5 กุมภาพันธ์ 2559
ใช้ ม.44 โละพนักงานสอบสวน
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา แพร่คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 7/2559 เรื่อง การกําหนดตําแหน่งของข้าราชการตํารวจซึ่งมีอํานาจหน้าที่ในการสอบสวน สรุปความได้ว่า 1.คำสั่งนี้ใช้บังคับ ตั้งแต่ 20 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นต้นไป 2.ยุบตำแหน่ง พนักงานสอบสวน – พนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ให้ดำรงตำแหน่ง รอง สว.-ผบก. 3.ตำแหน่งพนักงานสอบสวน – พนักงานสอบสวนผู้เชียวชาญพิเศษ ให้เป็นตำแหน่ง รอง สว.-ผบก. แล้วแต่กรณี 4.ผู้ดำรงตำแหน่งพนักงานสอบสวน - พนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ให้ถือว่าเป็นผู้ดำรงตำแหน่ง รอง สว.-ผบก. ในสังกัดเดิม และให้ยังคงปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจและหน้าที่เช่นเดิมไปพลางก่อน 5.ให้ ก.ตร.กำหนดหรือตัดโอนตำแหน่ง ตามข้อ 3 จากส่วนราชการหนึ่งไปเพิ่มให้อีกส่วนราชการหนึ่งของ ตร และให้ ผบ.ตร. เป็นผู้สั่งแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่ง รอง สว.-ผบก. ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นต้นไป และยังคงให้ได้รับเงินตอบแทนพิเศษ จนกว่าการดำเนินการแต่งตั้งจะแล้วเสร็จ โดยมีรายงานว่าจะตัดโอนตำแหน่ง ผทค., ผชช. ไปเป็นตำแหน่ง ผกก.นิติกร, รอง ผบก.นิติกร ประจำ บก.,บช แล้วแต่กรณี
6.ให้ผู้ดำรงตำแหน่งพนักงานสอบสวน - พนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ได้รับเงินเพิ่ม จนกว่าการแต่งตั้งจะแล้วเสร็จ 7.ให้ผู้ดำรงตำแหน่ง รอง สว.-รอง ผกก. ที่มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวนและอยู่ในสายงานสอบสวน ได้รับเงินพิเศษ ตามระเบียบที่ ก.ตร. หมายถึง ให้ผู้ดำรงตำแหน่ง ตำแหน่ง พงส. - พงส.ผนพ.เดิม ยังคงได้รับเงิน ตพส.ต่อไป ตราบใดที่ยังปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนอยู่โดยมีรายงานว่า ทุก สภ./สน/กลุ่มงานสอบสวนฯ จะให้มีเพียง พงส.(รอง สว.) – พงส.ผนพ.(รอง ผกก.) เท่านั้น และให้ พงส.ผนพ.อาวุโส (รอง ผกก.อาวุโส) เป็น หน.งานสอบสวน 8.บรรดากฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือมติ ครม. ที่อ้างถึง พงส./พงส.ผนก./พงส.ผนพ. ให้ถือว่า อ้างถึงผู้ซึ่งดำรงตำแหน่ง รอง ผกก. – รอง สว. ที่มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวนและอยู่ในสายงานสอบสวน
มีรายงานว่าคำสั่งนี้เป็นการปรับให้ตำแหน่งพนักงานสอบสวน ที่เคยแยกเป็นตำแหน่งเฉพาะสายงาน มีชื่อเรียกเฉพาะ ปรับเป็นตำแหน่งเดียวกับตำแหน่งหลัก อาทิ ผู้กำกับการ สารวัตรทำให้ตำแหน่งเหล่านี้สามารถโยกย้ายออกนอกสายงานได้ง่ายขึ้น เช่นออกมาสู่สายงานสืบสวน สายงานปราบปราม สามารถเติบโตในสายงานตำรวจได้สะดวกขึ้น จากเดิมพนักงานสอบสวนเติบโตได้ในสายงานสอบสวนผ่านระบบเลื่อนไหล ประเมินและทดสอบ
6 กุมภาพันธ์ 2559
กรธ. ทบทวนปรับหมวดสิทธิเสรีภาพ
อุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงเสียงสะท้อนร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกว่า ประชาชน กลุ่มเอ็นจีโอ และภาคประชาสังคม ค่อนข้างห่วงประเด็นสิทธิเสรีภาพมากที่สุด จึงคาดว่าภายหลังวันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้ กรธ. คงจะทบทวนเนื้อในหมวดสิทธิเสรีภาพและมาตราที่เกี่ยวข้องมากที่สุด พร้อมจะนำเอาเนื้อหาจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่ถูกเปรียบเทียบมาประกอบการพิจารณา อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่า กรธ. เป็นประชาชนทั่วไปไม่ใช่ขุนนาง ที่มาเขียนเนื้อหาลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน
7 กุมภาพันธ์ 2559
คสช. ปัดส่ง รด. สั่งให้คนรับรัฐธรรมนูญ
พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีที่มีกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ระบุว่า รัฐบาลใช้ทุกกลไก แม้กระทั่งให้นักศึกษาวิชาทหารไปยืนโฆษณาหน้าหน่วยในวันลงคะแนนเพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติว่า คงเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนมาก ที่ผ่านมากองทัพบกมีนโยบายสนับสนุนให้นักศึกษาวิชาทหารซึ่งอยู่ในวัยการศึกษา ได้เข้ามามีส่วนช่วยเหลือสังคมในลักษณะจิตอาสาในกิจกรรมต่างๆ มาก่อนหน้าแล้ว ส่วนเรื่องรัฐธรรมนูญก็ควรเป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนควรรู้ และทำเข้าใจ ส่วนการขยายผลการสร้างความรับรู้เป็นงานจิตอาสาที่กลุ่มเยาวชนไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาวิชาทหารหรือไม่ใช่นักศึกษาวิชาทหารก็น่าจะพึงกระทำได้ ภายใต้กรอบการดำเนินชีวิตส่วนตัวของบุคคลนั้น ๆ ไม่ใช่การไปเฝ้าหน้าคูหาแล้วคอยบอกใครให้เลือกแบบนั้น หรือแบบนี้ สำหรับการแสดงความเห็นภายใต้กรอบก็ไม่ได้มีสัญญาณที่จะไปปิดกั้นอะไร นอกจากการทำความเข้าใจเพื่อโต้แย้งความเห็นที่บิดเบือน หรือมีเจตนาแอบแฝง
8 กุมภาพันธ์ 2559
ชาวอีสานยื่นหนังสือให้คุ้มครองสิทธิประชาชนใน รธน.
