NLA Weekly (9-15 ม.ค.59): กรธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญทั้งสัปดาห์ ยันนายกฯ คนนอก ส.ว.ไม่ต้องมาจากเลือกตั้ง

NLA Weekly (9-15 ม.ค.59): กรธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญทั้งสัปดาห์ ยันนายกฯ คนนอก ส.ว.ไม่ต้องมาจากเลือกตั้ง

เมื่อ 16 ม.ค. 2559

11 มกราคม 2559

หมวด 1 คงเดิมเหมือนรัฐธรรมนูญในอดีต

การประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เริ่มพิจารณารายมาตราเพื่อปรับแก้ถ้อยคำ และเนื้อหาให้มีความสมบูรณ์ ตั้งแต่ในหมวด 1 บททั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงหลักการเดิมตามรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา ขณะเดียวกันที่ประชุมมีการถกเถียงปรับแก้เนื้อหาในส่วนของมาตรา 4 สุดท้ายเห็นตรงกันคือบัญญัติว่า มาตรา 4 ปวงชนชาวไทยย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอกัน เนื่องจากรัฐธรรมนูญของทุกประเทศจะให้ความสำคัญกับคนของชาติเป็นหลัก ส่วนรายละเอียดการคุ้มครองอื่นๆ จะพิจารณาในมาตรา 26 -28
 
ไม่บัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ หมวดพระกษัตริย์ปรับองคมนตรีเล็กน้อย

ส่วนเรื่องพระพุทธศาสนาที่มีผู้เสนอมาขอให้บัญญัติเป็นศาสนาประจำชาตินั้น ไม่สามารถบัญญัติได้ เพราะกรรมการมองว่าเป็นเรื่องที่่อันตราย และในมาตรา65 ได้บัญญัติสิ่งที่จะคุ้มครองทุกศาสนาไว้อยู่แล้ว จากนั้นเป็นการพิจารณาหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ในหมวดนี้ไม่มีการแก้ไขมาตั้งแต่ปี 2551 กลไกต่างๆ เป็นไปตามเดิม ยกเว้นเรื่ององคมนตรี ที่มีการปรับถ้อยคำให้มีความชัดเจนมากขึ้น

โยกมาตรา 7 ให้เป็นอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ

ส่วนมาตรา 7 เดิมในรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่เป็นปัญหาการตีความมายาวนาน ที่ประชุมเห็นว่าจะนำถ้อยคำในมาตรา 7 ไปสอดแทรกในบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ และมีแนวทางปรับเปลี่ยนถ้อยคำใหม่ ไม่ใช้คำว่าประเพณีการปกครอง เนื่องจากเป็นถ้อยคำที่มีปัญหาในอดีต แต่ กรธ.จะพยายามบัญญัติช่องทางแก้ปัญหาต่างๆ ไว้รอบด้านเพื่อให้การตีความทุกเรื่องมีช่องทางที่ชัดเจน

ที่มา: ประชาไท


สปท. หนุนตั้ง กมธ.สร้างปรองดอง พร้อมเสนอรัฐธรรมนูญควรวางยุทธศาสตร์ 20 ปี

อลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เปิดเผยว่า จากการหารือยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีกับประธาน กรธ.พบว่า ควรกำหนดแนวทางในร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อสร้างความต่อเนื่องเพราะอดีตที่ผ่านมาไม่ได้มีกลไกในการส่งต่อรัฐบาลหนึ่งไปยังอีกรัฐบาลหนึ่ง ดังนั้นรัฐธรรมนูญเป็นกลไกสำคัญในเรื่องของยุทธศาสตร์ชาติ ส่วนจะต้องมีองค์กรมากำกับการปฏิรูปหรือไม่นั้นคงให้ กรธ.ทำหน้าที่พิจารณา แต่เข้าใจว่าคงไม่น่าจะมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) อีกแล้ว

อลงกรณ์กล่าวถึงกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เตรียมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาเสริมสร้างสังคมสันติสุขว่า ถือเป็นแนวทางที่ทุกฝ่ายควรสนับสนุนในการสร้างสันติสุขและความสมานฉันท์ ปรองดอง เพราะเป็นเรื่องสำคัญของอนาคตประเทศ ส่วนจะออกมาในรูปแบบใดไม่ใช่โจทย์ที่ กรธ.หรือ สนช.กำหนด แต่ทุกฝ่าย ทั้งกลุ่มการเมือง พรรคการเมืองจะต้องเห็นพ้องต้องกันด้วย ดังนั้นจึงอยากเรียกร้องให้พรรคการเมืองทุกพรรคหันหน้าพูดคุยกัน และหันหน้าพูดคุยสนับสนุนแนวทางที่ สนช. ตั้งกมธ.ชุดนี้ขึ้น

ที่มา: ประชาไท 

 

12 มกราคม 2559 

กรธ. ขอสื่อ อย่าเพิ่งเข้าฟังการประชุม หวั่นแสดงความเห็นได้ไม่เต็มที่

การประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เริ่มตั้งแต่ 11 มกราคม 2559 บรรยากาศในวันแรกนั้นระหว่างการประชุมมีการเปิดให้สื่อมวลชนเข้าฟังการประชุมตลอดทั้งวัน แต่ในช่วงหนึ่งมีการขอความร่วมมือให้ผู้สื่อข่าวออกจากห้องประชุม และ กรธ.ได้ทำการประชุมกันต่อไปอีก 1 ชั่วโมง ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในวันแรกมีการห้ามไม่ให้บันทึกภาพและเสียงใดๆ ระหว่างการประชุม พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนให้รายงานข่าวเฉพาะภาพรวมเท่านั้น ขออย่ารายงานการถกเถียงกันระหว่าง กรธ.

ต่อมา 12 มกราคม 2559 มีการขอความร่วมมือให้สื่อมวลชนรอฟังการแถลงข่าวภายนอกห้องประชุมเท่านั้น โดยไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้ารับฟังการประชุม สำหรับเหตุผลที่ไม่ให้เข้าฟังการประชุมคือมีความต้องการให้งานเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ทั้งนี้ยังมีบางส่วนที่งานยังไม่คืบหน้า และบางประเด็นยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องละเอียดอ่อน จึงต้องการความชัดเจนภายในก่อน แล้วจึงจะมาแถลงทราบ เพราะการที่มีสื่อมวลชนอยู่ในห้องประชุมด้วย อาจทำให้ กรธ. รู้สึกว่าต้องระมัดระวังคำพูด อาจจะทำให้แสดงความคิดเห็นได้ไม่เต็มที่

ที่มา: ประชาไท


ส่องร่างรัฐธรรมนูญ: ล็อคคอรัฐบาลรักษาวินัยการเงินการคลัง ห้ามประชานิยม

ผลการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ กรธ.กำหนดให้รัฐต้องรักษาวินัยการเงินการคลัง เพื่อให้ฐานะทางการเงินการคลังมีเสถียรภาพและมั่นคงอย่างยั่งยืนตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ซึ่งการทำงบประมาณทุกอย่างจะต้องมีการแถลงต่อสาธารณะทุกครั้ง และจะไม่ยอมให้รัฐใช้จ่ายเงินนอกระบบงบประมาณ รัฐบาลต้องทำแหล่งที่มาของรายได้ และรายจ่ายให้ชัดเจน เพื่อเป็นมาตรการป้องกันรัฐบาลเลือกตั้งไม่ให้ใช้นโยบายประชานิยมจนเกิดผลเสียต่อประเทศชาติ โดยเฉพาะงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่รัฐบาลจัดงบกลางไม่ชัดเจนและไม่มีรายละเอียด

ที่มา: ประชาไท 


13 มกราคม 2559

กรธ.ร่างคุณสมบัติ ส.ส. ตัดสิทธิคนเคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

การประชุมพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ กรธ.ยังคงยึดหลักการเดิมคือ กำหนดให้ใช้ระบบเลือกตั้ง ส.ส.แบบจัดสรรปันส่วนผสม ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว มีจำนวน ส.ส. 500 คน แบ่งเป็นแบบแบ่งเขต จำนวน 350 คน และแบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 150 คน ขณะที่คุณสมบัติต้องห้ามไม่ให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ได้วางคุณสมบัติไว้ 17 ข้อ อาทิ ห้ามบุคคลที่ถูกหรือเคยถูกสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ห้ามผู้เคยต้องคำพิพากษากระทำการเลือกตั้งไม่สุจริต และห้ามผู้อยู่ในระหว่างห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

นอกจากนี้ กรธ.ยังกำหนดหลักการเกี่ยวกับการสิ้นสุดสมาชิกของ ส.ส. และ ส.ว.หากกระทำผิดต่อหน้าที่ โดยสมาชิกของแต่ละสภาจำนวน 1 ใน 10 สามารถยื่นเรื่องต่อประธานสภาของตนเอง เพื่อส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หากศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่อง ส.ส. หรือ ส.ว. คนดังกล่าวจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที และหากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่ามีความผิด ก็ให้พ้นจากตำแหน่งนับตั้งแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่

ที่มา ส.ว.200 คนไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง

ส่วนวิธีการการได้มาซึ่ง ส.ว. กำหนดให้มีจำนวน 200 คนมาจากวิธีการเลือกกันเองจากกลุ่ม 20 กลุ่มอาชีพ โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ อำเภอ จังหวัด และประเทศใช้วิธีการเลือกตั้งแบบไขว้กลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีตัวสำรองไว้กลุ่มละประมาณ 10-20 คน เพื่อนำมาแทนที่ ส.ว.ที่ต้องพ้นจากตำแหน่งไป สำหรับคุณสมบัติของ ส.ว. นั้น กรธ. ได้เปลี่ยนแปลงไม่ให้บุพการี คู่สมรส บุตรของ ส.ส. ข้าราชการการเมือง รวมถึงกรรมการองค์กรอิสระ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นจะมาสมัคร ส.ว.ในคราวเดียวกันไม่ได้ กำหนดวาระดำรงตำแหน่ง ส.ว.จำนวน 5 ปี เป็นได้ครั้งเดียวตลอดชีวิต ต้องไม่ตกอยู่ในอาณัติหรือฝักใฝ่พรรคการเมือง หากใครมีพฤติกรรมดังกล่าวก็อาจจะถูกยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาให้ พ้นจากตำแหน่งได้

ที่มา: ประชาไท 


14 มกราคม 2559

ส.ส. เขตต้องได้คะแนนมากกว่าโหวตโน ได้น้อยเลือกใหม่ ห้ามคนเดิมลง

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงผลการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราในหมวดรัฐสภา ในส่วนคุณสมบัติของ ส.ส.ว่า กรธ.ยืนยันหลักการระบบเลือกตั้งแบบ MMP ที่ใช้บัตรเลือกตั้งหนึ่งใบคำนวณทั้ง ส.ส.แบ่งเขต 350 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน รวมเป็น 500 คน มีวาระ 4 ปี

ผู้ที่จะชนะการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตจะต้องมีคะแนนมากกว่าคะแนน ‘โหวตโน’ หากเขตใดที่ไม่มีผู้สมัครที่มีคะแนนมากกว่าโหวตโนก็ต้องให้เปิดรับสมัครเลือกตั้งกันใหม่ โดยผู้สมัครรายเดิมทั้งหมดหมดสิทธิลงสมัครในรอบนั้น

พรรคการเมืองเสนอชื่อ นายกฯ ก่อนเลือกตั้ง ห้ามซ้ำกัน

กรธ.กำหนดให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อผู้ที่จะให้เป็นนายกฯ ไม่เกิน 3 รายชื่อ โดยไม่เสนอก็ได้ แต่ต้องแจ้งต่อ กกต.ก่อนวันปิดรับสมัครรับเลือกตั้งเพื่อประกาศรายชื่อให้ประชาชนทราบ โดยต้องมีหนังสือยินยอมจากบุคคลที่ถูกเสนอชื่อ และต้องไม่เป็นรายชื่อที่ซ้ำกับพรรคอื่น หากซ้ำให้ถือเสมือนว่าบุคคลดังกล่าวไม่มีการเสนอชื่อ

ที่มา: ประชาไท 


สนช.มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ และร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรมฯ

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... และรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ไว้พิจารณา ตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ

สำหรับร่าง พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551 เพื่อปรับปรุงกระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริงการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน โดยปรับปรุงระบบการทำงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ให้มีประสิทธิภาพและมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น อาทิ กำหนดให้พนักงานมีอำนาจปล่อยชั่วคราว และกำหนดให้คณะกรรมการมีหน้าที่เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอปรับปรุงกฎหมาย พร้อมปรับปรุงโครงสร้างในส่วนของการได้มาซึ่งคณะกรรมการ รวมทั้งกำหนดให้เป็นส่วนราชการเพื่อให้มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติงาน

ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 เพื่อกำหนดให้ ป.ป.ท. เป็นส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง ที่อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี และกำหนดให้เลขาธิการ ป.ป.ท.เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในสำนักงานและขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี

ที่มา: สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา 


สนช.อนุมัติพระราชกำหนดยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ.2558 ให้บังคับใช้เป็นพระราชบัญญัติ

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อนุมัติให้พระราชกำหนดยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ.2558 มีผลใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติ โดยเจตนารมณ์สำคัญเพื่อดึงผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบการจัดเก็บภาษี ด้วยการให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่มีรายได้ไม่เกิน 5ร้อยล้านบาทในรอบบัญชีที่ผ่านมาได้รับการยกเว้นจากการตรวจสอบหรือประเมินในความผิดทางอาญาตามประมวลรัษฎากร ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2559

วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความจำว่า เพื่อให้ระบบการจัดเก็บภาษีเงินได้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเกิดประสิทธิภาพมากขึ้นและเป็นการสนับสนุนให้มีการจัดทำบัญชีสอดคล้องสภาพข้อเท็จจริงของกิจการ ซึ่งหากไม่เร่งดำเนินการ รัฐต้องสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีและส่งผลกระทบถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ

ที่มา: สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา   


15 มกราคม 2559

กรธ. ประชุมนอกสถานที่วันที่ 5 เริ่มพิจารณาหมวดองค์กรอิสระ

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาในหมวด 9 องค์กรอิสระ ประกอบด้วย คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยมีสาระสำคัญคือ ที่มาและวาระการดำรงตำแหน่งขององค์กรอิสระ โดยเฉพาะ กกต. ที่จะบัญญัติให้มีจำนวน 7 คน จากเดิมที่มี 5 คน
 
ที่มา: สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา