28 มกราคม 2559
ประธาน กรธ. ยอมรับขยับโรดแมปเลือกตั้งได้ปลายปี 60 ยืนยัน บทเฉพาะกาลไม่มีสืบทอดอำนาจ
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยืนยันว่า ไม่ได้เขียนบทเฉพาะกาลให้มีการสืบทอดอำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่เพื่อให้สามารถทำงานต่อไปได้จนกว่าจะมีการเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่ได้ เพราะไม่มีใครทราบว่า ระหว่างทางจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นหรือไม่ จึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือในการดูแลความเรียบร้อย ดังนั้นพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ยังมีอำนาจเต็ม และสามารถใช้มาตรา 44 ได้ตามปกติ ทั้งนี้ เชื่อว่าจะไม่ใช้อำนาจเกินขอบเขตตามที่มีหลายฝ่ายกังวล ว่าจะเข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้ง
พร้อมกันนี้ ยังยืนยันว่าระยะเวลา 8 เดือนในการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนั้น เป็นระยะเวลาที่น้อยมากสำหรับการยกร่างกฎหมายลูกกว่า 10 ฉบับ โดยเมื่อร่างเสร็จแล้วก็จะทยอยเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาทันที ซึ่งไม่ถือเป็นการถ่วงเวลาของโรดแมป และยังอยู่ในวิสัยที่จะให้มีการเลือกตั้งได้ในปี 2560 แต่อาจจะเลื่อนไปเป็นปลายปี
ที่ประชุม สนช.เห็นสมควรประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นกฎหมาย
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นสมควรประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนน 182 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 3 เสียง สำหรับเหตุผลความจำเป็น เนื่องจากในปัจจุบันการพิจารณาพิพากษาคดีบางเรื่องอาจเกิดผลกระทบต่อประโยชน์อันสำคัญของรัฐ ดังนั้น เพื่อให้การพิจารณาและพิพากษาคดีของศาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สมควรกำหนดให้ประธานศาลฎีกามีอำนาจสั่งโอนคดีไปยังศาลอื่นที่มีความเหมาะสมกว่าได้
สนช.เห็นสมควรประกาศให้ร่าง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ใช้เป็นกฎหมาย
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติเห็นชอบประกาศให้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ใช้เป็นกฎหมายด้วยคะแนน 180 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 4 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง สำหรับเหตุผลความจำ เนื่องจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้มิได้มีบทบัญญัติรองรับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย คณะกรรมการนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน และคณะกรรมการระบบการชำระเงิน ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งตามวาระหรือพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ พร้อมกับแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบและคุณสมบัติของคณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
สนช.มีมติเห็นชอบตั้งกรรมาธิการสามัญฯ ตรวจสอบประวัติผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นประธานศาลปกครองสูงสุด
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด จำนวน 17 คน กรอบระยะเวลาดำเนินงานภายใน 30 วัน หลังที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) มีมติด้วยเสียงข้างมาก เลือกปิยะ ปะตังทา รองประธานศาลปกครองสูงสุด ให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด แทนหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ที่พ้นจากตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2558
สปท.ขอ 'กูเกิล' ลัดขั้นตอน เซ็นเซอร์เนื้อหา ไม่ต้องรอคำสั่งศาล
สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เชิญ Matt Sucherman รองประธานและที่ปรึกษากฎหมายในประเด็นระหว่างประเทศ บริษัท กูเกิล เอเชีย แปซิฟิก จำกัด เข้าร่วมประชุม โดย สปท.กล่าวกับผู้แทนบริษัท กูเกิล ว่า การใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อเป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่ไม่เป็นไปในทางสร้างสรรค์นั้นมีมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดผลกระทบต่อความมั่นคง ทั้งด้านการมุ่งทำลายสถาบันสำคัญของชาติ หรือละเมิดกฎหมายหรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงอยากขอความร่วมมือให้ทางบริษัท กูเกิลฯ ช่วยถอดเว็บไซต์ที่มีลักษณะดังกล่าว ที่เผยแพร่ผ่านเครือข่ายของกูเกิล เช่น ยูทูบ เป็นต้น ไม่ให้ออกเผยแพร่ เพื่อสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นต่อไป
