5 ตุลาคม 2558
นายกรัฐมนตรีลงนามแต่งตั้ง กรธ. 21 คน พร้อมวางกรอบรัฐธรรมนูญต้องเป็นที่ยอมรับ-ปฏิรูปและปรองดอง-ป้องกันทุจริต-เน้นกลไกมีส่วนร่วม
วิษณุ เครืองาม แถลงผลประชุมคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ คสช. ถึงผลการแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญว่า ที่ประชุมมีมติแต่งตั้งมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) พร้อมแต่งตั้ง กรธ. อีก 20 คน และมีมติแต่งตั้งสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จำนวน 200 ตามรายชื่อที่เสนอขึ้นมา
ประกอบด้วยรายชื่อต่อไปนี้ 1. มีชัย ฤชุพันธุ์ สมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 2. กีระณา สุมาวงศ์ 3. จุรี วิจิตรวาทการ 4. ชาติชาย ณ เชียงใหม่ 5. ธนาวัฒน์ สังข์ทอง 6. ธิติพันธ์ เชื้อบุญชัย 7. เธียรชัย ณ นคร 8. นรชิต สิงหเสนี 9. พล.อ.นิวัติ ศรีเพ็ญ 10. ปกรณ์ นิลประพันธ์ 11. ประพันธ์ นัยโกวิท 12. ภัทระ คำพิทักษ์ 13. ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์14. พล.ต.วิระ โรจนวาศ 15. ศุภชัย ยาวะประภาษ 16. สุพจน์ ไข่มุกด์ 17. อมร วาณิชวิวัฒน์ 18. อภิชาต สุขัคคานนท์ 19. อุดม รัฐอมฤต 20. อัชพร จารุจินดา 21. พล.อ.อัฏฐพร เจริญพาณิช
ทั้งนี้ กรอบการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ได้แก่ 1.เป็นที่ยอมรับของสากล ขณะเดียวกันต้องสอดคล้องกับปัญหา ประเพณี วิถีชีวิตของคนไทยที่มีหรือเป็นอยู่ 2.ต้องมีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการปฏิรูปและสร้างความปรองดอง 3.ให้มีมาตรการป้องกันไม่ให้ฝ่ายการเมืองแสวงหาผลประโยชน์โดยใช้เงินของแผ่นดินไปอ่อยเหยื่อกับประชาชนเพื่อสร้างความชอบธรรม 4.มีแนวทางขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างมีประสิทธิภาพ 5.สร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในประชาธิปไตยและการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ
3 สมาคมธุรกิจส่งออก ยื่น สนช. เร่งแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติศุลกากร
ตัวแทนสมาคมตัวแทนออกของรับอนุญาตไทย สมาคมชิปปิ้งแห่งประเทศไทย และสมาคมตัวแทนออกของอิเล็กทรอนิกส์ไทย ยื่นหนังสือต่อสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เรียกร้องให้ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติศุลกากร เพื่อให้เกิดความโปร่งใสต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ ที่อาจส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบการ
โดยการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติศุลกากร ต้องคำนึงถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยต้องเป็นกฎหมายที่เป็นยอมรับของนานาชาติ และส่งเสริมให้ประเทศไทยสามารถเพิ่มมูลค่าทางสินค้าผ่านชายแดนได้ เพื่อรองรับการขยายตัวทางธุรกิจในอนาคตพระราชบัญญัติศุลกากรฉบับใหม่ต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยการส่งเสริมการผลิต การค้า การท่องเที่ยว ตามแนวเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตามชายแดน
6 ตุลาคม 2558
"อำนวย นิ่มมะโน" เข้ารับตำแหน่งสมาชิก สปท. พร้อมปฏิรูปตำรวจและสมัคร ป.ป.ช. ควบคู่
พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 เข้ารับตำแหน่งสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มุ่งปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจให้ปลอดการเมือง ทั้งนี้ พล.ต.ท.อำนวย ย้ำว่า การสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ(ป.ป.ช.) ของตนก่อนได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้วยว่า การจะทำหน้าที่ทั้งสอง ไม่ขัดกฎหมายจึงไม่จำเป็นต้องถอนตัวจากการสมัครรับการสรรหาเป็น ป.ป.ช. โดยเฉพาะในช่วงที่มีความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ปี 2551 ตนทำหน้าที่จนได้รับฉายา "นวยทนได้" ทั้งหมดนี้จึงเป็นคุณสมบัติที่ตนมีรวมถึงความเป็นกลาง
วันชัย สอนศิริ เตรียมเสนอกรอบการทำงานของ สปท. เน้นเรื่อง ปฏิรูปการเลือกตั้ง-แก้ทุจริต-การบริหารราชแผ่นดิน-ปกครองท้องถิ่น และปฏิรูปตำรวจ
วันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการแสดงตนเป็นสมาชิก สปท. ถึงกรอบการทำงานของ สปท. ว่า การทำงานของ สปท. จะต้องแตกต่างไปจาก สปช. โดยเบื้องต้นตนเตรียมเสนอให้ สปท. นำเรื่องวาระการปฏิรูปประเทศทั้ง 37 วาระ และวาระการพัฒนาที่ สปช. เคยเสนอไว้มาพิจารณาดำเนินงาน โดยไม่จำเป็นต้องทำให้ครบทั้ง 37 วาระ เพราะบางวาระจะต้องใช้เวลานานกว่าจะปฏิรูปสำเร็จ ทั้งนี้ตนเห็นว่ามีเพียง 5 เรื่องที่ สปท. ต้องดำเนินการขับเคลื่อนการปฏิรูปให้แล้วเสร็จโดยเร็วคือ 1. การปฏิรูปการเลือกตั้งให้ได้ผู้นำและนักการเมืองที่เป็นคนดีมาบริหารบ้านเมือง 2.การควบคุมการใช้อำนาจรัฐเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น 3. การบริหารราชการแผ่นดิน 4.การปกครองส่วนท้องถิ่น และ 5.การปฏิรูปโครงสร้างตำรวจ
ประธาน กรธ. ยอมรับมีเวลาร่าง รธน. จำกัด แต่ยังไม่คิดแก้ รธน.ชั่วคราวขยายเวลา
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดว่าจะนำรัฐธรรมนูญฉบับใด หรือร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่อดีตคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมาพิจารณาเป็นต้นแบบ ต้องรอหารือกันในที่ประชุม กรธ. อีกครั้ง เพราะไม่สามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเอง หรือตัดสินใจล่วงหน้าได้ แต่มีความกังวลต่อระยะเวลาการทำงาน ที่ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 กำหนดทำให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง และจะครบกำหนดที่ต้องทำรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จในวันที่ 1 เม.ย. 59 ดังนั้นหากนับระยะเวลาทำงานจะเหลือเวลาทำงานเพียง 179 วัน และหากนับภาพรวมการทำงานที่หักวันหยุดราชการ ที่มียอดรวม 56 วัน จะเหลือวันทำงานจริงประมาณ 120 วัน ซึ่งอาจจะไม่พอ แต่ต้องทำให้เสร็จ และยังไม่คิดว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 เพื่อขยายวันทำงาน เพราะต้องทำภายใต้กรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้
"อลงกรณ์ พลบุตร" เข้าแสดงตนเป็น สปท. พร้อมสานต่องาน สปช. เดิม
อลงกรณ์ พลบุตร เข้าแสดงตนเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่่อนการปฏิรูปประเทศพร้อมเปิดเผยว่า การทำหน้าที่ของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ จะเป็นการต่อยอดจากพิมพ์เขียวจากที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้มีข้อเสนอการปฏิรูปที่ครอบคลุมทั้ง 11 สาขา ใน 18 ด้าน โดยสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศจะต้อง ดำเนินการต่อให้เกิดความสมบูรณ์ ทั้งนี้ เห็นว่าสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ล้วนประกอบด้วยคนที่มีความรู้ ความสามารถ
