14 ธันวาคม 2558
สปท. แจง 21-23 ธ.ค. พร้อมวางกรอบการปฏิรููป ชี้ ปฏิรูป 1 ปี ไม่มีทางเสร็จ
ร.อ.ทินพันธุ์ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) ได้ชี้แจงว่า ขณะนี้ สปท.กำลังก้าวเข้าสู่การทำงานตามโรดแม็พในระยะที่ 3 มีช่วงระยะ 18 เดือน ซึ่งจะเป็นช่วงของการนำส่งการปฏิรูปชุดแรกต่อคณะรัฐมนตรีซึ่งกรรมาธิการฯ ทั้ง 11 คณะ จะเสนอกรอบแนวทางการปฏิรูปต่อที่ประชุมสปท.ในวันที่ 21-23 ธ.ค.นี้ โดยจะขับเคลื่อนแผนปฏิรูปที่มีความสำคัญเร่งด่วนมากที่สุดให้เป็นรูปธรรมโดยเรื่องใดที่ต้องออกเป็นกฏหมาย ก็จะส่งในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) พิจารณา และหากเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดินก็จะส่งให้คณะกรรมขับเคลื่อนทั้ง 6 คณะที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานต่อไป
ด้านอลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สปท. ได้วางกรอบการทำงาน 1+1+18 ซึ่งสอดคล้องกับโรดแม๊พของรัฐบาล 6+4+6+4 ที่มีระยะเวลา 20 เดือน โดย 1 เดือนแรก เป็นการร่างข้อกำหนดในการประชุม เลข 1 เดือนที่สองเป็นการกลั่นกรองวาระการปฏิรูป และ 18 เดือนก็คือการดำเนินการปฏิรูป ซึ่งการทำงานของ สปท. จะไม่หาแล้วว่าควรปฏิรูปเรื่องอะไรบ้าง เพราะสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ศึกษาเอาไว้แล้ว
อลงกรณ์กล่าวอีกว่า เป้าหมายของ สปท. คือ ทำให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วใน 20 ปีข้างหน้า โดยประชาชนจะมีรายได้เฉลี่ยคนละ 15,000 เหรียญต่อปี หรืออย่างน้อยๆ GDP ของไทยจะต้องไม่ต่ำกว่า 6% ต่อปี แต่การปฏิรูปที่กมธ.ทั้ง 11 คณะ 11 ด้าน ดำเนินการอยู่นี้เป็นวาระการพัฒนา ซึ่งไม่อาจเสร็จสิ้นได้ภายใน 1 ปี หรือรัฐบาลเดียว หากจะต้องทำกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยที่ดีได้ จะต้องมีแผนยุทธศาสตร์ชาติควบคู่ไปด้วย
กรธ. เสนอ หลังร่าง พ.ร.บ. ผ่านสภา ให้เว้น 5 วัน เพื่อตรวจสอบว่าขัด รธน. หรือไม่
อุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. รายงานความคืบหน้าการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญว่า กรธ. กำลังพิจารณาเรื่องกำหนดหลักการเกี่ยวกับกระบวนการและการควบคุมการตรากฎหมายที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดว่า หลังจากรัฐสภามีมติเห็นชอบผ่านร่างพระราชบัญญัติหรือกฎหมายใดแล้ว จะเสนอกฎหมายต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ทันทีไม่ได้ แต่จะต้องเว้นระยะเวลาไว้ 5 วัน
ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้การตรวจสอบว่า ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีถ้อยคำที่ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยกระบวนดังกล่าวสมาชิกรัฐสภาเข้าชื่อตรวจสอบจำนวน 1ใน 10 ของทั้ง 2 สภา เพื่อยื่นให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือประธานวุฒิสภาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายฉบับนั้นขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่
นอกจากนี้ กรธ. ยังได้พิจารณาในเรื่องกำหนดหลักการเพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภามีสิทธิตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานในหน้าที่ ซึ่งสามารถตั้งกระทู้ถามได้ทั้งการทำเป็นหนังสือและทางวาจา โดยให้เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมแห่งสภานั้นๆ รวมถึงกำหนดหลักการเกี่ยวกับกระบวนการเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ซึ่งยังคงเป็นไปตามหลักการเดิม คือ และการเปิดอภิปรายทั่วไปของวุฒิสภา
