NLA weekly (2-8 ม.ค.59): หัวหน้า คสช. งัดม.44 ปลด ข้าราชการ-นักการเมืองท้องถิ่น-สสส.

NLA weekly (2-8 ม.ค.59): หัวหน้า คสช. งัดม.44 ปลด ข้าราชการ-นักการเมืองท้องถิ่น-สสส.

เมื่อ 10 ม.ค. 2559
30 ธันวาคม 2558
 
คสช. ใช้ ม.44 จัดการเมาแล้วขับ-เด็กแว้น
 
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2558 เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาการเมาแล้วขับ และการแว้นแข่งรถ เพื่อจัดระเบียบสังคม อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานมีอำนาจยึดใบขับขี่ชั่วคราวไม่เกิน 30 วัน, ยึดรถชั่วคราวไม่น้อยกว่า 7 วัน และควบคุมตัวผู้ที่เมาแล้วขับ รวมทั้งผู้ที่แว้นแข่งรถ เพื่อมาอบรมความประพฤติ ไม่น้อยกว่า 7 วัน แต่ไม่เกิน 15 วัน และเมื่อครบกำหนดระยะเวลาควบคุมตัวแล้วให้ส่งตัวไปดำเนินคดีต่อไป ในฐานะผู้ต้องหา
 
ทั้งนี้หากพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะของบริษัทเมาแล้วขับ ให้นายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก มีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาต หรือสั่งปิดกิจการนั้นเป็นการชั่วคราวไม่เกิน 15 วัน เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าไม่มีส่วนรู้เห็น และได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรที่จะป้องกันไม่ให้ผู้ขับรถเมาแล้วขับ
 
ด้าน พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกรัฐบาล กล่าวว่า มาตรการที่ออกมาในช่วงนี้นอกจากจะมีวัตถุประสงค์ตามที่ระบุไว้ในคำสั่งแล้ว ยังกำหนดขึ้นเพื่อเป็นมาตรการป้องกันความเสียหาย และการสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินที่อาจเกิดขึ้นจากความประมาทจากการขับขี่ยานพาหนะในช่วงเทศกาล ที่สำคัญเป็นการใช้มาตรา 44 อย่างสร้างสรรค์ เพื่อดูแลประชาชนทุกคน ถือได้ว่าเป็นของขวัญปีใหม่อีกชิ้นของนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.
 
 
 
2 มกราคม 2559
 
“มีชัย” เผย ถ้าประชามติไม่ผ่าน ต้องร่างใหม่ คนที่ทำให้ไม่ผ่านต้องรับผิดชอบ
 
มีชัย ฤชุพันธุ์ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการร่างรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้มี 250-260 มาตรา แต่เป็นเพียงแค่ร่างเบื้องต้น ต้องไปปรับให้กระชับมากขึ้น ส่วนเนื้อหาเรื่องการปฏิรูปที่คิดเอาไว้ว่าจะระบุในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การปฏิรูปเดินไปข้างหน้า เท่าที่คิดมี 2 เรื่องคือ 1.การปฏิรูปการศึกษา ที่เป็นหัวใจสำคัญให้รัฐธรรมนูญสามารถใช้บังคับได้ 2.การปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวด ส่วนการปฏิรูปเรื่องอื่น ๆ กำลังมีหนังสือสอบถามไปยังสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ว่า มุ่งปฏิรูปเรื่องใด และเรี่องใดมีความรีบด่วน ต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ ส่วนในเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยังไม่มีความชัดเจน แต่เป็นไปได้ว่าหลังจากที่รัฐธรรมนูญร่างแรกเสร็จแล้วจะส่งไปให้ ครม.พิจารณา
 
เมื่อถามว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ประชาชนจะได้อะไร จะกำหนดเงื่อนไขให้ชัดเจนหรือไม่ มีชัยกล่าวว่า แน่นอนอยู่แล้ว ถ้าไม่ผ่านก็ต้องไปร่างกันใหม่คือ ยังไงก็ต้องไปทำกันใหม่ เมื่อถามว่า จะรับผิดชอบอย่างไรกับความเสียหาย หากรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ทำให้เสียงบประมาณ ใครจะรับผิดชอบ นายมีชัย กล่าวว่า “คนที่ทำให้ไม่ผ่านก็ต้องรับผิดชอบ” เมื่อถามย้ำว่า หมายถึงประชาชนหรือไม่ มีชัยกล่าวว่า “ไม่ ใครที่บิดเบือนจนทำให้ประชาชนเข้าใจผิด คนนั้นต้องรับผิดชอบ
 
 
 
3 มกราคม 2559
 
ป.ป.ช. เตรียมสรุปคดี 5 รัฐมนตรีเอี่ยวจำนำข้าว ก.พ.นี้
 
ณรงค์ รัฐอมฤต กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของรัฐมนตรี 5 ราย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในโครงการรับจำนำข้าวรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า ขณะนี้การตรวจสอบใกล้ที่จะสรุปคดีแล้ว โดยมี 2 ราย ที่ตรวจสอบแล้วประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์และอีก 3 ราย ที่ตรวจสอบแล้วประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ โดยที่ผ่านมามีการเรียกพยานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำนิติกรรมของรัฐมนตรีทั้ง 5 รายมาให้ข้อมูลข้อเท็จจริงแล้ว ซึ่งคาดว่าภายในเดือน ม.ค.59 จะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งภายในต้นเดือน ก.พ.นี้คาดว่าจะสามารถสรุปคดีดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้
 
 
 
4 มกราคม 2559
 
กรธ.คาด 17 ม.ค.พิจารณาร่างรธน.เสร็จ ส่งสื่อเผยแพร่วันต่อวัน
 
ชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวภายหลังการประชุมว่า อนุกรรมการศึกษาโครงสร้างฝ่ายนิติบัญญัติได้เสนอสโลแกนเบื้องต้น ที่จะทำให้ประชาชนเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญได้ง่ายกว่าการไปนั่งอ่านภาษากฎหมายให้ปวดหัว คือ 'รัฐธรรมนูญใหม่ การเมืองใหม่' และ 'ปลอดการทุจริต ต่อชีวิตให้บ้านเมือง' ส่วนแนวทางการประชุม กรธ. ที่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ระหว่างวันที่ 11-17 ม.ค. กรธ. จะทำการพิจารณาเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ แล้วจะนำเสนอเนื้อหาเป็นรายมาตรา ให้ผู้สื่อข่าวนำไปเผยแพร่แบบวันต่อวัน คาดว่า วันที่ 17 ม.ค. น่าจะพิจารณาร่างแรกเสร็จ พร้อมกับเขียนกำกับให้เห็นด้วยว่า เนื้อหาส่วนใดบ้างที่เป็นไปตามหลักการ 5 ข้อ ของ คสช. และกรอบการร่างตามมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 เพื่อป้องกันมือดีไปร้องเรียน
 
ที่มา: ไทยรัฐ 
 
 
5 มกราคม 2559
 
ใช้ม.44 ปลด 59 ข้าราชการ
 
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 1/2559 เรื่อง ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 3 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 หัวหน้า คสช. โดยความเห็นชอบของ คสช. จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
 
ข้อ 1  ให้ผู้ที่มีรายชื่อในกลุ่มที่ 1 ผู้บริหารสถานศึกษา ตามบัญชีแนบท้ายคำสั่งนี้ ระงับการปฏิบัติราชการ หรือหน้าที่ในตำแหน่งเดิมเป็นการชั่วคราว 
 
กลุ่มที่ 1 ผู้บริหารสถานศึกษา (จำนวน 2 ราย) ได้แก่ สุเมธ แย้มนุ่น รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และอร่าม ศิริพันธุ์  หัวหน้าภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์  คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
 
ข้อ 2.ให้ผู้มีรายชื่อในกลุ่มที่  2 ข้าราชการพลเรือน ระงับการปฏิบัติราชการในตำแหน่งเดิมเป็นการชั่วคราว และไปปฏิบัติราชการประจำหน่วยงานนั้นตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย
  
กลุ่มที่ 2 ข้าราชการพลเรือน 2 ราย ได้แก่ อภิชาติ ถนอมทรัพย์  ผู้อำนวยการกองคดีสำนักงาน ปปง. , สมคิด มะธิปะโน  ครูชำนาญการพิเศษ รร.แก่งนาจารย์พิทยาคม จ.กาฬสินธุ์
 
ข้อ 3 ให้ผู้มีรายชื่อในกลุ่มที่ 3 ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามบัญชีแนบท้ายคำสั่งนี้ ระงับการปฏิบัติราชการหรือหน้าที่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดำรงตำแหน่งอยู่เป็นการชั่วคราวโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน
 
ทั้งนี้กลุ่มที่ 3 ได้แก่ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 44 ราย ซึ่งเป็นนายกฯองค์การบริหารส่วนตำบล หลายแห่ง,นายกเทศมนตรีเทศบาลหลายแห่ง
  
