16 พฤศจิกายน 2558
ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ย้ำ กำหนดที่มานายกฯ มุ่งแก้ปัญหาในอดีต
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีมีหลายฝ่ายแสดงความกังวลเปิดช่องให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอกว่า เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญต้องการหาแนวทางใหม่ เพื่อขจัดปัญหาที่เกิดขึ้นจากกฎเกณฑ์เดิมในอดีต และย้ำว่ากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ มีเจตนาให้พรรคการเมืองประกาศรายชื่อผู้ที่จะถูกเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีให้ประชาชนได้ทราบล่วงหน้า ซึ่งเป็นหน้าที่ของแต่ละพรรคที่จะไปกำหนดเงื่อนไขการคัดเลือกตัวบุคคล โดยต้องคำนึงถึงความเหมาะสม ไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. ก็ได้
17 พฤศจิกายน 2558
สปท.ชูกรอบทำแผนปฏิรูปตามคำสั่ง 'บิ๊กตู่'
คำนูณ สิทธิสมาน, สุวัฒน์ จิราพันธุ์ และพญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ โฆษกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ร่วมกันแถลงถึงแผนการปฏิรูปของคณะกรรมาธิการปฏิรูป สปท. ว่า ขณะนี้ขั้นตอนการทำงานของ สปท. เข้าสู่โรดแม็พเลข 1 ตัวที่ 2 ตามสูตร 1+1+18 โดยหลังจากนี้ กมธ.แต่ละด้าน ต้องไปดำเนินการทำแผนปฏิรูปเพื่อมาเสนอต่อ สปท. ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย. ถึงวันที่ 9 ธ.ค.นี้ ซึ่ง ร.อ.ทินพันธุ์ นาคาตะ ประธาน สปท. ได้กล่าวถึงแนวทางการทำแผนการปฏิรูป คือ
1.แผนการปฏิรูปจะต้องเป็นเรื่องที่ กมธ.เห็นว่าเป็นเรื่องสมควรปฏิรูป โดยคำนึงถึงความสำคัญเร่งด่วนและความสัมฤทธิ์ ซึ่งกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว 2557 มาตรา 39/2 รวมทั้งจะต้องระบุปัญหาต่าง ๆ ที่จะต้องมีการปฏิรูป 2.วิธีการปฏิรูป กมธ.จะต้องวิเคราะห์จัดทำแนวทางเกี่ยวกับเรื่องการปฏิรูปและแนวทางการแก้ไขปัญหาตามข้อหนึ่ง
3.กำหนดเวลาการปฏิรูป จะต้องกำหนดระยะเวลาให้ชัดเจนไว้เป็น 3 ระยะ ตามหนังสือสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ นร.0404/13183 เรื่อง ดำรินายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการอภิปรายทั่วไปเพื่อเสนอวิธีการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน
4.แหล่งที่มาของงบประมาณ กรณีที่จะต้องใช้เงินงบประมาณในการปฏิรูป กมธ.จะต้องเสนอแหล่งที่มาของเงินงบประมาณให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ และ
5.หน่วยงานที่รับผิดชอบ กมธ.จะต้องเสนอในรายงานเรื่องที่จะปฏิรูปนั้นๆ ว่าอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานใด
18 พฤศจิกายน 2558
โฆษก กรธ. เผย ที่ประชุมกำหนดให้การพิพากษาของศาลต้องมีความเป็นอิสระ รวดเร็ว เป็นธรรม และปราศจากอคติ
ชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงความคืบหน้าการพิจารณาร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ว่า ที่ประชุมได้กำหนดให้มีสโลแกนในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ คือ “ร่วมคิด ร่วมร่าง ร่วมสร้างรัฐธรรมนูญใหม่” เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบและร่วมกันเสนอความคิดเห็นต่อการร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนความคืบหน้าการพิจารณาต่อเนื่องในหมวดศาล ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบททั่วไปและศาลยุติธรรม ที่ประชุมได้กำหนดหลักการว่าด้วยบททั่วไปของศาลในเรื่องต่างๆ ซึ่งมุ่งเน้นให้ศาลมีความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยต้องเป็นไปด้วยรวดเร็ว เป็นธรรม และปราศจากอคติ ส่วนด้านการแต่งตั้ง การโยกย้าย การเลื่อนเงินเดือนหรือตำแหน่งของศาลยุติธรรมต้องดำเนินการโดยคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม เพื่อประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษา
ผุดล่าชื่อค้านร่างพ.ร.บ.กำลังพลสำรองอย่างถาวร ชี้ทำอาชีพตัวเองก็ช่วยชาติได้
ในเว็บไซต์ change.org มีผู้ใช้ชื่อว่า ‘ไทยแลนด์บีบอยอิ่งสตรีท’ ได้ตั้งเรื่องรณรงค์ล่ารายชื่อเพื่อ คัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.กำลังพลสำรองอย่างถาวร โดยร้องเรียน ถึง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผู้ตั้งเรื่องรณรงค์ ระบุว่า เมื่อต้นเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา สนช. มีมติเห็นชอบผ่านร่าง พ.ร.บ.กำลังพลสำรอง เนื้อหาสรุปง่ายๆ คือ ชายไทยที่เคยผ่านการเกณฑ์ทหาร ผ่านการเรียนรักษาดินแดน (รด.) หรือผ่านการเกณฑ์ทหาร เพราะจับได้ใบดำ สามารถถูกเรียกตัวให้กลับมาฝึกทหารอีกครั้งในฐานะ ‘กำลังพลสำรอง’
