NLA Weekly (17-23 ต.ค.58): กรธ.ชี้ สิทธิเสรีภาพต้องไม่ละเมิด "ความมั่นคง-ความสงบ-สิทธิผู้อื่น"

NLA Weekly (17-23 ต.ค.58): กรธ.ชี้ สิทธิเสรีภาพต้องไม่ละเมิด "ความมั่นคง-ความสงบ-สิทธิผู้อื่น"

เมื่อ 24 ต.ค. 2558

17 ตุลาคม 2558

 

“โฆษก กรธ.” ชี้ ม.35 ไม่เป็นอุปสรรคต่อการร่าง รธน. ยันไม่ตามใจองค์กรอิสระขอเพิ่มอำนาจ


อมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงการทำงานของ กรธ. ว่า หลังจากได้รับความเห็นจากองค์กรอิสระในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทาง กรธ.จะประมวลผล แล้วสรุปข้อเสนอแนะขององค์กรต่างๆ แต่จะไม่ตามใจทุกองค์กรที่ส่วนใหญ่จะเสนอเพิ่มอำนาจขององค์กร กรธ.ต้องยึดหลักรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 35 เป็นตัวตั้ง ยึดประโยชน์ของประเทศชาติต้องมาก่อน ซึ่งมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. รู้ดีว่าเรื่องไหนควรเพิ่ม เรื่องไหนไม่ควรเพิ่ม

โฆษก กรธ. กล่าวต่อว่า เรื่องกรอบการร่างรัฐธรรมนูญที่ทาง กรธ. ต้องร่างตามมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 จะทำให้การทำงานมีทิศทาง ดังนั้น มาตรา 35 ถือเป็นตัวช่วยมากกว่าอุปสรรค ยืนยันว่าการทำงานของ กรธ. ไม่ได้ขาดอิสระ ทุกคนสามารถมีความคิดเห็น แต่การร่างรัฐธรรมนูญต้องเป็นไปตามกรอบที่กำหนดเท่านั้นเอง

อมร กล่าวอีกว่า ที่หลายคนมีความกังวลว่าการร่างรัฐธรรมนูญนี้ กรธ.อาจจะฝังเรื่องร้อนๆ หรือสอดไส้อะไรลงไปเหมือนร่างที่ผ่านมา เช่น คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและความปรองดองแห่งชาติ (คปป.) เรื่องนี้ขอให้ทุกคนไม่ต้องกังวล เพราะมีคณะทำงานรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะก่อนจะเลือกอะไรมาใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ จากนั้นที่ประชุมกรธ. จะตัดสินใจและพิจารณากันอย่างรอบคอบ

ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์ 


18 ตุลาคม 2558

“รองประธาน สปท.” เผยกรอบการทำงาน สปท. ใช้สูตร 1+1+18 แบ่ง 3 ระยะ

อลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คนที่ 1 กล่าวถึงกรอบการทำงานของสปท.ว่า กรอบการทำงานของ สปท. จะใช้สูตร 1+1+18 ภายใต้การทำงาน 20 เดือน โดยกำหนดไว้ 3 ระยะ คือระยะแรกเป็นการยกร่างสร้างกลไก ระยะที่ 2 เป็นการกลั่นกรองข้อเสนอ โดยจะนำ 37 วาระการปฏิรูปขึ้นมาพิจารณา เมื่อกลไกเริ่มทำงานก็จะเริ่มส่งรายงานเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม สปท. และส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป ส่วนร่างกฎหมายจะเข้าสู่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตามลำดับ ระยะที่ 3 เป็นการนำเสนอแผนปฏิรูป

อลงกรณ์ กล่าวอีกว่า การตั้งชมรม สปช.นั้นยังคงมีอยู่ เพื่อทำงานเป็นฝ่ายสนับสนุนส่งเสริม สปท. รวมทั้งสนับสนุนให้ภาคีองค์กรต่างๆ เดินหน้าสู่การปฏิรูป ซึ่งคาดว่าอาจจะดึง สปช. บางส่วนเข้ามาช่วยงานในกมธ.ปฏิรูปฯ แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นกับข้อบังคับการประชุมด้วย

