NLA Weekly (27 ก.พ. - 4 มี.ค. 59): สรุปแก้ รธน. ชั่วคราว 5 ปมประชามติ

NLA Weekly (27 ก.พ. - 4 มี.ค. 59): สรุปแก้ รธน. ชั่วคราว 5 ปมประชามติ

เมื่อ 6 มี.ค. 2559
28 กุมภาพันธ์ 2559
 
กรธ. แขวน ที่มา ส.ส-ส.ว. ไว้แก้ช่วงท้าย
 
อมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการร่างรัฐธรรมนูญว่า วันที่ 29 กุมภาพันธ์นี้ กรธ.จะเริ่มพิจารณาในหมวดรัฐสภา แต่ในส่วนของการเลือกตั้ง ส.ส. และที่มา ส.ว. กรธ.จะแขวนเอาไว้ก่อน เนื่องจากมีข้อเสนอปรับแก้ไขเข้ามาจำนวนมาก ส่วนผู้ที่กังวลว่าระบบการเลือกตั้ง ส.ส. และที่มา ส.ว. เป็นประเด็นที่อาจชี้ได้ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่านประชามตินั้น ตนมองว่าทุกเรื่องมีความสำคัญเท่ากันหมด จริงๆ แล้วเรื่องของภาคประชาชนอาจสำคัญกว่าภาคการเมืองด้วยซ้ำ ดังนั้น กรธ.ต้องคำนึงถึงทุกส่วน ไม่ใช่แค่ส่วนใดส่วนหนึ่ง
 
ส่วนการพิจารณาในช่วงสุดท้ายที่ กรธ.จะไปร่างรัฐธรรมนูญนอกสถานที่อีกครั้ง ซึ่งเบื้องต้นกำหนดไว้ระหว่างวันที่ 23 - 26 มีนาคมนี้ ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก่อนส่งมอบให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) นำเข้าสู่กระบวนการทำประชามติต่อไปในวันที่ 29 มีนาคมนี้
 
ที่มา: เดลินิวส์  
 
29 กุมภาพันธ์ 2559
 
สปท. เห็นชอบ ปฏิรูปตำรวจให้มีอิสระ ปลอดการเมือง
 
ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีมติเห็นชอบรายงานเรื่อง ความเป็นอิสระในการบริหารงานบุคคลของตำรวจจากการแทรกแซงทางการเมือง โดย พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน โฆษก กมธ. กล่าวว่า รายงานดังกล่าวมีสาระสำคัญคือ จากสภาพปัญหาขององค์กรในการบริหารงานบุคคลของตำรวจ เกิดจากการที่มีคณะกรรมการซึ่งทำหน้าที่ในการบริหารงานบุคคลซ้ำซ้อนกัน 2 คณะ คือ คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ซึ่งทั้ง 2 คณะ มีนายกรัฐมนตรีที่เป็นหัวหน้าสูงสุดของฝ่ายบริหาร (ฝ่ายการเมือง) เข้ามานั่งเป็นประธาน จึงกล่าวได้ว่านายกรัฐมนตรีสามารถครอบงำองค์กร กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีอำนาจแต่งตั้งผู้นำองค์กรตำรวจคือ ผบ.ตร. จนถึงระดับผู้บังคับการ
 
พล.ต.ท.อำนวย กล่าวต่อว่า กมธ. เสนอแผนการปฏิรูป โดยทำให้ ก.ตร.เป็นองค์กรบริหารงานบุคคลของตำรวจเพียงอย่างเดียว ให้มีความเป็นอิสระปราศจากการถูกครอบงำทางการเมือง มีองค์ประกอบ 16 คน ประธาน ก.ตร.คัดเลือกจากอดีตข้าราชการตำรวจระดับตำแหน่งรอง ผบ.ตร.หรือเทียบเท่าขึ้นไป โดยให้ข้าราชการตำรวจระดับตำแหน่งผู้กำกับการหรือเทียบเท่าขึ้นไปเป็นผู้ลงคะแนน  มี ผบ.ตร. เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และมีผู้แทนจาก ครม. วุฒิสภา ร่วมเป็นกรรมการ เป็นต้น
 
ขณะที่ในส่วนของ ก.ต.ช. มีองค์ประกอบ 11 คน มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย เป็นรองประธานตามเดิม มีการแก้ไขปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของ ก.ต.ช.ให้เหลือเพียงเรื่องของการกำหนดทิศทางนโยบายการบริหารราชการในกิจการตำรวจ ส่วนเรื่องพิจารณาแต่งตั้ง ผบ.ตร.ให้กำหนดเป็นอำนาจหน้าที่ของ ก.ตร.
 
