NLA Weekly (13-19 กุมภาพันธ์ 2559): ครม.ให้บัญญัติเนื้อหาร่างรธน.บังคับใช้เป็น 2 ช่วง เพื่อความสงบช่วงเปลี่ยนผ่าน

NLA Weekly (13-19 กุมภาพันธ์ 2559): ครม.ให้บัญญัติเนื้อหาร่างรธน.บังคับใช้เป็น 2 ช่วง เพื่อความสงบช่วงเปลี่ยนผ่าน

เมื่อ 20 ก.พ. 2559
14 กุมภาพันธ์ 2559
 
กสม. ระบุ ร่าง รธน.ต้องนำหลักสิทธิชุมชนและสิทธิอื่น ๆ ของประชาชนกลับมา
 
เตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ประชุมพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นที่เกี่ยวกับสิทธิชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และที่ประชุมมีความเห็นรวมข้อเสนอแนะว่า ขอให้นำหลักการของบทบัญญัติมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาบัญญัติแทนมาตรา 4 ในร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเป็นการประกาศเจตจำนงของรัฐไทยในการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาค รวมทั้งรับรองหลักสิทธิมนุษยชนตามพันธกรณีระหว่างประเทศ  
 
นอกจากนั้นควรรับรองสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยในเรื่องต่างๆ โดยยังคงหลักการไม่ต่ำไปกว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และ 2550 ควบคู่ไปกับการกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐ ซึ่งจะทำให้การใช้สิทธิของประชาชนและการทำหน้าที่ของรัฐมีความสอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งได้รับการยอมรับจากประชาชนและประชาคมโลกยิ่งขึ้น
 
สำหรับเรื่องสิทธิชุมชน กำหนดสิทธิชุมชนไว้ในหมวดสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยตามเดิม โดยมีหลักการและสาระสำคัญไม่ต่ำไปกว่าที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 66 และมาตรา 67 เคยรับรองไว้ เพื่อให้การใช้สิทธิชุมชนมีความสมบูรณ์ขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ร่างรัฐธรรมนูญจะต้องรับรองสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยที่เกี่ยวเนื่องกับสิทธิชุมชน เช่น สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการที่เกี่ยวข้องกับชุมชน สิทธิที่จะได้รับข้อมูล สิทธิการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจของรัฐอันอาจมีผลกระทบต่อชุมชน เป็นต้น
 
ที่มา: ประชาไท
 
15 กุมภาพันธ์ 2559
 
กกต. คาดโทษป่วนประชามติ 'ขวาง-โกง' เจอหนัก ติดคุก-ตัดสิทธิ ลต. 10 ปี
 
ในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีการพิจารณาว่าจะมีการเพิ่มเติมหรือปรับแก้ลักษณะความผิด และช่องทางการกระทำผิดที่จะมีโทษทางอาญา ในร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่ กกต.ได้ยกร่างเสร็จแล้วหรือไม่ ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีทั้งสิ้น 16 มาตรา ประธาน กกต. เป็นผู้รักษาการ ลักษณะความผิดที่มีการกำหนดนั้นส่วนใหญ่จะเหมือน พ.ร.บ.ว่าด้วยความเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2550
 
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยกเป็นข้อสังเกตในการหารือว่า การรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ อาจใช้วิธีใส่ร้าย บิดเบือน ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดในเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญเพื่อหวังผลทางการเมือง โดยเฉพาะกระทำผ่านทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ขอให้ กกต. ไปกำหนดความผิดให้ครอบคลุมการกระทำเหล่านี้ รวมถึงความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ด้วย ซึ่งในร่าง พ.ร.บ. ที่ กกต. ยกร่าง ก็กำหนดความผิดที่กระทำผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการใช้คำว่า "ช่องทางอื่น" น่าจะกว้างขวางเพียงพอแล้ว แต่ก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุม กกต. พิจารณาอีกครั้ง
 
ที่มา: ประชาไท
 
อดีต สปช. ยื่นข้อเสนอ กรธ. บัญญัติเพิ่มแสดงรายการเสียภาษีย้อนหลัง 3 ปี กันคนโกงเข้าระบบการเมือง
 
ธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ยื่นข้อเสนอแนะต่อกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพื่อปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญ โดยเห็นด้วย ที่ร่างรัฐธรรมนูญมุ่งเน้นการปราบปรามทุจริต แต่ขอเสนอให้ กรธ.บัญญัติกลไกที่เข้มข้นเพิ่มลงไป  คือเรื่องการแสดงสำเนาแบบแสดงรายการภาษีย้อนหลัง 3 ปี ของผู้ที่จะเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองและองค์กรอิสระ รวมถึงเปิดทางให้ประชาชนเข้ามาตรวจสอบนักการเมืองได้ นอกจากนี้ ยังเสนอให้ กรธ.เพิ่มบทบัญญัติที่ว่าด้วยวัฒนธรรม เข้าไว้ในหมวดหน้าที่ของรัฐด้วย นอกเหนือจากที่บรรจุไว้เพียงในหมวดสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย
 
อย่างไรก็ตาม อดีตสมาชิก สปช.ชี้ว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มุ่งเน้นเพิ่มอำนาจให้รัฐมากเกินไป แต่กลับลดทอนการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมไปถึงขาดสาระสำคัญที่เป็นหัวใจในการวางหลักการพัฒนาการปกครองท้องถิ่น และลดทอนความเข้มข้นในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาวะของประชาชน ขณะที่ไม่ปรากฏมาตราที่บัญญัติถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อีกทั้งสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยถูกทำให้ถดถอยลง 
 
 
16 กุมภาพันธ์ 2559
 
ปธ. สนช. ระบุ จำเป็นต้องแก้ รธน.ชั่วคราวปี 57 ป้องกันปัญหาตีความคะแนนเสียงประชามติ
 
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ สนช.อยู่ระหว่างการประสานในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ประเด็นการนับคะแนนเสียงลงประชามติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ให้เกิดความชัดเจนและตรงตามเจตนารมณ์ของผู้ร่างในเรื่องคะแนนเสียงที่ใช้ทำประชามติ ที่ต้องยึดคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ์ เพื่อไม่ให้เกิดการตีความว่า ใช้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ออกเสียง ทั้งนี้หาก ครม.ส่งเรื่องมา จะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน
 
ต่อข้อถามถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว หากทำประชามติไม่ผ่านจะมีวิธีการอย่างไร ประธาน สนช. กล่าวว่า เท่าที่ฟัง วิษณุ เครืองาม รองนายรัฐมนตรี ยังรอดูท่าที ครม. และ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าจะดำเนินการอย่างไร หากไปกำหนดล่วงหน้าว่าประชามติไม่ผ่านอาจกลายเป็นประเด็นที่ส่งผลต่อการลงคะแนนประชามติของประชาชนได้ ส่วนที่ว่าหากประชามติไม่ผ่านจะทำอย่างไร ประธาน สนช. ย้ำว่ายังไม่ใช่ปัญหาในตอนนี้
 
 
17 กุมภาพันธ์ 2559
 
กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านทั่วประเทศ ขู่คว่ำร่าง หากรัฐธรรมนูญเขียนอำนาจส่วนภูมิภาคไม่ชัดเจน
 
สมาคมกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย ยื่นข้อเรียกร้องให้ปรับปรุงเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อ กรธ.ในส่วนหน้าที่ของรัฐ ต่อการจัดระบบบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้จากการติดตามการยกร่างรัฐธรรมนูญของกรธ.มีความน่ากังวลต่อประเด็นการไม่บัญญัติเกี่ยวกับการปกครองส่วนกลางและส่วนภูมิภาคไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้นเมื่อไม่ถูกเขียนไว้จึงกังวลว่าอาจทำให้มีปัญหาการทำงานได้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนทั้งข้อกฎหมาย ส่วนกรธ.จะนำเนื้อหาไปเขียนไว้ในมาตราใดขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกรธ.
 
ที่มา: ประชาไท
 
18 กุมภาพันธ์ 2559
 
มติวิป 3 ฝ่าย เสนอขับเคลื่อนกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า
 
สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้สัมภาษณ์ผลการประชุมคณะกรรมการประสานงานร่วมกัน 3 ฝ่าย (วิป 3 ฝ่าย) ซึ่งประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี สนช. และสปท. และที่ประชุมได้หารือถึงแนวทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะประเด็นที่จำเป็นต้องออกกฎหมายเพิ่มเติม เพื่อรองรับการปฏิรูปประเทศจำนวน 126 ฉบับ ซึ่งกฎมายที่จะออกมาในเบื้องต้นได้แก่ กฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า เนื่องจากคณะรัฐมนตรีเห็นว่า ระบบการค้าของประเทศไทยยังไม่ตอบสนองหลักการค้าเสรีที่เป็นธรรม ยังมีการเอารัดเอาเปรียบและมีการครอบงำ ทำให้การค้าระดับเล็กไม่สามารถเติบโตได้
 
