10 ตุลาคม 2558
“นายก” ชี้ ต้องเขียนรัฐธรรมนูญแก้เผด็จการรัฐสภา ปัด คสช.ใช้มาตรา 112 ทำลายฝ่ายตรงข้าม
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้อ่านสารจากใจพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถึงประชาชน ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย โดยมีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า คสช.ได้ให้แนวทางการร่างรัฐธรรมนูญต่อคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้เอาปัญหาที่ผ่านมาเป็นโจทย์หาวิธีแก้ด้วยกระบวนการประชาธิปไตยที่เหมาะสม ไม่เอาประชาธิปไตยหรือเสรีภาพที่ไร้ขอบเขตเป็นตัวตั้ง เพราะหากทุกคนไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ อ้างแต่เสรีภาพ โดยไม่คิดถึงผู้อื่น บ้านเมืองก็จะไม่มีเสถียรภาพ ส่วนการรับฟังความคิดเห็นนั้น ต้องทำต่อเนื่องจากที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญดำเนินการไว้ โดยรับฟังจากทุกฝ่าย ขอให้ทุกภาคส่วนแสดงความเห็นตามช่องทางที่ กรธ. จัดไว้ ดีกว่าแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อมวลชน เพราะอาจทำให้สังคมสับสน และสิ่งจำเป็นที่ต้องมีในรัฐธรรมนูญคือการแก้ไขเผด็จการรัฐสภาและการทุจริต มีการตรวจสอบถ่วงดุล
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า การปฏิรูปทุกมิติอาจใช้เวลานาน 1-2 ปี ไม่อาจเสร็จสิ้น ขณะที่ คสช. ไม่ได้ต้องการอยู่ถึงการปฏิรูปเสร็จสิ้น แต่ต้องเริ่มเพื่อวางรากฐานแล้วส่งต่อให้รัฐบาลต่อไปโดยมีกลไกควบคุมให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แต่ต้องไม่ก้าวก่ายการบริหารแผ่นดินของรัฐบาลในขณะนั้น ส่วนการดำเนินคดีละเมิดสถาบันหลักของชาติตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีการกล่าวหาว่า คสช. ใช้ทำลายฝ่ายตรงข้ามนั้น ส่วนราชการโดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงพยายามแก้ปัญหาอย่างเต็มที่ แต่เมื่อสามารถจับกุมผู้ทำผิด กลับมีการสร้างเครือข่ายต่อต้าน โดยอ้างหลักสิทธิมนุษยชนแล้วหลบหนีไปต่างประเทศ
“กรธ.”ตั้งคณะทำงาน 2 ชุด ศึกษาการปฏิรูป-ปรองดอง
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรธ.ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาอีก 2 ชุด คือ 1.คณะทำงานศึกษาด้านการปฏิรูป 2.คณะทำงานศึกษาด้านการสร้างความปรองดอง โดยคณะทำงานศึกษาด้านการปฏิรูปส่วนใหญ่ประกอบด้วย กรธ.ด้านวิชาการ เช่น จุรี วิจิตรวาทการ, ชาติชาย ณ เชียงใหม่ เป็นต้น ขณะที่คณะทำงานเรื่องการสร้างความปรองดอง ได้แก่ อมร วาณิชวิวัฒน์, พล.อ.อัฏฐพร เจริญพานิช, พล.อ.นิวัติ ศรีเพ็ญ พล.ต.วิระ โรจนวาศ เป็นต้น ทั้งนี้ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. มอบหมายคณะทำงานทั้ง 2 คณะ ไปศึกษาเพื่อหาแนวทางการสร้างความปรองดองและการปฏิรูปที่สามารถทำให้เป็นจริงได้ในทางปฏิบัติและนำมาเสนอต่อ กรธ.เพื่อพิจารณากำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญต่อไป ขณะเดียวกัน มีชัยเตรียมทำหนังสือให้ภาคเอกชนและกลุ่มวิชาชีพจัดทำความเห็นเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญมาให้กรธ. จากเดิมที่จะขอความเห็นจากพรรคการเมือง รัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)เท่านั้น
พ.ร.บ.ประกันสังคมใหม่มีผลบังคับใช้ 20 ต.ค.นี้ เพิ่มสิทธิประโยชน์เพียบ
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ปรับปรุงพ.ร.บ.ประกันสังคมให้มีสิทธิประโยชน์ ครอบคลุมสำหรับผู้ประกันตนมากขึ้น ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป สิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นมานั้น ครอบคลุมหลายกรณี ทั้งกรณีผู้ประกันตนเจ็บป่วยตาย ทุพพลภาพ ว่างงาน คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร และที่สำคัญคือ มีการกำหนดให้มีคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อกำกับดูแลความโปร่งใสเพิ่มขึ้นมา ซึ่งมีมาตรฐานจากเดิมที่ไม่เคยมีมาก่อน โดย อีกทั้งผู้ที่จะเข้ามาเป็นคณะกรรมการประกันสังคมจะต้องมีคุณสมบัติตามระเบียบที่กำหนดและต้องแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า สิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นมานั้น ผู้ประกันตนที่ทำให้ตนเองบาดเจ็บ ทุพพลภาพ และตาย หรือสูญเสียสมรรถภาพทางร่างกายไม่ถึงร้อยละ 50 จะได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนจากเดิมไม่ได้รับสิทธิ พร้อมทั้งยังให้ผู้ทุพพลภาพก่อนวันที่ 31 มีนาคม 2538 ที่สำนักงานประกันสังคมมีการแก้ไขกฎหมายขยายความคุ้มครองผู้ทุพพลภาพ ส่งผลให้ผู้ทุพพลภาพ 2 กลุ่ม ได้รับสิทธิประโยชน์ไม่เท่ากัน คือกลุ่มหนึ่งได้รับสิทธิประโยชน์เพียง 15 ปี และอีกกลุ่มได้รับตลอดชีวิตให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตลอดชีวิตเท่าเทียมกัน อีกทั้งยังได้เพิ่มความคุ้มครอง กรณีนายจ้างหยุดกิจการชั่วคราว เนื่องจากเหตุสุดวิสัยโดยยังไม่มีการเลิกจ้าง อาทิ โรงงานถูกน้ำท่วม จากเดิมที่ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับเมื่อถูกเลิกจ้างหรือลาออกเท่านั้น ทั้งนี้ผู้ประกันตนที่ต้องการตรวจสอบสิทธิประโยชน์ต่างๆ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคม หรือเว็บไซต์ www.sso.go.thและโทรศัพท์สายด่วน 1506
11 ตุลาคม 2558
“กรธ.” ยัน ม.ค.59 ได้เห็นร่างแรกรัฐธรรมนูญ
อมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงการทำงานของ กรธ.ว่า วันที่ 12 ตุลาคม ที่ประชุมกรธ.จะพูดคุยเรื่องโครงสร้างและรูปแบบของร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากได้พิจารณากรอบการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว ) พ.ศ.2557 มาตรา 35 ทั้ง 10 ข้อ และกรอบการร่างรัฐธรรมนูญตามความมุ่งหมายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรียบร้อยแล้ว ส่วนที่มีคนกังวลว่ากรธ.หลายคนเป็นข้าราชการและไม่สามารถมาประชุมตอนเช้าได้ ตรงนี้ของชี้แจงว่า ตอนเช้าเรามีประชุมอนุของกรธ. ส่วนตอนบ่ายประชุมชุดใหญ่ และไม่ต้องกังวลแต่ละคนที่เข้ามามีจุดยืนและความรับผิดชอบรวมทั้งมีประสบการณ์ตนยืนยันว่าทุกคนทุ่มเทการทำงานและจะร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จทันกำหนดได้ ขอให้ทุกคนไม่ต้องเป็นห่วง มั่นใจว่าเดือนมกราคม 2559 จะมีร่างแรกให้ทุกคนเห็นแน่นอน จากนั้นจะพยายามรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายจากทุกช่องทาง
13 ตุลาคม 2558
มติเอกฉันท์ "ทินพันธุ์" นั่งประธาน สปท. ด้าน “อลงกรณ์-วลัยรัตน์” เป็นรองประธาน
การประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) นัดแรก โดยมีวาระการประชุมที่สำคัญคือการเลือกประธาน 1 คน และรองประธาน 2 คน ซึ่งผู้ที่มีรายชื่อเป็นแคนดิเดตประธานสปท. คือ ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ส่วนรายชื่อแคนดิเดตรองประธาน สปท. ได้แก่ พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์ นายอลงกรณ์ พลบุตร นางนรรัตน์ พิมเสน และนางสาววลัยรัตน์ ศรีอรุณ
โดย พล.อ.ฐิติวัจน์ กำลังเอก สมาชิกสปท. ได้เสนอชื่อ ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ สมาชิกสปท. เป็นประธานสปท.เพียงคนเดียว โดยมีผู้รับรองรายชื่อเกิน 10 คน โดยมติเป็นเอกฉันท์ให้ ร.อ.ทินพันธุ์ เป็นประธานสปท.
นอกจากนี้ที่ประชุม ได้เสนอชื่อ อลงกรณ์ พลบุตร เป็นรองประธานสปท.คนที่1 และวลัยรัตน์ ศรีอรุณ เป็นรองประธานคนที่ 2 ไร้คู่แข่ง โดยที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ ให้ดำรงตำแหน่ง
15 ตุลาคม 2558
สนช.รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ไว้พิจารณาด้วยคะแนน 177 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 3เสียง กำหนดเวลาแปรญัตติ 15 วัน ระยะเวลาการดำเนินงาน 60 วัน
ทั้งนี้ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวชี้แจงถึงเหตุผลและความจำเป็นในการเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ว่า เนื่องจากบทบัญญัติบางประการในกฎหมายว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญายังไม่สอดคล้องกับการให้ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญาในปัจจุบัน คือ ผู้ประสานงานกลางไม่สามารถส่งคำร้องขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศไปให้เจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายอื่น เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคำร้องขอได้ ไม่มีอำนาจส่งข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือทรัพย์สินใดไปให้ต่างประเทศเพื่อประโยชน์ในการสืบสวน สอบสวน การฟ้องคดี หรือการพิจารณาคดีในศาลหากประเทศนั้นยังไม่ได้ร้องขอ ทำให้การให้ความร่วมมือเป็นไปอย่างจำกัด
สนช. รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.การให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ เพื่ออำนวยความยุติธรรม และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติ (สนช.) มีมติวาระที่ 1 รับหลักการ ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ พ.ศ. .... ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 164 ไม่เห็นด้วย 4 งดออกเสียง 8 พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว จำนวน 21 คน กรอบระยะเวลาดำเนินการ 60 วัน
ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ มุ่งให้การทำหน้าที่ของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์มีความเป็นอิสระ และให้มีคณะกรรมการกำกับการให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์กำกับดูแล โดยคณะกรรมการฯ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานกรรมการ และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนไม่เกิน 5 คน เป็นกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐานการให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ของสถาบัน การกำหนดขอบเขตขอผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้เสียในการขอรับบริการ อัตราค่าธรรมเนียม การจัดการข้อมูลด้านนิติวิทยาศาสตร์ การกำหนดค่าตอบแทนของเจ้าหน้าที่ของสถาบัน
สนช. ผ่านกฎหมายวาระสาม 9 ฉบับรวด
รายงานข่าวแจ้งว่า นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ วิปสนช.ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ว่า สนช. ได้ผ่านกฎหมายในวาระที่ 3 จำนวน 9 ฉบับ มีข้อความดังนี้
“15 ต.ค.สภาผ่านร่างกม.ของศาลรวดเดียว 9ฉบับ เป็นการแก้ไขกม.ให้สอดคล้องกับป.วิ.แพ่ง (อุทธรณ์ ฎีกา)ที่ออกเป็นกฎหมายไปก่อนแล้ว หลักการคือลดชั้นของศาลให้เหลือเพียง 2 ชั้น คดีที่ขึ้นสู่ศาลฎีกาเปลี่ยนจากระบบ"สิทธิ"เป็น "อนุญาต" เพื่อลดคดีที่ขึ้นสู่ศาลฎีกา โดยมีคณะกรรมการคอยกลั่นกรองคดีจากชั้นอุทธรณ์โดยคณะกรรมการมี 4 ท่าน มีรองประธานศาลฎีกาเป็นประธานเฉพาะคดีแพ่ง แต่ร่างกม. 9 ฉบับนี้ รวมคดีอื่นๆด้วย
ร่าง พรบ.ศาล 9 ฉบับ
1.ร่าง พรบ.จัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ พ.ศ...จัดขึ้นเป็นศาลชั้นอุทธรณ์ ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ศาลภาษีอากร ศาลแรงงาน ศาลล้มละลายและศาลเยาวชนและครอบครัวเพื่อให้องค์คณะมีความรู้ความชำนาญพิเศษในด้านนั้นๆเพื่อเอกภาพ ความรวดเร็วและประสิทธิภาพ