ขณะที่ตัวแทนกูเกิล ระบุว่า ทราบดีว่าการเผยแพร่เว็บไซต์บางเรื่องเป็นสิ่งต้องห้ามและอาจมีปัญหาจากแนวคิดทางสังคมและวัฒนธรรมเฉพาะถิ่น ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วโลก อย่างไรก็ตาม กูเกิลฯ มีบริการและนโยบายที่เป็นมาตรฐานเหมือนกันทั่วโลก การถอดถอนหรือป้องกันการเผยแพร่เว็บไซต์ผิดกฎหมายของประเทศใดประเทศหนึ่งนั้น บริษัท กูเกิลฯ ไม่อาจพิจารณาหรือตัดสินใจเองได้ จำต้องได้รับการร้องขอจากหน่วยงานที่มีอำนาจของประเทศนั้นและมีขั้นตอน กระบวนการอันเป็นที่ยอมรับได้ในระดับสากล คือการขอให้ศาลมีคำสั่งระงับ ยับยั้งการเผยแพร่เว็บไซด์ดังกล่าว ซึ่งทางกูเกิลฯ ได้ถือปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกันในทุกประเทศทั่วโลก
29 มกราคม 2559
สนช.รับหลักการร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ ขณะสมาชิก สนช.ย้ำต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการตรวจสอบคัดแยกเหยื่อ
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ. .... ด้วยคะแนนเห็นด้วย 175 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 3 เสียง โดยพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ชี้แจงว่า การค้ามนุษย์เป็นปัญหาที่กระทบต่อสิทธิมนุษยชน เป็นอันตรายต่อเสถียรภาพความมั่นคงทางสังคม และการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ หากไม่ได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน จะส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเมือง เศรษฐกิจและความมั่นคงของรัฐ ด้านสมาชิก สนช.ได้ให้ความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวอย่างหลากหลาย อาทิ ต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการตรวจสอบคัดแยกเหยื่อที่ต้องคำนึงว่าจะไม่แยกเด็กให้พลัดพรากจากครอบครัว ผู้พิพากษาแผนกคดีค้ามนุษย์จะต้องมีความรู้ มีประสบการณ์และมีจำนวนเพียงพอต่อเนื้องาน แก้ไขปัญหาความล่าช้าในการพิจารณาคดี
กรธ.เผยร่างแรก รธน. ยืนยัน ดำเนินการตามกรอบที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนด เน้นป้องกันและปราบปรามการทุจริตทุกระดับอย่างจริงจัง ให้นิยาม “ร่างฯฉบับปฏิรูปประเทศ”
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นำคณะแถลงสรุปร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช (ร่างเบื้องต้น) พร้อมระบุว่า จากการรับฟังความเห็นทุกภาคส่วนแล้ว สามารถสรุปได้ว่าปัญหาใหญ่ของบ้านเมืองคือเรื่องการทุจริต กรธ.จึงได้เน้นบัญญัติเพื่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจัง ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้กำหนด กลไกการควบคุมการใช้อำนาจรัฐให้เป็นหน้าที่ของ ครม. ซึ่งอดีตจะกำหนดให้ ครม. มีแค่หน้าที่บริหารราชการแผ่นดินเท่านั้น แต่ฉบับนี้กำหนดให้หน้าที่ชัดเจน ให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริต เปิดเผย อยู่ในวินัยการเงินการคลัง
ส่วนประเด็นที่ตั้งข้อสังเกตกันว่าเพิ่มอำนาจให้องค์กรอิสระหรือศาลรัฐธรรมนูญนั้น ย้ำว่าไม่ได้เป็นการเพิ่มอำนาจที่มีอยู่เดิม ยังคงใกล้เคียงของเดิม เพียงแต่กำหนดกระบวนการอย่างชัดเจนว่าเรื่องใดเป็นการทุจริตก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง ส่วนประเด็นความยึดโยงกับประชาชนนั้น ยืนยันเป็นไปตามมาตรฐานสากลเพราะศาลไม่ได้มาจากประชาชนอยู่แล้ว
ส่วนกลไกในการเลือกตั้งที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น เพราะต้องการให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างจริงจัง การกำหนดให้เลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมทำให้ประชาชนได้เข้าถึง สำหรับ ส.ว.มาจากเลือกตั้งโดยอ้อม เพราะต้องการให้ประชาชนที่สนใจได้เข้ามาด้วยตนเองไม่ต้องพึ่งพรรค หรือนายทุน
อย่างไรก็ตาม ร่างนี้ยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ เพราะยังต้องรอความคิดเห็นจากทุกฝ่ายรวมทั้งประชาชน เพื่อนำมาปรับแก้ให้มีความสอดคล้อง และขอให้ผู้เสนอแก้บอกเหตุผลประกอบการแก้ไข เพื่อการพิจารณาได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น กรธ.พร้อมรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายเสมอ เพราะ รัฐธรรมนูญออกไปใช้กับประชาชนทั้งประเทศ และเกิดผลต่อทั้งประเทศ จึงขอให้การเสนอประกอบการจัดทำมุ่งถึงประโยชน์ประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