นักวิชาการเผย กสทช. กลายเป็นกลไกคุมเข้มทีวีการเมือง

นักวิชาการเผย กสทช. กลายเป็นกลไกคุมเข้มทีวีการเมือง

เมื่อ 20 พ.ย. 2558
 
ตัวแทนจากวิชาชีพสื่อ นักวิชาการ และกสทช. เห็นตรงกันว่า การตีความมาตรา 37 กระบวนการคัดแยกเรื่องร้องเรียน และคสช. คือ สามปัจจัยหลักจำกัดเสรีภาพสื่อโทรทัศน์ แนะทุกสถานีร่วมมือกำกับดูแลกันเอง
 
18 พฤศจิกายน 2558 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมกับ สมาคมสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย) จัดงานเสวนาหัวข้อ “กฎหมาย VS การทำรายการโทรทัศน์” ที่ห้องชมัยมรุเชฐ ชั้น 3 สโมสรทหารบก วิภาวดี กรุงเทพฯ ในประเด็นว่าด้วย การตีความการบังคับใช้มาตรา 37 ของพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ) เพื่อกำกับดูแลเนื้อหาในสื่อวิทยุโทรทัศน์ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบัน
 
"มาตรา 37 ห้ามมิให้ออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร หรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง
 
ผู้รับใบอนุญาตมีหน้าที่ตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศรายการที่มีลักษณะตามวรรคหนึ่ง หากผู้รับใบอนุญาตไม่ดำเนินการ ให้กรรมการซึ่งคณะกรรมการมอบหมายมีอำนาจสั่งด้วยวาจา หรือเป็นหนังสือให้ระงับการออกอากาศรายการนั้นได้ทันที และให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวโดยพลัน
 
ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนแล้วเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเกิดจากการละเลยของผู้รับใบอนุญาตจริง ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการแก้ไขตามที่สมควร หรืออาจพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตได้"
 
มาตรา 37 กับการตีความตามใจ กสทช. แต่ละคน
 
 
ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เเละอดีตที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ  เล่าว่า แม้องค์กรวิชาชีพสื่อจะเสนอว่าไม่ควรมีบทบัญญัติใดๆ ที่จำกัดเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร เพราะเป็นหลักการทั่วไปในประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก และมีกฎหมายอื่นจำกัดเสรีภาพอยู่แล้ว แต่ตอนที่ร่างกฎหมาย กรรมาธิการยกร่างก็นำข้อยกเว้นการจำกัดเสรีภาพ ตามรัฐธรรมนูญ 2550 ในกรณี “เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน” มาบรรจุไว้เป็นมาตรา 37 ด้วย ทำให้กลายเป็นข้อกฎหมายที่กว้างเกินไปและมีปัญหามากในการตีความ
 
ก่อนหน้านี้ กสทช. เคยพยายามออกประกาศหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการ เพื่อกำหนดนิยามและรายละเอียดของเนื้อหาที่ต้องห้ามออกอากาศตามมาตรา 37 ให้ชัดเจน แต่ถูกองค์กรวิชาชีพคัดค้านอย่างหนัก เพราะเนื้อหาในร่างมีลักษณะจำกัดเสรีภาพสื่ออย่างร้ายแรง และคณะกรรมการกฤษฎีกาก็วินิจฉัยว่ากสทช.ไม่มีอำนาจออกประกาศดังกล่าว โดย สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. ยอมรับว่า เนื่องจากปัจจุบันไม่มีประกาศกำหนดรายละเอียดการตีความ ดังนั้นการตัดสินขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ กสทช. แต่ละคน
 
“สุดท้ายเนื้อหานั้นอาจจะผิดจริงก็ได้ แต่กว่าจะถึงจุดที่ผิดจริง ถ้าบางเรื่องไม่มีกฎหมายเขียนไว้ชัดเจน โดยเฉพาะเป็นเรื่องทัศนคติ รสนิยม ความเชื่อ มุมมองที่แตกต่าง ทำยังไงที่จะมีกระบวนการให้คนอื่นช่วยมอง ช่วยคิด ช่วยคานดุล มากกว่าที่กสทช.จะใช้อำนาจตัดสินเพียงลำพัง” สุภิญญา กล่าว
 
