NLA Weekly (24-30 ต.ค.58): กรธ.ผุดเลือกตั้งแบบใหม่ 'คะแนนแพ้' นับรวมบัญชีรายชื่อ

NLA Weekly (24-30 ต.ค.58): กรธ.ผุดเลือกตั้งแบบใหม่ 'คะแนนแพ้' นับรวมบัญชีรายชื่อ

เมื่อ 2 พ.ย. 2558

26 ตุลาคม 2558

กรธ.ผุดเลือกตั้งแบบใหม่ 'คะแนนแพ้' นับรวมบัญชีรายชื่อ

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) พิจารณาเรื่องระบบการเลือกตั้ง โดยเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้ร่วมสังเกตการณ์เป็นครั้งแรก โดยที่ประชุมได้ร่วมกันกำหนดหลักการ 4 ประการสำคัญ เพื่อให้เป็นกรอบการพิจารณาเกี่ยวกับระบบเลือกตั้งในอนาคต ประกอบด้วย 1.ส.ส.ควรมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง 2.ระบบการเลือกตั้งไม่ควรซับซ้อน ประชาชนเข้าใจง่าย 3.เพื่อเป็นการเคารพประชาชนที่ลงคะแนน จึงพยายามทำให้คะแนนเลือกตั้งที่ประชาชนให้ทุกคะแนนมีความหมาย ไม่ว่าจะลงคะแนนให้ใคร คะแนนเหล่านั้นส่วนใหญ่ไม่ควรสูญเปล่า 4.เป็นระบบเลือกตั้งที่ส่งเสริมให้ประชาชนสนใจออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง นอกจากนี้ที่ประชุมเห็นว่าควรเพิ่มอีก 1 ประเด็น คือควรให้เข้ากับบริบทหรือวิถีชีวิตของคนไทย โดยไม่ขัดหลักสากล

หลังจากที่ประชุมได้กำหนด 4 กรอบ จึงได้มีข้อสรุปเรื่องระบบการเลือกตั้งว่าจะใช้ระบบการเลือกตั้งที่กำหนดให้เอาคะแนนของผู้สมัคร ส.ส.ที่ไม่ได้รับเลือกให้เป็น ส.ส.ระบบเขตเลือกตั้ง ไปคำนวณหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยประชาชนจะลงคะแนนด้วยบัตรเลือกตั้งเพียงหนึ่งใบ โดยมีการยกตัวอย่างว่า สมมติเขตเลือกตั้งหนึ่งมีผู้สมัคร ส.ส.จำนวน 5 พรรค หากพรรค ก.ได้รับคะแนนสูงสุดให้ถือว่าผู้สมัครพรรคนั้นได้เป็น ส.ส.ทันที แต่ให้เอาคะแนนของพรรคการเมืองที่ผู้สมัครไม่ได้รับเลือกตั้ง จำนวน 4 พรรค ไปคำนวณเพื่อหาจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคต่อไป ขณะที่ คะแนนของพรรคที่ได้รับเลือกให้เป็น ส.ส.เขตแล้ว จะไม่ถูกนำมาคำนวณหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก

นอกจากนี้ ยังได้หาแนวทางว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนรู้สึกถึงการมีส่วนร่วมในทางการเมืองผ่านการออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่ง กรธ.เสียงส่วนใหญ่เห็นว่า บุคคลที่จะได้รับการเลือกตั้งให้เป็น ส.ส.จะต้องมีคะแนนมากกว่าคะแนนของผู้ที่มาใช้สิทธิไม่ประสงค์ลงคะแนน หรือ “โหวตโน” โดยที่บุคคลนั้นจะไม่มีสิทธิกลับมาลงสมัครอีก เนื่องจากการแพ้คะแนนโหวตโน ย่อมหมายความว่าประชาชนได้ปฏิเสธบุคคลดังกล่าวแล้ว

ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์ 


27 ตุลาคม 2558

ประธาน สนช. คาดแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราวภายใน 6 เดือน
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว ว่า เป็นหน้าที่ของวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ที่จะประสานกับ คสช. ก่อนส่งเรื่องมาที่ สนช. ซึ่งได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว โดยเชื่อจะมีการแก้ไขภายใน 6 เดือนก่อนการร่างรัฐธรรมนูญจะแล้วเสร็จ ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวให้ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องปัญหาการทำประชามติที่หากไม่ผ่านจะดำเนินการต่อไปอย่างไร และการนับจำนวนผู้ที่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง

ที่มา: สถานีวิทยุโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียงรัฐสภา


โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง สนช. เพิ่มเติม "ผบ.ทร.-พงศพัศ-พล.ร.อ.พัลลภ"
ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพิ่มเติม 3 คน ประกอบด้วย พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.ร.อ.พัลลภ ตมิศานนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพเรือ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ที่มา: มติชนออนไลน์ 


28 ตุลาคม 2558

คลอดระเบียบรัฐสภา แต่งตั้งผู้ช่วยงาน"สปท." ได้ 3 คน จ่ายกว่า 141 ล้านบาท ต่อปี
มติชนออนไลน์รายงานว่า สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) ได้ออกระเบียบแต่งตั้งผู้ช่วย โดย สมาชิก สปท.ทั้งหมด 200 คน สามารถแต่งตั้ง ผู้ช่วยได้ไม่เกิน 3 คน จากการคำนวณค่าใช้จ่ายสำหรับ สปท. 1 คน (ในกรณีตั้งครบ 3 คน) จะใช้เงินเป็นจำนวนเงิน 59,000 บาท / เดือน และ คำนวณเงินเดือน ที่ รัฐสภา ต้องจ่ายให้กับ ผู้ช่วย สปท. ต่อเดือน จำนวน 200 คน เป็นจำนวนเงิน 11,8000,000 บาท หรือต้องจ่ายเป็นรายปี รวมเป็นงบประมาณ สำหรับผู้ช่วย สปท. จากสมาชิก 200 คน คือ 141,600,000 บาท

ที่มา: มติชนออนไลน์ 


กรธ.กำหนดให้ฟ้องรัฐได้ หากดำเนินการขัดนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ
อมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงความคืบหน้าในการร่างรัฐธรรมนูญว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราในหมวดหน้าที่ของรัฐ

มีสาระสำคัญคือ การกำหนดให้รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพและทั่วถึง รัฐต้องให้ความคุ้มครองแก่ผู้สูงอายุ ผู้พิการหรือทุพลภาพและผู้ด้อยโอกาสเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างเหมาะสม รัฐต้องคุ้มครองและบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ ให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ รัฐต้องระมัดระวังผลกระทบต่อประชาชน ชุมชน สิ่งแวดล้อม และต้องเยียวยาความเดือดร้อนอย่างเป็นธรรมและรวดเร็ว

ส่วนการพิจารณาในหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ที่ประชุมเห็นว่ารัฐบาลจะดำเนินการใดขัดกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐไม่ได้ หากดำเนินการขัดกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ จะเป็นสามารถเป็นเหตุฟ้องร้องได้  แต่จะฟ้องร้องให้รัฐดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐไม่ได้

ที่มา: มติชนออนไลน์ 


29 ตุลาคม 2558

อดีต รมต.ศึกษาฯ แถลงโต้ ป.ป.ช. ไม่ได้กระทำผิดจากกรณีร่ำรวยผิดปกติตามที่ถูกกล่าวหา
ณรงค์ รัฐอมฤต กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงเปิดสำนวนคดีจากกรณีชี้มูลความผิดเพื่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณานำไปสู่การถอดถอนสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล (ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ออกจากตำแหน่ง กรณีร่ำรวยผิดปกติและจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จเกี่ยวกับบ้านที่ อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2541 โดยระบุว่า จากผลการไต่สวนของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า บ้านดังกล่าวเป็นของสมศักดิ์จริง แต่สมศักดิ์ไม่ได้แสดงรายการทรัพย์สินเกี่ยวกับบ้านดังกล่าว รวมทั้งไม่เคยแสดงรายการเกี่ยวกับเงินสดและเงินฝากไว้ด้วยในทุกตำแหน่งและทุกกรณี ตลอดจนจากการตรวจสอบรายได้ในช่วงปี 2541 - 2543 พบว่า ไม่สอดคล้องกับทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น ถือว่ามีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติหรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควรสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่โดยใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งด้วย

ด้านสมศักดิ์ ผู้ถูกกล่าวหา แถลงคัดค้านข้อกล่าวหา โดยยอมรับว่า มีการปกปิดบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินจริง เนื่องจากเข้าใจผิดว่าทรัพย์สินที่ไม่ใช่ชื่อตัวเองไม่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินดังกล่าว ซึ่งรวมถึงเงินสดด้วย ส่วนเงินที่ใช้ก่อสร้างบ้านได้มาจากการทำงานและการประกอบธุรกิจโรงสีข้าวโดยสุจริต ไม่ได้เกิดจากการใช้ตำแหน่งอำนาจหน้าที่โดยมิชอบจนร่ำรวยผิดปกติแต่อย่างใด 

ที่มา: สถานีวิทยุโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียงรัฐสภา


สนช.มีมติเห็นชอบให้ "ปัญญา อุดชาชน" เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติให้ความเห็นชอบ ให้ ปัญญา อุดชาชน ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยคะแนน 151 เสียง ไม่เห็นด้วย 28 เสียง งดออกเสียง 11เสียง