อภิชาติ สุขขัคคานนท์ รองประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ รับหนังสือจากเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนภาคอีสาน ที่เสนอให้เพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ ในหมวดหลักประกันสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย เรื่อง สิทธิชุมชนในการจัดการความมั่นคงทางอาหาร การจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม การศึกษา ภูมิปัญญาประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น ให้มีองค์ประกอบคณะทำงานด้วยสัดส่วนของประชาชนผู้เกี่ยวข้อง
ขณะที่บุปผาวรรณ อังคุระศรี ประธานศูนย์เพื่อนหญิงอำนาจเจริญ เสนอให้มีหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ โดยการนำบทบัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 มาอยู่ในหมวดสิทธิเสรีภาพเช่นเดิม และควรคุ้มครองสิทธิของบุคคลทุกเพศสภาพ สิทธิสวัสดิการในสังคม สิทธิชุมชน สิทธิแรงงาน การกำหนดสัดส่วนชายหญิงที่ควรบัญญัติให้ครอบคลุมและชัดเจน
10 กุมภาพันธ์ 2559
‘วิษณุ’ เคาะแก้ รธน.ชั่วคราว ปมเกณฑ์ผ่านประชามติ คาดลงประชามติ 31 ก.ค.
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องนับคะแนนเสียงประชามติ ตามมาตรา 37 และมาตรา 37/1 ที่มีความขัดแย้งกัน ซึ่งมาตราดังกล่าวในการออกเสียงประชามตินับจากผู้มีสิทธิออกเสียงเกินครึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง จำนวน 50 ล้านคน และครึ่งหนึ่งออกผู้ออกเสียง คือจำนวน 25 ล้านคน ซึ่งไม่รู้ว่าใครที่ไม่ออกมาใช้สิทธิจะเห็นชอบด้วยหรือไม่ โดยขณะนี้ยังหาข้อสรุปไม่ได้ ดังนั้นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวในประเด็นดังกล่าว รวมถึงประเด็นการตั้งคำถามพ่วงประชามติด้วย ซึ่งกระบวนการแก้ไข คาดว่าจะต้องดำเนินการภายใน 1-2 วัน ซึ่งกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะแล้วเสร็จภายใน 1 เดือน ขณะเดียวกันที่ประชุมไม่ได้หารือถึงกรณีร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติจะมีทางออกอย่างไร
วิษณุกล่าวอีกว่า ส่วนวันลงประชามติกำหนดไว้วันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม 2559 แต่อาจจะช้าหรือเร็ว 1 สัปดาห์ และขยายปิดหีบตั้งแต่ 08.00-16.00 น. อีกทั้งกฎเกณฑ์และบทลงโทษเกี่ยวกับการทำประชามติยังไม่ชัดเจน ที่ประชุมจึงมอบหมายให้ กกต.ยกร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาให้รัฐบาลก่อน อาจจะใช้ ม.44 หรือ พ.ร.ก. หรือ พ.ร.บ. หรือประกาศเช่นเดิม แต่ต้องร่างให้แล้วเสร็จ เพราะต้องสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว
11 กุมภาพันธ์ 2559
สนช. รับหลักการร่าง พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) พลังงานนิวเคลียร์ พ.ศ. .... ตามที่คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ ไว้พิจารณา ด้วยคะแนนเสียง 189 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 2 เสียง
พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. 2504 ประกอบด้วย การปรับปรุงกฎเกณฑ์ให้สอดคล้องกับสนธิสัญญาและอนุสัญญาระหว่างประเทศเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ ปรับปรุงองค์กรกำกับดูแลคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์ให้สอดคล้องกับภารกิจ
ปรับปรุงอำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ มีอำนาจในการดำเนินการเข้าไปในสถานที่ประกอบการ หรือเข้าไปในยานพาหะที่บรรทุก รวมทั้งตรวจสอบการกระทำใดๆ ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่า เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กำหนดให้มีหลักกฎหมายที่เกี่ยวกับการสร้างความปลอดภัยกับประชาชนอย่างเหมาะสม กำหนดลักษณะการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือการกระทำความผิดตามมาตรฐานสากล ปรับปรุงอัตราโทษและบทระวางโทษให้สอดคล้องกับปัจจุบัน รวมทั้งกำหนดให้มีการเปรียบเทียบคดี เพื่อให้คดีอาญาที่มีความผิดเล็กน้อยตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ยุติในชั้นฝ่ายปกครอง เพื่อเป็นการลดคดีศาลยุติธรรมและลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐ ด้านสมาชิก สนช. ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับหลักการร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว
เครือข่ายคนพิการยื่นหนังสือถึง กรธ. ขอคืนสิทธิคนพิการในร่างรัฐธรรมนูญ
มีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) รับหนังสือจากเครือข่ายคนพิการทุกประเภท นำโดยมณเฑียร บุญตัน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อเรียกร้องขอสิทธิของคนพิการในรัฐธรรมนูญคืนมา โดยในส่วนที่ขอคืนและปรับปรุงคือ สิทธิด้านการศึกษา สิทธิการเข้าถึงสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวก สิทธิในการร่วมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ สิทธิในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งควรย้ายไปอยู่ในหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ส่วนสิทธิที่ต้องการขอให้เพิ่มเติมคือ สิทธิองค์กรภาคประชาสังคมได้รับการสนับสนุนจากรัฐ รัฐต้องสนับสนุนส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย สิทธิคนพิการต้องเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้จริงและการทำบัญชีรายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ต้องคำนึงถึงคนพิการด้วย
12 กุมภาพันธ์ 2559
สนช. แนะใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คงอำนาจ ส.ว.ถอดถอนนักการเมือง พร้อมค้านที่มา ส.ว. – นายกฯ
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติ 160 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 2 เสียง เห็นชอบรายงานการรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ของ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ สนช. ที่พิจารณาเสร็จแล้ว เพื่อส่งความเห็นไปยัง คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559
กล้านรงค์ จันทิก รองประธานกรรมาธิการฯ คนที่ 1 กล่าวว่า ประเด็นความเห็นและข้อเสนอแนะ ประกอบด้วยประเด็นการเมืองหลายประเด็น อาทิ รูปแบบบัตรของการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เห็นว่า ควรมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แบ่งเป็นแบบแบ่งเขต และ แบบบัญชีรายชื่อ ไม่ใช่บัตรเลือกตั้งใบเดียว เพราจะเป็นการให้สิทธิประชาชนอย่างเต็มที่
ขณะที่การกำหนดเขตการเลือกตั้ง ควรกำหนดเขตเลือกตั้งแบบเขตใหญ่เรียงเบอร์ ไม่ใช่การเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียว เพราะจะทำให้การซื้อสิทธิขายเสียงทำได้ยากขึ้น ส่วนการคิดคะแนน ส.ส.ควรใช้แบบสัดส่วนผสม เพื่อสะท้อนเจตจำนงที่แท้จริงในเรื่องค่านิยมที่มีต่อพรรคการเมือง
ด้านที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กำหนดให้มี 200 คน วาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี โดยมาจากการสรรหาจากกลุ่มอาชีพกลุ่มสังคมที่หลากหลาย และกำหนดหลักเกณฑ์ป้องกันระบบอุปถัมภ์ในการสรรหาด้วย พร้อมให้วุฒิสภาคงอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 เพื่อตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจทางการเมือง ส่วนที่มาของนายกรัฐมนตรีนั้นไม่ควรให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อพรรคละไม่เกิน 3 ชื่อ เนื่องจากเป็นการจำกัดสิทธิ์ของสภาผู้แทนราษฎรในการพิจารณาให้ความเห็นชอบ เพราะให้ความเห็นชอบได้เฉพาะรายชื่อที่เสนอมาได้เท่านั้น
13 กุมภาพันธ์ 2559
หัวหน้า คสช. ใช้มาตรา 44 รวมอาชีวะเอกชนเข้ากับของรัฐ อยู่ใต้สังกัด สอศ.
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 8/2559 เรื่องการบริหารจัดการรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาและการบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการเกิดประสิทธิภาพ และมีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับนโยบายกระทรวงศึกษาธิการในการรวมการบริหารจัดการ สถานศึกษาอาชีวศึกษา ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน และมีความคล่องตัวยิ่งขึ้น เป็นกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านการศึกษา อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มีคำสั่งให้โอนบรรดาอํานาจหน้าที่ของ สํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ไปเป็นอํานาจหน้าที่ของสํานักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน งบประมาณ สิทธิ หนี้ ภาระผูกพัน ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้าง และอัตรากําลังของสํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนไปเป็นของสํานักงานคณะกรรมการการอาชีวะศึกษา