NLA Weekly (16-22 ม.ค.59): กรธ.กำหนด 3 เงื่อนไขแก้รัฐธรรมนูญ ด้าน ‘มีชัย’ เรียกฉบับต่อต้านทุจริต

NLA Weekly (16-22 ม.ค.59): กรธ.กำหนด 3 เงื่อนไขแก้รัฐธรรมนูญ ด้าน ‘มีชัย’ เรียกฉบับต่อต้านทุจริต

เมื่อ 22 ม.ค. 2559

15 มกราคม 2559

กรธ. เสนอเพิ่มจำนวน กกต. จาก 5 เป็น 7 คน วาระ 7 ปี เป็นวาระเดียวตามเดิม - ผู้ตรวจการแผ่นดิน 3 คน วาระ 6 ปี เป็นวาระเดียว


อุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. นำเสนอรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานว่า ได้พิจารณาต่อเนื่องในหมวด 9 องค์กรอิสระ ส่วนที่ 1 บททั่วไป อาทิ
1. กำหนดหลักการสำคัญให้องค์กรอิสระที่จัดตั้งขึ้นให้มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อดำเนินการหรือตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐให้เป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
2. กำหนดหลักการเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
3. กำหนดหลักการเกี่ยวกับองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
4. กำหนดหลักการสำคัญให้องค์กรอิสระร่วมกันกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้นใช้บังคับแก่ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ

ส่วนที่ 2 คณะกรรมการการเลือกตั้ง อาทิ
1. การกำหนดหลักการเกี่ยวกับองค์ประกอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกอบด้วยกรรมการจำนวน 7 คน
2. การกำหนดหลักการเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่ง โดยให้มีวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปี และดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
3. กำหนดหลักการเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ส่วนที่ 3 ผู้ตรวจการแผ่นดิน อาทิ
1. การกำหนดหลักการเกี่ยวกับองค์ประกอบของผู้ตรวจการแผ่นดิน ประกอบด้วย ผู้ตรวจการแผ่นดิน จำนวนไม่เกิน 3 คน
2. การกำหนดหลักการเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่ง โดยให้มีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี และดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
3. กำหนดหลักการเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดิน

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาต่อเนื่องในหมวด 9 องค์กรอิสระ ส่วนที่ 3 ผู้ตรวจการแผ่นดิน และจะพิจารณาในส่วนที่เหลือของหมวดนี้ โดยการพิจารณารายละเอียดต่างๆ สามารถนำกลับมาพิจารณาทบทวนได้อีกตามความเหมาะสม ซึ่งหากมีความชัดเจนแล้ว โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะนำมารายงานให้ทราบในคราวต่อไป

ที่มา: ประชาไท

16 มกราคม 2559

ประธาน กรธ. เผย กำหนด 3 เงื่อนไขแก้รัฐธรรมนูญ


มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับหมวดว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่า ได้มีการกำหนดเงื่อนไขไว้ 3 ประการ ดังนี้

เงื่อนไขที่ 1 คือ ให้ทุกส่วนที่เป็นผู้มีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญมีส่วนร่วมด้วยกันทุกฝ่าย โดยคะแนนเสียงที่จะสามารถแก้ไขได้จะต้องเป็นเสียงข้างมาก ซึ่งหากมีการพิจารณาของสภาจะต้องผ่านในวาระที่ 1 ต้องมีเสียงของวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1ใน 3 ถ้าเป็นวาระที่ 3 ต้องมีเสียงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างน้อยร้อยละ 10 ส่วนกรณีที่พรรคการเมืองใดมีเสียงไม่ถึง 10 คน ให้นำมารวมพรรคอื่นที่เห็นด้วยได้

เงื่อนไขที่ 2 คือ ในมาตรา 260 กำหนดว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทำให้เปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะกระทำไม่ได้ ดังนั้น ในมาตราที่ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จะกำหนดไว้ภายใต้มาตรา 260

