30 พฤศจิกายน 2558
“มีชัย” เผย การเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของ ส.ส. เป็นอำนาจศาล
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.เรียบร้อยแล้ว โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ 1. การสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง จะเป็นอำนาจของศาล 2. ถ้าเกิดกรณีที่มีการยุบพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญ ผู้บริหารจะถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ไม่ใช่สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
มีชัยกล่าวว่า การถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง จะมีผลให้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ไม่ได้ แต่มีเวลาจำกัด เช่น 5 ปี แต่การเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง จะสมัครไม่ได้ตลอดชีวิต แต่มีสิทธิไปลงคะแนนได้
1 ธันวาคม 2558
ครม.ไฟเขียวกฎหมายคุมอาหารเด็ก ห้ามโฆษณา หวั่นกระทบผู้ประกอบการ
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวผลประชุมครม. ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบหลักการ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับเด็กทารกและเด็กเล็ก ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ เนื่องจาก พ.ร.บ.อาหาร ฉบับปี พ.ศ. 2522 ในปัจจุบันนั้นควบคุมอาหารทุกประเภท แต่ไม่ได้เน้นอาหารสำหรับเด็กทารกและเด็กเล็ก จึงทำให้คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีข้อจำกัดในการเข้าไปตรวจตราการดำเนินการ
นอกจากนี้ พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ครอบคลุมในเรื่องการโฆษณา เพราะกำหนดไว้เพียงห้ามโฆษณาเกินจริง ซึ่งปัจจุบันยังมีการโฆษณาซึ่งขัดกับหลักการขององค์การอนามัยโลกและยูนิเซฟ ซึ่งจัดตั้งองค์กรสถาบันนานาชาติที่ว่าด้วยเรื่องการตลาดสำหรับนมและอาหารทารกและเด็กเล็ก โดยองค์การดังกล่าวกำหนดไว้ว่าห้ามไม่ให้มีการโฆษณาเลย ฉะนั้น ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับเด็กทารกและเด็กเล็ก ดังกล่าวจึงมีสาระสำคัญคือการห้ามโฆษณา และตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อดูแล แต่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า จะกระทบต่อผู้ประกอบการ
2 ธันวาคม 2558
กรธ.ห้าม ส.ส.-ส.ว.ใช้ตำแหน่งหาประโยชน์เข้าตัว
อมร วานิชวิวัฒน์ โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงว่า ที่ประชุมได้พิจารณาร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญในหมวดที่เกี่ยวข้องกับรัฐสภา โดยกำหนดหลักการไม่ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ใช้สถานะหรือตำแหน่งไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง รวมทั้งกำหนดหลักการในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาและกำหนดหลักการเกี่ยวกับการใช้ข้อบังคับการประชุมร่วมกันของรัฐสภา พร้อมยืนยันว่า กรธ. ยังคงกำหนดหลักการการทำหน้าที่ของรัฐสภาอยู่ในรูปแบบเดิม โดยไม่ไปก้าวก่ายอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ขณะที่ในส่วนของการกำหนดหลักการเกี่ยวกับการเสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและร่างพระราชบัญญัติ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของ กรธ.
สปท.เสนอปฏิรูปองค์กรทนายความและตำรวจ 6 ด้าน
พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน โฆษกคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม แถลงข่าวถึงประเด็นสำคัญที่ต้องปฏิรูปอย่างเร่งด่วน โดยเสนอให้ปฏิรูปกิจการตำรวจ 6 ด้าน ได้แก่ การบริหารงานบุคคลให้ปราศจากการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง ปฏิรูปงานสอบสวน ปฏิรูปการแต่งตั้งโยกย้ายโดยยึดระบบคุณธรรม ป้องกันการซื้อขายตำแหน่ง การสร้างความมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในกิจการตำรวจ การถ่ายโอนภารกิจที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของตำรวจไปให้หน่วยงานอื่น และปฏิรูปงานนิติวิทยาศาสตร์ ส่วนการปฏิรูปองค์กรทนายความ เน้นในเรื่องของทนายความอาสา และทนายขอแรง ที่ต้องทำให้มีคุณภาพและมีคุณสมบัติที่เหมาะสม รวมถึงมีการอบรม ประเมินผล และปรับปรุงค่าตอบแทนของทนายความให้เหมาะสม
ขณะที่การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวมาใช้แทนการคุมขัง ในคดีบางประเภทนั้น ควรนำมาใช้กับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ปล่อยชั่วคราว เพื่อป้องกันการหลบหนี ขณะเดียวกันก็เพื่อเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ ศาล ใช้ดุลยพินิจปล่อยตัวชั่วคราวได้มากขึ้น แก้ปัญหาการถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี
3 ธันวาคม 2558
สนช.ผ่านร่าง พ.ร.บ.ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดตั้งสถาบันวิจัยชั้นสูง
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พ.ศ.... ด้วยคะแนนเสียง 149 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี และงดออกเสียง 4 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 153 คน ประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นกฎหมาย สำหรับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จัดตั้งขึ้น เพื่อให้เป็นสถาบันการวิจัยและวิชาการชั้นสูง จัดการศึกษาทางวิชาการและวิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม การแพทย์ และการสาธารณสุขชั้นนำของภูมิภาค