ด้าน เสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกสปท. กล่าวว่า กมธ.ปฏิรูปฯ 11 ด้าน ด้านที่ 11 เป็นด้านอื่นๆ จึงต้องตกลงกับสมาชิกอีกครั้งว่าจะจัดตั้งเพิ่มหรือไม่ โดยส่วนตัวคาดว่า ถ้าเพิ่มอาจจะตั้งเป็น กมธ.กีฬา หรือกมธ.ปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น แต่ตนไม่อยากให้สมาชิกสปท. 1 คนเป็นกมธ.ถึง 2 คณะ เพราะเราเคยมีบทเรียนจากสปช.แล้ว แต่ก็ต้องดูร่างข้อบังคับการประชุมอีกครั้ง

ที่มา : มติชนออนไลน์


19 ตุลาคม 2558

“ประธาน สปท.” แนะ สปท.ศึกษา-สานต่อแนวทางปฏิรูปที่ สปช.ศึกษาไว้ ให้เป็นรูปธรรม

การประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่มี ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เป็นประธานการประชุม มีมติกำหนดวัน เวลาการประชุม สปท. สัปดาห์ละ 2 วัน คือวันจันทร์และวันอังคาร เริ่มประชุมเวลา 09.30 น. พร้อมนัดประชุม สปท. ในวันที่ 20 ต.ค. 58 เพื่อพิจารณาการกำหนดประเด็นสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 โดยรูปแบบการประชุมจะเป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อกำหนดประเด็นและแนวทางในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เป็นแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสม เป็นรูปธรรม

ประธาน สปท. กล่าวด้วยว่า หน้าที่ของ สปท. คือนำสิ่งที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ศึกษาไว้มาพิจารณา หากเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้วสามารถดำเนินการต่อได้เลย ส่วนไหนที่ยังไม่สมบูรณ์ควรนำมาศึกษาเพิ่มเติมให้สมบูรณ์และนำไปดำเนินงานด้วยความรอบครอบและเกิดผลเป็นรูปธรรม

ที่มา :  สถานีวิทยุโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียงรัฐสภา 


20 ตุลาคม 2558

สปท. ถกนัดสอง 11 กลุ่มย่อย เห็นพ้อง แก้ปัญหาการเมือง-การศึกษา-การทุจริต-เศรษฐกิจ


ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้จัดประชุมรูปแบบใหม่ โดยแบ่งกลุ่มสมาชิกเป็น 11 กลุ่ม คือ กลุ่มการเมือง กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดิน กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม กลุ่มการปกครองท้องถิ่น กลุ่มการศึกษา กลุ่มเศรษฐกิจ กลุ่มพลังงาน กลุ่มสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม กลุ่มสื่อสารมวลชน กลุ่มสังคม และกลุ่มอื่นๆ โดยให้ที่ประชุมหารือในประเด็นที่จะต้องทำในช่วง 2 ปีและวิธีการจากนั้น ในช่วงเย็นจึงเปิดให้ทั้ง11 กลุ่มนำเสนอสิ่งที่ไปหารือมา

ด้าน ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท. กล่าวว่า ทางกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้แจ้งว่าในประเด็นที่ สปท. เห็นว่าสำคัญและเห็นควรให้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้แจ้งมายัง กรธ.ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน และจะปิดรับความเห็นเดือนธันวาคม ซึ่งตามกรอบการพิจารณาของ สปท. วันที่ 2 พฤศจิกายน จะมีข้อบังคับการประชุม สปท. จากนั้นจะได้ตั้งกรรมาธิการขึ้นมาทำงาน และที่ประชุมจะพิจารณาในประเด็นของทั้ง 11 กลุ่ม ในช่วงวันจันทร์และอังคาร ซึ่งจะแล้วเสร็จในวันที่ 16-17 พฤศจิกายน จึงสามารถส่งข้อเสนอไปยัง กรธ. ได้ตามกำหนด

อลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท. กล่าวว่า จากข้อสรุปของทั้ง 11 กลุ่ม พบว่าเรื่องที่ สปท. เห็นพ้องจะให้ทำการปฏิรูป 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.การเมือง 2.การศึกษา 3.ปราบปรามการทุจริต 4.กฎหมาย และ 5.เศรษฐกิจ

ที่มา : โพสต์ทูเดย์ 


กรธ.วางกรอบ หมวดสิทธิเสรีภาพ ต้องไม่ละเมิด "ความมั่นคง-ความสงบ-สิทธิคนอื่น"

อมร วานิชวิวัฒน์ โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงถึงความคืบหน้าในการประชุม กรธ. ซึ่งได้พิจารณาเนื้อหารายมาตรา 25 - 31 ในหมวดว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพปวงชนชาวไทย ว่าได้วางหลักการเกี่ยวกับการใช้สิทธิเสรีภาพที่ต้องไม่ละเมิดเงื่อนไข 3 ข้อ ได้แก่ 1.กระทบต่อความมั่นคง 2.ก่อให้เกิดความไม่สงบในสังคม และ 3.ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น

นอกจากนี้ ในการพิจารณาของ กรธ. ได้วางหลักในเรื่อง การจำกัดการใช้สิทธิและเสรีภาพที่อาจกระทำได้โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ หรือเพื่อจัดทำบริการสาธารณะ หรือเมื่อมีการกระทำที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดความชัดเจน ว่าประเด็นใดบ้างที่เป็นข้อห้ามที่ประชาชนไม่สามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้

โฆษก กรธ. กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้พิจารณาเนื้อหาในหมวด 4 ว่าด้วยหน้าที่และความรับผิดชอบของปวงชนชาวไทย โดยมีสาระสำคัญ เพื่อวางหลักการในเรื่องหน้าที่และความรับผิดชอบของบุคคลตามความถูกต้องชอบธรรม อาทิ การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบในทุกรูปแบบ

ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์ 


22 ตุลาคม 2558
 

“โฆษก กรธ.” เผย ที่ประชุมกรธ.กำหนดให้คุ้มครองเสรีภาพสื่อ-การชุมนุม พร้อมย้ำ ทุกมาตราสามารถนำกลับมาพิจารณาทบทวนได้

นรชิต สิงหเสนี โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงข่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ว่าที่ประชุมได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราต่อเนื่องในหมวด 3 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ซึ่งได้มีการเชื่อมโยงไปถึงหมวดของหน้าที่พลเมืองไทย ว่าด้วยแนวนโยบายของรัฐและหน้าที่ของรัฐ ประกอบด้วยร่างมาตรา 43 การคุ้มครองเสรีภาพในการรวมเป็นสมาคม สหกรณ์ หรือหมู่คณะ เพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ หรือรักษาความสงบเรียบร้อย ป้องกันการผูกขาด, ร่างมาตรา 44 การคุ้มครองสิทธิชุมชนในการที่รัฐจะไปใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ต้องไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ประชาชนและชุมชนจนเกินควร, ร่างมาตรา 45 การคุ้มครองสิทธิการแสดงความคิดเห็นเพื่อประกอบการจัดทำนโยบายสาธารณะของรัฐ รวมถึงการจัดทำร่างกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ โดยประชาชนมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นได้ และร่างมาตรา 46 การคุ้มครองเสรีภาพในการเสนอข่าวสารและแสดงความคิดเห็นของผู้ประกอบการอาชีพสื่อมวลชนตามจรรยาบรรณแห่งการประกอบอาชีพ

