6 ธันวาคม 2558
กรธ.เผยร่างรธน.คืบหน้าเกินครึ่ง จ่อใช้ศาลรธน.ผ่าทางตัน
ปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขานุการคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) กล่าวว่า กระบวนการทำงานของกรธ.มีความคืบหน้าประมาณร้อยละ 60 แต่มีเพียงบางประเด็น เช่น วิธีการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) รวมทั้งประเด็นคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่าจะกำหนดให้มีอำนาจเพิ่มเติมหรือจะควบคุมการใช้อำนาจการบริหารราชการแผ่นดินให้โปร่งใสได้อย่างไร
ด้านชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษก กรธ. กล่าวว่า ประเด็นที่สังคมเป็นห่วงว่าจะมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ(คปป.) หรือไม่นั้น ตามหลักการของ กรธ. คงจะไม่มีองค์กรใหม่แบบนี้ แต่จะใช้องค์กรที่มีอยู่แล้วทำหน้าที่ไป เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น เวลามีเหตุการณ์ที่ถึงทางตันมีข้อขัดแย้งทางการเมืองหรือทางรัฐธรรมนูญก็ให้ศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ไปหรืออาจเพิ่มเครื่องมือหรือช่องทางให้เขา
8 ธันวาคม 2558
ภาคประชาชนค้าน 2 ร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมฉบับก.พลังงาน
เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) นำโดยปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ผู้ประสานงานเครือข่าย ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อเรียกร้องขอให้ยุติการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. ... และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ... ซึ่งเสนอโดยกระทรวงพลังงานที่เข้าสู่การพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) อีกทั้งขอให้ตั้งคณะทำงานยก ร่างพ.ร.บ.ทั้งสองตามการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญปัญหาการบังคับใช้พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. ...และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ... สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)
ปานเทพ กล่าวว่า ประชาชนห่วงใยต่อการที่ รมว.พลังงาน จะนำร่างแก้ไขเพิ่มเติมเข้าที่ประชุมครม. ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่ไม่ได้แก้ไขปัญหาข้อกฎหมายต่างๆ ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ของ สนช. ได้เสนอให้ปรับแก้ ถ้าครม.อนุมัติร่างกฎหมาย และถ้าผ่านกระบวนการทางกฎหมายแล้วนำไปบังคับใช้ให้เอกชนเข้ายื่นขอสิทธิเพื่อการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รอบที่ 21 จะสร้างความเสียหายให้กับประเทศและประชาชนอย่างมาก
9 ธันวาคม 2558
'กรธ.'วางกฎเหล็ก ห้ามส.ส.แปรญัตติงบฯเพิ่ม
ชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงความคืบหน้าในการประชุมว่า กรธ.ได้พิจารณาประเด็นเกี่ยวกับการตรา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ โดยกำหนดให้ ส.ส.ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 105 วัน เพื่อส่งต่อให้วุฒิสภา พิจารณาให้เสร็จภายใน 20 วัน รวมระยะเวลา 125 วัน โดยสาระสำคัญที่ได้เพิ่มขึ้นมาคือไม่ให้ ส.ส.แปรญัตติเพิ่มงบประมาณค่าใช้จ่าย ให้ทำได้แค่ตัด หรือลดงบประมาณเท่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ ส.ส.นำงบประมาณไปใช้ประโยชน์ส่วนตน และสร้างความนิยมทางการเมือง
