2 พฤศจิกายน 2558
โฆษก กรธ. สรุปเนื้อหา หมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ และหวังเอาผิดคนไม่ไปเลือกตั้ง
นรชิต สิงหเสนี โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญต่อในหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ซึ่งได้สรุปสาระสำคัญ คือ รัฐต้องคุ้มครอง บำรุงรักษา บริหารจัดการทรัพยากรให้มีประโยชน์สูงสุดและเป็นธรรม รัฐต้องคุ้มครองการทำงานของเกษตรกรและผู้ใช้แรงงานให้ได้รับความปลอดภัยและสวัสดิการที่เหมาะสม รัฐต้องให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และต้องส่งเสริมให้กลุ่มผู้บริโภครวมกลุ่มกันเพื่อปกป้องสิทธิของตน ตลอดจนรัฐต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายแห่งรัฐ อาทิ เงินที่ใช้ดำเนินการและการประเมินความคุ้มค่า พร้อมทั้งต้องส่งเสริมให้เอกชนมีส่วนร่วมในการจัดให้มีสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะ ควบคู่กับการพัฒนาระบบการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบและความเหลื่อมล้ำ
ทั้งนี้ ในหมวดการเลือกตั้ง ที่ประชุมได้พิจารณาเกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ของประชาชนในการใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยกำลังศึกษาบทลงโทษของผู้ไม่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะออกมาในรูปแบบใด
3 พฤศจิกายน 2558
ประธาน กรธ. เผย การกระจายอำนาจต้องค่อยเป็นค่อยไป และเพิ่มจำนวน กกต. ให้การเลือกตั้งไร้มลทิน
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยการพิจารณาเกี่ยวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่องการกระจายอำนาจ โดยยืนยันว่า ร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะไม่รวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง แต่เป็นการกระจายอำนาจแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยจังหวัดใดที่มีความพร้อมให้จัดการตนเองไปก่อน ขณะเดียวกัน กรธ.กำลังออกแบบกลไกการป้องกัน การทุจริตการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นให้มีความเข้มข้นเทียบเท่าการเลือกตั้งระดับประเทศ ส่วนการกำหนดเพิ่มจำนวนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สามารถเพิ่มได้ในรัฐธรรมนูญใหม่และเริ่มทำหน้าที่ได้ทันทีในการเลือกตั้งครั้งต่อไป โดยไม่จำเป็นต้องขยายโรดแมป และมีเวลาเพียงพอในการออกกฎหมายลูก รวมทั้งสรรหา กกต. ด้วย สำหรับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) นั้นเห็นตรงกันว่าให้มีจำนวนไม่เกิน 500 คน
แนะ สปท. ปฏิรูปสื่อฯ ตามแนวทางเดิมของ สปช. เช่น ตั้งองค์กรกลางในการกำกับดูแล และให้ กสทช. อยู่ในสังกัดสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา
จุมพล รอดคำดี อดีตประธานกรรมาธิการปฏิรูปสื่อฯ สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ชี้แจงวาระการปฏิรูปสื่อต่อที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)ว่า จะปฏิรูปสื่ออย่างไรให้มีเสรีภาพภายใต้กรอบจริยธรรมความรับผิดชอบ และปราศจากการถูกแทรกแซง รวมถึงต้องเปิดให้ประชาชนรับรู้เข้าถึงเท่าทันสื่อและมีส่วนร่วมในการสื่อสารที่สร้างสรรค์ ขณะเดียวกันต้องมีสื่อทางเลือก สื่อชุมชน เพิ่มพื้นที่สาธารณะให้สื่อ ทำให้สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม และควรเพิ่มสวัสดิการและสวัสดิภาพให้กับสื่อด้วย
ซึ่งทั้งส่ามหลักต้องวางอยู่บนหลัก คือ เสรีภาพสื่อบนความรับผิดชอบ การแทรกแซงสื่อ และการกำกับดูแลสื่อโดยให้สื่อดูแลกันเอง ทั้งนี้จำเป็นต้องผลักดันกฎหมายควบคู่ อาทิ พ.ร.บ. การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ....เพื่อนำไปสู่ตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติที่มีความเป็นอิสระ เข้ามาเป็นองค์กรกลางในการกำกับดูแลสื่อ และแก้ไข พ.ร.บ.กสทช. เพื่อตอบโจทย์การปฏิรูปและการแก้ปัญหาด้านประสิทธิภาพการทำงานของ กสทช. โดยให้ กสทช. ไปให้อยู่ในสังกัดสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา
4 พฤศจิกายน 2558
โฆษก กรธ. เผย ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีสถานะเหมือนองค์กรอิสระ การสรรหา-คัดเลือกต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา
นรชิต สิงหเสนี โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญว่า ที่ประชุมได้พิจารณาต่อในหมวดศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ โดยกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระอยู่ในหมวดเดียวกัน เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีสถานะเหมือนกับองค์กรอิสระอื่นๆ อาทิ ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่จัดตั้งขึ้นต้องมีความอิสระ ใช้อำนาจอย่างเที่ยงธรรม และปราศจากอคติ ขณะที่คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระได้กำหนดให้ผู้ซึ่งได้รับการสรรหาหรือคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา โดยมีคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้สรรหาผู้ที่สมควรได้รับการแต่งตั้ง นอกจากนี้ยังกำหนดให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญและประธานองค์กรอิสระแต่ละแห่งมีหน่วยธุรการที่มีความเป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล และงบประมาณ
5 พฤศจิกายน 2558
กลุ่ม สนช.สตรี ยื่นหนังสือต่อ ประธาน กรธ. ขอให้เปิดโอกาสสตรีมีบทบาททางการเมือง
เสาวณี สุวรรณชีพ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พร้อมคณะ สนช.สตรี เพื่อขอให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เพิ่มเติมเนื้อหาเกี่ยวกับสตรีในร่างรัฐธรรมนูญและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของสตรีให้สตรีมีบทบาททางการเมือง และไม่ใช่แค่การขอสัดส่วนหรือโควตาแต่อย่างใด ทั้งนี้ คุณสมบัติของสตรีที่เข้ามาทำงานด้านการเมืองนั้นต้องมีศักยภาพที่เหมาะสมเช่นเดียวกับสุภาพบุรุษ เพื่อเปิดโอกาสให้สตรีที่มีความรู้ ความสามารถเข้ามาในส่วนร่วมในงานการเมืองได้อย่างแท้จริง พร้อมเชื่อว่า สตรีมีมุมมองการแก้ปัญหาที่เป็นเอกลักษณ์สามารถช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ของประเทศได้ครอบคลุมรอบด้านมากขึ้น
สนช. รับหลักการวาระแรก ร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่คณะรัฐมนตรีเสนอ ไว้พิจารณาด้วยคะแนน 172 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง กำหนดเวลาแปรญัตติ 7 วัน ระยะเวลาดำเนินงาน 30 วัน
ทั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังชี้แจงความจำเป็นของกฎหมายว่า แต่เดิม พ.ร.บ.ดังกล่าว ไม่มีบทบัญญัติรองรับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิตให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง พ้นจากตำแหน่งตามวาระหรือพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ ทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการดังกล่าวขาดความต่อเนื่อง จึงต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิตในกรณีดังกล่าว เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่และการดำเนินงานตามกฎหมายเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี มีข้อซักถามจากสมาชิก สนช. ว่า เหตุใดหากขาดองค์ประชุมจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งครม.แต่งตั้ง 3 ใน 5 คน ถึงประชุมไม่ได้?
รมว.คลัง ตอบว่า การให้ความสำคัญกับผู้ทรงคุณวุฒิ เพราะถือเป็นบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะ พร้อมระบุ จะนำประเด็นข้อเสนอแนะต่างๆ ที่สมาชิกเสนอ อาทิ ควรมีหน่วยงานทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์เรื่องเครดิตบูโรให้ประชาชนและผู้ประกอบการทราบ การควบคุมและการอำนวยความสะดวกสินเชื่อให้กับ SME และการระบุให้ชัดเจนว่า คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คนซึ่ง ครม.แต่งตั้ง จะเป็นตัวแทนจากกลุ่มบุคคลใด
ประธาน กรธ. มั่นใจระบบจัดสรรปันส่วน ทำให้เสียงประชาชนมีความหมาย
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ โต้เรื่องระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมที่มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่า กรรมาธิการได้นำมาพิจารณา และเห็นว่าการใช้บัตรใบเดียว เป็นหลักการที่ถูกต้อง ผู้ลงคะแนนจะต้องดูทั้งตัวผู้สมัครและบัญชีรายชื่อพรรค นำไปสู่ความเข้มแข็งของพรรคการเมืองโดยเฉพาะการคัดเลือกตัวบุคคลมาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ซึ่งทั้งวิธีการเลือกตั้งและการคิดคะแนนเป็นแบบใหม่ที่จะไม่ให้คะแนนผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งต้องเสียไป
อย่างไรก็ตาม หลักการคือจำนวน ส.ส.มี 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 350 คน และบัญชีรายชื่อ อีก 150 คน แต่การคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณายังไม่สามารถสรุปได้ คาดเป็นการนำคะแนนของทั้งประเทศมาคำนวน จากจำนวนของผู้ออกมาใช้สิทธิ์ ไม่ใช่ตามจำนวนประชากรผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