ข้อ 4 ให้ผู้มีรายชื่อในกลุ่มที่ 4 ข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 4 รายตามบัญชีแนบท้ายคำสั่งนี้ ไปช่วยราชการที่ศาลากลางจังหวัดที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นตั้งอยู่หรือสถานที่ราชการอื่นตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดกำหนด
 
ข้อ 5 กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จำนวน 7 ราย ได้แก่ นายแพทย์ วิชัย โชควิวัฒน กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ  รองประธานคนที่สอง ส่วน 6 คน ที่เหลือซึ่งเป็นกรรมการกองทุนฯ ได้แก่ สงกรานต์ ภาคโชคดี ,เอ็นนู ชื่อสุวรรณ,ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ,สมพร ใช้บางยาง , รศ.ประภัทร นิยม,วิเชียร พงศธร
ทั้งนี้ คำสั่งนี้ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 5 ม.ค. 59 เป็นต้นไป
 
 
กรธ. พิจารณาข้อเสนอปฏิรูปจาก สปท. เพื่อบรรจุในรัฐธรรมนูญ
 
อมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)  กล่าวว่า กรธ. ได้พิจารณาผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาการปฏิรูปการศึกษาและการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อนำข้อเสนอแนวทางปฏิรูปการศึกษาในร่างรัฐธรรมนูญ ได้แก่
 
- บัญญัติให้แผนการศึกษาแห่งชาติมีสภาพเทียบเท่ากฎหมายและผูกพันกับรัฐบาลมีกลไกติดตามต่อเนื่องและให้ภาคประชาชนติดตามตรวจสอบ
 
- กำหนดรัฐมีหน้าที่กระจายอำนาจและงบประมาณเกี่ยวกับการจัดการศึกษาลงสู่ท้องถิ่นและสถานศึกษา
 
- ให้ตำรวจทำงานตามระบบและหน้าที่ตามลำดับอาวุโส ลดการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง และปรับการสอบสวนให้ทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง ปราศจากการถูกแทรกแซง เช่น การแยกพนักงานสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ การกำหนดให้มีแผนกสอบสวนคดีอาญาขึ้นมาพิเศษ 
 
และถ่ายโอนภาระงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ของตำรวจไปให้หน่วยงานอื่น เช่น งานจราจรในกรุงเทพฯ หรือเมืองพัทยา โอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความพร้อม หรือการกระทำผิดเกี่ยวกับป่าไม้ ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดูแล เป็นต้น
 
 
ครม. เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตรา เป็นการแก้ไขกฎหมายให้สอดรับกับกฎหมายป้องกันการฟอกเงินฯของสหรัฐ
 
พลตรีสรรเสริญ แก้วกำเหนิด โฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตรา เป็นการแก้ไขกฎหมายให้สอดรับกับกฎหมายการป้องกันการฟอกเงินและการสนับสนุนการเงินแก่ขบวนการก่อการร้ายข้ามชาติของสหรัฐอเมริกา ( FAT-F) เนื่องจากไทยได้เข้าสู่เป็นสมาชิกองค์การต่อต้านการฟอกเงินเมื่อปี 2544  จึงจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายต่างๆ เพื่อให้สอดรับกับกฎหมายดังกล่าว
 
สาระสำคัญที่จะระบุในร่างกฎหมายดังกล่าว  ไทยจะต้องรายงานการทำธุรกรรมการเงินต่าง ๆ  ทั้งการโอนเงินระหว่างประเทศในตราสารทุนและตราสารหนี้ต่าง ๆ  แก่ FAT-F เพื่อสร้างความโปร่งใสการทำธุรกรรมและการฟอกเงิน  โดยกฎหมายควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตรา จะต้องแก้ไขให้ทันในเดือนพฤษภาคม 2559 เพื่อจะต้องนำส่งกฎหมายดังกล่าวให้ FAT-F  ตามกำหนด.
 
