่ ดังนั้นสิ่งใดก็ตามที่ผิดกฎหมาย ผู้ที่ดำเนินการนอกกรอบกฎหมายก็ต้องรับผิดชอบ โดยทางเจ้าหน้าที่ได้บันทึกเหตุการณ์ไว้หมดแล้ว และจะมีการพิจารณาดำเนินการทางกฎหมายต่อไป ซึ่งจะเป็นหน้าที่เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการ
 
ที่มา : มติชน 
 
 
 
21 กันยายน 2558
 
"นายกฯ" สั่ง ทุกกระทรวง ศึกษาพิมพ์เขียวปฏิรูป "สปช."
 
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวถึงเรื่องการปฏิรูปว่าให้ทุกกระทรวงนำแผน ที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทำไว้แล้วมาศึกษารายละเอียด โดยแผนที่กระทรวงทำต้องมี 3 ส่วนคือ ทำได้เลย รอกฎหมาย และทำหลังจากมีรัฐธรรมนูญแล้ว
 
 
นายกฯ กล่าวต่อว่า เรามียุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ที่จะครอบการบริหารราชการแผ่นดินทั้งหมด ครอบเพื่อคนไทยทุกคน ไม่ได้ครอบเพื่อตนหรือรัฐบาลใหม่ หลังจากที่ตนออกไปแล้วก็จะมีการปฏิรูปต่อไป มีการเดินยุทธศาสตร์ชาติต่อไป ทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯต่อไป ในระยะเวลากี่ปีนั้น ก็สุดแท้แต่ประชาชนต้องการอะไร เพราะขึ้นอยู่กับการร่างรัฐธรรมนูญ อยู่กับการทำกฎหมายลูกและบทเฉพาะกาลด้วย
 
ที่มา : ไทยรัฐ 
 
 
ส่ง 68 อดีต สปช. ให้รัฐบาลคัดเข้า สปท. เน้นทำงานดี ทำงานจริง ทำงานเป็น
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนของอดีตสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) รัฐบาลได้ให้ผู้ใหญ่ใน สนช. คัดเลือกบุคคลที่เหมาะสม เพื่อมาทำงานด้านการปฏิรูปต่อ โดยให้ดูคุณสมบัติ ดังนี้ 1.ทำงานดี 2.ทำงานจริง 3.ทำงานเป็น ซึ่งได้มีการส่งรายชื่ออดีต สปช. จำนวน 68 คน โดยดูจากการทำงานในคณะกรรมาธิการวิสามัญ สปช. 18 คณะ และได้ส่งรายชื่อให้กับรัฐบาลไปแล้วเมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยบุคคลที่คาดว่าจะได้รับคัดสรรชื่อให้เข้ามาเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) อีกครั้ง เช่น สมบัติ ธำรงธัญวงศ์, ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์, นิรันดร์ พันทรกิจ, วันชัย สอนศิริ,เสรี สุวรรณภานนท์, พ.ต.อาณันย์ วัชโรทัย เป็นต้น
 
 
ขณะเดียวกัน พรรคการเมืองต่างๆเตรียมจะส่งสมาชิกพรรคเข้าร่วมดำรงตำแหน่งใน สปท. ด้วย โดยพรรคภูมิใจไทยจะส่งนายชัย ชิดชอบ อดีตประธานรัฐสภาและอดีต สปช. ด้านพรรคชาติพัฒนาจะส่ง พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร อดีต สปช. ขณะที่พรรคพลังชลเตรียมจะส่งสันตศักดิ์ จรูญ งามพิเชษฐ์ อดีตรมช.สาธารณสุขและอดีตส.ส.บัญชีรายชื่อเข้าร่วมเช่นกัน
 
 
ที่มา : เดลินิวส์ 
 
 
 
22 กันยายน 2558
 
กมธ.การศึกษาฯ สนช.เสนอ 4 ยุทธศาสตร์ ปฏิรูปการศึกษาไทย
 
 
คณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ร่วมหารือ แลกเปลี่ยนความเห็นกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เกี่ยวกับแนวทางปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทยว่าที่ผ่านมาการปฏิรูปการศึกษาจะมุ่งเน้นที่โครงสร้างการบริหารจัดการ แต่ในระยะต่อไปทุกภาคส่วนต้องคำนึงถึงตัวผู้เรียน รวมทั้งคุณภาพการศึกษาเป็นสำคัญ
 