ที่มา: สถานีวิทยุโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียงรัฐสภา  


ประธาน กรธ. ยืนยันระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ร่วมกันแถลงข่าวชี้แจงถึงแนวคิดสำคัญของระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมที่กำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่า แนวคิดดังกล่าวคือต้องการให้คะแนนของประชาชนไม่สูญเปล่า ซึ่งถือเป็นการเคารพเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง ทั้งนี้การเลือกตั้งต้องคำนึงถึงทั้งคนและพรรคการเมือง โดยยืนยัน ว่า ระบบนี้จะทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็งขึ้น และจะทำให้พรรคการเมืองพิจารณาตัวบุคคลที่จะส่งสมัครรับเลือกตั้งมากขึ้น ย้ำไม่มีพรรคใดได้เปรียบหรือเสียเปรียบ อีกทั้งเชื่อว่า ระบบเลือกตั้งนี้จะเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งกันมากขึ้น เพราะคะแนนเสียงจะมีความหมาย

ประธาน กรธ. ยังกล่าวถึงการ Vote No ที่มีบางฝ่ายนำไปพูดว่า คนแพ้ Vote No จะลงสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้ตลอดชีวิต ว่าเป็นการบิดเบือน หลองลวงประชาชน เพราะ กรธ. ไม่ได้คิดอย่างนั้น เพียงแต่มองว่าเมื่อประชาชนใช้สิทธิ Vote Noย่อมหมายถึงประชาชนปฏิเสธผู้สมัครรับเลือกตั้งจากทุกพรรคการเมือง ดังนั้นเมื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ก็ต้องคิดว่าผู้สมัครคนเดิมสามารถลงได้อีกหรือไม่ ซึ่ง กรธ. มีความเห็น 2 แนวทาง คือ ให้ลงสมัครรับเลือกตั้งได้ กับให้เว้นการเลือกตั้งครั้งนั้นไปก่อน ทั้งนี้ยืนยันว่าไม่มีแนวคิดตัดสิทธิตลอดชีวิตอย่างแน่นอน เพราะไม่ใช่การทุจริตประพฤติมิชอบ

ที่มา: สถานีวิทยุโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียงรัฐสภา   


โฆษก กรธ. เผย ที่ประชุม กรธ. เริ่มพิจารณา “องค์กรตามรัฐธรรมนูญ” แล้ว
อมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงความคืบหน้าการร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ที่ประชุม กรธ. ได้พิจารณาเรื่อง “องค์กรตามรัฐธรรมนูญ” โดยเริ่มต้นพิจารณาเรื่ององค์กรอิสระในประเด็นเกี่ยวกับที่มา องค์ประกอบ คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม และอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่างๆ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจรติแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ทั้งนี้ประเด็นดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการหารือ ยังไม่ได้สรุป

ที่มา: สถานีวิทยุโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียงรัฐสภา   
 

30 ตุลาคม 2558

กรธ. เพิ่มอำนาจ กกต. แจกใบเหลืองได้ทั้งก่อนและหลังประกาศผลการเลือกตั้ง
อมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่าที่ประชุม กรธ. ได้พิจารณาแนวทางการสรรหาองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ โดยเบื้องต้นกำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหา ที่ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้าน ตุลาการศาลปกครองสูงสุด เป็นกรรมการสรรหา นอกจากนี้ยังมีมติให้เพิ่มจำนวน คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เป็น 7-9 คน จากเดิมที่มีเพียงแค่ 5 คน เพื่อให้การทำหน้าที่ขอกรรมการมีอิสระมากขึ้น และเพื่อรองรับภาระหน้าที่ ที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต พร้อมกับเห็นควรเพิ่มเติมอำนาจให้ กกต. สามารถสั่งให้เลือกตั้งใหม่ (ใบเหลือง) ได้ทั้งก่อนและหลังประกาศผลการเลือกตั้ง

ในขณะที่บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรธ.เห็นควรให้ กรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจเฉพาะด้าน เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม ส่วนคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเห็นควรให้ปรับปรุงการทำงานของทั้ง 2 องค์กร ให้ทำหน้าอย่างบูรณการร่วมกัน แต่ยังคงให้แยกหน่วยงานทั้ง 2 ออกจากกันเช่นเดิม

โฆษก กรธ. ยังกล่าวอีกว่า สำหรับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐนั้น กรธ. ได้กำหนดให้รัฐต้องปลูกฝังให้ประชาชนยึดอุดมการณ์ และผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ มีสำนึกรับผิดชอบต่อประเทศชาติ รัฐต้องส่งเสริมการศึกษา พัฒนามาตรฐานการศึกษาให้ประเทศก้าวทันนานาประเทศ

ที่มา: สถานีวิทยุโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียงรัฐสภา