NLA Weekly (30 ม.ค. - 5 ก.พ. 59): หลายฝ่ายติง "รัฐธรรมนูญมีชัย" หวั่นระบบเลือกตั้งบัตรเดียว-ที่มานายกฯ-สืบทอดอำนาจ

NLA Weekly (30 ม.ค. - 5 ก.พ. 59): หลายฝ่ายติง "รัฐธรรมนูญมีชัย" หวั่นระบบเลือกตั้งบัตรเดียว-ที่มานายกฯ-สืบทอดอำนาจ

เมื่อ 7 ก.พ. 2559
30 มกราคม 2559
 
ประธาน กรธ. ย้ำ ให้ความสำคัญกับสิทธิสตรี 
 
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวในงานเสวนาเวทีระดับชาติ ขบวนการผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทยว่า ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ครั้งนี้ กรธ.ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างความเท่าเทียมในสิทธิสตรี เพราะสตรีมีความสามารถและมีความอดทน แต่ไม่ได้กำหนดสัดส่วนการมีส่วนร่วมทางการเมืองของสตรี ส่วนด้านการจัดสรรงบประมาณก็จัดสรรตามความจำเป็นของประชากรมากกว่าการจัดสรรความจำเป็นของเพศหญิง เพราะคำนึงถึงภาพรวมของประเทศและการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนซึ่งจากการศึกษาปัญหาภาพรวมประเทศ พบว่ามี 3 ประเด็น คือ ประชาชนขาดวินัยอย่างรุนแรง ขาดการบังคับใช้กฎหมาย และเกิดการทุจริตอย่างมาก ดังนั้น ในการร่างรัฐธรรมนูญ จึงได้มุ่งเน้นแก้ปัญหา 3 เรื่องนี้ ซึ่งในบทเฉพาะกาลได้บัญญัติให้ปฏิรูปแล้วเสร็จภายใน 1 ปี โดยจะเริ่มจากการปฏิรูปการศึกษาก่อน โดยเฉพาะการศึกษาก่อนวัยเรียน พร้อมตั้งเป้าหมายว่า จะต้องปลูกฝังให้เด็กเป็นคนดี มีวินัยมี ใจรักชาติ และสามารถเรียนให้เกิดความชำนาญตามที่ตนเองถนัด
 
 
31 มกราคม 2559
 
โฆษก กรธ. แจง ไม่ได้ถ่วงเวลาเลือกตั้ง แต่ไม่อยากกลับไปขัดแย้งเหมือนเดิม
 
อุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ออกมาชี้แจงกรณีหลายฝ่ายโจมตีการขยายโรดแมป ของ กรธ. จึงขอยืนยันว่า กรธ. ไม่ได้ถ่วงเวลาการเลือกตั้ง แต่ไม่ต้องการให้สังคมกลับไปสู่ความขัดแย้งเหมือนในอดีตเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว  ดังนั้น อาจต้องยอมเสียเวลา เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะเกิดประโยชน์ในอนาคตจริง ๆ
 
โฆษก กรธ. เชื่อว่า ความเห็นของประชาชนจะช่วยให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติ และเชื่อว่าประชาชนทุกคนต้องการเห็นการเลือกตั้ง จึงขอให้มองถึงการได้ผู้แทนที่ดี และปัญหาความขัดแย้งที่ผ่านมาจะถูกจัดการได้ด้วยดี พร้อมกันนี้ ยืนยันว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ได้ตัดเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนออกไป โดยในมาตรา 25 บัญญัติไว้ว่า สิ่งใดที่ไม่ได้จำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายอื่น บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่ทำการได้ แต่ต้องไม่กระทบต่อความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย และไม่ละเมิดผู้อื่น
 
 
1 กุมภาพันธ์ 2559 
 
แก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ ให้กรธ. ห้ามนั่งตำแหน่งทางการเมืองทุกรูปแบบ ภายใน 2 ปี
 
นรชิต สิงหเสนี โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ระบุว่าที่ประชุมกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้หารือและแก้ไขคำผิดในร่างรัฐธรรมนูญฉบับเบื้องต้น โดยมีการแก้คำผิดในมาตรา 259 วรรคท้าย ซึ่งแก้ไขเป็น ห้ามมิให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญดำรงตำแหน่งทางการเมือง ภายใน 2 ปี นับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง ซึ่งไม่เฉพาะ สส.และ ส.ว.เท่านั้น แต่ยังรวมถึงตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ ทั้งหมดด้วย ทั้งนี้ยังพบว่า ประชาชนค่อนข้างกังวลเกี่ยวกับเรื่องสิทธิเสรีภาพ ซึ่งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขอย้ำว่า ส่วนนี้อาจไม่ได้อยู่ในหมวดสิทธิเสรีภาพทั้งหมด แต่ได้บรรจุส่วนนี้ไว้ในหมวด 5 หน้าที่ของรัฐแล้ว ซึ่งครอบคลุมสิทธิของประชาชนที่รัฐจะต้องดำเนินการ
 
 
3 กุมภาพันธ์ 2559 
 
กลุ่มญาติวีรชนพฤษภา 35 เรียกร้อง กรธ. ทบทวนที่มานายกฯ
 
กลุ่มญาติวีรชนพฤษภา 35 ที่เรียกร้องให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญทบทวนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ที่เปิดโอกาสให้นายกรัฐมนตรีมาจากคนนอก ซึ่งถือเป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวยังมีลักษณะเป็นร่างที่สืบทอดอำนาจ ลดทอนอำนาจประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นการขัดแย้งต่อธรรมนูญสากลทั่วโลกที่ให้การรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและการอยู่ร่วมกันของประชาชนทุกภาคส่วนในการกระจายอำนาจเพื่อบริหารประเทศ
 
 
คำนูณ ชี้ระบบเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียว ตอกย้ำระบบพรรคผูกขาดอำนาจ
 
คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ให้สัมภาษณ์ถึงรัฐธรรมนูญร่างแรก ในประเด็นระบบการเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียวได้มาทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เขตและ ส.ส.บัญชีรายชื่อว่า ส่วนตัวมองว่าระบบดังกล่าวถือเป็นจุดอ่อนที่สุดของระบบเลือกตั้ง เพราะระบบนี้จะตัดหนทางพรรคทางเลือกใหม่ พรรคทุนน้อย ตัดหนทางการรวมตัวของกลุ่มภาคประชาสังคมที่จะมาเป็นพรรคการเมือง ตัดโอกาสทางเลือกใหม่ของประชาชน เอื้อให้กับพรรคการใหญ่ เพราะคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อจะมาได้โดยคะแนนที่ได้รับจาก ส.ส.เขตเท่านั้น ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะในการเลือกตั้ง ส.ส.เขตในแต่ละเขต ซึ่งถือเป็นการบีบให้พรรคการเมืองต้องส่งผู้สมัคร ส.ส.เขตมากๆ ไม่ว่าจะมีความหวังในเขตนั้นหรือไม่ แต่ถ้าเป็นการเลือกตั้งระบบ 2 บัตร 2 ใบกาแยกระหว่าง ส.ส.เขต กับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ส.ส.ของพรรคทางเลือกใหม่ พรรคเกิดใหม่ก็ยังมีโอกาสได้ที่นั่งในสภา
 
คำนูณกล่าวด้วยว่า หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านโดยไม่มีการแก้ไขจะเป็นการตอกย้ำระบบผูกขาดอำนาจของพรรคการเมือง แม้แต่พรรคการเมืองทุนหนาเดิมๆ หลายพรรคที่ไม่เคยส่งผู้สมัคร ส.ส. เขตจำนวนมากก็ต้องพิจารณาส่งมากขึ้น เพราะทุกคะแนนไม่ว่าจะแพ้หรือชนะมีความหมายอย่างมาก
 
 
ประธาน กรธ. ย้ำรัฐธรรมนูญไม่ได้ลดสิทธิเสรีภาพประชาชน ยืนยันไม่มีเปิดช่องสืบทอดอำนาจ
 
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวชี้แจงเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญ ต่อที่ประชุมร่วม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตอบโจทย์เพื่อแก้ปัญหาประเทศใน 3 เรื่อง การทุจริต การขาดวินัยของคนในชาติ และการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เข้มข้น ทั้งนี้ ในหมวดสิทธิเสรีภาพ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยคนไทยทุกคนย่อมมีสิทธิเสรีภาพตราบใดที่ไม่ไปละเมิดคนอื่นหรือไม่กระทบต่อศีลธรรมและความมั่นคงของรัฐ   
 
อีกทั้ง การมีบทบัญญัติให้ออกกฎหมายเท่าที่จำเป็น และไม่เป็นกีดกันสิทธิเสรีภาพที่เกินกว่าเหตุนั้น ก็เป็นหลักประกันว่า รัฐจะไม่ออกกฎหมายที่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน พร้อมยืนยันไม่ได้ตัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนออก แต่ส่วนหนึ่งถูกย้ายไปอยู่ในหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ และใส่ไว้ในหมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ เพื่อให้รัฐต้องดำเนินการ เช่น การจัดการศึกษา การสาธารณสุข เป็นต้น 
 
และร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีกลไกป้องกันการทุจริต และกำจัดคนโกงออกจากระบบการเมือง  และเชื่อว่า ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมจะทำให้ประชาชนออกมาลงคะแนนมากขึ้น เพราะทุกคะแนนเสียงมีความหมาย พร้อมระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้เปิดทางให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอก เพราะการเสนอชื่อผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น อยู่ที่การตัดสินใจของแต่ละพรรคการเมืองอยู่แล้ว    
 
ส่วน ที่มาของ ส.ว.  ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งนั้น  เพราะไม่ต้องการ ให้ ส.ว. เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง  แต่ต้องการให้ได้คนที่มีความเป็นกลางในการทำหน้าที่   ซึ่งบุคคลที่ได้รับคัดเลือกกันเองจากแต่ละกลุ่มนั้น  ก็เท่ากับว่ามาจากการเลือกตั้งทางอ้อมจากประชาชนเช่นกัน    
 
มีชัย ย้ำว่า จะไม่มีการตั้งองค์กรอิสระขึ้นอีก  แต่จะกำหนดคุณสมบัติให้เข้มข้นขึ้น  โดยได้ระบุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ว่าผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ในองค์กรอิสระจะต้องมีความกล้าหาญในการใช้ดุลพินิจ ทำงานตรงไปตรงมา   เพื่อให้ได้คนที่มีความรู้ความสามารถที่แท้จริง    พร้อมยืนยันว่า  ไม่ได้เพิ่มอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ  และไม่มีอำนาจปลดใครได้    โดยศาลรัฐธรรมนูญ  จะเป็นองค์กรกลางวินิจฉัยในการแก้ปัญหา  ซึ่งเป็นการเปิดช่องทางออกให้กว้างขึ้น ให้บ้านเมืองหาทางออกเมื่อเกิดวิกฤติได้      ขณะที่ในส่วนของการปฏิรูป  ในบทเฉพาะกาล ได้กำหนดให้ต้องมีแผนปฏิรูปการศึกษาและลงมือปฏิบัติภายใน 1 ปี  เช่นเดียวกับการปฏิรูปตำรวจที่จะต้องมีแผนปฏิรูปภายใน 1 ปี เช่นกัน   พร้อมยืนยันว่า  ไม่มีการเปิดช่องสืบทอดอำนาจ  และกรรมการร่างรัฐธรรมนูญทุกคน ได้ดำเนินการอย่างเต็มความสามารถ  และพร้อมเปิดกว้างรับฟังทุกความเห็น
 
 
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน แนะ ไม่ให้เอกสิทธิ์ ส.ส.- ส.ว.ทุจริต
 
มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ระบุ ถึงสาระของร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งโดยรวมมีความพอใจที่ร่างรัฐธรรมนูญ มีการวางแนวทางป้องกันผู้ทุจริตเข้าสู่ระบบการเมือง แต่เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความสมบูรณ์มากขึ้น องค์กรต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันมีข้อเสนอบางประการ อาทิ ควรกำหนดให้สามารถจับกุม คุมขัง เรียกตัว ส.ส. และ ส.ว.ในระหว่างสมัยประชุมได้ ในกรณีที่เป็นผู้ต้องหาคดีอาญาอันเกี่ยวกับการทุจริต และประพฤติมิชอบ หรือทุจริตการเลือกตั้งและการสรรหา คนทุจริตต้องไม่ได้รับเอกสิทธิ์
 
พร้อมเสนอให้เปิดเผยแผนการดำเนินงบประมาณประจำปีต่อประชาชนโดยไม่ชักช้า ห้าม ส.ส.นำงบประมาณที่ลดหรือตัดทอนจากการแปรญัตติไปเป็นงบของ ส.ส. การให้ ส.ส.ฝ่ายค้านเป็นประธานคณะกรรมาธิการสามัญที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และ ทำหน้าที่กำกับติดตามเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ เป็นต้น
 
 
5 กุมภาพันธ์ 2559
 
สนช. เสนอความเห็นประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ต่อ กรธ. 
 
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)  เปิดประชุมเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)  โดยมีข้อเสนอได้แก่ เรื่องการบริหารราชการแผ่นดินโดยขอให้บัญญัติการบริหารราชการส่วนภูมิภาค เพิ่มเข้าไปในร่างรัฐธรรมนูญหมวดหน้าที่ของรัฐ  พร้อมกับเสนอให้ทบทวนในหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐ โดยควรมีบทบัญญัติที่มุ่งปรับปรุงโครงสร้างองค์กรของรัฐทั้งส่วนกลาง ภูมิภาค และท้องถิ่นให้เกิดความชัดเจน มีประสิทธิภาพ ลดความซ้ำซ้อน  มองประชาชนเป็นศูนย์กลาง   และรองรับการปฏิรูปประเทศ นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่ถูกพูดถึง อาทิ ขอให้เพิ่มบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติในประเทศให้ชัดเจน 
 
ขณะที่ ประเด็นการได้มาของ ส.ว. ยังคงถูกพูดอย่างกว้างขวาง โดยส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วย กับการเลือกกันเองแบบไขว้กลุ่ม เนื่องจากเป็นวิธีที่เข้าใจยาก ซึ่งได้มีการเสนอว่า ส.ว. ควรมาจากกระบวนการสรรหาเพียงอย่างเดียว  
 
อย่างไรก็ตาม มีการหยิบยก รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 มาเปรียบเทียบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ กรธ. โดยเฉพาะหมวดสิทธิเสรีภาพของปวงชน โดยสมาชิก สนช. มีทั้งที่เห็นด้วยและเห็นต่าง โดยเห็นด้วยที่ร่างรัฐธรรมนูญเปิดกว้างเรื่องสิทธิเสรีภาพ หากรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นไม่ได้กำหนดห้าม และไม่ไปละเมิดผู้อื่น แต่ก็ได้มีการเสนอให้บัญญัติในลักษณะที่ว่า สิทธิเสรีภาพที่ประชาชนได้ต้องควบคู่ไปพร้อมๆ กับหน้าที่ในคราวเดียวกัน เช่น ให้ประชาชนมีหน้าที่ต้องกลั่นกรองเรื่องที่จะฟ้องร้องให้รอบคอบก่อน และต้องเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เป็นต้น ขณะที่ สมาชิก สนช. ที่เห็นต่างเสนอว่า ร่างรัฐธรรมนูญ ควรมีจำกัดขอบเขตสิทธิเสรีภาพไว้ เพื่อความชัดเจน  
 
 
กรธ. ชี้ ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ช่วยประหยัดงบฯ-ประชาชนไม่สับสน 
 