นอกจากนี้ กรธ.ยังกำหนดมาตรการลงโทษแก่ ส.ส.ที่มีส่วนให้ความเห็นชอบหรือกระทำการแปรญัตติ โดยมิชอบ ให้ ส.ส.หรือ ส.ว.ที่สงสัยสามารถยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยใช้เสียง 1 ใน 10 ของแต่ละสภายื่นเรื่องได้ ซึ่งเมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องแล้วต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน และหากพบว่าบุคคลที่ถูกยื่นสอบมีความผิดจริง ส.ส.ผู้นั้นต้องสิ้นสภาพการเป็น ส.ส.และถูกตัดสิทธิเลือกตั้งตลอดชีวิต ซึ่งถือเป็นกลไกใหม่ที่ กรธ.ชุดนี้คิดขึ้น
10 ธันวาคม 2558
มีชัย ระบุ ที่เขียนรัฐธรรมนูญผิดแปลกเพราะต้องให้เหมาะกับประเทศ
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ ดำเนินการอย่างเต็มที่ตามความสามารถของคน 21 คน จากที่ได้รับฟังความคิดเห็นมาร่างให้มีความเหมาะสมกับสภาวะประเทศไทยและคนไทยให้มากที่สุด ส่วนที่นักวิชาการวิจารณ์ว่ามีประเทศใดทำเช่นนี้บ้างนั้น ตนมองว่าประเทศอื่นไม่เคยมีปัญหาเช่นเดียวกับเราจึงต้องเขียนให้มีความผิดแผกจากคนอื่นบ้าง
ส่วนคำถามที่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความหวังว่าจะไม่ถูกฉีกอีกหรือไม่ มีชัย ระบุว่า ความหวังไม่ได้อยู่ที่ตัวรัฐธรรมนูญ แต่ความยั่งยืนของรัฐธรรมนูญอยู่ที่ปัจจัยสำคัญ 2 ประการ คือ การศึกษาที่จะทำให้คนมีวินัยถือเป็นเรื่องสำคัญ รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมาเข้มงวดกวดขัน ที่จะทำให้รัฐธรรมนูญอยู่ได้ยาวนาน ส่วนประเด็นที่ขณะนี้มีแรงกดดันทางการเมืองเข้ามามาก การดำเนินการร่างจะเป็นไปตามโรดแมปหรือไม่นั้น มีชัย ยืนยันว่า กรธ.มีระยะกรอบเวลาที่ชัดเจนแน่นอน อยู่แล้ว ขณะประเด็นที่ว่าจะต้องบัญญัติกลไกป้องกันการทุจริตในร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ มีชัยเห็นว่าควรมี แต่ขณะนี้ยังคิดไม่ออก
รองนายกฯ เผย กรรมการ ปปช. ใหม่ 5 คน สามารถประชุมเพื่อเลือกประธานได้ โดยไม่ต้องรอโปรดเกล้าฯ
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องการเลือกประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คนใหม่ ว่าไม่สามารถทำได้ขณะนี้ เนื่องจากกรรมการ ป.ป.ช.ใหม่ทั้ง 5 คน ยังไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง แต่การที่มีคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ พ้นจากตำแหน่ง ประธาน ป.ป.ช. ก็เท่ากับเป็นการปลดล็อกให้ผู้ที่เป็นกรรมการใหม่ทั้ง 5 คน สามารถประชุมร่วมกับผู้ที่เป็นกรรมการเดิม 4 คน เพื่อเลือกประธานได้ โดยไม่ต้องรอให้มีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการใหม่ก่อน อย่างไรก็ตามการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช เพื่อเลือกประธานคนใหม่โดยที่ยังไม่มีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งกรรมการใหม่ เคยเกิดขึ้นมาแล้วในครั้งที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดแรกทีเดียว 9 คน
11 ธันวาคม 2558
กมธ.ปฏิรูปการเมืองจ่อเชิญทุกสีหาทางออกนิรโทษกรรม
สมพงษ์ สระกวี สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ด้านการเมือง กล่าวถึงการพิจารณาแนวทางการนิรโทษกรรมว่า เรื่องการนิรโทษกรรมเป็นหนึ่งในเครื่องมือสร้างความปรองดอง โดยจะตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นมาศึกษา เบื้องต้นจะยึดตามแนวทางของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดย กมธ.เห็นตรงกันว่า ควรมีการนิรโทษกรรมทางการเมืองให้ทุกฝ่าย ทุกสีทั้งระดับแกนนำและผู้ชุมนุม ที่มีความผิดเฉพาะมูลเหตุจูงใจทางการเมืองเท่านั้น แต่ไม่ครอบคลุมถึงคดีอาญา คดีทุจริต