 
โฆษก กรธ. เผย ครม.ให้บัญญัติเนื้อหาและการบังคับใช้เป็น 2 ช่วง เพื่อความสงบช่วงเปลี่ยนผ่าน
 
นรชิต  สิงหเสนี  โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ  (กรธ.)  เปิดเผยว่าความเห็นของคณะรัฐมนตรีนั้น มีการเสนอให้บัญญัติเนื้อหาและการบังคับใช้รัฐธรรมนูญแบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา โดยช่วงแรกเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในช่วงเปลี่ยนผ่านของบ้านเมือง หลังจากนั้นก็จะผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ให้น้อยลง เพื่อป้องกันความไม่สงบที่อาจจะเกิดขึ้น พร้อมกับเสนอให้ จัดทำกฎหมายเท่าที่จำเป็นต่อการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ เพื่อให้มีการเลือกตั้งตามโรดแมปที่กำหนดไว้ โดย โฆษก กรธ. ยืนยันว่า ให้ความสำคัญกับทุกความเห็น และทุกข้อเสนอ
 
 
19 กุมภาพันธ์ 2559
 
กรธ. ยืนยันให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัย กรณีไม่มีบทบัญญัติใน รธน.
 
อุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กรธ.ได้พิจารณาความเห็นและข้อเสนอแนะที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญในเบื้องต้นแล้ว แต่ต้องพิจารณาความเหมาะสมในการปรับแก้อีกครั้งหนึ่ง
 
ทั้งนี้ อุดม กล่าวว่า กรธ. ได้ปรับแก้ส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ ตามที่หลายฝ่ายท้วงติง โดยนำหลักการเกี่ยวกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ได้ รับความคุ้มครองในมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 กลับมา รวมถึงปรับแก้มาตรา 25 และมาตรา 26 ของร่างเบื้องต้น ซึ่งยังคงหลักการว่าสิทธิเสรีภาพที่ไม่มีกฎหมายจำกัดหรือไม่กระทบต่อความสงบ เรียบร้อยย่อมทำได้ แต่ได้นำมาตรา 28 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 มาบัญญัติเพิ่มเพื่อเป็นการยืนยันหลักประกันดังกล่าวให้ประชาชนมั่นใจในสิทธิเสรีภาพมากขึ้น
 
และในประเด็นมาตรา 7 เดิมของรัฐธรรมนูญปี 2550 กรณีที่ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้การวินิจฉัยเป็นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น กรธ. จะนำมาบัญญัติในบททั่วไป แม้ถูกมองว่าให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญมากเกินไป แต่ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าในอดีตประเด็นดังกล่าวทำให้เกิดความสับสนอย่างมาก ว่าจะมีองค์กรใดนำหลักการดังกล่าวมาใช้ จึงยืนยันที่จะให้เป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัย แต่จะต้องให้องค์กรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ต้องวินิจฉัย อาทิ สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา องค์กรอิสระ เป็นผู้ส่งเรื่องนั้นๆ ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา
 
ที่มา: ประชาไท 
 
คณะทำงานปรับร่างพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ มีส่วนร่วม-รับฟังความคิดเห็นของประชาชน
 
ที่ประชุมกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ได้พิจารณาปรับปรุงรายงานเรื่องการจัดทำกำหนดและการขับเคลื่อนกฎหมายว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งร่างพระราชบัญญัติยุทธศาสตร์ชาติ ผลการประชุมที่ประชุมเห็นชอบในหลักการดังนี้ 1. ยังคงหลักการยึดประโยชน์ของชาติระยะยาว 2. ต้องสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 3. ปรับปรุงการมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน 4. ระบุวาระของผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ของชาติให้ชัดเจนว่าดำรงตำแหน่งเพียงวาระเดียว 5. ระบุให้ชัดเจนว่ามีหน้าที่ติดตามตรวจสอบและประเมิน และ 6. ระบุให้ชัดเจนในบทเฉพาะกาล มาตรา 55 ว่าผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ 22 คน
 
คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเป็นเพียงหน่วยงานหนึ่งของรัฐ ไม่ใช่องค์กรอิสระ ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวจะเป็นเพียงผู้ร่างแนวทางในการพัฒนาประเทศ ซึ่งคล้ายกับการวางแผนทางการเงินที่จะต้องเขียนเพื่อให้ประเทศเกิดความพัฒนาที่มั่นคงอย่างยั่งยืน และไม่สามารถถูกฝ่ายการเมืองครอบงำได้
 
ที่มา: ประชาไท