ประพันธ์  นัยโกวิท กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แจงใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวลดความสับสน อีกทั้งผลโพลออกมาตรงกันถึง 80%  ว่าประชาชนเห็นด้วย  ชี้เลือกตั้งระบบเดิมแบบบัตร 2 ใบ ทำให้ประชาชนสับสน มีบัตรเสียเกิดขึ้นมาก เพราะบางพรรคส่งเพียง ส.ส.เขต หรือ ส.ส. บัญชีรายชื่อเพียงอย่างเดียว ย้ำระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมประหยัดงบฯ เลือกตั้ง 300 ล้าน  ทุกคะแนนเสียงไม่สูญเปล่า และทำให้แต่ละพรรคได้ ส.ส. ที่ควรได้ตามความเป็นจริง  อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการซื้อสิทธิ์ขายเสียงยังคงมีอยู่ จึงอยู่ที่พรรคการเมืองต้องคุมพฤติกรรมคนลงสมัคร ส.ส. ให้ได้    โดยเชื่อว่า ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ส่งเสริมให้พรรคเลือกคนดีมาลงเลือกตั้ง เพราะพรรคการเมืองจะต้องมีส่วนในการรับผิดชอบ  หาก ส.ส. เขตทุจริต คะแนนพรรคก็ถูกตัดด้วย  
 
 
ประธาน สนช. ระบุ ความเห็นต่อร่าง รธน.ของ สนช.มีเจตนาหนุนร่างผ่านประชามติ
 
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้สัมภาษณ์ถึงการแสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อประกอบการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญของ สนช.ในช่วงบ่ายวันนี้ (5 กุมภาพันธ์ 2559) ว่า การแสดงความคิดเห็นต่างๆ ที่จะมีขึ้น เป็นการทำหน้าที่ของ สนช.ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และเพื่อสนับสนุนให้ร่าง รธน.ฉบับนี้เป็น รธน.ที่ดี เป็นไปตามหลักสากล สามารถปรับเข้ากับสถานการณ์ของประเทศและผ่านประชามติ ไม่ได้มีเจตนาที่จะตำหนิหรือล้มรัฐธรรมนูญ ส่วนคำถามจะมุ่นเน้นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ เพื่อเป็นการตอบคำถามให้กับสังคมได้รับทราบในเวลาเดียวกัน ทั้งนี้หากข้อคิดเห็นที่ สนช.เสนอมีเหตุผล ก็เชื่อว่า กรธ.จะรับฟังและแก้ไขไปในแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน แต่หากไม่แก้ไข กรธ.ก็จะต้องตอบคำถามของสังคมให้ได้
 
 
ประธาน สนช. ยัน ใช้มาตรา 44 แก้ รธน. ไม่ได้
 
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงประเด็นการลงคะแนนเสียงประชามติว่า ขณะนี้อยู่ในกระบวนการหารือกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความชัดเจนในประเด็นการลงคะแนนเสียงประชามติโดยการใช้เสียงกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ์ ซึ่งจะได้ข้อยุติในเร็ววัน ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นยืนยันว่า ไม่สามารถใช้มาตรา 44 แก้ไขได้ เพราะ มาตรา 44 อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
 
ต่อข้อถามว่าหากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติจะดำเนินการอย่างไร ประธาน สนช.ระบุว่า มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้ชี้แจงไว้แล้วว่า ตามหลักร่างนี้จะตกไปและเหลือรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งจะต้องกำหนดกลไกต่างๆ ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ว่าหากทำประชามติไม่ผ่านจะทำอย่างไรต่อไป เชื่อว่าผู้เกี่ยวข้องได้วางแนวทางไว้แล้วและตั้งธงไว้ว่า จะต้องนำไปสู่การเลือกตั้งให้ทันในปี 2560
ประธาน สนช.กล่าวถึงการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญด้วยว่า สนช. ได้ประสานงานกับ กรธ. อยู่ตลอด โดยยืนยันว่าจะทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่จำเป็นต่อการเลือกตั้งให้เสร็จก่อน เพื่อให้มีการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม 2560 และระหว่างการเลือกตั้งจะทำกฎหมายที่เหลืออยู่ให้แล้วเสร็จ
 