กรธ. เสนอ ที่มานายกฯ ต้องมาจากพรรคการเมืองเสนอชื่อ พร้อมใช้กลไกศาลตรวจสอบความสุจริต
อุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า ที่ประชุม กรธ.มีมติเรื่องที่มาฝ่ายบริหารว่า หลักการทั่วไปยังคงลักษณะเหมือนรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยจะมี คณะรัฐมนตรี 35 คน ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี หรือเทียบเท่า ส่วนคุณสมบัติของผู้เป็นรัฐมนตรี ต้องเป็นผู้มีความสุจริต ไม่มีปัญหาเรื่องจริยธรรม หาก ส.ส. หรือ ประชาชน เห็นว่าบุคคลที่ดำรงตำแหน่ง มีพฤติกรรมมิสมควร สามารถร้องต่อศาลให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ ซึ่ง กรธ.ยังไม่ได้กำหนดว่า จะให้ศาลใดเป็นผู้ชี้ขาดส่วนที่มาของนายกรัฐมนตรี ยังคงหลักการเดิม ให้ ส.ส.ใช้เสียงกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด เลือก 1 คน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่บุคคลนั้นจะต้องมีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอต่อประชาชนด้วย
สำหรับพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ร้อยละ 5 ของจำนวน ส.ส. สามารถเสนอชื่อบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้เช่นกัน นอกจากนี้หากที่ประชุม ส.ส.ยังไม่สามารถเลือกบุคคลที่เป็นนายกรัฐมนตรีได้ก็ให้พรรคการเมืองไปหาเสียงสนับสนุนให้ได้เกินกึ่งหนึ่ง โดยไม่จำเป็นต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันเหมือนรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่หากไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ในระยะหนึ่งก็ให้สภาสิ้นสภาพไป และให้มีการเลือกตั้งใหม่
"ขณะเดียวกัน หากนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี มีความผิดในการถือหุ้น และถูกตัดสินว่ามีความผิด บุคคลนั้นจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่และถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 2 ปี จึงจะสามารถเข้ารับตำแหน่งได้อีกครั้ง" นายอุดม กล่าว
16 ธันวาคม 2558
สนช. เตรียมสรุปความเห็นประชาชนส่ง กรธ. 10 ม.ค. นี้ ระบุเสียงส่วนใหญ่กังวลที่มา ส.ส.-ส.ว.-นายกฯ
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่าสำหรับการเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญในสัดส่วนของ สนช. นั้น จะเป็นความคิดเห็นที่ส่งถึงกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ. ) โดยยึดข้อเสนอแนะของประชาชนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ในช่วงเวลาที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ยังไม่เสร็จสิ้น ทาง สนช. จะพิจารณากฎหมายลูกไปพราง ๆ ก่อน โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับระบบการเลือกตั้ง เพื่อให้การดำเนินการทั้งหมดเป็นไปตามโรดแมปที่กำหนดไว้
ขณะที่พีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญแห่งชาติ คนที่ 2 เปิดเผย ว่า หลังการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนในเวทีทั้ง 4 ภาค ประเด็นหลัก ที่ทุกภาคแสดงความเป็นกังวลเหมือนกัน คือ เรื่องที่มาสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่มาวุฒิสภา (ส.ว.) และที่มานายกรัฐมนตรี ซึ่งหลังจากนี้จะต้องใช้เวลาในการประมวลผลความเห็นทั้งหมดอีกครั้ง โดยคาดว่าน่าจะสามารถสรุปความเห็นประชาชน และความเห็นของสมาชิก สนช. ส่งให้ กรธ. ภายในวันที่ 10 ม.ค. ต่อไป