โฆษก กรธ. กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญต่อในร่างมาตรา 46/1 ว่าด้วยการคุ้มครองเสรีภาพของเจ้าหน้าที่ของรัฐ, ร่างมาตรา 48 ว่าด้วยการคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ แต่เสรีภาพดังกล่าวอาจถูกจำกัดได้ เพื่อการรักษาความมั่นคงของรัฐ และร่างมาตรา 49 ว่าด้วยการคุ้มครองเสรีภาพรวมกันจัดตั้งพรรคการเมืองตามวิถีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยรายละเอียดให้กำหนดไว้ในกฎหมายลูก ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา พร้อมระบุว่า ทุกมาตรายังสามารถนำกลับมาพิจารณาทบทวนได้

ที่มา : สถานีวิทยุโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียงของรัฐสภา 


“มีชัย” เผยรัฐต้องคุ้มครองสิทธิประชาชน ไม่ทำตาม ซักฟอก-ฟ้องอาญา ได้

มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)  ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ กรธ. พิจารณาเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญให้มีหมวดว่าด้วยหน้าที่ของรัฐแทนหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ว่าการดำเนินการเช่นนั้นเป็นไปเพื่อให้เกิดการบังคับให้รัฐจะต้องทำตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด แม้ในความเป็นพรรคการเมืองไม่ได้กำหนดเป็นนโยบายไว้ก็ตาม เช่น กำหนดให้รัฐต้องคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยน์สูงสุดเพื่อประชาชน หากรัฐไม่ดำเนินการ ประชาชนมีสิทธิที่จะฟ้องร้องให้รัฐกระทำได้ หรืออาจถูกพิจารณาในกระบวนการของสภาผู้แทนราษฎรต่อการลงคะแนนไม่ไว้วางใจ รวมถึงถูกดำเนินคดีอาญาได้ โดยขณะนี้ที่ประชุมอยู่ระหว่างการพิจารณาดู ว่าสิ่งใดที่รัฐควรทำ โดยอย่างน้อยต้องเป็นระดับขั้นต่ำสุดที่รัฐต้องดำเนินการ

เมื่อถามว่า จะเขียนการปรองดองไว้ในหน้าที่ของรัฐด้วยหรือไม่ มีชัยกล่าวว่า หากเขียนไว้คงลำบาก เว้นแต่จะหาวิธีการได้ว่าจะปรองดองอย่างไร เพราะหากเขียนแค่ให้รัฐต้องปรองดองแต่ไม่ได้เขียนวิธีการ อาจเกิดปรากฏการณ์ที่รัฐนำเงินไปแจกให้ประชาชนอีกได้ ดังนั้นการพิจารณาประเด็นดังกล่าวต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริง

ที่มา : โพสต์ทูเดย์ 


สปท. ดันนิรโทษกรรมให้เสร็จก่อนเลือกตั้ง ล้างผิดคดีเล็กน้อย แกนนำ-คดีหมิ่น112 ไม่เข้าข่าย

สมพงษ์ สระกวี สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวถึงแนวทางปฏิรูปการเมืองของ สปท.ว่า ในการประชุมกลุ่มย่อยของ สปท.ด้านการเมือง เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม มีการพูดถึงภารกิจเร่งด่วนที่ต้องปฏิรูปทางการเมือง คือการสร้างบรรยากาศความปรองดอง มีการหยิบยกเรื่องการนิรโทษกรรมมาหารือกัน โดยเห็นตรงกันในหลักการ ว่าควรนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดทุกสีเสื้อที่มีความผิดคดีเล็กน้อยซึ่งมีมูลเหตุการกระทำผิดมาจากแรงจูงใจทางการเมือง แต่ยังไม่มีการกำหนดประเภทคดีเล็กน้อยที่จะได้รับนิรโทษกรรม