 
เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เรียกร้อง กรธ. บัญญัติหลักประกันคุ้มครองสิทธิประชาชน
 
บุญยืน ศิริธรรม ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ พร้อมด้วยเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และคณะ เสนอให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แก้ไขและเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิประชาชนในประเทศ ซึ่งเป็นหลักประกันพื้นฐานของมนุษย์ที่สำคัญต้องบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย การปรับโครงสร้างของร่างรัฐธรรมนูญให้รับรองสิทธิประชาชน สิทธิชุมชน สิทธิสตรี สิทธิเด็ก สิทธิผู้บริโภคและสิทธิพลเมืองในด้านต่างๆ ให้ได้รับสิทธิและได้รับการคุ้มครองเทียบเท่าระดับสากล
 
ปรับเนื้อหาสาระที่ล้าหลังและขาดหายไปในการคุ้มครองสิทธิประชาชนในทุกมิติ และการจัดทำความตกลงระหว่างประเทศ กำหนดให้มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค โดยให้ถือเป็นพระราชบัญญัติที่มีความจำเป็น, กำหนดให้มีการคุ้มครองสิทธิประชาชนในด้านบริการสาธารณสุข โดยให้มีการบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึง มีคุณภาพ ได้มาตรฐานและได้รับสิทธิประโยชน์ขึ้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกัน รวมทั้งพัฒนาเนื้อหาสาระที่ต้องทันสถานการณ์ เป็นปัจจุบัน แก้ไขปัญหาการมีส่วนร่วมให้มีกลไกการสนับสนุนที่ชัดเจน มีเนื้อหาสาระของการปฏิรูปประเทศที่มีความชัดเจน และมีกลไกที่ดีมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของรัฐและหน่วยงานต่างๆ
 
 
สนช. มีมติ 158 เสียง รับหลักการร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพทันตกรรมฯ
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วิชาชีพทันตกรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ ไว้พิจารณา ด้วยคะแนนเสียง 158 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 6 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง
 
หลักการและเหตุผลของร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวเป็นการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพทันตกรรมปี 2537 เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการทันตแพทยสภาในการออกข้อบังคับการกำหนดอายุใบอนุญาตให้มีอายุไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่ออกใบอนุญาต และต่ออายุได้ครั้งละเท่ากับอายุใบอนุญาตตามที่กำหนดในข้อบังคับทันตแพทยสภา แต่ไม่เกินครั้งละ 5 ปี พร้อมทั้งเพิ่มเติมอัตราค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาต ฉบับละ 4,000 บาท ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมพัฒนาความรู้ความสามารถและติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง
 
 
“ธวัชชัย” แนะ กรธ. เขียนบทเฉพาะกาล ให้ คสช. สรรหา ส.ว ดำรงตำแหน่ง 5 ปีแรก ทำงานสอดรับแผนยุทธศาสตร์ชาติ
 
พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร  สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)  กล่าวถึง ประเด็นที่มา ส.ว.  โดยเสนอ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)  ร่างบทเฉพาะกาล ให้  5 ปีแรก เป็น ส.ว. มีที่มาจากการสรรหาโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เช่นเดียวกับการสรรหาสมาชิกสปท.  เพื่อให้ได้ ส.ว.สรรหา ที่มีความรู้ความสามารถ เข้ามาทำหน้าที่ ในช่วง 5 ปีแรก ซึ่งสอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี  ที่แบ่งเป็นช่วงละ 5 ปี   พร้อมชี้ว่า  ที่มา ส.ว. ตามที่ กรธ. ให้เลือกแบบไขว้จาก 20 กลุ่มนั้น  ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก  และเชื่อว่า ยังสามารถล็อบบี้กันได้อยู่ดี