 
คณะกรรมาธิการจึงได้กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปการศึกษาไว้ 4 แนวทาง ประกอบด้วย การปฏิรูปหลักสูตรและระบบการเรียนการสอน, การพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีความสอดคล้องกับประชาคมอาเซียน, การกระจายอำนาจสู่สถานศึกษาให้เป็นนิติบุคคลโดยสมบูรณ์ เกิดความเป็นอิสระในการบริหารจัดการศึกษา ควบคู่กับการวิจัยและพัฒนา, การปฏิรูปองค์กรทางการศึกษาให้มีธรรมาภิบาลในทุกระดับ
 
 
นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา ยังได้นำเสนอประเด็นที่มีความสำคัญต่อการปฏิรูปการศึกษา อาทิ ควรสนับสนุนให้กิจการลูกเสือเป็นหนึ่งในกลไกของการปฏิรูปการศึกษา โดยเพิ่มคาบเรียนวิชาลูกเสือให้เป็นวิชาบังคับ
 
 
 
 
24 กันยายน 2558
 
“วิษณุ” เผย “มีชัย” ขอคิด นั่ง ประธาน กรธ.
 
 
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าการสรรหาบุคคลมาเป็นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่า ได้พบกับบางคนแล้ว ซึ่งบางคนยังมีเงื่อนไขซึ่งกันและกันอยู่ เช่น หลายคนถามว่าใครเป็นประธาน ถ้าคนนั้นเป็นประธาน กรธ.ไม่เอา ถ้าคนนั้นเป็นประธาน กรธ.เอา รวมถึงขอรอเคลียร์คุณสมบัติ และบางคนคิดว่าร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ต้องเร่งรัด เขาก็ต้องไปคิดว่าเวลาเขามีพอไหม ถ้ารีบก็ต้องเห็นใจ เพราะสุดท้ายเขาก็ต้องลาออกจากงาน
 
 
เมื่อถามว่า ได้ทาบทามมีชัย ฤชุพันธุ์ สมาชิก คสช.แล้วหรือยัง วิษณุ กล่าวว่า เลยขั้นทักทายไปแล้ว ตนคุยกับมีชัยแล้ว ท่านบอกว่าขอคิดก่อนเพราะมีปัญหาเรื่องสุขภาพ ไม่อยากเข้ามาอยู่ในความวุ่นวายพวกนี้
 
 
รองนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึง คณะทำงานวิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญปี 58 ว่า คณะทำงานชุดนี้เมื่อทำการวิเคราะห์เสร็จก็จบหน้าที่ ไม่มีค่าตอบแทนหรือเบี้ยเลี้ยงการประชุม ผลวิเคราะห์ที่ได้ถือเป็นเรื่องประโยชน์ภายใน ไม่ถึงกับเป็นทางการ แค่เป็นข้อมูลเอาไว้ทราบเพื่อแก้อะไรบางอย่างเท่านั้น และไม่ถึงขนาดเอาไว้เป็นข้อมูลในร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเกิดขึ้น ไม่ได้ถามไปถึงว่าเนื้อหาสาระร่างรัฐธรรมนูญควรจะเป็นอย่างไร เพราะตรงนั้นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ทั้ง 21 คนต้องไปทำเอง ตรงนี้เพียงดูว่าปัญหาร่างรัฐธรรมนูญของบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญอยู่ตรงไหน
 
 
ที่มา : ผู้จัดการ 
 
 
สนช.รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาฯ 175 เสียง ปรับปรุงโทษปรับให้เกิดความเป็นธรรม
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การบังคับโทษปรับ การรอการกำหนดโทษและรอการลงโทษ และแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับโทษของผู้ใช้และผู้ถูกใช้) ตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ด้วยคะแนนเสียง 175 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี และงดออกเสียง 3 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุม 178 คน  พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาร่าง พ.ร.บ. จำนวน 21 คน กำหนดเวลาแปรญัตติ 7 วัน และกรอบระยะเวลาดำเนินงานภายใน 30 วัน
 
 
 
 
สนช.รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองการดำเนินงานของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติรับหลักการ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองการดำเนินงานของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ไว้พิจารณาด้วยคะแนน เห็นด้วย 165 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 2 เสียง และมอบหมายให้คณะกรรมาธิการการต่างประเทศเป็นผู้พิจารณา กำหนดระยะเวลาแปรญัตติ 5 วัน ระยะเวลาดำเนินงาน 30 วัน
 
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงถึงเหตุผลและความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองการดำเนินงานของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พ.ศ. 2551 ว่า เพื่อขยายขอบเขตความคุ้มครองการดำเนินงานของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ครอบคลุมบุคคลต่างๆ ในอาเซียน อาทิ เลขาธิการอาเซียน รองเลขาธิการอาเซียน พนักงานสำนักเลขาธิการอาเวียน ผู้เชี่ยวชาญ และเจ้าหน้าที่ของรัฐสมาชิก ที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับอาเซียนที่ปฏิบัติงานอยู่ในประเทศไทยให้ได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันตามที่ระบุไว้ในกฎบัตร และความตกลงว่าด้วยเอกสิทธิ์และความคุ้มกันของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเสียงใต้ ที่รัฐบาลไทยได้ลงนามไปเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2552 พร้อมกันนี้ได้รับข้อเสนอของสมาชิก สนช. ที่เสนอให้ตั้งศูนย์วัฒนธรรมการเรียนรู้อาเซียนอย่างยั่งยืนในประเทศไทย ไปหารือกับรัฐบาลต่อไป
 
 
 
 
 
สนช. พิจารณาวาระ1 ร่าง พ.ร.บ. องค์การมหาชน หวังปรับปรุงระบบบริหาร 38 องค์การมหาชน ให้มีประสิทธิภาพ 
 
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)  พิจารณาวาระ 1 ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์การมหาชน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....   ตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอ     โดยวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี  ชี้แจงหลักการต่อที่ประชุมฯ ว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีขึ้นเพื่อปรับปรุงแก้ไขสิ่งที่เคยเป็นปัญหาใน  พ.ร.บ. องค์การมหาชน พ.ศ. 2542   ที่ใช้มานาน 16 ปี   ให้ก้าวทันและสอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน  และสามารถบริหาร 38 องค์การมหาชน ที่มีอยู่ในขณะนี้  ให้มีประสิทธิภาพตามหลักการบริหารงานภาครัฐแบบใหม่   พร้อมชี้ องค์การมหาชนจำเป็นอย่างยิ่งกับประเทศไทย  จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาการปรับโครงสร้างต่าง ๆ อย่างรอบคอบ   ทั้งนี้ กฎหมายฉบับนี้ ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน (กพม.) เพื่อเป็นเจ้าภาพ ในการรับผิดชอบในการเสนอแนะนโยบาย แนวทางการดำเนินงาน การพัฒนา และหลักเกณฑ์กลางเกี่ยวกับการจัดตั้ง การรวม และการยุบเลิกองค์การมหาชนต่อคณะรัฐมนตรี   รวมถึงปรับปรุงคุณลักษณะ และผู้อำนวยการขององค์การมหาชนให้เหมาะสม   ตลอดจนกำหนดแนวทางการปฏิบัติงานขององค์การมหาชนให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล
 
 
จากนั้น ในช่วงบ่าย ที่ประชุมฯ จะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต / ร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม /และ ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ
 
 
 
 
25 กันยายน 2558
 
 
สนช. ตั้งกรรมาธิการสอบประวัติ 2 ว่าที่กรรมการสิทธิฯ
 
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีมติตั้งคณะกรรมาธิการสามัญจำนวน 17 คน เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม ของเตือนใจ ดีเทศน์ และชาติชาย สุทธิกลม ผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแทนตำแหน่งที่ว่าง
 
นอกจากนี้ ยังได้มีการพิจารณาขอเสนอแต่งตั้งคณะกรรมาธิการสามัญศึกษา เพื่อปรับปรุงแก้ไขข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2557 โดยให้คณะกรรมาธิการฯ ชุดดังกล่าวทำหน้าที่พิจารณาศึกษาและรวบรวมปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติงาน นำผลการพิจารณาไปปรับปรุงแก้ไขข้อบังคับการประชุม เพื่อให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพ โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบด้วยคะแนน 147 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 4 เสียง ให้ตั้งคณะกรรมาธิการฯ เข้ามาทำหน้าที่
 
 
ที่มา : ผู้จัดการ 
 
 
"ประวิตร" อุบ เพื่อไทยร่วมเป็น สปท. เผย เสนอชื่อมามากแล้ว รอนายกฯ เคาะ
 
 
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการคัดเลือกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ (สปท.) ว่า ขณะนี้มีส่งรายชื่อมามากแล้ว แต่ยังไม่ได้คัดเลือก รอนายกรัฐมนตรีกลับมาก่อน ในส่วนที่มีรายชื่อของสมาชิกพรรคเพื่อไทย ใน สปท. นั้น ยังไม่เห็นว่าเป็นชื่อใคร ส่วนจะใช่ นายสุชน ชาลีเครือหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