คนทำงานแยกไม่ออก อะไรผิดกฎหมาย อะไรผิดจริยธรรม
 
 
ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า ในการกำกับดูแลเนื้อหาของสื่อวิทยุโทรทัศน์ กสทช. มีคณะอนุกรรมการ 3 ชุด ได้แก่ 1. คณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการ ทำหน้าที่พิจารณาเนื้อหาที่อาจผิดกฎหมายและประกาศกสทช. 2. คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค พิจารณาเนื้อหาโฆษณาที่อาจเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค และ 3. คณะอนุกรรมการส่งเสริมการกำกับดูแลกันเอง พิจารณาเนื้อหาที่อาจผิดจริยธรรม โดยส่งเรื่องให้องค์กรวิชาชีพดำเนินการต่อ แต่ปัญหาสำคัญก็คือ เมื่อมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับเนื้อหาเข้ามายังสำนักงานกสทช. เจ้าหน้าที่กลับส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการพิจารณาเป็นส่วนใหญ่ เพราะแยกไม่ได้ว่าเรื่องใดผิดกฎหมาย เรื่องใดผิดจริยธรรม
 
อาจารย์จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เสริมว่า สาระสำคัญของการทำวิทยุโทรทัศน์อยู่ที่การทำเนื้อหา การกำกับดูแลเนื้อหาจึงเป็นอำนาจที่ใหญ่มาก หากดูตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย มาตรา 37 ก็น่าจะใช้กับกรณีที่สุดโต่งจริงๆ เท่านั้น ทุกวันนี้ผู้ที่พิจารณามองว่าตัวเองมีอำนาจชอบธรรมในการตีความมาตรา 37 ได้เอง ตัวอย่าง กรณีสกู๊ปเรื่องนักศึกษากลุ่มดาวดินของช่อง ThaiPBS คณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการมีมติเสียงข้างมากว่า เป็นการนำเสนอในลักษณะชี้นำว่าการชุมนุมทางการเมืองเป็นเรื่องที่ถูกต้องและทำได้ ซึ่งตามกฎหมายขณะนี้กำหนดให้การชุมนุมทางการเมืองเป็นความผิด ดังนั้นการไปทำข่าวก็ถือว่าผิดแล้ว
 
“ทีนี้ก็ไม่ต้องไปทำข่าวอะไรเลยถ้าจะตีความอย่างนั้น” ผศ.ดร.พิรงรอง ให้ความเห็น
 
เนื้อหาการเมืองกลายเป็น Priority Watch List ภายใต้ยุคคสช. 
 
ผศ.ดร.พิรงรอง ให้ข้อมูลอีกว่า โดยปกติ กสทช. จะพิจารณาเนื้อหาที่ถูกประชาชนร้องเรียนผ่านสำนักงานกสทช. หรือมาจากการเฝ้าระวัง (มอนิเตอร์) ของทางสำนักงานเอง แต่ในกรณีของโทรทัศน์การเมืองมีช่องทางพิเศษ โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ตั้งคณะทำงานติดตามสื่อเพื่อส่งเรื่องร้องเรียนให้กสทช. ว่าแต่ละสัปดาห์มีรายการอะไร ออกอากาศทางช่องไหน และนาทีที่เท่าไรบ้าง ที่นำเสนอเนื้อหาทางการเมืองซึ่งขัดประกาศ คสช.
 
“ตั้งแต่มีคสช.มา เนื้อหาทางการเมืองค่อนข้างเป็น Priority Watch List (เรื่องที่ต้องจับตาลำดับแรก) ของ กสทช.” อาจารย์จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว
 
ผศ.ดร.พิรงรอง เปิดเผยว่า โทรทัศน์ช่องการเมืองที่เคยถูกระงับออกอากาศในที่คณะรัฐประหารเข้ายึดอำนาจ หากต้องการกลับมาออกอากาศตามปกติต้องลงนามในบันทึกข้อตกลง (MoU) ของกสทช. โดยสาระสำคัญของ MoU คือ ทางสถานียินยอมงดเว้นการนำเสนอเนื้อหาที่ขัดต่อประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 หากฝ่าฝืนอาจพิจารณาถอนใบอนุญาตทันที ดังนั้น ความผิดฐานละเมิด MoU จึงมีโทษสูงกว่าความผิดตามมาตรา 37 ซึ่งใช้โทษปรับเป็นหลัก
 
 
ส่วนสุภิญญา มองว่า กสทช. ควรเน้นกำกับดูแลเนื้อหาที่ผิดกฎหมายชัดเจนก่อน อย่างเช่น การโฆษณาเกินจริง แต่สถานการณ์ในตอนนี้ กรณีที่ผิดกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค การพิจารณากลับช้ากว่ากรณีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมือง
 
“จริงๆ กสทช.ควรช่วยผู้ประกอบการคานดุลคสช.บ้าง ไม่ใช่เอคโค่คสช.” สุภิญญา กล่าว
 
‘กำกับดูแลกันเอง’ อีกไกลแค่ไหนถึงจะใกล้
 
รศ.อรุณีประภา หอมเศรษฐี นายกสมาคมสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย) ชี้แจงว่า ทางสภาวิชาชีพมีมาตรฐานว่าด้วยจริยธรรมและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสื่อที่มีเนื้อหาครอบคลุมอยู่แล้ว และเป็นข้อกำหนดที่มาจากการประชุมร่วมกันหลายภาคส่วน โดยหวังจะใช้มาตรฐานนี้ในการกำกับดูแลกันเอง
 
“น่าจะถึงเวลาหรือยังที่จะเกิดความร่วมมือในระหว่างสื่อด้วยกัน เลิกแข่งขันกันชั่วขณะจิตได้ไหม ช่วยกรุณามาทำให้เป็นมาตรฐานก่อน ต่อไปพอเข้าระบบปุ๊บ ทุกช่องโดนเหมือนกันหมด ไม่ได้โดนคนที่เกลียดชังเราเป็นการส่วนตัว แต่โดนโดยสภาวิชาชีพ เราก็อยากจะเห็นแบบนั้น” นายกสมาคมสภาวิชาชีพฯ กล่าว
 
 
นอกจากนี้ รศ.อรุณีประภา เผยว่า ที่ผ่านมาทางสภาวิชาชีพพยายามขอเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลเนื้อหา โดยให้สถานีที่ถูกเชิญไปชี้แจงกับกสทช. ทำหนังสือขอให้ตัวแทนจากสภาเข้าไปฟังการพิจารณาด้วย แต่ไม่ได้รับความร่วมมือจากกสทช.
 
ด้านชวรงค์ เสนอว่า กสทช.ต้องเร่งให้มีประกาศส่งเสริมการรวมกลุ่มขององค์กรวิชาชีพทางด้านสื่อวิทยุโทรทัศน์ เพื่อมาทำหน้าที่กำกับดูแลกันเอง จะได้เกิดความชัดเจนว่า อะไรที่กสทช.ไม่ควรมาก้าวล่วง เพราะเป็นเรื่องของวิชาชีพและจริยธรรม
 
ส่วนอาจารย์จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เสนอว่า หากต้องการให้สภาวิชาชีพมีบทบาทในการกำกับดูแลกันเอง แต่ละสถานีมีช่องทางของตนเองอยู่แล้ว โดยอาจขึ้นข้อความหรือตัววิ่งบนหน้าจอโทรทัศน์ ระบุว่าช่องนี้เป็นสมาชิกของสภาวิชาชีพฯ หากผู้ชมพบการนำเสนอเนื้อหาที่เข้าข่ายความผิดตามธรรมนูญของสภา ให้ส่งเรื่องร้องเรียนไปยังสภาผ่านช่องทางไหน เพื่อให้ประชาชนร้องเรียนผ่านช่องทางดังกล่าวแทนที่จะส่งเรื่องไปยัง กสทช.
 
“เริ่มตั้งแต่ทำยังไงให้องค์กรวิชาชีพเป็นที่รับรู้ของสังคม ต้องสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นให้ได้ว่า องค์กรวิชาชีพจะต้องแทนที่กสทช.ได้ในแง่ของการรับเรื่องราวร้องเรียน ถ้าเกิดไม่อยากให้กสทช.ทำ ท่านก็ต้องทำเอง” ผศ.ดร.พิรงรอง กล่าวทิ้งท้าย