ที่มา: เดลินิวส์ 
 
1 มีนาคม 2559
 
ครม.ไฟเขียว ร่าง พ.ร.บ.มาตรการทดแทนการฟ้องคดีอาญา
 
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติมาตรการทดแทนการฟ้องคดีอาญา พ.ศ. .... และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
 
วิษณุกล่าวอีกว่า กฎหมายดังกล่าวถือเป็นกฎหมายชะลอการลงโทษ โดยจะให้โอกาสผู้กระทำความผิดได้ไกล่เกลี่ยในชั้นสอบสวนของตำรวจ แล้วส่งสำนวนให้อัยการพิจารณา เมื่อได้ข้อสรุปว่าผู้กระทำความผิดสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และกลับตัวกลับใจได้ก็ไม่ต้องส่งฟ้อง และให้รอดูความพฤติกรรมแทนการรอลงอาญาซึ่งเป็นการลงโทษ แต่ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นการชะลอการฟ้องยังไม่มีโทษ ทั้งนี้ ความผิดที่กระทำต้องไม่เป็นความผิดอุกฉกรรจ์ และต้องเป็นความผิดที่กระทำโดยประมาท มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และไม่ว่าคดีอะไรก็สามารถชะลอการฟ้องได้
 
ที่มา: ประชาไท  
 
ครม.-คสช. สรุปแก้ รธน.ชั่วคราว 5 ประเด็นประชามติ
 
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมร่วม ครม.-คสช. ว่า ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 เป็นครั้งที่ 2 โดยจะมีการแก้ไขใน 5 ประเด็น ประกอบด้วย 1.การแก้ไขการนับคะแนนเสียงประชามติ  โดยให้ใช้เสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ และให้คิดคะแนนเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ  โดยไม่นับคะแนนเสียงของผู้งดออกเสียง  2.อายุของผู้มีสิทธิใช้เสียง ให้นับอายุ 18 ปีบริบูรณ์ นับตั้งแต่วันออกเสียงประชามติ
 
3.แก้ไขการแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 80 ของผู้มีสิทธิออกเสียง มาใช้วิธีการรณรงค์เผยแพร่ ชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญในทุกช่องทาง ทั้งอินโฟกราฟฟิก เว็บไซต์ การซื้อโฆษณาจากสื่อต่างๆ รวมถึง การติดประกาศตามหน่วยงานราชการ นอกจากนี้ ให้คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) จัดเวทีแสดงความคิดเห็น โดยผู้ที่จะแสดงความเห็น สามารถแสดงออกได้อย่างเต็มที่ในเวทีที่ กกต.จัด แต่ถ้าไปแสดงความเห็นในพื้นที่อื่น ก็จะต้องแบกรับความเสี่ยง หากถูกดำเนินการตามกฎหมาย
 
4.แก้ไขการส่งคำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำประชามติ จากเดิมที่ให้ สปช. และ สนช. สามารถส่งคำถามได้ฝ่ายละ 1 คำถามมาให้ ครม.เลือก แต่เมื่อไม่มี สปช.แล้ว ก็ให้ สนช.ตั้งคำถาม และส่งตรงไปยัง กกต.ได้โดยตรง และ 5.จะมีการออก พ.ร.บ.ว่าด้วยการรณรงค์ออกเสียงประชามติ โดยหลักเกณฑ์จะใกล้เคียงกับกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. และประชามติเดิม แต่จะกำหนดบทลงโทษเกี่ยวกับการกีดขวาง ต่อต้าน จงใจไม่ให้มีการไปใช้สิทธิ ซึ่งจะรวมถึง การฉีกทำลายบัตรออกเสียงประชามติด้วย
 
ที่มา: ประชาไท
 
3 มีนาคม 2559
 
สนช. เห็นชอบ ‘ปิยะ ปะตังทา’ เป็นประธานศาลปกครองสูงสุด พร้อมตุลาการอีก 14 คน
 
ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบให้ ปิยะ ปะตังทา รองประธานศาลปกครองสูงสุด ดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด ด้วยเสียง 125 ต่อ42 เสียง งดออกเสียง 22 เสียง จากจำนวนผู้เข้าร่วมประชุม 189 คน
 
จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบประวัติฯ ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุด และใช้วิธีลงคะแนนลับ ปรากฏมติเสียงข้างมากและเสียงเอกฉันท์ ให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อจำนวน 14 คน จากทั้งหมด 15 คน เป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุด ประกอบด้วย  บุญอนันต์ วรรณพาณิชย์ อธิบดีศาลปกครองสงขลา, ประสาท พงษ์สุวรรณ์ อธิบดีศาลปกครองระยอง, สิริกาญจน์ พานพิทักษ์ รองอธิบดีศาลปกครองกลาง,  กาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ สมาชิก สนช. ข้าราชการบำนาญ สนง.ศาลปกครอง, ชั่งทอง โอภาสศิริวิทย์ กรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม, อนุวัฒน์ ธาราแสวง ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองชั้นต้นประจำศาลปกครองสูงสุด
 
ชูชาติ อัศวโรจน์ ข้าราชการบำนาญ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง, ไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ ข้าราชการบำนาญ สนง.ศาลรัฐธรรมนูญ, รดาวรรณ วานิช และอนุพงศ์ สุขเกษม ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองชั้นต้นประจำศาลปกครองสูงสุด, กมล สกลเดชา อธิบดีศาลปกครองขอนแก่น, รัฐกิจ มานะทัต ข้าราชการบำนาญ สนง.ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ, มานิตย์ วงศ์เสรี ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง และ ประนัย วณิชชานนท์ รองอธิบดีศาลปกครองชั้นต้นประจำศาลปกครองสูงสุด
 
 
 
ร่าง พ.ร.บ. สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ผ่านวาระแรก
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ด้วยคะแนนเสียง 175 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 4 เสียง โดยวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นการปรับปรุงบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ พ.ศ. 2550 อาทิ เพิ่มบทบัญญัติให้สถานศึกษามีการส่งเสริมวิชาการตั้งแต่ระดับพื้นฐานวิชาชีพถึงวิชาชีพชั้นสูงในด้านทัศนศิลป์ จากเดิมที่มีเพียง 4 ด้าน แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของอธิการบดีให้มีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนผู้อำนวยการสำนักงานอธิการบดีและผู้อำนวยการสำนักงานวิทยาเขตได้ รวมทั้งเพิ่มบทบัญญัติให้สถาบันสามารถจัดการศึกษาร่วม
 
 
4 มีนาคม 2559
 
สนช. ผ่านวาระ 3 ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการขอทาน
 
วัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ. .... แถลงข่าวหลังที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติ วาระ 3 ให้ประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการขอทาน พ.ศ. .... เป็นกฎหมายว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่จะมีกฎหมายคุมควบการขอทาน ซึ่งเป็นกฎหมายที่รอคอยกันมาถึง 75 ปี และถือเป็นกฎหมายฉบับที่ 3 ที่ ผลักดันโดยสมาชิก สนช. ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ผู้พิการที่มีความสามารถในการแสดงออก ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2484 เนื่องจากบัญญัติเอาโทษเหมารวมนักแสดงผู้พิการตามที่สาธารณะเข้าไปด้วย
 
ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ จึงได้บัญญัติแยกแยะขอทานกับนักแสดงผู้พิการตามที่สาธารณะออกจากกันอย่างชัดเจน และยังได้กำหนดทิศทางการดำเนินคดีกับขอทานที่กระทำผิดกฎหมาย รวมถึงเปลี่ยนหลักเกณฑ์จากการสงเคราะห์มาเป็นให้ความคุ้มครอง ซึ่งสอดคล้องกับสิทธิมนุษยชนเข้าไปด้วย
 
ที่มา: ประชาไท
 
สนช. รับหลักการร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ออกนอกระบบ
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พ.ศ... ตามที่คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ ไว้พิจารณา ด้วยคะแนนเสียง 182 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 3 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว จำนวน 15 คน กำหนดแปรญัตติ 7 วัน กรอบระยะเวลาดำเนินการ 60 วัน
 
 
 
สนช. ผ่านร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ด้วยคะแนนเสียง 179 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 2 เสียง โดยนายแพทย์ ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 ให้มีความสอดคล้องกับปัจจุบันมากขึ้น โดยสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกำหนดให้มีคณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์และร้องทุกข์ รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมให้คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษามีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินการของคณะอนุกรรมการให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น