สนช. เตรียมแต่งตั้ง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ เป็นประธาน ป.ป.ช. คนใหม่ หลัง คสช. ใช้ ม.44 ปลด
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้เกี่่ยวกับข้อกฎหมายในการเลือกประธาน ป.ป.ช. ได้ปลดล็อกลง หลังจากที่หัวหน้า คสช. มีคำสั่งตามมาตรา 44 ให้ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ พ้นจากตำแหน่งประธาน ป.ป.ช. โดยที่ประชุม ป.ป.ช. ได้คัดเลือกประธาน ป.ป.ช.คนใหม่ ได้แล้วเมื่อวานนี้ สำนักงานเลขาธิการ ป.ป.ช. ก็จะส่งหนังสือมาถึง สนช. ซึ่งคาดว่าภายในวันนี้น่าจะได้รับหนังสือดังกล่าว และทางสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา จะตรวจสอบรายละเอียดความถูกต้องก่อน จากนั้น จึงนำรายชื่อ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ว่าที่ ประธาน ป.ป.ช. ขึ้นทูลเกล้าฯ พร้อมกับรายชื่อของคณะกรรมการทั้ง 5 คน ที่ได้รับการสรรหาก่อนหน้านี้ โดยจะนำรายชื่อทั้งหมดขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ภายใน 1 - 2 วันนี้
17 ธันวาคม 2558
สนช. อนุมัติ พ.ร.ก. การประมง เหตุ พ.ร.บ. การประมง ไม่พอแก้ปัญหาทำประมงผิดกฎหมาย
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติอนุมัติพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประมง พ.ศ.2558 ตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ให้มีผลใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ต่อไป ด้วยคะแนนเสียง 172 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง และงดออกเสียง 5 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุม 178 คน
โดยหลักการและเหตุผลการตรา พ.ร.ก.ฉบับนี้ ว่า พ.ร.บ. การประมง พ.ศ.2558 ยังไม่เพียงพอต่อการป้องกันและขจัดการประมงที่ผิดกฎหมาย ที่จะทำให้ประเทศไทยปลดจากกลุ่มประเทศที่อาจจะไม่ให้ความร่วมมือในการป้องกันและขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ตามมติของคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป หรือ อียู
ดังนั้น ครม. จึงได้ยกร่างกฎหมายว่าด้วยการประมงขึ้นใหม่ ด้วยการ ออก พ.ร.ก. การประมง พ.ศ. 2558 เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยมีหลักการสำคัญ อาทิ การควบคุมการใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำให้สอดคล้องกับทรัพยากร โดยการออกใบอนุญาตให้ทำการประมงต้องสอดคล้องกับจำนวนสัตว์น้ำและทรัพยากรน้ำ การกำหนดจำแนกเขตประมงอย่างชัดเจน ระหว่างประมงน้ำจืด พื้นบ้านและ พาณิชย์ เพื่อป้องกันความขัดแย้งกำหนดมาตรการคุ้มครองแรงงานในกิจการประมงทะเล โดยห้ามใช้แรงงานที่ฝ่าฝืนกฎหมายเพื่อลดการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานผิดกฎหมาย พร้อมส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน
สนช. แต่งตั้ง กรรมการข้าราชการรัฐสภา ในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คน
มติที่ประชุม สนช. ให้ นนทิกร กาญจนะจิตรา พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ และ พิเชษฐ์ กิติสิน เป็นกรรมการข้าราชการรัฐสภา (กร.) จากผู้ทรงคุณวุฒิ แทนตำแหน่งที่ว่าง เพื่อทำหน้าที่สำคัญในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารและการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของรัฐสภา
โดยที่ประชุมให้สมาชิกออกเสียงลงคะแนนลับ ด้วยวิธีใช้บัตรลงคะแนน เลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิที่ สนช.เสนอและผ่านการพิจารณาคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามแล้ว จำนวนรวม 13 คน แบ่งรายชื่อเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่่ สนช.เสนอเพื่อเลือกเป็นกรรมการ กร.ฝ่ายสภาผู้แทนราษฎร 3 คน ให้สมาชิก สนช. เลือกได้ 1 คน และผู้ทรงคุณวุฒิที่ สนช.เสนอเพื่อเลือกเป็นกรรมการ กร.ฝ่ายวุฒิสภา 10 คน ให้สมาชิก สนช. เลือกได้ 2 คน
18 ธันวาคม 2558
สนช. มีมติ 165 เสียง รับหลักการร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 26 เกี่ยวกับการโอนคดี) ไว้พิจารณา ด้วยคะแนนเสียง 165 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี และงดออกเสียง 2 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุม 167 คน พร้อมมอบหมายให้คณะกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และกิจการตำรวจ สนช. เป็นผู้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว
โดยวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 26 เกี่ยวกับการโอนคดี เพื่อกำหนดให้ประธานศาลฎีกามีอำนาจสั่งโอนคดีไปศาลอื่นในกรณีที่อาจเกิดผลกระทบต่อประโยชน์ที่สำคัญอื่นของรัฐได้ เมื่อโจทก์หรือจำเลยร้องขอ หรือศาลที่คดีนั้นอยู่ระหว่างพิจารณาทำความเห็นเสนอต่อประธานศาลฎีกาขอให้โอนคดีไปศาลอื่น เนื่องจากปัจจุบันการพิจารณาพิพากษาคดีบางเรื่องอาจเกิดผลกระทบต่อประโยชน์อันสำคัญของรัฐ อาทิ มีเหตุจำเป็นที่ไม่เอื้อต่อการพิจารณาคดีในพื้นที่ที่เกิดเหตุเพราะพื้นที่ดังกล่าวมีจำนวนผู้พิพากษาน้อยแต่คดีมีปริมาณมาก ทำให้การพิจารณาคดีมีความล่าช้า ก่อให้เกิดความเสียหายและความปลอดภัยของผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีได้
อย่างไรก็ดี สมาชิก สนช. บางส่วนได้อภิปรายตั้งข้อสังเกตว่า การให้อำนาจประธานศาลฎีกาพิจารณาสั่งโอนคดีไปยังศาลอื่นนั้นจะเป็นการเพิ่มภาระให้กับประธานศาลฎีกาหรือไม่ รวมทั้งเกรงว่าการโอนคดีตามหลักการดังกล่าวอาจกระทบต่อสิทธิจำเลยหรือโจทก์ได้ และรองนายกฯ ก็ยอมรับว่าอาจจะกระทบสิทธิของจำเลยหรือโจทก์ แต่รัฐต้องอำนวยความสะดวกอย่างดีที่สุด
สนช.รับหลักการร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองฯ ไว้พิจารณา
สนช. มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การบังคับคดีปกครอง) ไว้พิจารณาด้วยคะแนน 172 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง
โดยวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงเหตุผลในการตราร่างกฎหมายนี้ว่า ปัจจุบันการดำเนินการบังคับคดีปกครองยังมีข้อขัดข้อง เนื่องจากกฎหมายไม่ได้กำหนดรายละเอียดในการดำเนินการบังคับคดีปกครองให้ครอบคลุมทุกประเภท ซึ่งคดีปกครองมีลักษณะเฉพาะไม่สามารถนำหลักการของการบังคับคดีแพ่งมาใช้ในการดำเนินการบังคับคดีให้มีประสิทธิภาพในทุกกรณีได้ และไม่มีบทบัญญัติกำหนดอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดี ตลอดจนมาตรการที่จะบังคับให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติตามคำบังคับของศาลปกครองให้ถูกต้องครอบถ้วนภายในเวลาอันสมควร รวมทั้งสมควรกำหนดให้ในกรณีที่มีการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น คู่กรณีฝ่ายชนะคดีอาจยื่นคำขอต่อศาลปกครองชั้นต้นหรือศาลปกครองสูงสุดแล้วแต่กรณี เพื่อให้มีการปฏิบัติตามคำบังคับได้ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องรอการปฏิบัติตามคำพิพากษาในระหว่างการพิจารณาคดีชั้นอุทธรณ์