ผู้ตั้งเรื่องรณรงค์ กล่าวด้วยว่ากลุ่มของพวกเราขอเป็นตัวแทนเสียงของชายไทย และผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ เราไม่ต้องการให้มีการซ้ำเติมผู้ที่บากบั่นเรียนรด.มา 3 ปี จับได้ใบดำ หรือผู้ที่เกณฑ์ทหาร ประเทศชาติต้องการสิทธิมนุษยชนที่เท่าเทียมกัน ทุกคนมีอาชีพเป็นหลักเป็นแหล่ง ทุกคนต่างมีความฝันของตัวเอง กลุ่มของเราอยากทำเพื่อประเทศชาติไปแข่งขันบีบอยในเวทีนานาชาติ แล้วถ้าวันหนึ่งเราถูกเรียกตัวเป็นกำลังพลสำรอง เราก็ไม่สามารถเป็นตัวแทนชาติได้ กรุณาอย่าดับฝันของเรา พวกเราขอคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.กำลังพลสำรองอย่างถาวรโปรดทุกท่านร่วมลงชื่อสนับสนุน
19 พฤศจิกายน 2558
สนช.มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.ไว้พิจารณา
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. .... ไว้พิจารณาด้วยคะแนน 184 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง ทั้งนี้ ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงว่า กิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประเทศและได้รับความเชื่อมั่นจากผู้รับบริการทั้งชาวไทยและต่างชาติ จึงมีผู้ประกอบกิจการมากขึ้น แต่ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายกำกับดูแลและผู้ให้บริการจำนวนมากขาดความรู้และทักษะ สถานประกอบการส่วนใหญ่ไม่ได้มาตรฐานและส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้รับบริการ จึงเห็นว่าควรมีกฎหมายเพื่อใช้กำกับดู เพื่อให้การดำเนินกิจการดังกล่าวเป็นไปอย่างมีมาตรฐาน
สนช.เห็นชอบ 5 กรรมการป.ป.ช.ชุดใหม่
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จำนวน 5 ราย คือ 1.วิทยา อาคมพิทักษ์ อดีตกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน 2.นางสุวณา สุวรรณจูฑะ ปลัดกระทรวงยุติธรรม 3.พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 4.นายสุรศักดิ์คีรีวิเชียร อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ และ 5.พล.อ.บุญยวัจน์ เครือหงส์ อดีตผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบภายในกองทัพบก สำหรับขั้นตอนจากนี้ ประธานสนช.จะนำรายชื่อดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า พล.ต.อ.วัชรพล ซึ่งถือเป็นตัวเต็ง และได้ลาออกจากตำแหน่งสมาชิก สนช.เพื่อเข้ารับสรรหาในครั้งนี้ ได้รับเลือกคะแนนที่น้อยสุดใน 5 คน
คสช.ส่ง 10 ข้อเสนอร่างรธน.ถึงมีชัย ระบุใช้กำลังทหารโดยสุจริตเพื่อความมั่นคงไม่ต้องรับโทษ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ คสช./491 ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน เรื่อง ขอความร่วมมือแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ถึง มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยมีข้อเสนอ 10 ข้อ โดยข้อเสนอที่น่าสนใจ เช่น ควรบัญญัติช่องทางเผื่อกาลในอนาคตในการผ่าทางตัน โดยเฉพาะการเกิดปัญหาสุญญากาศทั้งด้านนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินสามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง, การใช้กำลังทหารโดยสุจริตเพื่อความมั่นคงของรัฐจากภัยที่มีมาจากภายในและนอกราชอาณาจักร ไม่ต้องรับโทษทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครอง และทหารจะต้องมีสิทธิเสรีภาพในทุกๆ ด้าน เช่นเดียวกับประชาชนโดยทั่วไปไม่ควรถูกจำกัด หรือริดรอนสิทธิเสรีภาพแม้กระทั่งสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง ด้วยเหตุแห่งอาชีพในการเป็นข้าราชการทหาร
ประธาน กรธ. เผย ยังไม่กำหนด คปป.ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึง ข้อเสนอประกอบการร่างรัฐธรรมนูญของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า กรธ.ให้ความสำคัญกับทุกข้อเสนอจากฝ่ายต่าง ๆ อย่างเท่าเทียมกัน ส่วนกรณีที่ คสช. ให้ความเห็นเรื่องการแก้วิกฤติทางการเมืองนั้น ไม่ได้มีการพูดถึงคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) เพราะเป็นหน้าที่ของ กรธ.ที่จะพิจารณาว่า เมื่อบ้านเมืองเกิดวิกฤติจะมีแนวทางแก้ปัญหาอย่างไร และไม่ยืนยันว่าจะมีองค์กรใหม่เพื่อมาแก้วิกฤติหรือไม่ แต่ กรธ.วางเป้าหมายว่าจะพยายามใช้กลไกที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญมาแก้ปัญหา ซึ่งขณะนี้ที่ประชุมยังไม่ได้หยิบยกมาพิจารณา พร้อมย้ำว่า การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่ได้สร้างอำนาจใหม่ขึ้นมาครอบงำอำนาจเก่าที่มีอยู่ แต่ต้องดูปัญหาเก่าว่าเกิดขึ้นจากอะไร เพื่อที่จะได้แก้ให้ถูกจุด
20 พฤศจิกายน 2558
กรธ.เล็งใช้"องค์กรอิสระ"ถอดถอนแทน"ส.ว."
อมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) แถลงว่าที่ประชุมกำลังพิจารณาในหมวดของศาล ศาลปกครอง ศาลทหาร และศาลรัฐธรรมนูญ
โดยในส่วนของศาลปกครองและศาลทหารนั้น กรธ.ได้พิจารณาหลักการ การแต่งตั้งโยกย้ายการเลื่อนเงินเดือนหรือตำแหน่ง รวมถึงการบริหารงาน บุคลาการ และตุลาการปกครองให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกกำหนด ขณะที่ในส่วนของศาลรัฐธรรมนูญขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของ กรธ.ซึ่งเบื้องต้นจะให้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการชี้แจงข้อขัดแย้งทุกเรื่อง ดังนั้นกรธ.เห็นว่าควรจะมีการเพิ่มคุณสมบัติของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้เข้มข้นขึ้น
โฆษก กรธ. กล่าวต่อว่า ที่ประชุมกรธ.ยังได้พิจารณาหลักการของหมวดองค์กรอัยการ โดยร่างฐธรรมนูญฉบับนี้จะไม่มีการเขียนล็อคเอาไว้ว่าห้ามอัยการเข้าไปดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจ เหมือนกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 แต่ข้อห้ามดังกล่าวจะไปปรากฎอยู่ในกฎหมายลูกหรือไม่นั้น เป็นเรื่องของอัยการที่จะไปเป็นผู้ออกแบบเพื่อให้หน่วยงานของตัวเองมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังหารือถึงเรื่ององค์กรที่จะเข้ามาทำหน้าที่ถอดถอนแทน ส.ว.ชัดเจนแล้วว่าจะไม่มีการตั้งองค์กรใหม่ แต่จะใช้กลไกที่มีอยู่เดิมในรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ซึ่งมีอยู่หลายหน่วยงานเข้ามาตรวจสอบและตัดสินในเรื่องคุณสมบัติของนักการเมืองที่เข้าข่ายพ้นจากตำแหน่งโดย กรธ.จะไปกำหนดว่าคดีในลักษณะใดที่จะเข้าข่ายให้องค์กรใดเป็นผู้พิจารณาให้พ้นจากตำแหน่ง ตัวอย่างเช่น หากเป็นคดีทุจริต ก็เป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช. พิจารณาให้พ้นจากตำแหน่ง ถ้าเป็นคุณสมบัติ ก็อาจให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย เป็นต้น
ด้านชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรรมการกรธ.กล่าวว่ายังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องที่มา ส.ว.แต่เบื้องต้นเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ส.ว.จะไม่มีอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยมีหน้าที่เพียงกลั่นกรองกฎหมายพิจารณาเห็นชอบองค์ประกอบของคณะกรรมการในองค์กรอิสระ เข้าชื่อเสนอกฎหมายและเข้าชื่อเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามถึงกรณีที่พรรคการเมืองเสนอให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ชาติชาย กล่าวว่า ถ้าให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งก็จะมีฐานคะแนนเสียงเดียวกับ ส.ส.แต่เราเห็นว่าที่มาของ ส.ว.จะต้องมาด้วยความชอบธรรมแต่ไม่จำเป็นจะต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงเสมอไป อีกทั้งในเรื่องของจำนวน ส.ว.นั้น ที่ประชุมยังไม่ได้ตกผลึก แต่รัฐธรรมนูญที่ผ่านมาได้ระบุให้มีส.ว.จำนวน 100 คน 150 คน หรือไม่เกิน 200 คน อย่างไรก็ตามขอยืนยันว่าร่างแรกของรัฐธรรมนูญจะเสร็จตามที่กำหนดภายในสิ้นเดือนมกราคม 2559 อย่างแน่นอน และจะพยายามร่างให้มีเนื้อหาที่สั้นและกระชับที่สุด.“