ส่วนแกนนำการชุมนุม ความผิดคดีทุจริต คดีมาตรา 112 และผู้ที่หนีคดีไปอยู่ต่างประเทศ จะไม่อยู่ในข่ายได้รับการนิรโทษกรรม เรื่องดังกล่าวจะเป็นหัวข้อแรกๆ ที่จะผลักดันให้ สปท. ดำเนินการ เพื่อให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมก่อนมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ ส่วนจะมีการตั้งคณะกรรมการปรองดองขึ้นมาเพื่อผลักดันเรื่องการนิรโทษกรรมหรือไม่ ที่ประชุมยังไม่ได้พูดถึง แต่จะนำแนวทางคณะกรรมการศึกษาการสร้างความปรองดองชุดที่ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เคยศึกษาไว้มาสานต่อ

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์ 


23 ตุลาคม 2558

“โฆษก กรธ.” ยัน ไร้ใบสั่งตั้ง คปป. เผย หากจำเป็นก็ต้องมี


อมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการร่างรัฐธรรมนูญ ว่าการทำงานของ กรธ.เวลานี้มาได้เกือบครึ่งทางแล้ว โดยในส่วนของแนวนโยบายแห่งรัฐ ทางกรธ.พยายามป้องกันไม่ให้นักการเมืองเข้ามาใช้อำนาจที่อยู่ในรัฐธรรมนูญมาเป็นนโยบายของตัวเอง ทางกรธ.กังวลเรื่องประชานิยม เพราะที่ผ่านมานักการเมืองเอานโยบายด้านการศึกษา ด้านการสาธารณสุข ที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญไปดัดแปลงเป็นนโยบายเพื่อสร้างความนิยมให้กับตนเอง ทั้งที่เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องทำให้ประชาชน ซึ่งไม่เห็นด้วย

โฆษก กรธ. ยังกล่าวถึงกรณีของคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและปรองดรองแห่งชาติ (คปป.) ว่า ถ้าจำเป็นต้องมี ก็สามารถแก้ไขได้โดยไม่มีใครมาสั่ง แต่ขึ้นอยู่กับการรับฟังความคิดเห็น โดยเฉพาะผู้ที่ไม่เห็นด้วยคือผู้เสียประโยชน์บางกลุ่ม นักการเมืองและนักวิชาการบางกลุ่ม ทั้งนี้ กรธ.จะให้พรรคการเมืองเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญด้วย

ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์ 


“สมาชิก สปท.” เห็นพ้อง ลุยงานปรองดองให้เป็นรูปธรรม พร้อมชงตั้งกรรมการกลางวางหลักเกณฑ์นิรโทษฯ

พ.ต.อาณันย์ วัชโรทัย สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวถึงแนวทางการสร้างความปรองดองในวาระการปฏิรูปประเทศของ สปท. ว่าในการประชุมกลุ่มย่อยของ สปท.ด้านการเมือง ที่ประชุมพูดถึงแนวทางการสร้างความปรองดอง ว่าขอรอดูการประชุมแม่น้ำ 5 สาย ในวันที่ 28 ตุลาคมนี้ก่อน เพื่อนำมาเป็นแนวทางการทำงานของ สปท. โดยที่ประชุมเห็นตรงกัน ว่าเรื่องการปรองดองควรมีแนวทางเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนว่าจะทำอะไรบ้าง ไม่ใช่มีแค่ผลการศึกษาเหมือนที่ผ่านมา

สมาชิก สปท. กล่าวต่อว่า เรื่องการนิรโทษกรรมมีการพูดคุยกันบ้าง ซึ่งเห็นตรงกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าขั้นตอนนิรโทษกรรมจะต้องผ่านกระบวนการยุติธรรมก่อน ขณะที่ สปท.บางส่วน เห็นว่าควรมีคณะกรรมการกลางที่ได้รับการยอมรับจากสังคมมาพิจารณา ว่าคดีใดเป็นคดีร้ายแรงหรือคดีเล็กน้อยที่ควรได้รับการนิรโทษกรรมบ้าง

ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์