2.ร่าง พรบ.แก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่...)พ.ศ...แก้ศาลอุทธรณ์เป็นศาลชั้นอุทธรณ์ กบศ.มีอำนาจจัดตั้งและเปิดทำการสาขาของศาลในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นรับพิจารณาและโอนคดีในศาลชั้นต้นเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลแขวง(จากศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี หรือศาลจังหวัด
3.ร่าง พรบ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่...)พ.ศ....ให้กบศ.ออกข้อบังคับเกี่ยวกับการกำหนดจำนวนค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทางและค่าเช่าที่พักของพยานที่ศาลเรียกมาให้ความเห็นต่อศาล
4.ร่าง พรบ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน(ฉบับที่...)พ.ศ....(แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การอุทธรณ์และฎีกา)กม.ปัจจุบันให้คู่ความมีสิทธิอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาและปัจจุบันมีการจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษขึ้นจึงต้องแก้กม.
5.ร่าง พรบ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างปท.และวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ (ฉบับที่...)พ.ศ.... (แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การอุทธรณ์และฎีกา) กม.ปัจจุบันให้คู่ความมีสิทธิอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา และมีการจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษขึ้น สมควรแก้ไขกม.
6.ร่างพรบ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย(ฉบับที่...)พ.ศ....(แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การอุทธรณ์และฎีกา) เหตุผลเหมือนร่างกม.อื่นๆ
7.ร่างพรบ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร(ฉบับที่..)พ.ศ...(แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การอุทธรณ์และฎีกา) เหตุผลเหมือนร่างกม.อื่น
8.ร่างพรบ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว(ฉบับที่...)พ.ศ....
(แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การอุทธรณ์และฎีกา)เหตุผลเหมือนร่างกม.อื่นๆ ต่อไปจะมีศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ และศาลฎีกา3ระดับ
9.ร่างพรบ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค(ฉบับที่..) พ.ศ... (แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การอุทธรณ์และฎีกา) เหตุผลเหมือนร่างกม.อื่น”
16 ตุลาคม 2558
เห็นชอบ “เตือนใจ-ชาติชาย” เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ซึ่งมีพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณารายงานที่คณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติฯ ของผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเสนอ และใช้วิธีลงคะแนนลับก่อนมีมติเห็นชอบให้ เตือนใจ ดีเทศน์ ที่ปรึกษามูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ด้วยเสียง 147 เสียง ไม่เห็นชอบ 6 เสียง และไม่ออกเสียง 4 เสียง พร้อมเห็นชอบให้ชาติชาย สุทธิกลม กรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ด้วยเสียง 141 เสียง ไม่เห็นชอบ 9 เสียง และไม่ออกเสียง 7 เสียง
ทั้งนี้ ผู้ได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทั้ง 2 ตำแหน่งในครั้งนี้ เป็นการให้ความเห็นชอบเพิ่มเติมจาก 5 คน ที่ได้รับความเห็นชอบจาก สนช. ไปก่อนหน้า สำหรับประวัติเตือนใจ ดีเทศน์ ปัจจุบันอายุ 63 ปี เป็นอดีต ส.ว.เชียงราย เป็นอดีต สนช. และประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขการใช้สถานะทางกฎหมายและสิทธิของบุคคลในประเทศไทย อนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ด้านสิทธิและสถานะบุคคลของผู้ไร้สัญชาติไทยพลัดถิ่นฯ ขณะชาติชาย สุทธิกลม ปัจจุบันอายุ 61 ปี เป็นอดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้ สนช.จะแจ้งรายชื่อกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ได้รับความเห็นชอบทั้งหมด ไปยังคณะรัฐมนตรีต่อไป
สนช.อนุมัติ พ.ร.ก. 3 ฉบับ ปฏิรูปโครงสร้างการบินพลเรือน ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติอนุมัติพระราชกำหนดการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558ให้มีผลใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ต่อไป ด้วยคะแนนเสียง 155 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 2 เสียง และมีมติอนุมัติพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเดินอากาศ พ.ศ.2497 พ.ศ.2558 ด้วยคะแนนเสียง 154 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 3 เสียง ขณะที่พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 พ.ศ.2558 ที่ประชุมมีมติอนุมัติด้วยคะแนนเสียง 155เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 2 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 157 คน
โดยอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กล่าวชี้แจงถึงความจำเป็นการตราพระราชกำหนดทั้ง 3 ฉบับ ว่า ประเทศไทยได้รับการตรวจสอบภายใต้โครงการกำกับดูแลความปลอดภัยสากล ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันยังพบข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัยด้านการบินพลเรือนของไทย ส่งผลต่อการถูกปรับลดระดับมาตรฐานการบินพลเรือน รวมถึงการพิจารณาสิทธิการบินและการทำการบินของไทย ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่ออุตสาหกรรมการบิน
ดังนั้นองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศจึงได้เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหา โดยเห็นควรให้แยกหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแล และหน่วยงานผู้ให้บริการออกจากกัน โดยจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลกิจการการบินพลเรือนขึ้นเป็นการเฉพาะ คือ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) มีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐบาลซึ่งมิใช่ส่วนราชการ พร้อมปรับเปลี่ยนกรมการบินพลเรือน เป็นกรมท่าอากาศยาน เพื่อให้การกำกับดูแลกิจการการบินพลเรือนของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล
ประธาน สปท. เปิดใจ อาจใช้มาตรา 44 ผลักดันเรื่องสำคัญ ยัน คสช. สั่งไม่ได้
ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. กล่าวเปิดใจกับสื่อมวลชนครั้งแรกหลังได้รับตำแหน่งว่า ทุกกิจกรรมทุกนาที ต้องยึดมั่นผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นตัวตั้ง สปท.ถือเป็นสภาวิชาการทำหน้าที่เป็นเพียงที่ปรึกษา ที่จะต้องมีแผน มาตรการวิธีการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม และขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจจะเห็นด้วยกับวิธีการที่เสนอหรือไม่ เนื่องจากผู้มีอำนาจเป็นรัฏฐาธิปัตย์ที่จะเห็นด้วยกับสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อแผ่นดิน พร้อมกันนี้จะนำข้อมูลจาก สปช. มาพิจารณาอีกครั้งเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยจะนำเรื่องที่สำคัญมาพิจารณาก่อน และอาจใช้มาตรา 44 เป็นตัวผลักดันในบางเรื่อง
ส่วนเรื่องการปรองดองถือเป็นภาระหน้าที่สำคัญของ สปท.ที่จะเดินหน้าสร้างความปรองดองตามนโยบายของ คสช.แต่ก็ปฏิเสธที่จะตอบว่าการนิรโทษกรรมเป็นส่วนหนึ่งของการปรองดองเนื่องจากไม่ได้ติดตามข่าวสารทางการเมืองมากว่า 30 ปีแล้ว ยืนยันตนเป็นนักวิชาการที่ยึดมั่นในหลักการ คสช.จะมาสั่งให้ซ้ายหันขวาหันมิได้