มีชัย กล่าวต่อว่า ผลลัพธ์ของระบบการเลือกตั้งแบบนี้จะทำให้ประชาชนมีกำลังใจในการออกเสียง เพราะทำให้ทุกเสียงมีความหมาย พร้อมยืนยันว่า พรรคการเมืองใหญ่หากได้คะแนนมาก ย่อมจะได้รับการเลือกตั้งตามปกติ ระบบนี้เป็นการเพิ่มความสำคัญของเสียงประชาชนทุกคน ไม่ใช่การปั่นคะแนน เพื่อให้พรรคใดพรรคหนึ่งมีความเข้มแข็ง
สำหรับในส่วนของการป้องกันการทุจริตนั้น หาก ส.ส.เขตคนใด ทุจริตเลือกตั้ง จะถูกตัดลดตัวเลขการคำนวณใน ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วย ส่วนคะแนนโหวตสำหรับวิธีเลือกตั้งใหม่นี้จะมีความหมาย เป็นมาตรการป้องกันการทุจริตได้มากขึ้น
สนช. ผ่านวาระ 3 ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิอาญาฯ ว่าด้ายการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวผู้ที่ถูกปล่อยชั่วคราว
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ห็นสมควรประกาศให้ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ในส่วนที่เกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวผู้ที่ถูกปล่อยชั่วคราว หลักเกณฑ์การบังคับคดีผู้ประกันและการอุทธรณ์คำสั่งศาลที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว) ใช้เป็นกฎหมายด้วยคะแนน 164 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง
อย่างไรก็ดี ในการอภิปรายเนื้อหาในร่าง สมาชิก สนช. มีข้อสงสัยในมาตรา 7 ที่เพิ่มความขึ้นมาใหม่ ที่ระบุว่า "เมื่อครบ 3 ปีนับตั้งแต่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ ให้คณะรัฐมนตรีประเมินความคุ้มค่าและภาระค่าใช้จ่ายของรัฐในการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หากเห็นสมควรให้เก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ถูกปล่อยชั่วคราวที่ใช้อุปกรณ์ ให้กำหนดอัตราค่าใช้จ่าย หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในพระราชกฤษฎีกา ซึ่งต้องมีข้อยกเว้นในการเรียกเก็บ ค่าใช้จ่ายจากผู้ที่ไม่มีทรัพย์สินพอที่จะชำระ"
โดยกรรมาธิการฯ ชี้แจงว่า หากมีการใช้ร่างกฎหมายฉบับนี้ทุกหน่วยงาน อาจเป็นภาระเรื่องงบประมาณจนส่งผลต่อการบังคับใช้ และส่วนหนึ่งการใช้เครื่องมือดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ยากจนในเรื่องของหลักประกัน แต่ด้วยมีสมาชิกยกประเด็นเรื่องการกำหนดค่าใช้จ่ายในกฎหมายให้ชัดเจน
อดีต ส.ส.เพื่อไทย เรียกร้อง สปท. ตรวจสอบโครงการก่อสร้างศูนย์เยาวชนมีนบุรี และเขื่อนในคลองแสนแสบ
วิชาญ มีนชัยนันท์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคเพื่อไทย ยื่นหนังสือถึงสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เพื่อขอให้ตรวจสอบการสร้างศูนย์เยาวชนมีนบุรีของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เนื่องจากมีการดำเนินการบางส่วนไม่ถูกต้อง อาทิ กรุงเทพมหานครไม่ปฏิบัติตามคำทักท้วงของหน่วยงานราชการที่ทักท้วงว่ามีการใช้สถานที่ไม่เหมาะสมและไม่ปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยระเบียบของที่ราชพัสดุ รวมถึงไม่ปรึกษาการใช้ประโยชน์ที่ดินในการก่อสร้างศูนย์ดังกล่าวกับประชาชนในพื้นที่ ขณะเดียวกันนายวิชาญ ยังได้ยื่นหนังสือเพื่อขอให้ตรวจสอบการก่อสร้างเขื่อนในคลองแสนแสบ ระยะทางรวม 10 กิโลเมตร หลังทำสัญญาก่อสร้างโดยไม่รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ทำให้ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก
6 พฤศจิกายน 2558
โฆษก กรธ. เผย ที่ประชุมกำหนดแยกศาลรัฐธรรมนูญออกจากองค์กรอิสระเพื่อความ "ชัดเจน"
นรชิต สิงหเสนี โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงความคืบหน้าในหมวดองค์กรอิสระว่า ได้กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญแยกออกจากองค์กรอิสระเพื่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น โดยองค์กรอิสระมีหน้าที่รายงานผลการปฏิบัติงานต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาทุกปีเพื่อเปิดเผยให้ประชาชนได้รับทราบ รวมทั้งกำหนดให้สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถเข้าชื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้
ขณะที่องค์ประกอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สรรหาจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในสาขาวิชาการต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการบริหารและจัดการการเลือกตั้ง รวมถึงกำหนดให้หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่ปฏิบัติตามมติของ กกต. ส่วนกรณีของจำนวน กกต.และระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งยังอยู่ระหว่างการพิจารณา