เงื่อนไขที่ 3 ถ้าเป็นเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือ เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระ หรือ เกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามของ ส.ส. ส.ว. เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว จะต้องนำไปทำประชามติก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ทั้งนี้ การประชุมของ กรธ. นอกสถานที่ เพื่อพิจารณารายมาตรานั้น ขณะนี้ได้พิจารณาแล้วเสร็จทั้ง 13 หมวด 261 มาตราแล้ว โดยคาดว่าในวันพรุ่งนี้ซึ่งเป็นการประชุมวันสุดท้าย จะพิจารณาทบทวนอีกครั้งและอาจปรับลดจำนวนมาตราให้เหลือ 250 มาตรา โดยยังไม่รวมบทเฉพาะกาล

ที่มา: สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

17 มกราคม 2559

รัฐธรรมนูญ 'มีชัย' เน้นเรื่องหน้าที่ และต้านคนโกง


มีชัย  ฤชุพันธุ์  ประธาน กรธ.  เปิดเผยว่า  จุดสำคัญของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือการกำหนดสิทธิของประชาชนให้เกิดผลอย่างจริงจัง  สิ่งใดที่รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนห้าม ให้ทุกคนมีสิทธิ์กระทำได้ พร้อมปรับเปลี่ยนถ้อยคำการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ด้วยการเขียนหน้าที่อำนาจ แทนคำว่า อำนาจหน้าที่ เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงหน้าที่มากกว่า  และให้ความคุ้มครองศาสนาพุทธ ที่คนส่วนใหญ่นับถือมานาน และให้ความสำคัญกับทุกคะแนนเสียง  ไม่ทิ้งคะแนนผู้แพ้ เพื่อให้เสียงข้างน้อยได้รับความเชื่อถือ กรณีนี้ได้นำไปใช้ในประเด็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่ให้เสียงข้างน้อยต้องมีส่วนร่วม รวมทั้งระบุชัดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในประเด็นสำคัญ อาทิ สิ่งแวดล้อม

“เรื่องใหญ่ที่สุดคือ รัฐธรรมนูญจะแก้ไขปัญหาทุจริต ซี่งเป็นัปัญหาเรื้อรังของประเทศ โดยได้สร้างกลไกการแก้ไขปัญหาทุจริตให้เข้มข้น สกัดคนโกงให้พ้นการเมือง และสกัดทุจริตต่อหน้าที่และเลือกตั้งพ้นจากการเมือง รวมถึงการให้คนที่ร่วมมือกันทุจริตพ้นจากหน้าที่  ทั้งสภาและ ครม. ในกรณีอนุมัติโครงการไม่โปร่งใสจะพ้นตำแหน่งทั้งคณะ ดังนั้น จึงขอเรียกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับต่อต้านการทุจริต” มีชัย กล่าว

มีชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังพยายามเขียนให้ครอบคลุมถึงการทำประชานิยม ว่าจะสามารถทำได้แค่ไหน  โดยจะกำหนดไว้ในกฎหมายวินัยการเงินการคลัง ซึ่งจะเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ  และจะเขียนให้แล้วเสร็จก่อนจะมีการเลือกตั้ง

ที่มา: สำนักข่าวไทย

‘วันชัย’ ชี้ การเลือก ส.ว.แบบไขว้กลุ่ม จะทำให้เกิดปัญหา

วันชัย สอนศิริ โฆษกคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการเมือง กล่าวว่า การที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำหนดให้มี ส.ว. 200 คนจาก 20 กลุ่มอาชีพ โดยเลือกกันแบบไขว้กลุ่ม รวมทั้งกำหนดอำนาจหน้าที่ใหม่ โดยภาพรวมของที่มาน่าจะดี แต่วิธีการของการเลือกไขว้กลุ่ม น่าจะเป็นปัญหา และอาจจะทำให้ไม่สามารถคัดกรองคนดีมีความรู้ความสามารถมาเป็น ส.ว.ได้ เพราะวิธีการแบบนี้จะทำให้เกิดการบล็อคโหวต แลกคะแนนกัน และอาจจะทำให้เกิดการใช้เงินซื้อคะแนนกันได้ ดังที่เคยปรากฏมาแล้วในองค์กรบางองค์กร ที่ให้มีการเลือกกันแบบนี้ และในที่สุดก็ทำให้ไม่ได้คนดีดังที่ต้องการ จึงไม่ควรจะมากำหนดวิธีการดังกล่าว เพราะเป็นสิ่งชำรุดในอดีต ที่ไม่ควรจะมีในรัฐธรรมนูญฉบับนี้

นอกจากนี้วันชัยกล่าวอีกว่า เท่าที่ติดตามการร่างรัฐธรรมนูญ ยังไม่เห็นความชัดเจนในกลไกที่จะทำให้การเลือกตั้งสุจริตเที่ยงธรรมอย่างเป็นระบบ และเป็นความหวังของประชาชนคนไทยในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ เพราะกลไกที่สำคัญที่จะทำให้การเลือกตั้งสุจริตเที่ยงธรรมได้นั้น น่าจะอยู่ที่ 3 ส่วนคือ 1. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  2. ข้าราชการทุกระดับที่สนับสนุนในการเลือกตั้ง และ3. ภาคประชาชน ที่จะต้องมีส่วนช่วยส่งเสริมสนับสนุนควบคุมกำกับดูแลการเลือกตั้ง ทั้ง 3 ส่วนนี้จะต้องไปด้วยกัน ทำงานให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสุจริตเที่ยงธรรม เปลี่ยนวิธีการ เปลี่ยนแนวทาง และเปลี่ยนความคิดในการเลือกตั้งใหม่

ที่มา: สำนักข่าวไทย

20 มกราคม 2559

คสช. ใช้ ม.44 ฟัน ตั้งโรงงานได้ทุกพื้นที่ จับตาผุด ‘โรงไฟฟ้าขยะ’ ปลอด ‘อีไอเอ’


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่ง คสช. 2 ฉบับ คือฉบับที่ 3/2559 เรื่องการยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองและกฎหมาย และฉบับที่ 4/2559 เรื่องการยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท โดยฉบับ 3/2559 ให้ยกเว้นกฎหมายผังเมืองและกฎหมายควบคุมอาคารในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งให้ยกเลิกข้อบัญญัติท้องถิ่นต่างๆ ที่เป็นข้อจำกัดของการห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน เคลื่อนย้าย และใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร

ส่วนฉบับที่ 4/2559 ให้ยกเว้นการบังคับใช้ผังเมืองรวมในกิจการบางประเภท ประกอบด้วย 1.โรงไฟฟ้า 2.โรงผลิตก๊าซซึ่งมิใช่ก๊าซธรรมชาติ ส่งหรือจำหน่วยก๊าซ 3.โรงงานปรับปรุงคุณภาพของรวม (โรงบำบัดน้ำเสีย/เตาเผาขยะ) 4.โรงงานคัดแยกและฝังกลบ 5.โรงงานเพื่อการรีไซเคิล

นอกจากนี้ ให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) กำหนดหลักเกณฑ์ และรายละเอียดของโครงการ หรือกิจการที่อยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2558-2579 (พีดีพี2015) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง และแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ

สำหรับเหตุผลของการออกคำสั่ง คสช.เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาความมั่นคงในการจัดหาพลังงาน และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็นความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต และปัญหาขยะล้นเมือง

“ความพยายามดังกล่าวกลับปรากฏข้อขัดข้องหรืออุปสรรคจากข้อกำหนดทางกฏหมายบางประการ จึงจำเป็นต้องระงับและแก้ไขข้อขัดข้องดังกล่าวเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 4/2559 ระบุ


ที่มา: กรีนนิวส์ทีวี

 22 มกราคม 2559

สนช.เห็นชอบวาระ 3 ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร เป็นกฎหมาย


ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติเห็นชอบผ่านวาระ 3 ประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นการถาวร) เป็นกฎหมายด้วยคะแนน 160 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 3 เสียง ไม่ลงคะแนน 2 เสียง

โดยวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวมีเพื่อให้สามารถรักษาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจจึงเห็นควรให้มีการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือร้อยละ 20 เป็นการถาวร เพื่อให้เกิดความชัดเจน ต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนให้แก่ผู้ประกอบการภาคเอกชน ทั้งนี้เห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จะก่อให้เกิดประโยชน์กับ ผู้ประกอบการหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลให้สามารถแข่งขันในตลาดโลก ดึงดูดบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย

ที่มา: สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา