5 มีนาคม 2559
กกต.เตรียมส่ง 'ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ' ให้รัฐบาล
ศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ ถึงความคืบหน้าในการร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ว่า ขณะนี้ กกต.ได้จัดทำกฎหมายเสร็จแล้ว อยู่ในขึ้นตอนส่งให้รัฐบาลพิจารณา เบื้องต้นจะมีประมาณ 16 มาตรา โดยบทกำหนดโทษยังคงเดิม คือ ผู้ที่ขัดขวางการทำประชามติ ต้องโทษจำคุก 10 ปี ปรับ 200,000 บาท เหตุที่ต้องกำหนดโทษรุนแรง เพราะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุเหมือนวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 นอกจากนี้เบื้องต้นการออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำประชามติยังคงทำได้ ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติ
7 มีนาคม 2559
ประธาน กรธ. ระบุ ไม่ได้ร่วมประชุมแม่น้ำ 5 สาย วอนอย่าเพิ่งคาดเดา ที่มา ส.ว. เพราะยังไม่ได้ข้อสรุป
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ระบุว่า การประชุมแม่น้ำ 5 สายที่ทำเนียบหากที่ประชุมมีมติจะให้ กรธ.ปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญเบื้องต้น ก็สามารถส่งมายัง กรธ. ได้ แต่ กรธ.จะต้องพิจารณาถึงหลักการและเหตุผลก่อนหากต้องแก้ไข ขณะที่ประเด็นที่มาสมาขิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอให้มี ส.ว. มาจากการสรรหาในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี และเพิ่มอำนาจหน้าที่ ตามที่มีกระแสข่าวว่าจะนำไปบัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาลนั้น ประธาน กรธ. กล่าวว่า ไม่สามารถคาดเดาได้ และขออย่าพึ่งคาดเดา เนื่องจากยังพิจารณาไม่ถึง แต่ส่วนตัวอยากให้ ส.ว.เป็นสภาพลเมืองตามเจตนารมณ์ อย่างไรก็ตาม กรธ.จะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเบื้องต้นให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 23มีนาคม นี้ ก่อนไปประชุมนอกสถานที่
8 มีนาคม 2559
คสช. ใช้ ม.44 แก้ กม.สิ่งแวดล้อม เอื้อรัฐหาผู้รับเหมาโครงการ ระหว่างรอ EIA ผ่าน
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 9/2559 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
โดยสาระสำคัญของคำสั่งดังกล่าวคือ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสี่ ของมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ว่า “ในกรณีที่มีความจําเป็นเร่งด่วนเพื่อประโยชน์ในการดําเนินโครงการหรือกิจการด้านการคมนาคมขนส่ง การชลประทาน การป้องกันสาธารณภัย โรงพยาบาล หรือที่อยู่อาศัย ในระหว่างที่รอผลการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามวรรคหนึ่ง ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการหรือกิจการนั้น อาจเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติให้ดําเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกชนผู้รับดําเนินการตามโครงการหรือกิจการไปพลางก่อนได้ แต่จะลงนามผูกพันในสัญญาหรือให้สิทธิกับเอกชนผู้รับดําเนินการตามโครงการหรือกิจการไม่ได้”
ซึ่งประการดังกล่าวจะมีผลให้รัฐสามารถดําเนินการหาเอกชนเพื่อมาทำโครงการได้ โดยไม่จำเป็นต้องรอว่าโครงการที่รัฐจ้างเอกชนให้ดำเนินการนั้นจะต้องมีรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมออกมาก่อน หรือกล่าวได้ว่าเป็นการย่นเวลาในการดำเนินโครงการ แต่ทั้งนี้ จะไม่ได้ให้สิทธิหรือลงนามผูกผันในสัญญา และยังไม่มีความชัดเจนว่าถ้าหาตัวเอกชนได้แล้ว แต่ EIA ไม่ผ่าน แล้วจะมีขั้นตอนอย่างไรต่อไป
กรธ. ปรับลดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมให้ศาลฏีกาชี้มูลความผิด กรณีนักการเมืองฝ่าฝืนจริยธรรม
อุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาปรับแก้ในหมวด 11 ศาลรัฐธรรมนูญ ว่า กรธ. ได้ปรับอำนาจชี้ขาดไปอยู่ที่หน่วยงานอื่น เนื่องจากถูกครหาว่า ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญมากเกินไป โดยได้ปรับเนื้อหาอำนาจการวินิจฉัยกรณีที่ไม่มีบัญญัติไว้ให้เป็นไปตามประเพณีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จากเดิมที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ขาดปัญหาที่เกิดขึ้นเพียงคณะเดียว ก็ปรับให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญต้องเรียก ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด และประธานองค์กรอิสระ นายกรัฐมนตรี เข้าหารือและวินิจฉัย ร่วมกันถึงเหตุผล และความสมควรในการดำเนินการก่อน
ขณะที่คุณสมบัติ ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องมีอายุไม่ต่ำว่า 45 ปี ตั้งแต่วันลงสมัครต้องมีอายุไม่เกิน 68 ปี ซึ่งสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ถึงอายุ 75 ปี อยู่ได้ 1 วาระ วาระละ 7 ปี และในส่วนองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณาคดี จากเดิมให้องค์คณะไม่น้อยกว่า 5 คน ก็ได้ปรับแก้เป็นอย่างน้อย 7 คน เพื่อความรอบคอบในการพิจารณาคดี โดยใช้เสียงข้างมากในการชี้ขาด
ส่วนในกรณีนักการเมืองฝ่าฝืนจริยธรรม ที่เดิมให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ตัดสิน ก็ปรับเป็นให้อำนาจสอบสวนมาอยู่ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ก่อนส่งให้ศาลฏีกาเป็นผู้ชี้มูลความผิด แต่กรณีอื่น เช่น อยู่ระหว่างการระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งชั่วคราวหรือเคยรับโทษจำคุก แต่พ้นโทษมาไม่ถึง10 ปี ให้เป็นการพิจาณาของศาลรัฐธรรมนูญ
9 มีนาคม 2559
ประวิตรถามผิดตรงไหน ที่ คสช. จะไปเป็น ส.ว.สรรหา ช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงท่าทีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอว่าให้มี ส.ว.สรรหาทั้งหมดในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ว่า ไม่เห็นด้วยก็ไม่เห็นด้วย ถ้ากรธ.เห็นด้วยก็ทำไป ถ้าไม่เห็นด้วยก็จบไป แต่ตนเห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญในอนาคต ถ้ามี ส.ว.สรรหาร่วมกับ ส.ส.ที่มาจากเลือกตั้งก็จะทำงานร่วมกันและมีการพูดคุยกันมากขึ้น และอนาคตประเทศก็เดินหน้าไปได้ สิ่งที่ตนเสนอจะใส่ไว้ในบทเฉพาะกาลเพียงแค่ 5 ปีเท่านั้น
ต่อกรณีมีการตั้งข้อสังเกตว่าถ้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หมดอำนาจ จะกลายสภาพเป็น ส.ว.สรรหา ด้วยหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ก็ไม่แน่ เรื่องนี้ผิดตรงไหน ตนไม่เห็นว่ามีอะไรผิด เพราะ คสช.เข้าใจเรื่องเหล่านี้ดี ส่วนจะกลายเป็นการสืบทอดอำนาจหรือไม่นั้น ตนเห็นว่าเขาเข้าไปก็ไม่มีอำนาจ เข้าไปใช้ความคิด ส่วนคนที่มีอำนาจคือคนที่เข้าไปบริหารประเทศ คือคณะรัฐมนตรี (ครม.) ส.ว.สรรหาไม่ได้อยู่ใน ครม.จะไปสืบทอดอำนาจได้อย่างไร
10 มีนาคม 2559
สนช.เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ประเด็นการทำประชามติ ยึดเสียงข้างมากระหว่างผู้ออกเสียงเห็นชอบกับไม่เห็นชอบ
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ลงมติเห็นชอบแบบ 3 วาระรวด กับการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) และ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นผู้เสนอ ซึ่งถือเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวครั้งที่ 2 ทั้งนี้ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงว่าการแก้ไขดังกล่าวเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ที่ต้องมีการออกเสียงประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญ โดยเนื้อหาสาระสำคัญมีดังนี้
1.เรื่องการตั้งคำถามทำประชามติของสนช. จากเดิมที่ให้สนช.เป็นผู้เสนอคำถามเพียงฝ่ายเดียว แก้ไขเป็น ให้สนช.รับฟังความคิดเห็นจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ประกอบการพิจารณาตั้งคำถามประชามติด้วย ภายในเวลา 10 วัน
2.เรื่องเกณฑ์การชี้ขาดการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ จากเดิมระบุว่า “ถ้าคะแนนเสียงข้างมากของผู้ออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยร่างรัฐธรรมนูญ ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 30 วัน” แก้ไขเป็น “ถ้า ผลการออกเสียงประชามติมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญมากกว่า คะแนนเสียงไม่เห็นชอบ ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 30 วัน”
3.จากเดิมระบุว่า “ให้นำมาตรา 39 มาใช้บังคับแก่การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ด้วยโดยอนุโลม และในกรณีที่ สนช.เสนอประเด็นเพิ่มเติมให้นำมาตรา 37/1 มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากของผู้ออกเสียงประชามติเป็นเกณฑ์ และไม่ต้องให้ ครม.ให้ความเห็นชอบ” แก้ไขเป็น "ให้นำมาตรา 39 มาใช้บังคับแก่การปฏิบัติหน้าที่ของ กรธ.ด้วยโดยอนุโลม และในกรณีที่ สนช.เสนอประเด็นเพิ่มเติมให้นำมาตรา 37/1 มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากระหว่างเสียงเห็นชอบกับไม่เห็นชอบเป็นเกณฑ์ และไม่ต้องให้ ครม.ให้ความเห็นชอบ"
สนช.แนะนำ ร่างรัฐธรรมนูญควรมีกลไกในช่วงเปลี่ยนผ่าน
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวย้ำว่าการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เพื่อให้การออกเสียงประชามติมีความชัดเจนมากขึ้น และต้องการให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นในปี 2560 ตามโรดแมปที่รัฐบาลวางไว้ โดยบรรยากาศการพิจารณาเป็นไปอย่างเข้มข้น มีสมาชิก สนช.อภิปรายจำนวนมากเพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญมีข้อบกพร่องน้อยที่สุด ขณะเดียวกัน แนะนำให้บทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควรมีกลไก ในช่วงเปลี่ยนผ่าน อาทิ การตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ มีกรอบการทำงาน 20 ปี พร้อมยอมรับว่า สนช.มีความเป็นห่วงว่าหากเกิดปัญหาแล้วประเทศจะไม่มีทางออก แล้วกลับมาสู่วังวนความขัดแย้งอีก จึงควรมีกลไกพิเศษดังกล่าว ส่วนประเด็นที่รัฐบาลยังไม่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อหาทางออก กรณีหากร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ผ่านประชามติ เพราะเชื่อว่ารัฐบาลมีความมั่นใจว่าร่างนี้จะผ่านประชามติจึงยังไม่คิดหาทางออกประเด็นนี้ไว้ ซึ่งหากร่างไม่ผ่านประชามติ เชื่อว่ารัฐบาลได้เตรียมหาทางออกไว้แล้ว
11 มีนาคม 2559
ประธาน กรธ. คาด ข้อเสนอ ที่มา ส.ว. จากคณะรัฐมนตรี ส่งมาถึงสัปดาห์หน้า
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีข้อเสนอของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ต้องการให้มีสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. สรรหาในช่วงเปลี่ยนผ่านนั้น ตนเองไม่อยากแสดงความคิดเห็น เนื่องจากเป็นเรื่องใหญ่จึงไม่อยากคาดเดา เพราะอาจทำให้เกิดความสับสน
มีชัย ได้กล่าวว่า ต้องรอเอกสารจากรัฐบาลที่เป็นลายลักษณ์อักษรก่อน ซึ่งคาดว่าจะส่งมาถึง กรธ. ในสัปดาห์หน้า พร้อมย้ำว่า ต้องอยู่บนหลักเหตุผล และประโยชน์ของบ้านเมือง หากสิ่งใดทำไม่ได้ก็คงต้องพูดคุยชี้แจงถึงเหตุผลว่าเพราะเหตุใดถึงทำไม่ได้ ทั้งนี้หากตัดสินใจอย่างไร จะต้องอธิบายให้ประชาชนฟังได้ ขณะที่ในบทเฉพาะกาลที่ กรธ.ได้บรรจุในร่างรัฐธรรมนูญนั้นก็เป็นเรื่องปกติที่ต้องมี ไม่ได้เกี่ยวข้องกับช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านใดๆ ส่วนข้อเสนอของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ( สนช.) ที่เห็นว่าควรมีกลไกเปลี่ยนผ่านป้องกันการเกิดวิกฤติกับประเทศ ซึ่งคล้ายกับความคิดเห็นของพลเอกประวิตรนั้น ต้องขอดูข้อเสนอดังกล่าวก่อนนำมาปรับแก้อีกครั้ง
สนช.มีมติ 168 เสียง ประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ เป็นกฎหมาย
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเสียง 168 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 5 เสียง สำหรับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2551 ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์และรูปแบบการทุจริตที่มีความซับซ้อนยิ่งขึ้น หลังการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐมีกระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริงและการดำเนินการล่าช้าและก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ
กล้านรงค์ จันทิก กล่าวถึงผลการพิจารณาว่า หลังพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นรายมาตราแล้วมีการแก้ไขเป็นบางมาตรา อาทิ การเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการสรรหาและคัดเลือกกรรมการ โดยระบุให้ คณะรัฐมนตรี คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินต้องเสนอรายชื่อบุคคลที่สมควรเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) แทนตำแหน่งที่ว่าง องค์กรละ 5 คน จากนั้นคัดเลือกให้เหลือ 1 ใน 3, การปรับแก้ไขอายุการพ้นจากตำแหน่งตามวาระของกรรมการ ป.ป.ท.จากเดิมที่จะต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่อมีอายุครบ 70 ปี ปรับแก้เป็น 75 ปี เพื่อเปิดช่องให้อัยการ และผู้พิพากษา เข้ามาทำงานเป็นกรรมการ ได้หลังพ้นจากตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโส พร้อมกำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ท.เป็นส่วนราชการที่ไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวง เพื่อให้มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติงาน ส่งผลให้การป้องกันบรรลุผลและเกิดประโยชน์แก่ประชาชน
สนช.มีมติเห็นสมควรประกาศให้ร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรมฯ ประกาศใช้เป็นกฎหมาย
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นสมควรประกาศให้ ร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ใช้เป็นกฎหมายด้วยคะแนนเห็นด้วย 162 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง สำหรับเหตุผลที่ต้องตรา พ.ร.บ.ฉบับนี้ เนื่องจากที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2551 เพื่อกำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐเป็นส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง และกำหนดให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในสำนักงานและขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี สมควรกำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เป็นส่วนราชการที่อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี
เภสัชกรใต้ กากบาทค้านพ.ร.บ.ยา ฉบับกฤษฎีกา
ที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กลุ่มเภสัชกรภาคใต้และเครือข่ายวิชาชีพ ประกอบด้วย 9 องค์กรด้วยกัน คือ กลุ่มเภสัชกรภาคใต้, สมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย), ชมรมเภสัชสาธารณสุขจังหวัดแห่งประเทศไทย, คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, ชมรมเภสัชกรชุมชนจังหวัดสงขลา, ชมรมเภสัชกรชุมชนจังหวัดภูเก็ต,ชมรมเภสัชกรชุมชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี และชมรมเภสัชกร 3 จังหวัดชายแดนใต้ ได้แสดงพลังชูป้ายไวนิล แสดงเจตนารมณ์ และทำเครื่องหมายโดยใช้มือไขว้กันเป็นรูปกากบาท เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาใช้ร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ.... ฉบับแก้ไขโดยกระทรวงสาธารณสุข เป็นร่างหลักแทนร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ.... ฉบับ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ในการเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
โดยแถลงการณ์คัดค้านของกลุ่มเภสัชกรภาคใต้ ระบุด้วยว่า ร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. .......ฉบับที่ผ่านการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ไม่มีการปรับแก้ตามมติของตัวแทนสหวิชาชีพ มีหลายประเด็นไม่เป็นไปตามหลักสากล ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบยาของประเทศไทย ต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยในการใช้ยาของประชาชน และขัดขวางการพัฒนาอุตสาหกรรมยาเพื่อการแข่งขันในภูมิภาคอาเซียน