อลงกรณ์ กล่าวด้วยว่า โจทย์ใหญ่ของประเทศมี 3 เรื่อง คือการปฏิรูปในทุกด้าน ช่วยกันในการสร้างความปรองดองและแก้ปัญหาความแตกแยก และการขับเคลื่อนประเทศหลังการเลือกตั้ง เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า จะไม่เกิดวิกฤติทางการเมืองที่ใช้อำนาจรัฐเกินขอบเขต รวมถึงแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น
โฆษก กรธ. เผย จะเห็นร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกมกราคม 59 แล้วเชิญประชาชน-พรรคการเมืองให้ความเห็น
อมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ แถลงผลการประชุมกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นัดแรก ว่า การประชุมในวันนี้ได้มีการพิจารณาเลือกตั้งตำแหน่งรองประธาน และตำแหน่งอื่นๆ ที่สำคัญๆ โดยที่ประชุมมีมติเลือกสุพจน์ ไข่มุกด์ เป็นรองประธานกรรมการ คนที่หนึ่ง อภิชาต สุขัคคานนท์ เป็นรองประธานกรรมการ คนที่สอง และมีมติเลือกปกรณ์ นิลประพันธ์และนายธนาวัฒน์ สังข์ทอง เป็นเลขานุการกรรมการ พร้อมกันนี้ยังมีมติเลือก อมร วาณิชวิวัฒน์ และนรชิต สิงหเสนี โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ ที่ประชุม กรธ. มีมติตั้งอนุกรรมการจำนวน 2 ชุด คือ อนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์ และอนุกรรมการด้านการรับฟังความคิดเห็น เพื่อดำเนินงานในส่วนการประชาสัมพันธ์และการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ในการร่างรัฐธรรมนูญ โดยร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกจะแล้วในเดือนมกราคม ปี 59 หลังจากนั้นจะเผยแพร่ต่อประชาชนและพรรคการเมือง เพื่อเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นและขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญมายังคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ
7 ตุลาคม 2558
"สุชน ชาลีเครือ" รายงานตัว สปท. เผย อาจมีนิรโทษกรรมสร้างความปรองดอง
สุชน ชาลีเครือ เข้าแสดงตนเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ โดยบทบาทการทำงาน สปท.หลังจากนี้จะยึดแนวทางตามกรอบรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ที่ต้องขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศภายใต้การปฏิรูป 18 ด้าน และต้องดำเนินการเป็นองค์คณะ อย่างไรก็ตามการปฏิรูปที่สำคัญที่อยากเร่งดำเนินการคือการสร้างความปรองดองสมานฉันท์
ส่วนการนิรโทษกรรมก็น่าจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะสานงานต่อจากคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง ของ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พร้อมกับมองว่า ความหลากหลายของสมาชิก สปท. น่าจะเป็นเรื่องที่ดีในการทำงาน ซึ่งแต่ละคนก็มีความรู้ความสามารถ ที่มีศักยภาพในตัวเองจะช่วยนำมาพัฒนาประเทศได้
8 ตุลาคม 2558
แกนนำ กปปส.-พันธมิตรฯ แสดงตนเป็น สปท. เน้นปฏิรูปแรงงาน การเมืองโปร่งใส
วิทยา แก้วภราดัย แกนนำกลุ่ม กปปส. ในฐานะสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวภายหลังการแสดงตนเป็น สปท. ว่า การตัดสินใจเข้ามาทำหน้าที่ สปท. ครั้งนี้ก็เพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของกลุ่ม กปปส. ที่เคยผลักดันให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ดังนั้น สิ่งที่ตนจะเตรียมผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างแรกคือ การปฏิรูประบบการเลือกตั้งที่โปร่งใส ยุติธรรม และปราศจากการซื้อสิทธิขายเสียง
