24 พฤศจิกายน 2558
ครม. เห็นชอบ "พ.ร.บ.จีเอ็มโอ" หวังควบคุม ดูแล จัดการ การปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรม
พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. …. เพื่อประโยชน์ในการควบคุมดูแลการใช้เทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ให้เกิดวามปลอดภัยต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และคำนึงถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์และสอดคล้องกับการดำเนินงานในระดับสากล โดยมีสาระสำคัญดังนี้
กำหนดสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมาย ได้แก่ สิ่งมีชีวิตที่มีการตัดต่อ ตัดแต่ง หรือเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมหรือผสมผสานสารพันธุกรรมใหม่ที่ได้จากวิธีการใช้เทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ หรือวิธีการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ ไม่ใช้บังคับกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่เป็นยาสำหรับมนุษย์หรือสัตว์ตามที่มีกฎหมายเฉพาะควบคุมอยู่แล้ว
และห้ามไม่ให้มีการปลดปล่อยสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมใดๆ สู่สิ่งแวดล้อม เว้นแต่สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมดังกล่าวจะได้ผ่านการทดสอบความปลอดภัยทางชีวภาพ การประเมินความเสี่ยงอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์และสัตว์ และกำหนดให้ผู้ประกอบกิจกรรมกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินใหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้น
ประธานสภาเกษตรฯ วอน สนช. ผลักดันร่างกฎหมาย "คุ้มครองระบบเกษตรพันธสัญญา"
ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรแห่งชาติ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะอนุกรรมการเกษตรพันธสัญญาและตัวแทนเกษตรกรในระบบเกษตรพันธสัญญา เข้าพบพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 เพื่อขอให้เร่งรัดการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการคุ้มครองระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. ....
โดยกฎหมายฉบับดังกล่าว มีความมุ่งหวังว่าจะแก้ปัญหาความเสียเปรียบของเกษตรกรกลุ่มเลี้ยงปลากระชัง และผู้เลี้ยงไก่ จากการทำสัญญากับบริษัท ตามระบบพันธสัญญา(Contract farming) ที่บริษัทเอกชน ทำสัญญาซื้อขายผลผลิตล่วงหน้ากับคู่สัญญาคือเกษตรกรในราคาที่ตกลงกันไว้ตั้งแต่ต้น
สปท. ด้านปฏิรูปการเมือง เสนอโกงเลือกตั้งโทษแรง พร้อมยอมรับ นายกฯ คนนอก
โฆษก กมธ. ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองระบุ การเลือกตั้งครั้งหน้าต้องมีความสุจริต เที่ยงธรรม หากบุคคลใดกระทำการทุจริตตัดสิทธิการเมืองตลอดชีวิต พร้อมเสนอยุบ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หวังให้การเลือกตั้งสะท้อนเสียงประชาชนอย่างแท้จริง
โดยข้อเสนอการปฏิรูปการเมืองในเบื้องต้น ประกอบด้วย การเลือกตั้งต้องมีความสุจริต โดยหากมีผู้ทุจริตต้องมีบทลงโทษที่รุนแรง รวดเร็ว และไม่ควรมีโทษรอลงอาญา ยกเว้นการกระทำรู้เท่าไม่ถึงการณ์เท่านั้น ขณะที่โทษปรับเรียกค่าเสียหายหากต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ต้องปรับเรียกค่าเสียหายจริง หรือยึดทรัพย์สินในช่วงการเลือกตั้งที่เกิดการทุจริตทันที
และห้ามบุคคลที่กระทำการทุจริตเข้ามามีกิจกรรมทางการเมืองตลอดชีวิต ทั้งนี้ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมกำกับเลือกตั้ง อาทิ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และตำรวจ ต้องถูกพิจารณาลงโทษด้วย
ส่วนองค์ประกอบทางการเมือง เสนอให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จำนวน 400 คน และไม่ควรมี ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพราะต้องการให้ ส.ส.มาจากประชาชนอย่างแท้จริง โดยใช้ระบบเลือกตั้ง 1 คน 1 คะแนน (วันแมนวันโหวต) โดยใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง
ส่วนประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรี เห็นว่า บุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อควรได้รับความเห็นชอบกึ่งหนึ่งจาก ส.ส. ทั้งหมด และหากเป็นบุคคลภายนอกต้องได้รับความเห็นชอบไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของ ส.ส. โดยกระบวนการทั้งหมดต้องทำอย่างเปิดเผย อิสระ ไม่อยู่ใต้อำนาจทางการเมือง
