19 ธันวาคม 2558
กรธ.เล็งร่างรัฐธรรมนูญไม่เกิน 200 มาตรา
อภิชาต สุขัคคานนท์ รองประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวในการลงพื้นที่ตามโครงการ สนช.พบประชาชน ที่จังหวัดพะเยาว่า ขณะนี้ได้ร่างรัฐธรรมนูญมา 2 เดือนเศษแล้ว โดยร่างไปได้ถึง 250 มาตรา ทั้งที่ความตั้งใจเดิมจะทำให้สั้นกระทัดรัด ไม่เกิน 200 มาตรา ทางคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้นัดหมายกันในวันที่ 11-18 ม.ค. 2559 ประชุมหารือกัน 7 วัน 7 คืน เพื่อปรับปรุงร่างแรกให้สั้นไม่เกิน 200 มาตรา ทั้งนี้รัฐธรรมนูญใหม่จะต้องรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน รวมทั้งความเห็นประชาชน ซึ่งหากมีความเห็น หรือต้องการให้รัฐธรรมนูญเป็นอย่างไรก็สามารถเสนอความคิดเห็นไปยัง กรธ.ได้ภายในเดือน ม.ค.59
21 ธันวาคม 2558
สมาชิก สปท. ตกใจ! ร่างแผนปฏิรูปเหมือนถูกยัดไส้มา วอนยกเลิกไปก่อน
การประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดยมี ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท. เป็นประธานการประชุม ซึ่งก่อนเข้าสู่วาระการประชุม ประธานสปท. ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงร่างแผนการปฏิรูปประเทศของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ได้รับมาจากการประชุมแม่น้ำ 5 สาย เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยแผนปฏิรูปดังกล่าวกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เป็นผู้จัดทำ ซึ่งมีกรอบระยะเวลา 1 ปีครึ่ง ระหว่างการบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้ถึงปี 2560 และต่อเนื่องไปอีก 20 ปี ข้างหน้า โดยจะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ภายหลังจากที่มีรัฐบาลจากการเลือกตั้งแล้ว ซึ่งจากนี้การปฏิรูปประเทศของ สปท.จะสานต่อและปรับปรุงแก้ไขงานเดิมของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แล้วรายงานต่อนายกรัฐมนตรีโดยตรง ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม ครม.เพื่อผลักดันออกมาเป็นกฎหมาย หรือเป็นคำสั่งนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 44 ต่อไป
ด้านนิกร จำนง สมาชิกสปท. กล่าวว่า ตนเห็นร่างแผนปฏิรูปแล้วตกใจ เพราะเนื้อหาเหมือนถูกร่างมาก่อน ที่กมธ.ด้านการเมือง จะนำเสนอแผนปฏิรูป จึงอยากให้ยกเลิกร่างแผนปฏิรูปนี้ไปก่อน เพื่อไม่ให้ทำงานกันโดยไม่รู้ว่า หัวและหางอยู่ที่ไหน และขอให้นำเข้าสู่การประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (วิปสปท.) สัปดาห์นี้ เพื่อให้สมาชิกรับทราบรายละเอียดด้วย
22 ธันวาคม 2558
ครม.ไฟเขียวร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตฯ
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่าที่ประชุม ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. ... ซึ่งมีสาระสำคัญคือเป็นการยกฐานะแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐในศาลอาญา รวมถึงจัดตั้งขึ้นเป็นศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง อีกทั้งจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาคขึ้น โดยกำหนดให้เป็นศาลชั้นต้นตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม นอกจากนี้กำหนดให้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางมีเขตตลอดกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบและคดีที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ
23 ธันวาคม 2558
“มีชัย” เผยรธน.ใหม่ต้องนิรโทษกรรมให้คสช.
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าในการร่างรัฐธรรมนูญขณะนี้ได้พิจารณาเกี่ยวกับโครงสร้างของวุฒิสภา (ส.ว.) เสร็จสิ้นแล้ว โดย ส.ว.จะแบ่งตามกลุ่มวิชาชีพ 20 กลุ่ม ซึ่งจะกำหนดรายละเอียดและวิธีการเลือกตั้งส.ว.ทางอ้อมไว้ในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.ต่อไป อย่างไรก็ตามเท่าที่ตรวจดูการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีจำนวนมาตราเท่าใด
เมื่อถามว่า ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จำเป็นหรือไม่ที่ต้องบัญญัติการนิรโทษกรรมให้กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นายมีชัย กล่าวว่า “คงต้องมีการกำหนดไว้เหมือนกับรัฐธรรมนูญในอดีต เพราะเป็นสูตรที่ต้องมีไว้ในรัฐธรรมนูญ”
เคาะที่มาสว.จาก 20 กลุ่มสังคม รวม 200 คน ไม่จำเป็นต้องจบป.ตรี
อุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวุฒิสภา โดยกำหนดให้ ส.ว. มาจากการเลือกกันเองจากกลุ่มสังคม 20 กลุ่ม ที่มีความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ด้านต่าง ๆ เพื่อให้ได้สมาชิกจำนวน 200 คน สำหรับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ ส.ว. นั้น ไม่กำหนดวุฒิการศึกษา จากที่เคยกำหนดปริญญาตรี แต่ต้องมีระยะเวลาที่เกี่ยวข้องหรือเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน อาทิ อย่างน้อย 10 ปี ไม่ควรห้ามคู่สมรส หรือบุตร หรือบิดามารดา ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นลงสมัคร เพราะการเลือกแตกต่างกัน ไม่ใช้ระบบความนิยม แต่เป็นการเลือกตามประสบการณ์และความรู้ และให้ผู้สมัคร ส.ว. สามารถเสนอชื่อได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องผูกพันกับนิติบุคคล
อย่างไรก็ตาม ส.ว. จะมีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี ดำรงตำแหน่งได้เพียง 1 วาระเท่านั้น และหากจะไปดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็น รัฐมนตรี หรือ ส.ส. ต้องพ้นจากการเป็น ส.ว. ไม่น้อยกว่า 5 ปี นอกจากนี้ กำหนดห้ามผู้ที่อยู่ระหว่างเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง แม้ไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ไม่สามารถสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็น ส.ว.ได้
นายกฯ แถลงผลงาน 1 ปี แม่น้ำ 5 สายต้องสอดคล้องนโยบายประชารัฐ ไม่ปฏิเสธเลือกตั้ง ย้ำอย่ามัวเอาเรื่องภายในไปฟ้องต่างชาติ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวในการแถลงผลงานรัฐบาล 1 ปี โดยย้ำถึงความตั้งใจจริงในการปฏิรูปประเทศเพื่อให้ประชาธิปไตยเกิดความเข็มแข็งในอนาคต พร้อมระบุว่า การทำงานของแม่น้ำ 5 สายต้องทำงานสอดประสานกับนโยบายประชารัฐ และรัฐธรรมนูญจะต้องให้การเมืองมีความเข้มแข็ง และแผนยุทธศาสตร์จะต้องรองรับอนาคตประเทศ ในอีก 20 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังสั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งแผนการจัดทำให้ประเทศไทย กลายเป็นประเทศขายข้าวอันดับ 1แทนการเป็นประเทศระบายข้าวอันดับ 1 เพราะต้องการให้ไทยเป็นตลาดการค้าข้าว ที่มีทั้งคุณภาพและความทันสมัยที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรของไทย
นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำว่า ตนไม่ปฏิเสธการเลือกตั้ง และขอฝากให้ทุกฝ่ายทำความเข้าใจ อย่ามองว่า ประชาธิปไตยคือการใช้เสรีภาพที่ไร้ขีดจำกัด แต่ขอให้ปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อไม่ให้ขัดขวางการปฏิรูป จึงอยากฝากให้ช่วยกันทำให้ต่างชาติเข้าใจ ไม่ใช่มัวแต่สร้างความขัดแย้งภายในหรือเอาเรื่องภายในประเทศไปฟ้องต่างชาติ
24 ธันวาคม 2558
สนช.รับหลักการ ร่างพ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน
มณเฑียร บุญตัน ประธานคณะอนุกรรมาธิการกิจการคนพิการ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ แถลงข่าวหลังที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติวาระที่ 1 รับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ. .... ไว้พิจารณาว่า ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวจะช่วยคุ้มครองสวัสดิภาพของขอทาน ผู้พิการ ศิลปินผู้พิการ ให้ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม มีความชัดเจนในการแยกแยะประเภทของขอทานและศิลปินผู้พิการ โดยในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะตัวแทนจากผู้พิการเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งนี้ระหว่างแถลงข่าวได้มีตัวแทนจากผู้พิการเข้ามอบดอกไม้ขอบคุณที่ สนช. ให้ความสำคัญในการคุ้มครองผู้พิการด้วย
ร่าง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ผ่านวาระแรก ด้วย 170 เสียง
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ไว้พิจารณาด้วยคะแนนเห็นด้วย 170 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง
วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวชี้แจงว่า มีการแก้ไขให้คณะกรรมการต่างๆ ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งตามวาระหรือพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ แต่ต้องมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอยู่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยอย่างน้อย 1 คน พร้อมแก้ไขคุณสมบัติของคณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 60 ปีบริบูรณ์ ไม่เป็นข้าราชการประจำ ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและไม่มีผลประโยชน์ หรือส่วนได้เสียที่ขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.นี้
กกต.พร้อมทำประชามติปลายปีหน้า เล็งหารือคสช. ผ่อนปรนประกาศคสช.ให้ปชช.แสดงความเห็นได้
ศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.ที่ผ่านมา ได้ชี้แจงการเตรียมการออกเสียงประมาชามติที่จะมีขึ้นในช่วงปลายปี 2559 ให้คณะกรรมาธิการการเมืองของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ได้รับทราบ ซึ่งกกต.ได้เตรียมการไว้พร้อมแล้ว
เมื่อถามว่าในการทำประชามติ กกต.จะดำเนินการอย่างไรให้ประชาชนเกิดความมั่นใจว่าจะไม่มีใบสั่งจากคสช.หรือรัฐบาล นายศุภชัยกล่าวว่า ไม่มีใครสามารถสั่งการได้ ในการทำประชามติคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญก็จะจัดทำสรุปร่างรัฐธรรมนูญส่งให้ประชาชนพร้อมกับร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ตัดสินใจ นอกจากนี้ กกต.ก็จะได้เปิดให้ผู้เห็นต่างแสดงความคิดเห็นได้อย่างเท่าเทียมกันและอิสระ โดยเปิดให้กลุ่มต่างๆลงทะเบียนกับ กกต. พร้อมจะมีการหารือกับคสช.ให้ผ่อนปรนประกาศ คสช.ฉบับที่ 7 และ57 ให้สามารถแสดงความคิดเห็นได้
สมาพันธ์ทนายความค้านร่างพ.ร.บ.ทนายความ ชี้ ทนายความไทยเสียเปรียบทนายต่างประเทศ
จุมพล สุขมั่น เลขานุการกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม รับยื่นหนังสือจากวรกร พงศ์ธนากุล ประธานสมาพันธ์ทนายความแห่งประเทศไทย เพื่อคัดค้านและขอให้ส่งคืนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทนายความ ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ซึ่งเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติเข้ามาเป็นทนายไทยได้ โดยระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ไม่ผ่านความเห็นชอบ ทนายความทั้งประเทศไม่มีส่วนรับรู้ ร่วมร่างหรือแก้ไข ซึ่งกฎหมายดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อทนายความทั้งประเทศโดยตรงและยังเป็นผลร้ายในทางลบ อาทิ การอนุญาตให้ทนายความต่างชาติที่ประกอบอาชีพทนายความมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี มีสิทธิยื่นขอเป็นทนายความหรือที่ปรึกษากฎหมายต่อสภาทนายความโดยตรง โดยไม่ต้องเข้ารับการฝึกอบรม ถือเป็นการเอารัดเอาเปรียบต่อนักศึกษาวิชากฎหมายไทยและเป็นการเปิดรับทนายความต่างประเทศเข้ามาเป็นทนายความไทยได้เพียงฝ่ายเดียว , ไม่อนุญาตให้ทนายความต่อใบอนุญาตทนายความตลอดชีพได้ จนกว่าจะมีอายุครบ 65 ปี ฯลฯ
จึงขอให้ประธาน กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม หยุดการพิจารณาร่างกฎหมายแก้ไข พ.ร.บ.ทนายความทุกฉบับ และถอนร่างดังกล่าวส่งให้ทนายความทั้งประเทศได้ร่วมแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วม