"โลกไซเบอร์" เคยถูกประกาศเป็นเขตปลอดอำนาจรัฐโดยผู้บุกเบิก
อย่างไรก็ดี เมื่อมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้นการกระทบกระทั่งระหว่างผู้ใช้มากตามไปด้วย คนจำนวนหนึ่งจึงเริ่มมีความคิดในการจัดการความขัดแย้งและสร้างกติกาในการอยู่ร่วมกัน
ระบอบการกำกับอินเทอร์เน็ตที่แต่เดิมอยู่ในมือผู้เชี่ยวชาญในการเขียนโปรแกรมควบคุมทิศทางไหลเวียนของข้อมูล จึงค่อยๆ คลี่คลายไปสู่ การกำหนดกติกาโดยการมีส่วนร่วมของทั้งภาครัฐ ผู้ให้บริการ และผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วไปมากขึ้น ภายใต้แรงผลักดันและเงื่อนไขหลากหลาย เช่น แรงขับทางเศรษฐกิจและกลไกตลาด ความเป็นห่วงเรื่องความมั่นคงของชาติ ความกังวลถึงผลกระทบต่อเยาวชน เสรีภาพในการประดิษฐ์คิดค้น และขบวนการสิทธิพลเมือง
สำหรับประเทศไทย เมื่อเกิดรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 คณะรัฐประหารได้รวบอำนาจในการออกกฎหมาย กำหนดนโยบาย และควบคุมพื้นที่ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ไว้ที่ตน
ด้วยความปราถนาในการควบคุมการไหลเวียนข้อมูลอย่างเบ็ดเสร็จ คณะรัฐประหารได้จัดตั้งคณะทำงานหลายชุดเพื่อติดตามตรวจสอบข้อมูล พยายามออกชุดกฎหมาย "เศรษฐกิจดิจิทัล" ที่สอดแทรกการให้อำนาจรัฐสอดส่องและควบคุมการไหลเวียนข้อมูลบนข้ออ้างเรื่อง "ความมั่นคงไซเบอร์" จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการนักรบไซเบอร์ รวมไปถึงการทำ "สงครามไซเบอร์" ข้ามพรมแดนรัฐ
การศึกษาการกำกับอินเทอร์เน็ตในช่วงรัฐบาลทหาร จะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกฎหมายและนโยบายทั้งหลาย ในเวลาที่ประเทศไทยมีรัฐบาลพลเรือน เพื่อให้กฎหมายและนโยบายอินเทอร์เน็ตของไทย สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนสากล และเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมอินเทอร์เน็ตต่อไป
เสวนาระบอบการกำกับดูแลโลกไซเบอร์ไทย นับแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557
ร่วมเสวนาโดย
1) ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
2) สาวตรี สุขศรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
3) กิตติพงษ์ ปิยะวรรณโณ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบอินเทอร์เน็ต
วันพุธที่ 23 ธันวาคม 2558 13.30-16.00 น.
ศูนย์ประชุมนานาชาติ ชั้น 11 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
*ลงทะเบียนหน้างาน
**ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วม

https://www.facebook.com/events/917322144988123/