ด้านศิริชัย ไม้งาม แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ก็ได้เดินทางมาแสดงตนเป็น สปท. แล้วเช่นกัน โดยศิริชัย กล่าวแสดงความขอบคุณที่ให้ตนมีโอกาสได้รับการคัดเลือกเป็น สปท. ส่วนการทำงานในภาคประชาชน ตนถือเป็นสัดส่วนตัวแทนแรงงานจำนวนน้อย จึงตั้งใจจะมาทำงานผลักดันปฏิรูปด้านแรงงานทั้งระบบ
“กษิต ภิรมย์” ยอมรับ นั่ง สปท. ในโควตาพรรคประชาธิปัตย์
กษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าแสดงตนเป็น สปท. ในโควตาของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งได้รับการทาบทามจากอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โดยแนวทางการทำงานต่อไปในฐานะสมาชิก สปท. ตนจะยึดถือแนวทาง ของ คสช. เป็นหลักในการปฏิบัติงาน โดยสิ่งสำคัญสำหรับการทำหน้าที่ในครั้งนี้คือ การมุ่งเน้นส่งเสริมศีลธรรม จริยธรรมตั้งแต่เด็กไปจนถึงระดับนักการเมือง พร้อมทั้งให้ความสำคัญต่อการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นหลัก
"เลิศรัตน์ รัตนวานิช" เข้าแสดงตนเป็น สปท. พร้อมสานงานปฏิรูปต่อจาก สปช.
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช เข้าแสดงตนเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) พร้อมกล่าวว่า ตนยินดีที่ได้กลับเข้ามาทำหน้าที่ในงานปฏิรูปประเทศอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในฐานะสมาชิก สปท. ขอยืนยันว่าจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด โดยมองว่างานปฏิรูปประเทศเป็นสิ่งสำคัญที่จะแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้งนี้การทำงานร่วมกันของ สปท. ต้องวางระเบียบข้อบังคับการประชุม ให้ชัดเจน เพราะการประชุมเป็นหัวใจสำคัญของการของการขับเคลื่อน ซึ่ง สปท. มีระยะเวลาในการทำงานเพียง 20 เดือน ดังนั้นจะต้องพิจารณากันต่อไปว่าควรจะมีการแต่งตั้งกรรมาธิการวิสามัญหรือไม่
ทั้งนี้ แนวทางการปฏิรูปว่า จะต่อยอดจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพราะบางอย่างที่ สปช. ทำนั้นเป็นประโยชน์ และบางเรื่องจะต้องริเริ่มขึ้นมาใหม่ โดยมองว่าการปฏิรูปไม่ได้เน้นเรื่องไหนมากกว่ากัน เพราะทุกเรื่องคือเรื่องสำคัญ
สนช.มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ ด้วยคะแนน 178 เสียง
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัว (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ด้วยคะแนน 178 เสียง โดยมีข้อเสนอแก้ไข 3 ประเด็นได้แก่ หนึ่ง กำหนดคุณสมบัติของบุคคลผู้มีสิทธิ์สมัครเป็นผู้พิพากษาสมทบโดยระบุให้ต้องมีอายุ 35-75 ปี ดำรงตำแหน่งถึงอายุ 80 ปีจากเดิมที่ต้องมีอายุอย่างน้อย 35 ปี โดยไม่มีข้อจำกัดอายุสูงสุด สอง กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งจากเดิม 3 ปี 2 วาระ เป็น 5 ปี ไม่จำกัดว่าจะดำรงตำแหน่งกี่วาระ โดยกำหนดไว้ในกฎหมายว่า เมื่อทำหน้าที่ครบ 3 ปีจะต้องตรวจสุขภาพเพื่อป้องกันปัญหาที่ตามมาในภายหลัง และ สาม กำหนดอายุให้พ้นจากตำแหน่งเมื่ออายุ 80 ปี ทั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนผู้พิพากษาสมทบ
ขณะสมาชิกในที่ประชุมได้อภิปรายประเด็นที่ขอแก้ไขในเรื่องคุณสมบัติผู้สมัคร วาระการดำรงตำแหน่งและการกำหนดอายุ กันอย่างหลากหลายโดยมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย อาทิ อายุขั้นต่ำของผู้สมัครเป็นผู้พิพากษาสมทบควรที่จะมากกว่า 35 เพราะต้องใช้ประสบการณ์ในการทำหน้าที่ และไม่เห็นด้วยที่ขยายวาระการดำรงตำแหน่งเป็น 5 ปีไม่จำกัดการดำรงตำแหน่ง เพราะไม่ควรกำหนดอายุพ้นจากตำแหน่ง 80 ปี เห็นว่า 70-75 ปีก็เพียงพอแล้ว และตำแหน่งผู้พิพากษาสมทบถือเป็นตำแหน่งที่ให้คุณให้โทษกับบุคคลได้ พร้อมได้เสนอแนะให้มุ่งเน้นพัฒนาในเรื่อง จริยธรรม การปฏิบัติหน้าที่ควรให้ความสำคัญเรื่องการรักษาวินัยของผู้พิพากษา ต้องรู้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ต้องมีความพร้อมในการปฏิบัติงาน และการทำงานต้องไม่มีอคติส่วนบุคคลให้กับผู้พิพากษาสมทบด้วย