สนช.เผย หลังปีใหม่ ประเด็นแก้ รธน.ทำประชามติ ชัด
สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวถึงการประชุมแม่น้ำ 3 สายที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวานนี้ ว่า ที่ประชุมได้หารือเรื่องการทำงานตามโรดแมปของรัฐบาล เพื่อจะลดขั้นตอนการทำงานให้กระชับ และสอดคล้องกัน ให้เป็นรูปธรรมและประชาชนสัมผัสได้ โดยให้นำเรื่องที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ศึกษาเสร็จสิ้นแล้วมาดำเนินการต่อ และไม่จำเป็นต้องอภิปรายซ้ำอีก
สุรชัย ยังกล่าวถึงการแนวทางการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ กรณีหากประชามติไม่ผ่าน โดยคาดว่า ช่วงหลังปีใหม่ ครม.และ คสช. จะส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เรื่องการทำประชามติมายัง สนช. ซึ่งเชื่อว่าจะมีความชัดเจนในประเด็นดังกล่าวอย่างแน่นอน
กรธ. เผย ที่มา ส.ว.จาก 20 กลุ่มสังคม 3 ระดับ พร้อมลดขั้นตอนกรองกฎหมายของ ส.ว.เหลือ 2 วาระ ขณะที่ ครม.ขอแก้ กม.องค์กรอิสระฝ่ายเดียวไม่ได้
อุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงว่า ที่ประชุมกรธ.ได้พิจารณากระบวนการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แบบทางอ้อม เบื้องต้นเห็นตรงกันว่าจะกำหนดกลุ่มทางสังคมจำนวน 20 กลุ่ม แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเป็นกลุ่มใดบ้าง ซึ่งมีข้อเสนอว่าจะดำเนินการเป็นระดับคือ 1.ระดับอำเภอ 2.ระดับจังหวัด และ 3.ระดับประเทศ โดยการเลือกส.ว.จะเริ่มการเลือกกันในอำเภอต่างๆ เมื่อได้รายชื่อมาแล้วจะมาเลือกกันในระดับจังหวัด ก่อนส่งรายชื่อเข้าส่วนกลางและให้ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกมาทำการเลือกกันเอง ทั้งนี้ขั้นตอนของการเลือกกันเองมีความคิดกันว่าควรมีมาตรการไม่ให้เกิดการฮั้วกันของผู้สมัคร โดยอาจจะให้ผู้สมัครไม่สามารถเลือกบุคคลที่อยู่ในกลุ่มสังคมเดียวกัน
อุดมกล่าวต่อว่านอกจากนี้ ได้กำหนดหลักการเพื่อทำให้การพิจารณาร่างกฎหมายในกระบวนการของวุฒิสภามีความรวดเร็วขึ้น คือ ไม่ให้วุฒิสภาแปรญัตติเกินกว่าหลักการที่สภาผู้แทนราษฎรได้เสนอไว้ หลักการนี้จะช่วยให้การพิจารณาของวุฒิสภาจากเดิมที่พิจารณา 3 วาระ คือ วาระรับหลักการ แปรญัตติ และลงมติ เหลือเพียง 2 วาระเท่านั้นคือ การพิจารณาเป็นรายมาตราภายหลังคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว และ การลงมติให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ หากวุฒิสภาไม่เห็นชอบเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรสามารถปฏิเสธและส่งคืนสภาผู้แทนราษฎรได้
อุดม กล่าวอีกว่า ส่วนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญต่างๆ กรธ.เห็นว่าหากจะมีการดำเนินการแก้ไขกฎหมายขององค์กรใด ผู้เสนอร่างกฎหมายจะต้องเป็นคณะรัฐมนตรี(ครม.) ร่วมกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวเท่านั้น โดยครม.จะไม่สามารถเสนอร่างกฎหมายนั้นได้เพียงลำพัง เพื่อไม่ให้เกิดการแทรกแซงองค์กรอิสระ จากนั้นจะดำเนินการส่งให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ แต่เมื่อทั้งสองสภาพิจารณาเสร็จแล้ว องค์กรตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวจะต้องทำความเห็นว่ามีประเด็นใดในร่างกฎหมายบ้างที่อาจเป็นอุปสรรคในการทำงาน หากเห็นว่ามีปัญหาจะต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป แต่ถ้าไม่มีประเด็นปัญหาก็ไม่จำเป็นต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย
4 ธันวาคม 2558
หัวหน้า คสช.ใช้มาตรา 44 แก้ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ
เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตํารวจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเกิดความเป็นธรรม หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงอาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มีคําสั่ง เช่น
ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติตํารวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 32 เพื่อรักษาความเที่ยงธรรมในการแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตํารวจ ให้ ก.ตร. ออกกฎ ก.ตร. กําหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตํารวจไว้ให้ชัดเจนแน่นอน กฎ ก.ตร. ดังกล่าวให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป”
ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในมาตรา 53 และมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติตํารวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 88/2557 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
มาตรา 53 การแต่งตั้งข้าราชการตํารวจ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ การแต่งตั้งข้าราชการตํารวจให้ดํารงตําแหน่งตามมาตรา 44 (1) ให้ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ คัดเลือกรายชื่อข้าราชการตํารวจที่ดํารงตําแหน่งจเรตํารวจแห่งชาติหรือรองผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ แล้วเสนอ ก.ต.ช. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน แล้วให้นายกรัฐมนตรีนําความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้ง