และหากไม่สามารถแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีได้ภายใน 30 วันให้ยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ภายใน 30 วัน ส่วนสมาชิก (ส.ว.) เบื้องต้นเห็นควรให้มีสมาชิกจำวน 200 คนแต่ไม่เกิน 250 คน และไม่มีอำนาจถอดถอน ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่วนที่มา ส.ว.อยู่ระหว่างการพิจารณา
25 พฤศจิกายน 2558
โฆษก กรธ. แถลงได้โครงสร้าง ที่มา อำนาจหน้าที่ ศาล รธน. เพิ่มอำนาจหน้าที่ตามที่ คสช. เสนอมา
โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงว่าที่ประชุมเห็นชอบโครงสร้าง ที่มา อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ โดยให้มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน มีวาระดำรงตำแหน่ง 9 ปี สำหรับอำนาจหน้าที่จะเพิ่มให้กับศาลรัฐธรรมนูญ
โดยเดิมทีศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาต่อเมื่อมีปัญหาความขัดแย้งจากบทบัญญัติของกฎหมายหรือการใช้อำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กรที่เกิดขึ้นแล้วเท่านั้น แต่ กรธ.เห็นว่ากรณีใดที่เห็นแล้วว่าจะเป็นปัญหา แม้จะยังไม่เกิดข้อขัดแย้ง จะเปิดช่องให้องค์กรที่เห็นว่ามีปัญหาต่อการดำเนินการ สามารถยื่นเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยไม่ต้องรอให้เกิดความขัดแย้งก่อน และอาจจะมีบัญญัติกฎหมายให้สามารถชะลอการตัดสินใจในประเด็นที่เห็นชัดว่าจะเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างองค์กรในอนาคต
ส่วนที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คนนั้น จะมาจากตุลาการศาลฎีกาจำนวน 3 คนที่เลือกมาโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา, ตุลาการศาลปกครองสูงสุด 3 คนที่เลือกมาโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด, ผู้ทรงคุณวุฒิระดับศาสตราจารย์ทางนิติศาสตร์และผู้ทรงคุณวุฒิระดับศาสตราจารย์ทางรัฐศาสตร์และรัฐประสาสนศาสตร์อย่างละ 1 คน และผู้ทรงคุณวุฒิที่เคยเป็นอธิบดีหรือเทียบเท่าอีก 2 คน โดย 4 คนหลังนี้มาจากคณะกรรมการสรรหาที่มีโครงสร้างเดียวกับคณะกรรมการสรรหาที่คัดเลือกองค์กรอิสระต่างๆ
ส่วนของการพิจารณาวิธีการคำนวณ ส.ส.จำนวน 500 คนที่มาจากแบ่งเขต 350 คน และบัญชีรายชื่อ 150 คนนั้นมีข้อยุติลงตัวแล้ว คือใช้คะแนนทั้งหมดทั่วประเทศมาหาสัดส่วนของแต่ละพรรค หลังจากหักลบจำนวนที่นั่ง ส.ส.แบบแบ่งเขตของแต่ละพรรคแล้วก็จะให้เติมเต็มด้วย ส.ส. บัญชีรายชื่อแต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 150 คน หากเกิดกรณีโอเวอร์แฮงก็จะใช้การเทียบบัญญัติไตรยางค์ลดสัดส่วนลงจนเหลือเท่า 150 คน
ด้าน ที่มาของวุฒิสภา (ส.ว.) มีข้อยุติว่าจะให้มี ส.ว.จำนวน 200 คน โดยไม่ใช้ระบบเลือกตั้งทางตรง และการสรรหา แต่จะให้มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมของกลุ่มต่างๆ โดยมีที่มาจากการเลือกตั้งของตัวแทนกลุ่มอาชีพต่างๆ หรือ ตัวแทนกลุ่มวิชาชีพต่างๆ อาทิ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มสิทธิสตรี กลุ่มสิ่งแวดล้อม หรือ กลุ่มแรงงาน โดยเน้นให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนในสังคม ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาศึกษาถึงรูปแบบของการเลือกตั้งทางอ้อมโดยกลุ่มตัวแทนอาชีพต่างๆ ซึ่งที่ประชุมยังไม่ได้ข้อสรุปแต่จะดำเนินการด้วยความละเอียดและรอบคอบ
26 พฤศจิกายน 2558
สนช.มณเฑียร พร้อมคณะ เสนอปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ควบคุมขอทานฯ หวังป้องกันการแสวงหาประโยชน์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมการขอทาน พ.ศ.... พร้อมด้วยบันทึกหลักการและเหตุผลและบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ตามที่นายมณเฑียร บุญตัน และคณะ เป็นผู้เสนอ
โดยนายมณเฑียร ได้กล่าวถึงหลักการและเหตุผลการตราร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้เป็นการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการขอทาน ปี 2484 ให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันการขอทานมีลักษณะของการแสวงหาประโยชน์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จากผู้ซึ่งอาศัยความพิการทางร่างกาย สติปัญญา ความสามารถ หรือสภาพจิตใจของบุคคลอื่น ส่งผลให้เกิดความเสียหายและความสงบเรียบร้อยของประเทศเป็นอย่างมาก
ดังนั้นจึงควรมีการจัดระเบียบเรื่องดังกล่าวให้ชัดเจนและเหมาะสมยิ่งขึ้น พร้อมทั้งกำหนดให้บุคคลซึ่งกระทำการใดๆ ให้ผู้อื่นกระทำการขอทานตามสถานที่ต่างๆ ได้รับโทษทางอาญา เพื่อเป็นการคุ้มครองสวัสดิภาพของบุคคลดังกล่าวไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์ของผู้อื่น