 
กฎหมายคุม “วิชาชีพกีฬา” รับประชาคมอาเซียน
 
พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพบุคลากรการกีฬา พ.ศ. …. โดยมีสาระสำคัญคือการกำหนดให้มี “สภาวิชาชีพบุคลากรการกีฬา” มีฐานะเป็นนิติบุคคล ขึ้นมากำกับดูแลและพิจารณาออกใบอนุญาตให้แก่บุคลากรการกีฬา อาทิ ผู้ตัดสิน ผู้ฝึกงาน และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งมีข้อกำหนดว่าประเทศสมาชิกจะต้องยอมรับร่วมกันในข้อตกลงด้านคุณสมบัติวิชาชีพใน 8 วิชาชีพ และข้อตกลงในการเคลื่อนย้ายแรงงานในจำนวน 25 สาขาอาชีพ ซึ่งรวมถึงอาชีพด้านการกีฬาด้วย อย่างไรก็ตาม มีการท้วงติงเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยเฉพาะการกำหนดให้อายุขั้นต่ำของสมาชิกสภาวิชาชีพบุคลากรด้านกีฬาไว้ที่ 18 ปีขึ้นไป ว่ากำหนดอายุขั้นต่ำน้อยเกินไป จึงมอบหมายให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาอีกครั้ง
 
 
 
7 มกราคม 2559
 
กรธ. ยัน สนช.-สปท. ลงเล่นการเมืองได้
 
นรชิต สิงหเสนี โฆษก กรธ.แถลงภายหลังการประชุมว่า ในส่วนของระบบการเลือกตั้ง กรธ.ยังยืนยันตามหลักการเดิม คือ ส.ว. จะเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม ขณะที่ ส.ส. ก็จะเลือกตั้งโดยใช้การกาบัตรใบเดียวได้ถึง 3 อย่าง ทั้ง ส.ส.เขต, ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ นายกฯ ส่วนในบทเฉพาะกาลเรื่องการทำหน้าที่ของ สปท. สนช. และ กรธ. เบื้องต้นมีเพียง กรธ.เท่านั้น ที่ไม่สามารถไปลงสมัครเล่นการเมืองได้ ขณะที่ สนช. และ สปท. หากมีการลงสมัครเพื่อดำรงตำแหน่งทางการเมืองในส่วนตัวก็เชื่อว่าไม่มีอะไรมาปิดกั้น
 
ที่มา: ไทยรัฐ 
 
“สมาคมสันติสุขโลก” ขอให้ กรธ.บรรจุพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ
 
อมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ รับการยื่นหนังสือจากตัวแทนสมาคมสันติสุขโลก นำโดย พล.ต.ต.รุ่งโรจน์ เภกะนันท์ นายกสมาคมฯ ที่ขอให้บรรจุเรื่องการพิทักษ์พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ เพราะเห็นว่าจะนำมาซึ่งความสงบร่มเย็นเป็นสุขแก่ปวงชนชาวไทย ไม่ว่าจะเป็นคนเชื้อชาติ ศาสนาใดสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข เนื่องจากศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งความสงบ สันติ ให้อภัย นอกจากนี้ มองว่าการเสนอเรื่องดังกล่าวจะไม่ทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม เนื่องจากผู้นำศาสนาหลักทั้ง 5 ศาสนา แสดงออกถึงความเห็นด้วย
 
 
 
8 มกราคม 2559
 
สนช.เล็งตั้ง กมธ.สันติสุข ดึงคู่ขัดแย้งสลายสีเสื้อ
 
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณี ที่ สนช.เตรียมจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาเสริมสร้างสังคมสันติสุขว่า ขณะนี้ยังไม่มีการจัดตั้ง กมธ.ชุดดังกล่าว แต่แนวคิดนี้มาจากสถาบันพระปกเกล้า โดย สนช.จะเสนอตั้งกมธ.ชุดนี้ขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ศึกษาหาแนวทางสร้างความปรองดองและสันติสุขให้เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยจะมีกมธ. 20 กว่าคน โดยจะเชิญคู่ขัดแย้งในสังคมทุกฝ่าย ทั้งกลุ่มการเมือง อาทิ นปช. กปปส. ตลอดจนพรรคการเมืองมาร่วมเป็น กมธ.ด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างการหาคนในสนช. มาทำหน้าที่ประธานกมธ. คาดว่าสัปดาห์หน้าจะมีความชัดเจน และเสนอเป็นญัตติต่อที่ประชุม สนช. เพื่อให้ความเห็นชอบแต่งตั้ง กมธ.ชุดดังกล่าวต่อไป ส่วนกรอบเวลาการทำงาน จะทำให้เสร็จเร็วที่สุดแต่ระยะเวลาสูงสุดคงไม่เกิน 180 วัน ตามข้อบังคับการประชุม สนช. เมื่อ กมธ.ศึกษาจนได้ข้อสรุปแล้ว กระบวนการต่อไปต้องดูว่า จะต้องส่งเรื่องใดให้รัฐบาลหรือสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แต่หากมีความจำเป็นต้องออกกฎหมาย เพื่อนำไปสู่การสร้างสันติสุขก็ต้องทำ
 
ที่มา: ไทยรัฐ