ประธาน สนช. ระบุ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อทำประชามติต้องเสร็จก่อนร่างรัฐธรรมนูญ
ศ.พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้สัมภาษณ์ถึงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 เพื่อการทำประชามติ ว่า เรื่องดังกล่าว คณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) จะต้องได้ข้อสรุปก่อนและส่งเรื่องมายัง สนช. เพื่อพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติม ทั้งนี้กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราวจะต้องแล้วเสร็จก่อนการร่างรัฐธรรมนูญ เพราะต้องทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ร่างเสร็จแล้ว ซึ่งจะอยู่ในกรอบ 180 วัน
ประธาน สนช. ยังกล่าวถึงกรณีที่มีสมาชิก สปท. สมัครเพื่อรับการสรรหาบุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระด้วยว่า ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราวไม่ได้ห้ามไว้ ดังนั้นก็ไม่ผิดแต่อย่างใด
9 ตุลาคม 2558
สนช.มีมติเห็นชอบให้ "นครินทร์ เมฆไตรรัตน์" เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ทรงคุณวุฒิ
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติด้วยวิธีลงคะแนนลับเห็นชอบให้ ศ.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผู้ทรงคุณวุฒิ ด้วยเสียง 158 เสียง ไม่เห็นด้วย 6 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 168 คน สำหรับมติดังกล่าวมีขึ้นหลัง เฉลิมพล เอกอุรุ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากมีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์
ทำให้คณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มี ดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธาน ดำเนินกระบวนการสรรหา และมีมติคัดเลือก เฉลิมพล จากจำนวนผู้สมัครเข้ารับการสรรหา 10 คน จากนั้นมอบหมายให้คณะกรรมาธิการสามัญตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มี พล.อ.อู๊ด เบื้องต้น เป็นประธาน ดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติ แลกเปลี่ยนความเห็น
โฆษก กรธ. เผย ที่ประชุมมีมติตั้ง “คณะอนุกรรมการยกร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ”
โฆษก กรธ. ระบุที่ประชุม กรธ. จะวางกรอบการร่างรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราวเสร็จภายในวันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม 2558 พร้อมมีมติแต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการยกร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ” เพื่อดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญตามมติของที่ประชุม ซึ่งเป็นไปตามกรอบแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีอัชพร จารุจินดา เป็นประธานอนุกรรมการ ส่วนการแต่งตั้งที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ นั้น ขณะนี้มีการแต่งตั้งเรียบร้อยแล้ว ซึ่งประกอบด้วย 1. เจษฎ์ โทณะวณิก 2. ศาสตราจารย์สมคิด เลิศไพฑูร์ย์ และ 3.กาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์